อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน รักษาได้?

  • อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน รักษาได้?

    • ปาโบล อูชัว

    • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

วงการวิทยาศาสตร์เลิกสนใจแนวคิดการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของคนมาเป็นเวลานานแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า คุณไม่สามารถ "รักษา" สิ่งที่ไม่ใช่โรคได้ การรักเพศเดียวกันถูกนำออกจากบัญชีอาการเจ็บป่วยทางจิตในสหรัฐฯ ในปี 1973 และองค์การอนามัยโลกก็ดำเนินรอยตามในปี 1990

ขณะที่ นักวิจัยกลับให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน พยายามจะหาสาเหตุต่าง ๆที่ทำให้คนมีอาการเช่นนี้

'ความกลัวที่ปราศจากเหตุผล'

จอร์จ ไวน์เบิร์ก นักจิตวิทยาจากสหรัฐฯ ผู้คิดคำว่า 'โฮโมโฟเบีย' (Homophobia) หรือ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 นิยามการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันไว้ว่า "ความกลัวการเข้าใกล้คนรักเพศเดียวกัน" คำปัจจัยภาษากรีกคำว่า "โฟเบีย" (phobia) หมายถึง ความกลัวอะไรบางอย่างโดยปราศจากเหตุผล

ในหนังสือปี 1972 เรื่อง Society and the Healthy Homosexual ดร. ไวน์เบิร์ก เขียนว่า: "ผมคงไม่มีวันคิดว่าคนไข้สุขภาพดีได้ ถ้าเขาไม่อาจก้าวข้ามอคิติที่มีต่อคนรักเพศเดียวกันได้"

เอ็มมานูเอล เอ. แจนนินิ ศาสตราจารย์ด้านต่อมไร้ท่อและเพศวิทยาการแพทย์ (Endocrinology and Medical Sexology) จากมหาวิทยาลัยตอร์เวร์กาตาแห่งกรุงโรม (University of Rome Tor Vergata) แย้งว่า การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน เป็นเพียง "ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง"

เขากล่าวว่า มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพบางอย่าง และหากมีความรุนแรงร่วมด้วย อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตได้

ดร. แจนนินิ ได้แย้งผลการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เกี่ยวกับเพศ (Journal of Sexual Medicine) ในปี 2015 ซึ่งเขาได้เชื่อมโยงการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันกับ ภาวะโรคจิต ที่อาจเกิดจากความโกรธหรือความมุ่งร้าย (psychoticism) กลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ (มีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์) และการผูกพันกับพ่อแม่ด้วยความหวาดกลัว (นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงที่อยู่ในจิตใต้สำนึก)

ผู้ที่ต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก ถือว่า การวิจัยดังกล่าว "เป็นเศษขยะที่สนับสนุน LGBT" แต่ ดร. แจนนินิ ยืนยันกับบีบีซีถึงความถูกต้องของผลงานวิจัยของเขา ที่อธิบายว่า ลักษณะนิสัยเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเป็น "ความอ่อนแอ" ชนิดหนึ่ง

"มันไม่ใช่คำในวงการวิทยาศาสตร์ แต่คำที่ผมกำลังใช้ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น" เขากล่าว

ระดับความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

ผลการศึกษาของเขาได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า ค่าการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน มาวัดระดับของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิตาเลียนจำนวน 551 คน และได้วัดอุปนิสัยด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อนำมาใช้อ้างอิงผล

เขาบอกว่า ผู้ที่มีทัศนคติเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่รุนแรงมากก็จะได้คะแนนในลักษณะนิสัยหลายอย่างสูงตามไปด้วย เช่น ภาวะโรคจิต และกลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ ขณะที่การผูกพันกับพ่อแม่อย่างมั่นคงเป็นตัวบ่งชี้ถึง การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในระดับต่ำ เหล่านี้คือปัญหาทางจิต ซึ่งอาจได้รับการแก้ไขได้ด้วยการบำบัด

ดร. แจนนินิ กล่าวว่า "บางที คุณอาจไม่ชอบพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน แต่คุณไม่จำเป็นต้องคอยพูดอยู่เสมอว่า ผมไม่ใช่คนรักเพศเดียวกัน, ผมเกลียดคนรักเพศเดียวกัน, ผมไม่ต้องการให้คนรักเพศเดียวกันเข้ามาในบ้านผม, ผมไม่ต้องการครูที่รักเพศเดียวกันอยู่ในโรงเรียน"

"หลังจากการถกเถียงกันมานานหลายศตวรรษว่าการรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งหรือไม่ เราได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า โรคที่จะต้องได้รับการรักษาจริง ๆ ก็คือ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน"

พลังแห่งวัฒนธรรม

แต่ปัจเจกบุคคลจำนวนมากถูกหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ และการศึกษาในเวลาต่อมาของทีมงานดร. แจนนินิ ได้สำรวจว่า วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยทัศนคติทางศีลธรรม, การเกลียดผู้หญิง และการเทิดทูนความเป็นชายอย่างสุดโต่ง มีความเกี่ยวข้องกับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันมากแค่ไหน

ในปี 2017 พวกเขาได้เปรียบเทียบผลจากการประเมินนักศึกษา 1,048 คนใน 3 ประเทศที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน ได้แก่ อิตาลี (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก), อัลเบเนีย (ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) และยูเครน (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์)

ดร. แจนนินิ กล่าวว่า "สิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจคือ ตัวศาสนาเองไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่ความเชื่อทางศาสนาที่สุดโต่งในทั้ง 3 ศาสนา นั้น คือสิ่งที่ส่งผลต่อระดับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน"

พลังแห่งหลักความเชื่อ

ผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาแบบสายกลาง จะบอกคุณว่า ศาสนาไม่ได้รับรองการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

"เราเกลียดบาป แต่ไม่ใช่คนที่ทำบาป" วาห์ตัง คิปชิดเซ โฆษกทางการของคริสตจักรออร์โธด็อกซ์ของรัสเซีย กล่าวกับบีบีซี เขาบอกว่า ทางคริสตจักรออร์โธด็อกซ์ ไม่สามารถเปลี่ยนทัศนะที่ว่า การรักเพศเดียวกันเป็นบาปได้ เพราะความเชื่อนี้มาจากพระเจ้า ไม่ใช่มาจากคริสตจักร

"เราถือว่า คนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน เป็นเหยื่อของบาปของพวกเขาเอง และในฐานะเหยื่อ พวกเขาสมควรได้รับการรักษาทางจิตวิญญาณ"แต่หลายคนมีความเห็นที่แข็งกร้าวกว่านี้

ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ เห็นว่า การรักเพศเดียวกันเป็นบาป แต่ผู้นำสายกลางระบุว่า ทางโบสถ์ไม่ยอมรับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

"พระคัมภีร์สอนเราให้ปาหินใส่คนที่ไม่ยึดถือความเชื่อในแบบเดิม" เซอร์ไก ริบโก นักบวชชาวรัสเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2012 หลังจากที่กลุ่มชายติดอาวุธได้บุกโจมตีคลับเกย์ในกรุงมอสโก

"ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับคนที่พยายามกำจัดคนเหล่านั้นให้หมดไปจากประเทศเรา"

แต่นายคิปชิดเซ กล่าวว่า: "ไม่มีหลักฐานในพระคัมภีร์ใหม่ที่สนับสนุนการปาหินใส่ผู้กระทำบาปใด ๆ"

เขากล่าวว่า การทำบาปจากการมีชู้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เช่นเดียวกัน "ทางคริสตจักรก็ไม่สนับสนุนให้เอาผิดความสัมพันธ์ทางเพศของคนเพศเดียวกัน"

แต่กระนั้น เขาก็ยอมรับว่า มีคนบางส่วนเข้าใจผิดในพระคัมภีร์ และใช้มันเป็นข้ออ้างก่อความรุนแรง

พลังแห่งภาษา

เทียร์แนน บราดี ผู้สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกชาวไอร์แลนด์ กล่าวว่า "ไม่ต้องสงสัยว่า คำพูดที่ผู้นำศาสนาคริสต์หลายคนใช้สอนผู้คน ทำให้เกิดความกลัวและความไม่พอใจต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศขึ้น"

เขาคือ ผู้อำนวยการของ กลุ่มอนาคตที่เท่าเทียม (Equal Future) กลุ่มรณรงค์ที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนกรุงดับลินเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

บราดี บอกว่า "คนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันทุกคนเกิดจากการเรียนรู้ ไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้สึกเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเลย เราซึมซับความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันจากที่ใดที่หนึ่ง"

เขากล่าวว่า ทัศนคติที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศกำลังเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกทั้งในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง, เอเชียใต้, ยุโรปตะวันออก, อินเดีย และจีน แต่ภาษาที่เป็นปฏิปักษ์มานานหลายร้อยปีจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในชั่วข้ามคืน

"ศาสนาคริสต์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ยังมีอีกหลายที่ที่ทำให้เรากลายเป็นคนเกลียดกลัวคนรักเพศเดียกวัน ทั้งจากวงการกีฬา, การเมือง และสังคม"

เขาแย้งว่า วัฒนธรรมในประเทศอนุรักษ์นิยมจึงอาจช่วยทำให้ศาสนามีความเข้มงวดมากขึ้นในด้านต่าง ๆ

"ประเทศที่เราเห็นว่า มีการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอยู่มาก เป็นประเทศที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่มีตัวตน เพราะจะยิ่งทำให้สร้างความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจกันได้ง่ายขึ้น"

พลังแห่งการเหมารวม

งานวิจัยของ แพทริก อาร์ กราซันกา เป็นผู้ช่วยศาสราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซี และผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (Journal of Counseling Psychology) ระบุว่า การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน มีความสัมพันธ์กับอีกปัจจัยหนึ่งคือ การเหมารวม

ในปี 2016 พวกเขาเก็บตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ 645 คน และให้คะแนนพวกเขาตามระดับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แบ่งให้คะแนนตาม 4 กลุ่มความเชื่อ ได้แก่

1) คนที่มาจากชนกลุ่มน้อยทางเพศ เกิดมาเป็นเช่นนั้นเอง

2) คนในกลุ่มทางเพศแบบใดแบบหนึ่งเป็นเหมือนกันหมด

3) บุคคลสามารถจัดอยู่ในกลุ่มทางเพศได้กลุ่มเดียวเท่านั้น

4) เมื่อคุณรู้จักคนที่มาจากกลุ่มหนึ่ง คุณจะเข้าใจคนทั้งกลุ่มนั้น

ไม่น่าแปลกใจ นักวิจัยพบว่า ข้อที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เลือกมากคือความเชื่อข้อ 1) ชนกลุ่มน้อยทางเพศเกิดมาเป็นเช่นนั้นเอง โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ และกลุ่มคนรักต่างเพศ ต่างเลือกข้อนี้

สิ่งที่บอกถึงการมีทัศนคติทางลบต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศมากที่สุด ก็คือคนที่ให้คะแนนกับอีก 3 ความเชื่อที่เหลือสูงกว่า

พลังแห่งประจักษ์

สำหรับ ดร. กราซันกา "อคติที่เห็นชัด" ในจิตใจของผู้คน ชักนำให้พวกเขายอมรับอคติบางอย่าง

"เราควรรณรงค์ด้านการให้ความรู้และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน และจัดระเบียบนโยบายต่อต้านการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่มาจากความเชื่อที่ว่า คนรักเพศเดียวกันก็เหมือนกันหมด และรสนิยมทางเพศก็ไม่ได้ลื่นไหลได้" เขากล่าว

เขาแย้งว่า "ไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศโดยปราศจากเหตุผลมาตั้งแต่กำเนิด มีหลายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่พฤติกรรมรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับ ถูกกฎหมาย และแม้แต่สวนกระแส"

มีหลักฐานว่า การสร้างความประจักษ์แห่งการมีอยู่ให้มากขึ้นในสังคม ช่วยเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของคนได้ และนำไปสู่การยอมรับสิทธิ์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

แกลลัพ (Gallup) ระบุว่า ในปี 1999 ชาวอเมริกันราว 2 ใน 3 ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และมีเพียง 1 ใน 3 ที่บอกว่า เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ไม่ถึง 20 ปีต่อมา ผลที่ได้กลับกัน โดยมีผู้สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมากกว่า 2 ใน 3 และมีคนที่ต่อต้านน้อยกว่า 1 ใน 3

นักวิจัย ระบุว่า มีผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากกว่า 10% ที่แต่งงานกับคนเพศเดียวกัน และการมีตัวตนของพวกเขาก็ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของคนที่ต่อต้านสถานะทางกฎหมาย และยังมีส่วนทำให้ทัศนคติเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปด้วย

เราไม่รู้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะ "รักษา" การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่นักวิจัยเชื่อว่า พวกเขากำลังเข้าใจการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ