อาชีพวิศวกร

ต้องเป็น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ หรือประกาศนียบัตร วิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับ อุดมศึกษาระยะเวลาการศึกษา 4 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) ในสาขาวิศวกรโยธา หรือ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ศึกษาเกี่ยวกับทางด้านช่างจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาระยะเวลาการศึกษา 2 ปี (หลักสูตรต่อเนื่อง) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วศ.บ.) ในสาขาวิศวกรโยธา

10 มหาวิทยาลัยที่ผลิตวิศวกรได้ดีที่สุดในประเทศไทย

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ ผู้ประกอบอาชีพนี้ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา

2. เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่น ค้นคว้าอย่างต่อเนื่องเพื่อหาวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. มีวิสัยทัศน์และสนใจกับเหตุการณ์ ข่าวสารที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและมีจรรยาบรรณของวิศวกร

4. มีความอดทนและเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีอารมณ์เยือกเย็น มีความคิดสุขุม

5. มีลักษณะเป็นผู้นำ ทั้งนี้งานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการควบคุมคนเป็นจำนวนมาก

6. มีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี

7. ผู้ประกอบอาชีพวิศวกรในทุกสาขาควรจะมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเพื่อใช้ในการรับรองสำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องมี คุณสมบัติ และวุฒิการศึกษาตามข้อกำหนด โดยจะขอรับใบอนุญาตได้ที่ กองวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สังกัดกระทรวงมหาดไทย

วิศวกรใหม่หรือผู้จบการศึกษามามีแนวทางเลือกอนาคตได้ดังต่อไปนี้

1. ศึกษาต่อระดับสูงขึ้น

2. รับราชการ หรือทำงานในรัฐวิสาหกิจ

3. ทำงานกับภาคเอกชน

การศึกษาต่อ หลายคนคิดว่าแค่ปริญญาตรีคงไม่เพียงพอที่จะทำงานแข่งขันกับคนอื่นๆ เพราะปัจจุบันมองไปในที่ทำงานต่างๆ มีคนที่จบปริญญาโทหรือเอกมากมาย จึงคิดที่จะเรียนต่อและการตัดสินใจต้องคิดก่อนว่าจะเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมหรือจะเปลี่ยนไปเรียนด้าน MBA เพราะเห็นตัวอย่างวิศวกรหลายคนที่เป็นนักบริหารในองค์กรสำคัญๆ ที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาเปลี่ยนไปเรียนต่อด้าน MBA กัน เพราะวิชาวิศวกรรมศาสตร์บ่มเพาะให้ผู้เรียนทำงานอย่างมีหลักเกณฑ์ ใช้ทฤษฎีและวิชาการมาปฏิบัติงาน รู้จักการใช้เหตุและผลมาตัดสินใจทำให้การทำงานมีระบบ

แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ไม่ประสบความ สำเร็จ ขึ้นกับจังหวะ โอกาส และความสามารถของแต่ละคน รวมทั้งการสนับสนุนจากครอบครัวด้วย ส่วนที่จะเรียนต่อด้านวิศวกรรมนั้นอยู่ที่สาขาวิชาที่เลือกเรียนต่อ ถ้าเป็นด้านโครงสร้างหรือวิชาที่ต้องใช้การคำนวณและวิเคราะห์มาก การเรียนต่อเนื่องเลยจะช่วยให้ไม่ต้องมารื้อฟื้นความรู้ภายหลัง แต่บางสาขาวิชาที่ต้องการประสบการณ์จากการทำงาน เช่น สาขาบริหารจัดการงานก่อสร้าง สาขาวิศวกรรมขนส่ง การได้ออกไปทำงานสักปีเพื่อตักตวงข้อมูลประสบการณ์ ได้พบเห็นการทำงานจริงในสนาม เมื่อกลับมาเรียนต่อจะทำให้มองเห็นภาพชัดเจน เข้าใจง่ายขึ้น ส่วนจะเรียนกันจนถึงปริญญาเอกหรือไม่นั้นก็อยู่ที่อาชีพในอนาคต

ถ้าเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยการได้จนจบดอกเตอร์ก็นับว่าเหมาะสม แต่ถ้าจะออกมาทำงานโยธาทั่วๆ ไปปริญญาตรีและโทก็น่าจะพอเพียง แล้วมาสร้างสมความรู้ประสบการณ์ตอนทำงานต่อไป การเลือกต่อไปคือจะเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยภายในประเทศหรือไปเรียนต่างประเทศ ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านทุนทรัพย์และโอกาสที่จะได้ทุน หรืองานเสริมระหว่างเรียน รวมทั้งชื่อเสียงของสถาบันกับสาขาวิชาที่เราเลือกเรียน เรื่องเหล่านี้อาจารย์เป็นที่ปรึกษาได้อย่างดี ทั้งรายชื่อมหาวิทยาลัย ทุนการศึกษาของสถาบัน หน่วยงาน มูลนิธิ ตลอดจนของ หน่วยราชการต่างๆ

ทำงานต่อผู้ที่จะทำงานต้องรู้ก่อนว่าอาชีพวิศวกรรมเป็นอาชีพที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและชีวิตของผู้คน วิศวกรทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันที่มีหลักสูตรครบตามที่สภาวิศวกรรับรอง และสอบผ่านได้เกรดอย่างน้อย C ในทุกวิชาบังคับ ก็สมัครขอรับ การอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรเพื่อรับใบอนุญาตในระดับภาคีวิศวกร และต้องทำงานภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ด้วย เพราะยังใหม่อยู่ และวิศวกรทุกคนต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งสภาวิศวกรกำหนดไว้ 15 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ไม่กระทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

2. ต้องปฏิบัติงานที่ได้รับอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ

3. ต้องประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

4. ไม่ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม ใช้อิทธิพล หรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับหรือไม่ได้รับงาน

5. ไม่เรียกรับ ยอมรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบจากผู้รับเหมาหรือบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องในงานที่ทำอยู่กับผู้ว่าจ้าง

6. ไม่โฆษณาหรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณาซึ่งการประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมเกินความเป็นจริง

7. ไม่ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมเกินความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้

8. ไม่ละทิ้งงานที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร

9. ไม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในงานที่ตนเองไม่ได้รับทำ หรือตรวจ หรือควบคุมด้วยตนเอง

10. ไม่เปิดเผยความลับของงานที่ตนเองได้รับทำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง

11. ไม่แย่งงานจากผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น

12. ไม่รับทำงานหรือตรวจสอบงานชิ้นเดียวกันกับผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นที่ทำอยู่ เว้นแต่เป็นการทำงานหรือตรวจสอบตามหน้าที่ หรือแจ้งให้ผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว

13. ไม่ดำเนินการงานชิ้นเดียวกันให้แก่ผู้ว่าจ้างรายอื่นเพื่อการแข่งขันราคา เว้นแต่ได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายแรกทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างรายแรก และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว

14. ไม่ใช้หรือคัดลอกแบบรูป แผนผัง หรือเอกสารที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นนั้น

15. ไม่กระทำการใดๆ โดยจงใจให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียง หรืองานของผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น

อาชีพวิศวกรรมมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี การมีจรรยาบรรณช่วยให้สังคมอาชีพนี้ดำรงอยู่ได้และเป็นที่เชื่อถือของสังคมทั่วไป แนวทางอาชีพวิศวกรรมโยธายังมีทางเดินใหญ่ๆ ให้เลือกว่าจะอยู่ในงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน แนวคิดในการเลือกทางเดินจำแนกออกเป็น 3 หัวข้อที่เรียกว่า ICE คือ

1. Income รายได้เงินเดือน แน่นอนภาคราชการหรือรัฐวิสาหกิจย่อมได้รับเงินเดือนน้อยกว่าภาคเอกชน ระยะเริ่มต้นอาจจะยากลำบาก แต่ในบั้นปลายมีการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือนแน่นอนและมีบำเหน็จบำนาญไว้เลี้ยงชีพ ยามแก่ปลดเกษียณ

2. Credit การยอมรับหรือการให้เกียรติที่องค์กรนั้นพึงให้แก่เรา ความมั่นคงยั่งยืนในหน้าที่การงาน และหนทางก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

3. Experience สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้เพิ่มพูนทั้งความรู้ประสบการณ์ และ technology transfer จากการได้ทำงานในองค์กรนั้น

ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงหน่วยงานต่างๆ ที่จะรับเราเข้าไปทำงานนั้น เขาหวังต้องการสิ่งใดจากเรา เพื่อที่จะปรับตนเองให้สอดคล้องตรงกับวัตถุประสงค์ขององค์กร

สิ่งที่องค์กรต่างๆ คาดหวังจากวิศวกร ใหม่ คือ

1. คิดเป็น ต้องรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผลในการทำงาน

2. ทำเป็น ต้องทำงานเป็นเมื่อได้รับมอบหมายงาน โดยในระยะแรกๆอาจต้องมีการแนะนำให้บ้าง

3. แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ต้องมีความรู้ทักษะที่จะช่วยตัวเองในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้ โดยอาจได้รับ ความช่วยเหลือแนะนำหรือให้คำปรึกษาน้อยที่สุด รู้จักค้นคว้าด้วยตนเอง

4. computer base ปัจจุบัน computer เข้ามามีบทบาทที่สำคัญมากในการทำงานวิศวกรรม ต้องใช้เป็นและสร้างซอร์ฟแวร์ใช้งานเองได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วในการทำงาน รู้จักวิเคราะห์ผลที่ประมวลออกมา

งานอาชีพวิศวกรรมโยธา แบ่งออกเป็นกลุ่มงานใหญ่ๆได้ 4 กลุ่ม คือ

1. เป็นอาจารย์สอนหนังสือ

2. วิศวกรที่ปรึกษา หรือผู้ควบคุมงานแทนฝ่ายผู้ว่าจ้าง

3. วิศวกรคำนวณออกแบบงานโยธา

4. ผู้รับเหมา หรือผู้ทำงานก่อสร้าง