หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การปรุงสมุนไพร

การปรุงสมุนไพร หมายถึง การสกัดเอาตัวยาออกมาจากเนื้อไม้ยา สารที่ใช้สกัดเอาตัวยาออกมาที่นิยมใช้กัน ได้แก่ น้ำและเหล้า สมุนไพรที่นำมาปรุงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมมี 7 รูปแบบ คือ

1. การต้ม เป็นการสกัดตัวยาออกมาจากไม้ยาด้วยน้ำร้อน เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด ใช้กับส่วนของเนื้อไม้ที่แน่นและแข็ง เช่น ลำต้นและราก ซึ่งจะต้องใช้การต้มจึงจะได้ตัวยาที่เป็นสารสำคัญ

ออกมา ข้อดีของการต้ม คือ สะอาด ปลอดจากเชื้อโรค มี 3 ลักษณะ การต้มกินต่างน้ำ คือการต้มให้เดือดก่อนแล้วต้มด้วยไฟอ่อน ๆอีก 10 นาที หลังจากนั้นนำมากินแทนน้ำการต้มเคี่ยวคือ การต้มให้เดือดอ่อน ๆ ใช้เวลาต้ม 20-30 นาที

การต้ม 3 เอา 1 คือ การต้มจากน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือเพียง 1 ส่วน ใช้เวลาต้ม 30-45 นาที

2. การชง เป็นการสกัดตัวยาสมุนไพรด้วยน้ำร้อน ใช้กับส่วนที่บอบบาง เช่น ใบ ดอก ที่ไม่ต้องการโดนน้ำเดือดนาน ๆ ตัวยาก็ออกมาได้ วิธีการชง คือ ให้นำยาใส่แก้วเติมน้ำร้อนจัดลงไป ปิดฝาแก้วทิ้งไว้จนเย็น ลักษณะนี้เป็นการปล่อยตัวยาออกมาเต็มที่

3. การใช้น้ำมัน ตัวยาบางชนิดไม่ย่อยละลายน้ำ แม้ว่าจะต้มเคี่ยวแล้วก็ตาม ส่วนใหญ่ยาที่ละลายน้ำจะไม่ละลายในน้ำมันเช่นกัน จึงใช้น้ำมันสกัดยาแทน แต่เนื่องจากยาน้ำมันทาแล้วเหนียวเหนอะหนะ เปื้อนเสื้อผ้า จึงไม่นิยมปรุงใช้กัน

4. การดองเหล้า เป็นการใช้กับตัวยาของสมุนไพรที่ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในเหล้าหรือแอลกอฮอล์ การดองเหล้ามักมีกลิ่นแรงกว่ายาต้ม เนื่องจากเหล้ามีกลิ่นฉุน และหากกินบ่อย ๆอาจทำให้ติดได้ จึงไม่นิยมกินกัน จะใช้ต่อเมื่อกินยาเม็ดหรือยาต้มแล้วไม่ได้ผล

5. การต้มคั้นเอาน้ำ เป็นการนำเอาส่วนของต้นไม้ที่มีน้ำมาก ๆ อ่อนนุ่ม ตำแหลกง่าย เช่นใบ หัว หรือเหง้า นำมาตำให้ละเอียด และคั้นเอาแต่น้ำออกมา สมุนไพรที่ใช้วิธีการนี้กินมากไม่ได้เช่นกัน เพราะน้ำยาที่ได้จะมีกลิ่นและรสชาติที่รุนแรง ตัวยาเข้มข้นมาก ยากที่จะกลืนเข้าไปที่เดียวฉะนั้นกินครั้งละหนึ่งถ้วยชาก็พอแล้ว

6. การบดเป็นผง เป็นการนำสมุนไพรไปอบหรือตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง สมุนไพรที่เป็นผงละเอียดมากยิ่งมีสรรพคุณดี เพราะจะถูกดูดซึมสู่ลำไส้ง่าย จึงเข้าสู้ร่างกายได้รวดเร็ว สมุนไพรผงชนิดใดที่กินยากก็จะใช้ปั้นเป็นเม็ดที่เรียกว่า "ยาลูกกลอน" โดยใช้น้ำเชื่อมน้ำข้าวหรือน้ำผึ้ง เพื่อให้ติดกันเป็นเม็ด ส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำผึ้งเพราะสามารถเก็บไว้ได้นานโดย ไม่ขึ้นรา

7. การฝน เป็นวิธีการที่หมอพื้นบ้านนิยมกันมาก วิธีการฝน คือ หาภาชนะใส่น้ำสะอาดประมาณครึ่งหนึ่งแล้วนำหินลับมีดเล็ก ๆ จุ่มลงไปในหินโผล่เหนือน้ำเล็กน้อย นำสมุนไพรมาฝนจนได้น้ำสีขุ่นเล็กน้อย กินครั้งละ 1 แก้ว

ลักษณะของผู้ที่จะประกอบอาชีพผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการปรุงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ผู้ปรุงจำเป็นต้องรู้หลักการปรุงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 4 ประการคือ

1. เภสัชวัตถุ ผู้ปรุงต้องรู้จักชื่อ และลักษณะของเภสัชวัตถุทั้ง 3 จำพวก คือ พืชวัตถุ สัตว์ วัตถุ และธาตุวัตถุ รวมทั้งรูป สี กลิ่นและรสของเภสัชวัตถุนั้นๆ ตัวอย่างเช่น กะเพราเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มี 2 ชนิด คือ กะเพราแดงและกะเพราขาว ใบมีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน หลักของการปรุงยาข้อนี้ จำเป็นต้องเรียนรู้จากของจริง

2. สรรพคุณเภสัช ผู้ปรุงต้องรู้จักสรรพคุณของยา ซึ่งสัมพันธ์กับรสของสมุนไพรเรียกว่า รสประธาน แบ่งออกเป็น

  2.1 สมุนไพรรสเย็น ได้แก่ ยาที่ประกอบด้วยใบไม้ที่รสไม่เผ็ดร้อนเช่น เกสรดอกไม้ สัตว์ เขา (เขาสัตว์ 7 ชนิด) เนาวเขี้ยว (เขี้ยวสัตว์ 9 ชนิด) และของที่เผาเป็นถ่าน ตัวอย่างเช่น ยามหานิล ยามหากาฬ เป็นต้น ยากลุ่มนี้ใช้สำหรับรักษาโรคหรืออาการผิดปกติทางเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)

  2.2 สมุนไพรรสร้อน ได้แก่ ยาที่นำเอาเบญจกูล ตรีกฎุก หัสคุณ ขิง และข่ามาปรุง ตัวอย่างเช่น ยาแผนโบราณที่เรียกว่ายาเหลืองทั้งหลาย ยากลุ่มนี้ใช้สำหรับรักษาโรคและอาการผิดปรกติทางวาโยธาตุ (ธาตุลม)

  2.3 สมุนไพรรสสุขุม ได้แก่ ยาที่ผสมด้วย โกฐ เทียน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก และแก่นจันทน์เทศ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ยาหอมทั้งหลาย ยากลุ่มนี้ใช้รักษาความผิดปรกติ ทางโลหิตนอกจากรสประธานของสมุนไพรดังที่กล่าวนี้เภสัชวัตถุยังมีรสต่างๆ อีก 9 รสคือ รสฝาด รสหวาน รสเบื่อเมา รสขม รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว และรสเผ็ดร้อน ในตำราสมุนไพรแผนโบราณบางตำราได้เพิ่มรสจืดอีกรสหนึ่งด้วย

3. คณาเภสัช ผู้ปรุงสมุนไพรต้องรู้จักเครื่องสมุนไพรที่ประกอบด้วยเภสัชวัตถุมากกว่า 1 ชนิด ที่นำมารวมกันแล้วเรียกเป็นชื่อเดียว ตัวอย่างเช่น ทเวคันธา หมายถึงเครื่องสมุนไพรที่ประกอบด้วยเภสัชวัตถุ 2 ชนิด คือ รากบุนนาค และรากมะซาง

ตรีสุคนธ์ หมายถึงเครื่องสมุนไพรที่ประกอบด้วยเภสัชวัตถุ 3 ชนิด คือ รากอบเชย เทศ รากอบเชยไทย และรากพิมเสนต้น

4. เภสัชกรรม ผู้ปรุงสมุนไพรต้องรู้จักการปรุงยาซึ่งมีสิ่งที่ควรปฏิบัติคือ

  4.1 พิจารณาตัวสมุนไพรว่าใช้ส่วนไหนของเภสัชวัตถุ เช่น ถ้าเป็นพืชวัตถุ จะใช้ส่วนเปลือก รากหรือดอก ใช้สดหรือแห้ง ต้องแปรสภาพก่อนหรือไม่ ตัวอย่างสมุนไพรที่ต้องแปรสภาพก่อนได้แก่ เมล็ดสลอด เพราะสมุนไพรนี้มีฤทธิ์แรงจึงต้องแปรสภาพเพื่อลดฤทธิ์เสียก่อน

  4.2 ดูขนาดของตัวสมุนไพรยา ว่าใช้อย่างละเท่าไร และผู้ปรุงสมุนไพรควรมีความรู้ในมาตราโบราณ ซึ่งใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือเมล็ดพืชที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยมาเป็นตัวเทียบขนาด เช่น คำว่าองคุลี หมายถึงขนาดเท่า 1 ข้อของนิ้วกลาง กล่อมหมายถึงขนาดเท่ากับเมล็ดมะกล่ำตาหนู และกล่ำหมายถึงขนาดเท่ากับเมล็ดมะกล่ำตาช้าง เป็นต้น


การขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารและยา (ขอเครื่องหมาย อย.)

“อาหาร” ในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมายถึง “วัตถุทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม หรือ นำเข้าสู่ร่างกาย แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ นอกจากนี้ อาหารยังรวมถึงวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร วัตถุเจือปนอาหาร สี เครื่องปรุงแต่งกลิ่นรสด้วย”

ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายมีจำนวนหนึ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่คาบเกี่ยวหรือก้ำกึ่งว่าจะเป็นยาหรืออาหาร เพื่อป้องกันความสับสนในเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงกำหนดแนวทางในการพิจารณาว่า ผลิตภัณฑ์ใดที่จัดเป็นอาหาร ต้องมีลักษณะดังนี้

1. มีส่วนประกอบเป็นวัตถุที่มีในตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามพระราชบัญญัติยาและโดยสภาพของวัตถุนั้นเป็นได้ทั้งยาและอาหาร

2. มีข้อบ่งใช้เป็นอาหาร

3. ปริมาณการใช้ไม่ถึงขนาดที่ใช้ในการป้องกันหรือบำบัดรักษาโรค

4. การแสดงข้อความในฉลากและการโฆษณาอาหารที่ผสมสมุนไพรซึ่งไม่จัดเป็นยานั้นต้องไม่มีการแสดงสรรพคุณเป็นยากล่าวคือป้องกัน บรรเทา บำบัด หรือรักษาโรคต่าง ๆ การแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร

อาหารแบ่งตามลักษณะการขออนุญาตผลิต ออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1. กลุ่มอาหารที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย.

อาหารกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ไม่แปรรูปหรือถ้าแปรรูปก็จะใช้กระบวนการผลิตง่าย ๆ ในชุมชน ผู้บริโภคจะต้องนำมาปรุงหรือผ่านความร้อนก่อนบริโภค อาหารกลุ่มนี้ผู้ผลิตที่มีสถานที่ผลิตไม่เข้าข่ายโรงงาน (ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า7 คน) สามารถผลิตจำหน่ายได้โดยไม่ต้องมาขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แต่ต้องแสดงฉลากอาหารที่ถูกต้องไว้ด้วย

2. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย.

อาหารกลุ่มนี้เป็นอาหารที่มีการแปรรูปเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารสำเร็จรูปแล้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับต่ำ ปานกลางหรือสูง แล้วแต่กรณี ได้แก่ อาหารที่ต้องมีฉลาก อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หรืออาหารควบคุมเฉพาะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารและขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือจดทะเบียนอาหาร หรือแจ้งรายละเอียดของอาหารแต่ละชนิดแล้วแต่กรณี ได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ไม่เข้าข่ายการเป็นยาได้แก่ สบู่สมุนไพร แชมพูสระผมสมุนไพร ผงขัดผิวสมุนไพร เกลือผสมสมุนไพรสำหรับขัดผิว เทียนหอม เครื่องดื่มจากสมุนไพรน้ำหอมปรับอากาศจากสมุนไพร น้ำจิ้มน้ำซอสปรุงรสผสมสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอบแห้งพร้อมรับประทาน ลูกอมสมุนไพร ชาสมุนไพรสำเร็จรูปพร้อมชง เป็นต้น

ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่เข้าข่ายเป็นยาได้แก่ สมุนไพรลดน้ำหนัก เครื่องสำอางบำรุงผิว แก้อาการทางผิวหนังหรือทำให้ขาว เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษา บำบัดหรือบรรเทาอาการจากโรคต่างๆ เป็นต้น