รื่องที่ 2 อันตรายจากการใช้ยาแผนโบราณและยาสมุนไพร

อันตรายจากยาแผนโบราณ
จากปัญหาของยาแผนโบราณในสังคมไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้มีการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของยาสมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ ซึ่งเป็นยาปลอมอย่างสม่ำเสมอ และจากผลการตรวจวิเคราะห์ยาปลอมเหล่านั้น พบว่า มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือการลักลอบนำสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมาใส่ในยาแผนโบราณ เช่น เมธทิลแอลกอฮอล์คลอโรฟอร์ม การใส่ยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน

สารสเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาแผนโบราณก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้มากมาย เช่น
- ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุ ซึ่งพบในผู้ที่รับประทานยากลุ่มนี้หลายรายที่กระเพาะอาหารทะลุ ทำให้หน้ามืด หมดสติ และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
- ทำให้เกิดการบวม (ตึง) ที่ไม่ใช่อ้วน
- ทำให้กระดูกผุกร่อน และเปราะง่าย นำไปสู่ความทุพพลภาพได้


บทกำหนดโทษตามกฎหมาย
บทกำหนดโทษตามกฎหมายสำหรับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องของยาแผนโบราณ มีดังนี้
ฝ่าฝืนกฎหมายบทกำหนดโทษ
1. ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้ายาแผนโบราณ โดยไม่ได้รับอนุญาตผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาท)
2. ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้ายาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้ที่ผลิตยาปลอมจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท (หนึ่งหมื่นถึงห้าหมื่นบาท)
4. ผู้ที่ขายยาปลอมจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท (สองพันถึงหนึ่งหมื่นบาท)
5. ผู้ที่โฆษณาขายยาโดยฝ่าฝืนกฎหมายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท)

เลือกซื้อยาแผนโบราณอย่างไรจึงปลอดภัย
หากท่านมีอาการเจ็บป่วย และมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อยาแผนโบราณมาใช้โปรด
1. ซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น
2. สังเกตฉลากยาแผนโบราณที่ต้องการซื้อ (จากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยา)ที่ฉลากต้องมีข้อความสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
- ชื่อยา
- เลขที่หรือรหัสใบสำคัญการขึ้นทะเบียนยา ซึ่งก็คือเลขทะเบียนตำรับยานั่นเอง
- ปริมาณของยาที่บรรจุ
- เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต
- ชื่อผู้ผลิตและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา
- วัน เดือน ปี ที่ผลิตยา

พบปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาแผนโบราณติดต่อที่ใด
1. พบยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับ
2. พบการขายยาจากรถเร่ขาย การขายยาตามวัด แผงลอยและตลาดนัด และสงสัยว่าเป็นยาปลอม
3. พบการโฆษณายาแผนโบราณที่โอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด
4. สงสัยเกี่ยวกับยาแผนโบราณท่านสามารถติดต่อไปได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและโปรดอย่าลืม ซื้อยาแผนโบราณครั้งใดต้องซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และตรวจสอบฉลากให้รอบคอบก่อนซื้อ ว่ายานั้นมีเลขทะเบียนตำรับยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังในการใช้ยาสมุนไพร

1. พืชสมุนไพรหลายชนิดมีพิษโดยเฉพาะถ้าใช้ไม่ถูกส่วน เช่น ฟ้าทะลายโจร ควรใช้ส่วนใบอ่อน แต่ไม่ควรใช้ก้านหรือลำต้น เพราะมีสารไซยาไนต์ประกอบอยู่ ดังนั้นก่อนใช้ยาสมุนไพรต้องแน่ใจว่ามีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง
2. ก่อนใช้ยาสมุนไพรกับเด็กและสตรีมีครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
3. การรับประทานยาสมุนไพรควรรับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ หากใช้ในปริมาณที่เกินขนาดอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็น
อันตรายมาก
4. ต้องสังเกตเสมอว่า เมื่อใช้แล้วมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติเช่น ผื่นคัน เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการถ่ายรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

สรุป
ยาทุกประเภทมีทั้งคุณและโทษ การใช้ยาโดยขาดความรู้ความเข้าใจหรือใช้ไม่ถูกกับโรค ไม่ถูกวิธี นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยเฉพาะยาแผนโบราณและยาสมุนไพรที่มีขายอยู่ทั่วไป มีจำนวนไม่มากนักที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น การเลือกใช้ยาดังกล่าวจึงต้องคัดเลือกยาที่ได้รับมาตรฐานอาหารและยา (อย.)ตลอดจนต้องทราบสรรพคุณและวิธีการใช้ที่ถูกกับสภาพและอาการเจ็บป่วยของแต่ละบุคคล จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ก่อนใช้ยาทุกประเภทควรคำนึงถึงหลักการใช้ยาทั่วไป โดยอ่านฉลากยาให้ละเอียดและใช้อย่างระมัดระวัง