การเขียนเอกสารที่เกี่ยวข้อง

การเขียนเอกสารที่เกี่ยวข้อง

การเขียนรายงานการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการทำวิจัย มีเทคนิควิธีการอย่างไร วันนี้จะรวบรวมจากสาระที่น่าสนใจในประเด็นนี้ ที่ท่านอาจารย์ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้นำเสนอแนวทางไว้ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเขียนรายงานเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เป็น”ขนมชั้น” หรือ “ตัดแปะ” อย่างที่ถูกกล่าวถึงกัน

เรามาเริ่มที่ความสำคัญของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้บทความนี้จะเขียนไว้นานแล้วแต่มีสาระน่าสนใจมาก นงลักษณ์ วิรัชชัยและคณะ(2535, หน้า 57) ได้สรุปเกี่ยวกับการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไว้ว่า ส่วนนี้มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องบ่งชี้มาตรฐาน และคุณภาพของโครงการวิจัยว่า โครงการวิจัยนี้ดีมากน้อยเพียงไร การที่จะเขียนหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องและเอกสารอ้างอิงให้มีคุณภาพนั้น นักวิจัยต้องอ่านมาก ศึกษามาก ค้นคว้ามากและคิดสังเคราะห์สิ่งที่ศึกษาอย่างมาก ก่อนจะลงมือเขียน วิธีการศึกษาควรเริ่มต้นจากการศึกษาความรู้และทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยทั้งหมดให้เห็นภาพกว้างๆเสียก่อนจากนั้นจึงศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของเรื่องที่จะทำวิจัย การศึกษางานวิจัยเดิมต้องเก็บรายละเอียดให้ทราบว่าแต่ละเรื่องนั้นเป็นการวิจัยเรื่องอะไร ทำเมื่อไร ทำที่ไหน ศึกษากับประชากรกลุ่มใด ใช้วิธีการวิจัยอย่างไร ได้ผลการวิจัยอย่างไรและมีจุดบกพร่อง หรือข้อจำกัดอย่างไร ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดเมื่อนำมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันจะทำให้นักวิจัยตอบคำถามได้ว่า เรื่องที่จะทำวิจัยนั้นมีการศึกษาถึงขั้นไหนควรจะทำต่อในแนวใดหรือมีผู้ทำการวิจัยไว้มากเพียงพอแล้วไม่ควรจะต้องทำการวิจัยต่อไปอีก ในกรณีที่ยังทำการวิจัยต่อไปได้ผลการสังเคราะห์จะช่วยให้นักวิจัยทราบว่า งานวิจัยเดิมมีข้อจำกัดอย่างไร ควรจะปรับปรุง และนำแนวคิดใหม่ๆมาดำเนินการวิจัยได้อย่างไร รวมทั้งข้อมูลที่จะนำมาสร้างสมมติฐานการวิจัยด้วย วิธีการเขียนหัวข้อเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้น นักวิจัยต้องจัดลำดับเนื้อหาเริ่มจากภาพรวมกว้างๆค่อยๆนำเข้ามาสู่ปัญหาวิจัย โดยอาจแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อตามความเหมาะสม แต่ละหัวข้อมีส่วนการเสนอรายงาน และการอภิปรายให้เห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาแต่ละตอน และความเกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยอย่างชัดเจน มีการสรุปแต่ละหัวข้อและการสรุปรวม สาระสำคัญขอการสรุปควรนำไปสู่ตัวแปรสำคัญของโครงการวิจัย และโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดสมมุติฐานวิจัย

วิธีการนำเสนอการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อรุณี อ่อนสวัสดิ์(2551, หน้า 40-41) กล่าวว่า ผู้วิจัยควรให้เวลากับการวางแผนในการนำเสนอและเรียบเรียงเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอโดยใช้ถ้อยคำของผู้วิจัยเอง มิใช่การตัดต่อสาระจากผลการบันทึกที่สะสมไว้เป็นจำนวนมาก หรือมิใช่การตัดต่อสาระจากเอกสารที่ถ่ายจากต้นฉบับของผู้อื่น เพราะจะทำให้ภาษาที่ใช้ไม่เป็นลักษณะเดียวกันโดยตลอด มีความซ้ำซ้อนที่สำคัญ คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ หากผู้วิจัยตัดต่อจะเข้าลักษณะที่ว่า “เขียนเป็นขนมชั้น” หมายถึง สาระที่นำเสนอไม่ได้เรียงร้อยเข้าด้วยกัน ยังเห็นลักษณะแยกเป็นส่วนๆทำให้อ่านแล้วไม่เกิดภาพทางความคิดหรือยากต่อการทำความเข้าใจ

ส่วนการจัดหมวดหมู่ในการนำเสนอนั้น รัตนะ บัวสนธ์ (2552, หน้า 239) ได้ให้แนวทางในการนำเสนอเนื้อหาบทที่ 2 มีเนื้อหาที่จะต้องเขียนนำเสนอเป็นสองส่วน ได้แก่ แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้าไว้แล้ว ก็จะต้องนำมาสังเคราะห์จัดเป็นหมวดหมู่เขียนเรียบเรียงไว้ตามลำดับ ในส่วนของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่มีการศึกษา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยของผู้วิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วนำข้อค้นพบที่ได้จาการอ่านงานวิจัยเหล่านั้นมาเขียนเรียบเรียงนำเสนอตามลำดับพัฒนาการของการศึกษาหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ในการเขียนส่วนนี้ นักวิจัยจะต้องใช้ภาษาเรียบเรียงให้เห็นความเชื่อมโยงตามลำดับของพัฒนาทางความรู้ของเรื่องนั้น รวมทั้งการสรุปให้เห็นถึงผลการวิจัยเหล่านั้นว่า สนับสนุนหรือขัดแย้งซึ่งกันและกันหรือไม่ ข้อผิดพลาดที่มักจะพบเสมอในการเขียนส่วนนี้ก็คือ จะเป็นการเขียนนำเสนอเป็นท่อนๆว่าใครทำวิจัยเรื่องอะไรได้ข้อค้นพบเป็นประการใด โดยขาดการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ก็จะจบแบบห้วนๆ โดยขาดการสรุปให้เห็นว่า จากการศึกษางานวิจัยทั้งหมดได้ผลโน้มนำเป็นประการใด สิ่งดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นการเขียนนำเสนอที่ทำให้รายงายวิจัยด้อยคุณค่าไม่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อเขียนนำเสนอส่วนที่เป็นรายงานที่เกี่ยวข้อเสร็จแล้ว ควรจะต้องเขียนสรุปให้เห็นถึงกรอบทฤษฎี และหรือกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัยด้วย

ในด้านการสรุปนั้น องอาจ นัยพัฒน์(2551, หน้า 88-89) สรุปว่า การเขียนข้อสรุปผลของการวิจัยที่ผ่านมาโดยรวม นักวิจัยควรบรรยายสั้นๆเพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาค้นคว้าของตนมีส่วนสร้างสรรค์องค์ความรู้ ความจริงอะไรขึ้นใหม่ และความรู้ความจริงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่นำสู่ความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร การเขียนข้อสรุปในลักษณะแบบนี้ นักวิจัยจะต้องใช้ถ้อยคำที่สามารถสื่อสาร ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การศึกษาทบทวนผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีต ไม่ได้มีอิทธิพลครอบงำแนวคิดหรือมุมมองของนักวิจัยต่อการทำวิจัย หากแต่เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยพยายามแสวงหาทางเลือกใหม่สำหรับการทำวิจัย โดยมุ่งหวังว่าจะทำให้ได้คำตอบของโจทย์หรือหัวข้อปัญหาการวิจัยมีความกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ข้อผิดพลาดที่พบในการเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของจากการเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตมีอยู่หลายประการ ชูศรี วงศ์รัตนะ(2549, หน้า 57) ได้สรุปข้อผิดพลาดที่พบจากงานเขียนเค้าโครงวิจัยของนิสิตนักศึกษา มีดังนี้

1. บุคคลที่ใช้อ้างอิง "ความหมายของคำสำคัญ” ต้องเป็นผู้รู้ในสาขานั้นๆ อ้างอิงไม่ใช่อ้างอิงจากนิสิตที่ทำวิจัยกำลังค้นคว้า

2. เอกสารที่นำมาอ้างอิง ควรเป็นเอกสารที่มาจากแหล่งปฐมภูมิ เช่น จะอ้างอิง t-test ผู้วิจัยก็ควรจะศึกษาจากหนังสือเทคนิคการวิจัยโดยตรง และควรอ้างอิงจากเล่มที่พิมพ์ในปีใหม่ที่สุด ไม่ใช่ไปคัดลอกมาจากบทที่ 3 ของสารนิพนธ์ที่ผ่านมา จะทำให้ได้สาระข้อความที่ถูกต้อง ในบางกรณีที่สารนิพนธ์เล่มที่ผู้วิจัยศึกษา พิมพ์สูตรผิด ก็จะทำให้ผู้วิจัยอ้างอิงสูตรผิดด้วย กรณีที่เอกสารที่ใช้เป็นแหล่งทุติยภูมิ ผู้วิจัยก็ต้องใช้วิธีอ้างอิงให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นแหล่งทุติยภูมิด้วย

3. ความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเอกสาร หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยควรพยายามค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัยที่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ล้าสมัยเกินไป การอ้างอิงก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อมาสนับสนุนงานที่กำลังจะวิจัย ถ้าล้าสมัยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์

4. ความเกี่ยวข้อง เอกสารที่นำมาอ้างอิง ต้องมีความเกี่ยวข้องกับงานที่ผู้วิจัยกำลังจะทำวิจัย ความ เกี่ยวข้องพิจารณาได้จากตัวแปรหลักที่ผู้วิจัยที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา และลักษณะประชากรที่ต้องการศึกษา โดยงานวิจัยที่นำมาอ้างอิงต้องพิจารณาประกอบทั้งตัวแปรและประชากร ไม่ใช่เกี่ยวข้องเฉพาะประชากร ก็นำมาอ้างอิงเลย

จากข้อผิดพลาดต่างๆดังกล่าว อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ จะเป็นผู้ดูแลเพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถนำเสนอสาระจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยได้อย่างมีคุณภาพ ในเรื่องนี้ สุวิมล ว่องวานิช และ นงลักษณ์ วิรัชชัย(2546, หน้า 58-59) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนากรอบแนวคิดของการวิจัย ไว้ว่า ในขั้นตอนของการพัฒนารายงานแนวคิดในการวิจัย(concept paper) ซึ่งมีรายละเอียดของเนื้อหาสาระที่ประกอบด้วย การสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งแนวคิดเชิงทฤษฎี รายงานผลการวิจัยและประเด็นที่ผู้วิจัยสรุปได้จากการสังเคราะห์เอกสาร อาจารย์ที่ปรึกษาต้องชี้แนะแนวทางการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ตรวจสอบผลการสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง การจัดลำดับเสนอความคิด การแสดงเหตุผลเชื่อมโยงเพื่อนำเข้าสู่การกำหนดประเด็นวิจัย และการกำหนดกรอบความคิดของการวิจัยที่สมเหตุสมผล