การเขียนชื่อเรื่องการวิจัย

ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

1.ควรตั้งชื่อเรื่องให้สั้น โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจงหรือสื่อความหมายเฉพาะเรื่องและควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด แต่ชื่อเรื่องก็ไม่ควรสั้นเกินไปจนทำให้ขาดความหมายทางวิชาการ

2. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา ว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาอะไร อย่าตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ทำให้ผู้อ่านตีความหมายได้หลายทาง และอย่าพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกินความเป็นจริง

3. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย ซึ่งจะทำให้ชื่อเรื่องชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น เช่น

3.1 การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่าการสำรวจ หรือการศึกษา เป็นคำขึ้นต้น และอาจจะระบุตัวแปรเลยก็ได้ เช่น การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้บทเรียนการสอนผ่านเว็บวิชาการการวัดและประเมินผลการศึกษาของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา การสำรวจความสนใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในการเข้าศึกษาต่อสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตชุมพร เป็นต้น

3.2 การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ มักใช้คำว่า การศึกษาความสัมพันธ์นำหน้าชื่อเรื่อง เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จังหวัดชุมพร

3.3 การวิจัยเชิงพัฒนาการ มักใช้คำว่า การศึกษาพัฒนาการนำหน้าชื่อเรื่อง เช่น การศึกษาพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กปฐมวัยในจังหวัดชุมพร

3.4 การวิจัยเชิงทดลอง มักใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การเปรียบเทียบ เป็นต้น นำหน้า เช่น การเปรียบเทียบวิธีสอนโดยใช้ชุดการสอนและไม่ใช้วิชาสังคมศึกษาของเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1โรงเรียนทุ่งคาพิทยาคาร

4. ควรตั้งชื่อเรื่องในลักษณะของคำนาม ซึ่งจะทำให้เกิดความไพเราะ สละสลวยกว่าการใช้คำกริยานำหน้าชื่อเรื่อง เช่นแทนที่จะใช้คำว่า สำรวจ ศึกษา เปรียบเทียบ วิเคราะห์ ก็ควรจะใช้ คำว่า การสำรวจ การศึกษา การเปรียบเทียบ การวิเคราะห์ เป็นต้น นำหน้าชื่อเรื่อง

5. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์ เป็นชื่อเรื่องที่ระบุให้ทราบตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการวิจัย ตัวแปร และกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาวิจัยด้วย เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบแรงจูงใจในการเป็นนักกีฬาของสถาบันกีฬา


ตัวอย่าง

วิจัยเรื่อง การจัดกิจกรรมตามแนวคิดแบบภาษาธรรมชาติบูรณาการกับฺ BBL เพื่อพัฒนาทักษะการพูดสำหรับเด็กปฐมวัย