ไข่เค็มละมุนหอมกลิ่นสมุนไพรไทย

ไข่เค็มละมุน หอมกลิ่นสมุนไพรไทย

สาระสำคัญ

การถนอมอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่ายและสะดวกในท้องถิ่น คือการดองไข่เค็ม ซึ่งเป็นวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ในการดองไข่เค็มที่ผ่านมาจะใช้เวลา 15 – 20 วัน แต่เมื่อนำการบูรณาการความรู้ใน 4 วิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่เรียกว่าสะเต็มศึกษามาประยุกต์ใช้ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาหรือใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง จะพบว่ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือการใช้น้ำส้มสายชูกลั่น 5% มาแช่ไข่ให้เปลือกบางจะทำให้ย่นระยะเวลาในการดองไข่เค็มได้โดยใช้เวลา 4 วัน ในการเพิ่มกลิ่นและสรรพคุณของสมุนไพรไทยที่มีในท้องถิ่นให้กับไข่เค็ม ส่วนใหญ่ ใช้วัตถุดิบจากสมุนไพรไทย ได้แก่ ใบเตย ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด พริก หอมแดง พริกไทย

ประเภทและชนิดของไข่เค็ม

ไข่เค็ม แบ่งตามกรรมวิธีการผลิตออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ไข่เค็มดองน้ำเกลือ หมายถึง ไข่เค็มที่ได้จากการดองเปียกโดยแช่ไข่ในน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น ที่เหมาะสมโดยให้ไข่จมอยู่ภายใต้ระดับน้ำเกลือในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้อาจเติมไอโอดีนหรือสมุนไพร (herb) อื่นๆ ด้วยหรือไม่ก็ได้

2. ไข่เค็มพอก หมายถึง ไข่เค็มที่ได้จากการดองแห้งโดยพอกไข่ด้วยของผสมที่มีเกลือเป็นองค์ประกอบหลักและส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ดินหรือดินสอพองน้ำขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้อาจเติมไอโอดีนด้วยหรือไม่ก็ได้

ลักษณะและคุณภาพของไข่เค็ม

ลักษณะภายนอก ไข่เค็มจะมีลักษณะภายนอกเหมือนไข่สด คือ เปลือกไข่มีสีขาวขุ่น เห็นเป็น เงากลมสีดำบนเปลือกไข่ ซึ่งเป็นส่วนของไข่แดง แต่ถ้าเป็นไข่เค็มที่ต้มในน้ำที่ใส่สารส้มเล็กน้อย บนเปลือกไข่ จะสาก และมีผงคล้ายแป้ง มีสีขาวนวลเคลือบอยู่ ลักษณะภายนอกของไข่ เค็มที่ดี เปลือกต้องไม่มีการเน่าเสียหรือแตกร้าว ลักษณะภายในเมื่อเป็นไข่ดิบ ไข่ขาวจะเหลวและมีสีขาวขุ่น ส่วนไข่แดงจะเป็น ก้อนกลมแข็งมีสีแดง เมื่อนำมาต้ม ไข่ขาวจะมีสีขาวขุ่น มีเนื้อนุ่ม และมีกลิ่นเค็มของเกลือ ส่วนไข่แดง มีสีส้มแดงเข้ม มีเนื้อสัมผัสที่คงตัวและมีเนื้อหยาบ มีส่วน ของน้ำมันเยิ้มออกมา ไข่เค็มที่ดีนั้น ไข่ขาวจะมีเนื้อละเอียดมีรสเค็มปานกลาง ส่วนไข่แดงมีสีแดงเข้ม เป็นน้ำมันเยิ้มและมีรสเค็ม

คุณค่าทางโภชนาการของไข่เค็ม

ไข่จัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีน ถือว่าเป็นแหล่งของโปรตีนที่มี กรดอะมิโนชนิดจำเป็นครบถ้วน เมื่อนำมาแปรรูปเป็นไข่เค็มแล้ว คุณค่าทางโภชนาการของไข่เค็มยังคงอยู่

ประโยชน์ของไข่เค็ม

1. เป็นการยืดอายุของวัตถุดิบหลัก คือ ไข่เป็ดให้มีการเก็บรักษาอยู่ได้นานถึง 1 เดือน (ในอุณหภูมิปกติ/ในที่เย็น)

2. เป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบ (ไข่เป็ด)

3. สามารถนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูป (ประกอบอาหาร) ได้หลายอย่าง เช่น ไข่ดาว (แบบไข่เค็ม) ชนิดพอกดิบ 5-7วัน ยำไข่เค็ม ผัดเผ็ดทะเลไข่เค็ม บัวลอยไข่หวาน(ไข่เค็ม)

4. ไข่เค็มสามารถนำมารับประทานกับข้าวร้อนๆ ข้าวต้มในยามเร่งด่วน