การเขียนแบบแผนการวิจัย

การเขียนแบบแผนการวิจัย

ความหมายและลักษณะ

แบบแผนการวิจัย(Research design) หมายถึง แผนหรือโครงสร้างของการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของคำถามการวิจัย

วัตถุประสงค์ของแบบแผนการวิจัย

1. เพื่อจัดเตรียมคำตอบให้กับคำถามการวิจัย

2. เพื่อควบคุมความแปรปรวน

ความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย

ความตรงภายใน ของการวิจัย หมายถึง ผลของการวิจัยครั้งนั้นๆ ตอบคำถามการวิจัยได้อย่างถูกต้องหมดจด โดยที่ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นผลมาจากตัวแปรที่นักวิจัยทำการศึกษาอย่างแท้จริง มิใช่เป็นผลมาจากตัวแปรอื่นที่นักวิจัยไม่ได้ทำการศึกษา

ความตรงภายนอก ของการวิจัย หมายถึง ผลของการวิจัยที่ค้นพบสามารถสรุปอ้างอิง (Generalization) ไปสู่ประชากรเงื่อนไขเดียวกับที่ทำการวิจัย หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า ข้อค้นพบจากการวิจัยในครั้งนั้นๆ สามารถนำไปสรุปใช้ได้กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีลักษณะเงื่อนไขเดียวกันกับการวิจัยครั้งนี้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย

1. ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในของการวิจัย

1.1 ประวัติพร้อง (Contemporary) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหรือเกิดขึ้นในขณะทำการวิจัยกับบุคคลที่เป็นตัวอย่าง/หน่วยทดลอง

1.2 กระบวนการวุฒิภาวะ (Maturation process) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีววิทยาและจิตวิทยาที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่เป็นหน่วยการศึกษาหรือหน่วยตัวอย่าง อันเนื่องมาจากระยะเวลาที่นักวิจัยทำการศึกษาค่อนข้างยาวนาน จนกระทั่งทำให้บุคคลดังกล่าวแสดงอาการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไป

1.3 แนวทางการทดสอบก่อน (Pretesting procedures) ปัจจัยนี้จะเกิดขึ้นเมื่อในการวิจัยนั้นมีการสอบวัดความรู้หรือทักษะของบุคคลที่เป็นหน่วยตัวอย่างก่อนที่จะทำการทดลอง และเมื่อดำเนินการทดลองเสร็จแล้วสอบวัดความรู้อีกครั้ง ซึ่งการที่นักวิจัยสรุปว่าผลจากการดำเนินกิจกรรมทดลองทำให้บุคคลเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอาจจะคลาดเคลื่อน ถ้าบุคคลเหล่านั้นนำประสบการณ์จากการสอบครั้งแรกมาใช้ตอบสนองการสอบครั้งหลัง

1.4 เครื่องมือการวัด (Measuring instrument) การใช้เครื่องมือและวิธีการที่ไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพในการสังเกต/วัด เก็บรวบรวมข้อมูลของตัวแปรที่ทำการศึกษากับบุคคลที่เป็นหน่วยตัวอย่าง อาจมีผลทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงและนำไปสู่การสรุปผลการวิจัยที่ผิดพลาด

1.5 การถดถอยทางสถิติ (Statistical regression) เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในเมื่อในการวิจัยนั้นมีการสอบวัดสองครั้งกับบุคคลซึ่งเป็นหน่วยตัวอย่าง โดยในการสอบครั้งแรกจะมีบุคคลที่ได้คะแนนสุดโต่ง คือ กลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ หลังจากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มได้รับเงื่อนไข สอบวัดอีกครั้งซึ่งในการสอบครั้งหลังนี้กลุ่มต่ำมักทำคะแนนได้ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มสูงคะแนนจะลดลง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นว่าจะเกิดแนวโน้มของคะแนนจากการสอบวัดครั้งหลังนี้ลู่เข้าสู่คะแนนเฉลี่ยที่แท้จริง

1.6 การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่าง (Differential selection of subjects) บางครั้งการวิจัยมักเกิดความผิดพลาด อันเนื่องมาจากการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดีหรือได้กลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกันตามพื้นฐานแต่เดิม

1.7 การขาดหายไปจากการทดลอง (Experimental mortality) มักพบในงานวิจัยเชิงทดลองบางครั้งกลุ่มตัวอย่างได้ขาดหายไปในช่วงของการทดลอง ซึ่งมีผลทำให้ข้อค้นพบของการวิจัยผิดไปจากความเป็นจริง

1.8 ปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างการคัดเลือกตัวอย่างกับปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา (Interaction of selection and maturation, selection and history. Etc.) ในงานวิจัยถ้าใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยไม่ดี ย่อมทำให้มีผลจากปัจจัยอื่นๆ ที่ติดมากับกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกไว้มา ร่วมส่งผลต่อตัวแปรตามที่ศึกษาด้วยเสมอ เช่น ถ้าใช้วิธีการคัดเลือกไม่ดีก็อาจได้กลุ่มตัวอย่างที่มีวุฒิภาวะต่างกันหรือประวัติพร้องต่างกัน ซึ่งทั้งวุฒิภาวะและประวัติพร้องต่างก็มีผลต่อตัวแปรตามทั้งสิ้น

2. ปัจจัยที่มีผลต่อความตรงภายนอกของการวิจัย

2.1 ปฏิสัมพันธ์ของความลำเอียงในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกับตัวแปรอิสระที่ต้องการศึกษา (Interaction effects of selection biases and x) กรณีที่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาไม่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างมาใช้ในการวิจัยและได้ผลการวิจัยเป็นเช่นไร การจะสรุปผลไปยังประชากรจะมีความผิดพลาดเป็นอย่างมาก

2.2 ปฏิสัมพันธ์ร่วมจากการทดสอบก่อน (Reactive or interaction effect of pretesting) ในกรณีงานวิจัยที่มีการทดสอบก่อน ก่อนที่จะให้เงื่อนไขการทดลองหรือตัวแปรอิสระใดๆ ก็ตาม ผลการทดสอบก่อนนี้อาจจะทำให้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเกิดการเรียนรู้หรือมีความฉลาดมากขึ้นจากการสอบ (Test wise)

2.3 ปฏิกิริยาร่วมจากวิธีดำเนินการทดลอง (Reactive effects of experimental procedures) การที่กลุ่มตัวอย่างรู้ตัวว่านักวิจัยต้องการข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติของกลุ่มตัวอย่าง อาจทำให้กลุ่มตัวอย่างเสแสร้งและแสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ เพื่อให้นักวิจัยพอใจหรือเป็นไปตามที่นักวิจัยต้องการ ก็จะทำให้ได้ผลการวิจัยไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งก็ไม่สามารถสรุปไปสู่ประชากรได้

2.4 การรบกวนหรือปนเปเนื่องจากเงื่อนไขการทดลองที่มีมาก (Multiple-treatment interference) กรณีงานวิจัยที่ให้เงื่อนไขการทดลองหลายๆ เงื่อนไขกับตัวอย่างในงานวิจัยกลุ่มเดียวทำให้อิทธิพลของเงื่อนไขการทดลองแต่ละเงื่อนไขร่วมกันส่งผลต่อตัวแปรตามยากต่อการจำแนก

องค์ประกอบสำคัญในแบบแผนการวิจัย

ในการออกแบบแผนการวิจัยนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ บางส่วนที่ควรจะมี ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มักจะเป็นปัญหาค่อนข้างมากสำหรับผู้ที่เริ่มทำวิจัย องค์ประกอบดังกล่าว ได้แก่

1 . โจทย์วิจัยและคำถามการวิจัย ( Research problem and question ) ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะการทำวิจัยจะทำไม่ได้เลยหรือถ้าหากทำได้ก็เป็นการทำที่ผิดทิศทาง ถ้านักวิจัยไม่มีโจทย์หรือคำถามการวิจัยที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากการทำวิจัยนั้นจะเริ่มจากความสงสัย การมีปัญหาใคร่รู้คำตอบเกี่ยวกับตัวแปรหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ดังนั้นหากไม่สงสัยหรือไม่มีโจทย์เสียแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำการวิจัยไปเพื่ออะไร

2. กรอบเชิงทฤษฎีและกรอบแนวคิด ( Theoretical and conceptual framework ) ในการดำเนินงานวิจัยเรื่องใดๆ ก็ตาม ปัญหาการวิจัยและแนวทางที่จะหาคำตอบให้กับปัญหามิได้เกิดมาบนความว่างเปล่า หากล้วนแต่ต้องมีพื้นฐานที่มาที่จะช่วยอธิบายเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์หรือตัวแปรต่างๆ ที่ผู้วิจัยสนใจศึกษาหาคำตอบ ซึ่งพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่ ทฤษฎีและข้อค้นพบบางอย่างจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ผู้วิจัยจะศึกษา ถ้าทฤษฎีและข้อค้นพบจากงานวิจัย (เดิม) นี้ มีการเขียนในลักษณะเป็นรูปแบบหรือแบบจำลอง รูปแบบหรือแบบจำลองนี้ก็คือ กรอบเชิงทฤษฎี ( Theoretical framework ) นั่นเอง

สำหรับ กรอบแนวคิดการวิจัย ( conceptual framework ) นั้นก็คือ กรอบเชิงทฤษฎีที่ลดรูปลงมาเพื่อใช้สำหรับการวิจัยในเรื่องนั้นๆ กล่าวคือ ในขณะที่กรองเชิงทฤษฎีได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยหรือความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งหมดที่นักวิจัยต้องศึกษาที่มาจากทฤษฎีแนวคิดและผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อดำเนินการวิจัยในเรื่องดังกล่าว นักวิจัยได้พิจารณาลดตัวแปรบางตัวลง หรือทำให้ตัวแปรบางตัวเป็นตัวแปรคงที่ จึงทำการปรับกรอบเชิงทฤษฎีใหม่ก็จะได้เป็น กรอบแนวคิดการวิจัย ( conceptual framework ) สำหรับการวิจัยในเรื่องนั้นๆ

3. ขอบเขต ( Scope ) ข้อจำกัด ( Limitation ) และข้อตกลงเบื้องต้น ( Basic assumption ) จากกรณีที่นักวิจัยทำการลดรูปกรอบเชิงทฤษฎีเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยดังในหัวข้อที่ผ่านมาก็เป็นการแสดงให้เห็นถึง ขอบเขต ( Scope ) ของการวิจัย นั่นคือ ถ้าผลการวิจัยเป็นเช่นไรแล้วจะมีขอบเขตในการสรุปอ้างอิงไปสู่เฉพาะนักเรียนในกลุ่มนี้เท่านั้น หากมีปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่ได้ศึกษา (ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยหรือตัวแปรที่ศึกษา) ต้องระบุเป็น ข้อจำกัด ( Limitation ) ของการวิจัยครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้นแล้วถ้านักวิจัยระบุว่าปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่ได้นำเข้ามาศึกษาในครั้งนี้มีผลอย่างสุ่มหรือผลคงที่กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ การระบุเช่นนี้ก็เรียกว่า ข้อตกลงเบื้องต้น ( Basic assumption )

4. กรอบการวิจัย ( Research flow chart) กรอบการวิจัยหรืออาจจะเรียกว่า กรอบวิธีดำเนินการวิจัย หมายถึง แผนภูมิที่เขียนขึ้นในลักษณะเป็นผังไหล ( flow chart ) แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนกิจกรรมและผลที่จะได้รับจากการดำเนินการวิจัยในแต่ละขั้นตอน เพื่อสื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยเกิดความคิดรวบยอด ( Concept ) เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของการดำเนินงานวิจัยในเรื่องนั้นๆ