สอนลูกเรียนเก่ง ที่บ้าน วิธีแก้ไขลูกเรียนไม่เก่ง

คงจะมีพ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนมากที่กำลังคิดหรือมองหาวิธีว่า ทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่ง และหาวิธีสอนเด็กให้เรียนเก่งขึ้น ในช่วงต้นปี ผู้เขียนบทความนี้ได้รับภาระ ให้เลี้ยงหลาน 1 เทอม เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตอนแรกปวดหัวเหมือนกัน แต่ก็ต้องพยายาม ทำให้หลานเรียงเก่ง หรือเรียนดีขึ้นให้ได้ จึงคิดหาวิธีที่ได้อธิบายด้านล่างนี้ ซึ่งก็ได้ผลดีมาก จึงอยากนำวิธี และเทคนิคนี้มาแบ่งปัน หวังว่าน่าจะช่วยให้น้องๆ เด็กๆที่น่ารักน่าชังของทุกท่าน เรียนได้เก่งขึ้นนะครับ

เด็กจะเรียนเก่งขึ้นได้ ควรจะมีแนวทางการเรียนที่เหมาะสม ที่จะเป็นไปได้ทั้งในและนอกห้องเรียน เริ่มฝึกแนวทางที่ดีให้กับพวกเขา ตั้งแต่ระดับชั้นประถมต้น พอโตขึ้นให้เด็กยึดแนวทาง นำไปใช้ต่อไป เรื่อยๆในระดับที่สูงขึ้นไป ตั้งแต่ระดับประถมปลาย มัธยมต้น มัธยมปลาย ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แนวทางของผม ที่ฝึกให้กับหลานในครั้งนี้ ได้อธิบายไว้ด้านล่างนี้ครับ

1. เตรียมสมุดบันทึก 1 เล่มเก็บไว้กับพ่อแม่

เราคือครูคนที่ 2 : ผมได้เตรียมสมุดเปล่าเล่มหนึ่งเก็บไว้กับตัวเอง เล่มไม่หนามาก ผมใช้สมุดเล่มนี้จดบันทึกตารางเรียนของเด็กว่าตั้งแต่ วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เขาเรียนวิชาอะไรบ้างในช่วงเช้าและช่วงบ่าย และใช้สมุดเล่มนี้จดโน๊ตไว้ว่า แต่ละวิชามีสอนเรื่องอะไรบ้าง

ตัวอย่างสมุดบันทึกนี้ จะมีประโยชน์ในการดู เรื่องสำคัญๆทั้งหมด ของการเรียนของลูกในเทอมนั้นๆ นอกจากจด ตารางเรียนและเรื่องที่เรียนแล้ว ผมยังให้หลานเอาไว้เขียนสรุป เรื่องที่เขาเข้าใจแล้ว หรือเรื่องที่เขาไม่เข้าใจ เราก็อธิบายแล้วตั้งโจทย์ให้เขาทำตอนนั้น จากนั้นให้เขาจดสรุปเรื่องที่เราอธิบายตามความเข้าใจของเขา สมุดนี้ควรเก็บไว้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพราะถ้าเก็บไว้กับเด็ก มักจะหายหรือฉีกขาดเพราะความซนของเด็กแน่ และควรเก็บไว้ให้ดีอย่าให้หายหยิบมาดูได้ง่าย เมื่อถึงเวลาใกล้สอบ สมุดเล่มนี้จะมีประโยชน์มาก ในการเอามาสอนลูก

รู้ตารางเรียน ของลูก

จันทร์: วิชาภาษาไทย (เช้า), วิชาสังคมศึกษา (บ่าย)

อังคาร: วิชาคณิตศาสตร์ (เช้า), วิชาศิลปะ (บ่าย)

พุธ: วิชาภาษาไทย (เช้า), วิชาภาษาอังกฤษ (บ่าย)

พฤหัสบดี: วิชาคณิตศาสตร์ (เช้า), วิชาวิทยาศาสตร์ (บ่าย)

ศุกร์: วิชาคณิตศาสตร์ (เช้า), วิชาวิทยาศาสตร์ (บ่าย)

รู้เรื่องที่ลูกเรียน

คณิตศาสตร์: บวก, ลบ, คูณ, หาร, หารมีเศษส่วน, เวลา-นาฬิกา, การตวง, เงิน, เรขาคณิต

ภาษาไทย: อักษรไทยไขขาน, ประสมคำ, ตัวสะกด, วรรณยุกต์, รร และการันต์

ภาษาอังกฤษ: สี, อวัยวะร่างกาย เป็นต้น

2. จัดสรรเวลาคุยกับลูกเรื่องเรียน ตอนอยู่บ้าน

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเด็ก ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีเวลาที่แน่นอน ในการคุยกับลูกในเรื่องเรียน ของแต่ละวันหลังจากที่เขาเลิกเรียนกลับมาถึงบ้านแล้ว อาจจะเป็นหลังทานอาหาร หรือเวลาก่อนเข้านอน หรือเวลาใดก็ได้ที่ผู้ปกครองสะดวก เป็นตอนที่ผู้ใหญ่มีเวลาว่าง และเด็กก็มีเวลาว่าง เวลาที่ผมใช้กับหลานคือ เวลาที่หลานกลับมาจากโรงเรียนอาบน้ำ และกินขนมแล้ว (ใจจริงอยากให้เป็นเวลาก่อนกินขนมหรือผลไม้ แต่เด็กกลับมามักจะหิวเลยให้กินก่อน) เวลาคุยกับเด็กหลังเลิกเรียน ควรจะต้องทำทุกวันให้เป็นกิจวัตร ไม่ควรลืม

เริ่มนั่งคุยกับเด็ก อย่าลืมหยิบเอาสมุดบันทึกมาด้วย นั่ง่คุยกับเขาถามเขาว่าวันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เด็กทำอะไรผิดที่โรงเรียนหรือไม่ (ถ้าผิดก็สอนและอธิบายเรื่องนั้น และบอกลูกหลานเรา ว่าอย่าทำแบบนั้นอีก) , เด็กถูกเพื่อนรังแกหรือไม่ ก็ถามเรื่องทั่วๆไปครับ จากนั้นกลับมาถามเรื่องเรียนว่า วันนี้ที่โรงเรียนครูสอนวิชาอะไรบ้าง เรื่องอะไรบ้าง แล้วถามเขาว่าเขาเข้าใจที่ครูสอนหรือไม่ หากเขาไม่เข้าใจให้ดูเรื่องที่เขาไม่เข้าใจก่อน โดยเอาหนังสือของเด็กที่เอาไปโรงเรียนด้วย มาเปิดดู แล้วอธิบายจุดที่เด็กไม่เข้าใจ ให้เขาเข้าใจ จากนั้นให้เด็กจดลงสมุดบันทึก ในวิชาและเรื่องที่ที่ไม่เข้าใจและผู้ใหญ่ได้อธิบายให้เข้าใจแล้ว จดบันทึกแบบสั้นๆกระชับแต่ได้ใจความนะครับ เช่นการหารแบบมีเศษ อาจจะจดว่า ดูสูตรคูณตัวหาร ที่ใกล้ตัวตั้งที่สุด แต่น้อยกว่า

หากถามเด็กแล้วเขาตอบว่า วันนี้ที่ครูที่โรงเรียนสอน เขาเข้าใจหมดเลย ก็ให้หยิบเอาสมุด และหนังสือของวันนั้นมาเปิดดูกับเด็ก แล้วตั้งใจทย์ถามให้เด็กตอบ เพื่อทดสอบว่าเขาเข้าใจจริงๆ หากตอบถูกแสะว่าเข้าใจ แต่หากตอบผิดแสดงว่าเขาอาจจะไม่เข้าใจ ก็ให้อธิบายเรื่องนั้น อธิบายแล้วถามเขาว่าเข้าใจหรือไม่ หากเข้าใจแล้ว ลองตั้งโจทย์ใหม่ให้เด็กตอบ จนกว่าเขาจะตอบได้ถูกต้องจริงๆ เมื่อเขาตอบได้ก็ให้เด็กเขียนลงในสมุดบันทึกว่า วิชานี้เรื่องนี้เข้าใจแล้ว

นั่งคุยกับเด็กทุกวันที่เขาไปโรงเรียน ให้ทำแบบนี้ทุกวันที่ลูกหรือหลานเราไปโรงเรียน ตั้งแต่หลังเลิกเรียนวันจันทร์ - วันศุกร์ หากไม่เข้าใจก็อธิบายใหม่จนเข้าใจ และจดลงในสมุดบันทึก หากเข้าใจแล้วก็จดว่าเรื่องนั้นๆเด็กเข้าใจแล้ว

3. หมั่นคอยหาจังหวะถามโจทย์ให้เด็กตอบ

หลังจากที่ได้ ทำข้อ 2 ไปแล้ว ในเวลาว่างๆ อาจจะเป็นตอนเวลาพาลูกไปเที่ยว หรือพาเขาไปตลาด หรือเล่นอยู่บ้าน หรือเวลาว่างใดๆที่เหมาสะตอนที่เขาสบายๆมีความสุขอยู่ (ไม่ควรเป็นเวลาที่เขากำลังร้องไห้ หรือตอนกำลังเครียด เพราะจะทำให้เด็กได้รับความกดดัน) ตั้งโจทย์ถามปากเปล่าให้เด็กตอบปากเปล่า โจทย์ที่ถามก็เป็นเรื่องเรียนของเด็กในวันที่ผ่านๆมา

ทั้งเรื่องที่พวกเขาเคยไม่เข้าใจ และเข้าใจแล้ว อยากเช่นโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องหารเศษส่วน ก็ลองตั้งโจทย์ให้เด็กตอบ จะช่วยให้เด็กรื้อฟื้นความจำ ไม่ลืมในเรื่องที่เรียน หากเขาตอบถูกก็มั่นใจได้ว่าเขาเข้าใจและไม่ลืม หากตอบผิดก็ให้อธิบายซ้ำ หรือหยิบเอาสมุดบันทึกที่เขาเคยเขียนมาดู ให้เด็กตอบโจทย์ที่ตั้งให้ได้ ข้อนี้จะตัวประเมิณการเรียนความรู้ และความเข้าใจของเด็กได้ อย่าลืมนะครับ ว่าต้องหมั่นหาจังหวะถามเขาต่อเนื่องเกือบทุกวัน อาจจะเป็นวันละครั้งหรือสองครั้งก็ได้

4. ติดตามและประเมินผล เลิกเรียน

ในวันหยุด แต่ละสัปดาห์ อาจจะเป็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ วันใดก็ได้ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำการทดสอบลูกหลาน โดยการเขียนโจทย์ลงในกระดาษเปล่า โจทย์ที่เขียนลงไปนั้นเป็นเรื่องเรียนที่ผ่านมา ในแต่ละสัปดาห์ ประมาณ 5-6 ข้อ แล้วเอาให้เด็กของเราทำส่ง คิดว่าคงไม่ใช้เวลามากนัก โจทย์ที่ตั้งผู้ปกครองอาจจะตั้งเอาเอง

หรือหาจากหนังสือหรือตามเว็บไซต์ต่างๆที่มี หลังจากเด็กทำเสร็จแล้ว ตรวจดูที่เด็กทำ หวังว่าเขาจะทำถูกหมดนะครับ หากยังทำผิด ก็ให้ลูกหลานของเราหยิบเอาสมุดบันทึกที่เขาจดไว้มาดูเพื่อทำความเข้าใจใหม่

5. ให้เด็กเข้าใจครูสอนในห้องเรียน

หลังจาก 2 บทความ ทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่ง ตอน 1 และ 2 ได้พูดถึงเทคนิคการสอนลูก ตอนอยู่บ้านหลังเลิกเรียน และวันหยุดไปแล้ว ซึ่งเป็นการสอนเด็กของเรา หลังจาากที่คุณน้องหนูของเรา ยังเรียนไม่เก่งยังไม่เข้าใจ ตั้งแต่ในห้องเรียน บทความสุดท้ายนี้จะแนะนำพูดถึง การทำให้เด็กเรียนเก่งและเข้าใจ ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน ในชั่วโมงเรียนวิชานั้นๆ หากเด็กสามารถเข้าใจ สิ่งที่คุณครูสอนในห้อง ก็จะสามารถช่วยให้เด็กเรียนได้เก่งขึ้น โดยผู้ปรกครองจะได้ไม่ต้องเหนื่อย มาสอนซ้ำกับเรื่องที่คุณครูได้สอนไป

เด็กจะเก่งได้ ควรเก่งตั้งแต่ในห้องเรียน เก่งที่ว่าเด็กสามารถทำความเข้าใจ กับเรื่องที่คุณครูสอนหรืออธิบายในชั่วโมงนั้นๆ บางครั้งเด็กอาจจะไม่เข้าใจ ไม่กล้ายกมือถามคุณครู หรือเด็กไม่สนใจฟังคุณครูอธิบาย เพราะมัวสนใจสิ่งอื่นหรือเล่นกับเพื่อนอยู่ หากเป็นอย่างที่ว่า ผู้ปกครองต้องหาทาง ทำให้เด็กสนใจสิ่งที่ครูสอนให้ได้ หรือเด็กบางคนพยายามทำความเข้าใจ ในสิ่งที่ครูกำลังสอน แต่ก็ยังไม่เข้าใจ แต่คุณครูก็อาจจะลืม ไม่ได้ถามเด็ก ว่าที่สอนไปเด็กเข้าใจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ ทั้งตัวเด็กเอง คุณครู และสภาพแวดล้อมในห้องเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่มีผลต่อการเรียนของเด็ก 6. ติดตามพฤติกรรมในห้องของเด็ก จากคุณครู

มีพ่อแม่หรือผู้ปรกครองบางท่าน ไม่ได้ติดต่อติดตาม สอบถามลูกของเราว่าในห้องเรียน หรืออยู่ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง หากเป็นเช่นนั้นควรอย่างยิ่ง ที่จะติดต่อสอบถามไม่ว่า จะเป็นคุณครูประจำชั้น หรือครูที่ปรึกษา เพื่อที่จะได้ติดตามพฤติกรรมของลูกเรา ว่าอยู่ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เวลาเรียนในห้อง เขามีความตั้งใจเรียนตั้งใจฟังคุณครูหรือไม่ หากเด็กไม่ได้ตั้งใจเรียนในห้อง ก็จะได้หาวิธีแก้ไขร่วมกับคุณครูได้ หรือหากเด็กมีความสนใจในห้องเรียนแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจก็จะได้หาสาเหตุและวิธีทำให้เขาเข้าใจได้

เด็กฟังที่ครูสอนไม่รู้เรื่อง - ขอให้ครูช่วยพยายามถามลูกของเราในห้องเรียน เพราะเด็กบางคน อาจจะไม่กล้ายกมือถาม

ลูกไม่สนใจฟังครูตอนสอน - หากเป็นเด็กที่ไม่ได้มีความผิดปรกติทางสมอง หรือผิดปรกติในร่างกาย รวมไปถึงไม่ได้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต (ปัญหาครอบครัว, ปัญหาเพื่อนฝูง เป็นต้น) พ่อแม่ควรสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกสนใจเรื่องการเรียน ทั้งเรื่องการอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง แต่ก็ไม่ควรคาดคั้น หรือสร้างความกดดันให้กับเด็ก รวมไปถึงต้องใจเย็น ไม่ดุด่าว่ากล่าวลูกอย่างแรงๆ หากลูกของเราทำได้ดี อย่าลืมคำชมหรือให้รางวัลกับเด็กๆ เพื่อนก็เป็นสิ่งสำคัญกับลูก พ่อแม่ควรทำความรู้จักกับเพื่อนๆของลูกเราเอาไว้ด้วย

ลูกสมาธิสั้น - หากสังเกตุจะพบได้ว่าลูกหรือเด็กที่เราดูแล ไม่ค่อยมีความอดทน ให้ทำอะไรแล้ววอกแวกได้ง่ย ความจำไม่ดี หากเป็นอย่างนี้จะส่งผลกับการเรียนเป็นอย่างมาก สาเหตุเป็นเพราะเขาอยู่กับสิ่งเร้าบ่อยเกินไป อาจจะเป็นเสียงเพลงดังๆ ติดเกมส์ ติดดูทีวีดูนานๆ เป็นต้น การแก้ไข พยายามพาเขาไปอยู่แวดล้อมที่เงียบสงบ อาทิเช่น สวน ใต้ต้นไม้ หรือที่ไหนที่เงียบๆ หรือหากเป็นไปได้ ชวนให้ลูกของเรานั่งสมาธิ

ลูกไม่อยากไปโรงเรียน - อาจจะเป็นเพราะเด็กไม่กล้าเข้าสังคมของเขา อาจเป็นเพราะไม่มีเพื่อน หรือเด็กติดพ่อแม่เกินไป เรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม เด็กจะต้องมีพัฒนาการการเข้าสังคมของเขา พ่อแม่ควรจะพาลูกไปแนะนำเขาให้รู้จักกับเพื่อนๆ และคุณครู เพื่อฝึกให้เขากล้าแสดงออก สร้างสานสัมพันธ์ ระหว่างลูกกับเพื่อน

ชี้นำ ให้ลูกเห็นความสนุกที่โรงเรียน - ควรทำให้เด็กมีความสุขและรู้สึกสนุกอยากไปโรงเรียน ในโรงเรียนมีเพื่อนมากมาย มีกิจกรรมสนุกๆ ที่จะพัฒนาตัวเขา ทั้งเรื่องกีฬา การละเล่นกับเพื่อนๆ

ที่มา : rimnam.com