การเขียนสมมุติฐานการวิจัย

การเขียนสมมติฐานการวิจัย

สมมุติฐานของการวิจัยเป็นข้อมูลชั่วคราว (Tentative Assumption) ที่ได้มาจากความรู้ ทฤษฏี หรือความคิดในเรื่องที่ทำการค้นคว้าวิจัย สมมุติฐานยังเป็นข้อความที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแสดงความคิดคาดหวังในเรื่องของการวิจัยว่าจะเป็นอย่างไร และใช้เป็นแนวทางอธิบายให้เห็นถึงข้อเท็จจริง เงื่อนไข ของสิ่งต่าง ๆ ที่สังเกตมาได้ และเป็นแนวทางในการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลได้ตรงเป้าหมาย ในการเขียนสมมุติฐานการวิจัยมีหลักการดังนี้

1. เขียนให้เฉพาะเจาะจง และสอดคล้องกับเรื่องที่ทำวิจัย เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย และไม่กว้างจนเกินไป

2. เขียนสมมุติฐานในเรื่องที่สามารถทดสอบได้ โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์

3. ใช้คำที่ชัดเจน กะทัดรัด เข้าใจง่าย

4. เขียนให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวแปรในสิ่งที่ศึกษาวิจัย

5. ถ้าเป็นเรื่องซ้ำซ้อน ควรแยกออกเป็นสมมุติฐานย่อย ๆ ก็ได้

ในการสร้างสมมุติฐานมี 2 แบบ ดังนี้

1. แบบใช้เหตุผล หรือนิรภัย (Logical หรือ Deductive)โดยการเขียนจากหลักการ หรือทฤษฎี ที่ได้ศึกษาก่อน และตั้งเป็นสมมุติฐาน ซึ่งผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบด้วยว่า สมมุติฐานที่สร้างขึ้นมานั้น สอดคล้องกับแนวความคิดทฤษฎีหรือไม่ ข้อสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ได้สนับสนุนสมมุติฐาน แสดงว่าสมมุติฐานนั้นใช้ไม่ได้

2. แบบอาศัยข้อเท็จจริง หรืออุปนัย (Emperical หรือ Inductive)การสร้างสมมุติฐานแบบนี้ต้องอ้างอิงการวิจัยอื่น ๆ สังเกตข้อเท็จจริง พฤติกรรม แนวโน้ม ความสัมพันธ์ของสิ่งที่ปรากฏขึ้น แล้วจึงตั้งสมมุติฐาน

สมมุติฐานไม่ควรจะเป็นเรื่องที่คิดเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่เอง และไม่ควรเขียนขึ้นภายหลัง เมื่อรู้ลักษณะโดยตลอดของข้อมูลแล้ว สมมุติฐานควรจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของนักวิจัย ในการสังเคราะห์ความคิดเกี่ยวกับปัญหา