เรื่องที่ 4 ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลัก โภชนาการ

ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมือง เป็นไปอย่างเร่งรีบ ทำให้การบริโภคอาหาร ก็เน้นอาหารตามที่รับประทานได้สะดวกรวดเร็ว เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน และโรคอื่นๆอีกมาก ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบสำคัญดังนี้

1) อาหาร (Food) หมายถึงสิ่งที่เรากินได้และมีประโยชน์ต่อร่างกาย สิ่งที่กินได้แต่ไม่เป็นประโยชน์หรือให้โทษแก่ร่างกาย อาทิ สุรา เห็ดเมา เราก็ไม่เรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอาหาร

2) โภชนาการ (Nutrition) มีความหมายกว้างมากกว่าอาหาร โภชนาการ หมายถึง เรื่องต่างๆที่ว่าด้วยอาหาร อาทิ การจัดแบ่งประเภทสารอาหาร ประโยชน์ของอาหาร การย่อยอาหาร โรคขาดสารอาหาร เป็นต้น

3) สารอาหาร ( Nutrient) หมายถึง สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหาร สารเคมีเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย อาทิ เป็นตัวทำให้เกิดพลังงานและความอบอุ่นต่อร่างกายช่วยในการเจริญเติบโต ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ เมื่อนำอาหารมา

วิเคราะห์จะพบว่ามีสารประกอบอยู่มากมายหลายชนิด ถ้าแยกโดยอาศัยหลักคุณค่าทางโภชนาการจะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ

4) พลังงานและแคลอรี่ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ให้ประโยชน์แก่ร่างกายหลายอย่างที่สำคัญคือ การใช้พลังงานแก่ร่างกาย พลังงานในที่นี้หมายถึงพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องมี ต้องใช้และสะสมไว้ เพื่อใช้ในการทำงานของอวัยวะทั้งภายในและภายนอกร่างกายนักวิทยาศาสตร์วัดปริมาณของพลังงานหรือกำลังงานที่ได้จากอาหารเป็นหน่วยความร้อนเรียกว่าแคลอรี่ โดยกำหนดว่า 1 แคลอรี่ เท่ากับปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 กรัม มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1องศาเซลเซียส แต่ในทางโภชนาการพลังงานที่ได้รับจากการอาหารที่กินเข้าไป 1 แคลอรี่ (ใหญ่)เท่ากับปริมาณ ความร้อน ที่ทำให้น้ำ 1 กิโลกรัม มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส

5) อาหารหลัก 5 หมู่ อาหารเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับการเจริญเติบโต การบำรุงเลี้ยงส่วนต่างๆ

ของร่างกาย มักพบว่าบางคนเลือกที่จะกินและไม่กินอาหารอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หากไม่กินอาหารตามความต้องการของร่างกาย การกินอาหารต้องคำนึงถึงคุณค่าของสารอาหารมากกว่า ความชอบหรือไม่ชอบ

 


ปัญหาจากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ได้แก่

ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารผิดเบี่ยงเบนไปจากปกติ อาจเกิดจากได้รับสารอาหารน้อยกว่าปกติหรือเหตุ ทุติยภูมิ คือเหตุเนื่องจากความบกพร่องต่างจากการกินการย่อยการดูดซึมในระยะ 2-3 ปีแรกของชีวิต จะมีผลกระทบต่อระดับสติปัญญา และการเรียนภายหลัง  เนื่องจากเป็นระยะที่มีการเจริญเติบโตของสมองสูงสุด ซึ่งระยะเวลาที่วิกฤติต่อพัฒนาการทางร่างกายของวัยเด็กมากที่สุดนั้นตรงกับช่วง 3 เดือนหลังการตั้งครรภ์จนถึงอายุ 18-24 เดือนหลังคลอด เป็นระยะที่มีการปลอกหุ้มเส้นประสาทของระบบประสาท และมีการแบ่งตัวของเซลล์ประสาทมากที่สุด เมื่ออายุ 3 ปี มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ถึงร้อยละ 80 สำหรับผลกระทบทางร่างกายภายนอกที่มองเห็นได้คือเด็กมีรูปร่างเตี้ย เล็ก ซุบผอม ผิวหนังเหี่ยวย่นเนื่องจากไขมันชั้นผิวหนัง นอกจากนี้ออวัยวะภายในต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

1. หัวใจ จะพบว่า กล้ามเนื้อหัวใจไม่แน่นหนา และการบีบตัวไม่ดี

2. ตับ จะพบไขมันแทรกอยู่ในตับ เซลล์เนื้อตับมีลักษณะบางและบวมเป็นน้ำสาเหตุให้ทำงานได้ไม่ดี

3. ไต พบว่าเซลล์ทั่วไปมีลักษณะบวมน้ำและติดสีจาง

4. กล้ามเนื้อ พบว่าส่วนประกอบในเซลล์ลดลง มีน้ำเข้าแทนที่

นอกจากการขาดสารอาหารแล้วการได้รับอาหารเกิน ในรายที่อ้วนฉุก็ถือเป็นภาวะทุพโภชนาการเป็นการได้รับอาหารมากเกินความต้องการ พลังงานที่มีมากนั้นไม่ได้ใช้ไป พลังงานส่วนเกินเหล่านั้นก็จะแปลงไปเป็นคลอเรสเตอร์รอลเกาะจับแน่นอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย และอาจลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ผลที่ตามมาก็คือ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคต่างๆ

การประเมินสภาวะโภชนาการ

1. ประวัติ ที่นำเด็กมาจากโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุชักนำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร

2. การตรวจร่างกาย เพื่อหาร่องรอยการผิดปกติซึ่งเกิดจากการขาดสารอาหารและวิตามิน

การตรวจร่างกาย เพื่อประเมินสภาวะโภชนาการของเด็กแบ่งได้เป็น 2 ตอน คือ

- การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ จะเป็นแนวทางช่วยประเมินสภาวะของเด็ก และเป็นแนวทางวินิจฉัยการขาดสารอาหารและวิตามิน

-การตรวจโดยการวัดความเจริญทางร่างกาย เป็นการวัดขนาดทางร่างกายคือ ส่วนสูงและน้ำหนัก เพื่อบอกถึงโภชนาการของเด็ก


ภาวะโภชนาการเกิน เมื่อคนเราบริโภคอาหารชนิดใด ชนิดหนึ่ง เกินความต้องการของร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะโภชนาการเกินจนเกิดโรคได้ และโรคที่เกิดจากภาวะโภชนาการเกิน เป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย และเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษายาวนานเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคอ้วน เป็นต้น


โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในลำดับต้นๆ ของประชาชนไทยมาโดยตลอด โรคดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอายุรศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะหมายรวมถึงโรคต่างๆ และภาวะอาการของโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease)ภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็ง (Arteriosclerosis) และอาการความดันเลือดสูง (Hypertension) เป็นต้น โรคที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งจัดว่าเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการป่วย และการตายที่สูงของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน

โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง ตีบ ตัน ขาดความยืดหยุ่น หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน หรือเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของอัตราการป่วยการตาย ของ

คนไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สาเหตุ

1. กรรมพันธุ์ ผู้ที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะมีความเสี่ยงมากกว่าไขมันในหลอดเลือด ถ้าสูงกว่าปกติจะทำให้หลอดเลือดแข็ง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

2. ความดันเลือดสูง

3. เบาหวาน ผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย

4. ความอ้วน ความอ้วนกับโรคหลอดเลือดหัวใจ มักจะเกิดขึ้นด้วยกันเสมอ โดยเฉพาะคนอ้วนที่พุง มักจะมีไขมันในเลือดสูงจนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย

5. ออกกำลังกายน้อยหรือขาดการออกกำลังกาย การไหลเวียนเลือดไม่คล่องพอ การเผาผลาญพลังงานน้อย ทำให้สะสมไขมันจนกลายเป็นโรค

6. ความเครียด และความกดดันในชีวิต อาจส่งผลทำให้เป็นโรคนี้ได้

7. การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและทาร์จากควันบุหรี่มีผลต่อการเกิดโรคนี้

อาการ

1. เจ็บหน้าอกเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บเมื่อเครียด หรือเหนื่อย ซึ่งเป็นลักษณะอาการเริ่มแรก

2. เจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรไปบีบรัด เจ็บลึกๆ ใต้กระดูกด้านซ้ายร้าวไปถึงขากรรไกรและแขนซ้ายถึงนิ้วมือซ้าย เจ็บนานประมาณ 15-20 นาที ผู้ป่วยอาจมีเหงื่อออกมาก คลื่นไส้หายใจลำบากรู้สึกแน่นๆ คล้ายมีเสมหะติดคอ บางครั้งมีอาการคัดจมูกคล้ายเป็นหวัด เมื่อเป็นมากจะมีอาการหน้ามืด

คล้ายจะเป็นลม และอาจถึงขั้นเป็นลมได้ บางครั้งพอเหนื่อยก็จะรู้สึกง่วงนอนและเผลอหลับได้ง่าย

3. ผู้ป่วยมีอาการหัวใจสั่น หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

4. ในกรณีที่รุนแรง อาการเจ็บหน้าอกจะรุนแรงมาก มักจะเกิดจากการที่มีลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดที่ตีบ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจวาย ช็อก หัวใจหยุดเต้นทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้


การป้องกัน

1. หากพบว่าบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ ควรเพิ่มความระมัดและหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยง เพราะอาจกระตุ้นการเกิดโรค

2. ลดอาหารที่ทำจากน้ำมันสัตว์ กะทิจากมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และไข่แดง

3. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด

4. ลดอาหารจำพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต รับประทานอาหารพวกผัก ผลไม้มากๆ

5. งดอาหารไขมันจากสัตว์และอาหารหวานจัด

6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

7. พักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง และหาวิธีผ่อนคลายความเครียด

8. หลีกเลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่ 

โรคอ้วน (Obesity)

โรคอ้วนเป็นสภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมากเกินกว่าเกณฑ์ปกติซึ่งตามหลักสากลกำหนดว่าผู้ชายไม่ควรมีปริมาณของไขมันในตัวเกินกว่า 12-15% ของน้ำหนักตัวผู้หญิงไม่ควรมีปริมาณของไขมันในตัวเกินกว่า 18-20% ของน้ำหนักตัว ซึ่งการตรวจนี้หากจะให้ได้ผล

แน่นอนควรได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการ แต่นักเรียนอาจประเมินว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยวิธีตรวจสอบกับตารางน้ำหนักและส่วนสูงของกรมอนามัย ดังตารางที่เรียนมาแล้วสำหรับในผู้ใหญ่อาจประเมินได้จาก การหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) 

           ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป

           สาเหตุ

1. กรรมพันธุ์

2. การรับประทานอาหารเกินความต้องการของร่างกาย และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี เช่น กินจุบจิบ

3. ขาดการออกกำลังกาย

4. สภาวะทางจิตและอารมณ์ เช่น บางคนเมื่อเกิดความเครียดก็จะหันไปรับประทานอาหารมากจนเกินไป

5. ผลข้างเคียงจากการได้รับฮอร์โมนและการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนสเตียรอยด์ เป็นต้น

อาการ

มีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายจำนวนมาก ทำให้มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงโดยการขยายขนาดขึ้นและมีน้ำหนักตัวมากขึ้น



การป้องกัน

1. กรรมพันธุ์ หากพบว่ามีประวัติของบุคคลในครอบครัวเป็นโรคอ้วน ควรต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยมีพฤติกรรมสุขภาพในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอย่างเหมาะสม

2. รับประทานอาหารแต่พอสมควรโดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานและอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้มากๆ และหลากหลาย

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที

4. หาวิธีการควบคุมและจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ

5. การใช้ยาบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดการดูแลสุขภาพและมีพฤติกรรมบริโภคที่ถูกต้อง “ไม่ตามใจปากและไม่ตามใจอยาก”โรคอ้วนก็อาจไม่มาเยือน การลดความอ้วนก็ไม่จำเป็น