อาชีพเภสัช

เภสัชศาสตร์ คือศิลปะในแขนงวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการปรุงผสม ผลิตและจ่ายยา รวมทั้งการเลือกสรรคุณภาพของยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการ และให้คำปรึกษาที่เหมาะสม ตรวจสอบทบทวนการใช้ยา พร้อมทั้งติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย

ภาพรวมของเภสัชศาสตร์คือระบบความรู้ที่ก่อให้เกิดความสามารถที่จะให้บริการด้านสุขภาพด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของยาและผลที่เกิดหลังจากการใช้ยา เพื่อให้การบำบัดรักษาให้เกิดผลดีแก่ผู้ป่วยมากที่สุด โดยจะรับผิดชอบร่วมกับบุคลากรสุขภาพอื่นๆ เช่น แพทย์ พยาบาล รวมถึงสัตวแพทย์ด้วย ในอันที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เภสัชศาสตร์ยังเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ผลิตยาในรูปแบบต่างๆ ตามคุณภาพมาตรฐานที่เหมาะสมตามกำหนด

หลักสูตรการศึกษา

ผู้ที่จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จากได้รับวุฒิ เภสัชศาสตรบัณฑิต ปัจจุบันมี 2 สาขา คือ

1. สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ใช้เวลาการศึกษา 5 ปี

2. สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม ใช้เวลาการศึกษา 6 ปี

โดยจะต้องศึกษาตลอดของการเรียนการสอน จะแบ่งออกได้ดังนี้

1. ในชั้นปีที่ 1-2 จะเป็นการศึกษาด้านเตรียมเภสัชศาสตร์ จะศึกษาในหมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป ประกอบด้วยวิชาในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ

2. ในชั้นปีที่ 3-5 จะเป็นการศึกษาวิชาเฉพาะทางเภสัชศาสตร์ จะศึกษาในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ชีวเภสัชศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา สาธารณสุข หลักในการเกิดโรค และจุลชีววิทยา

และศึกษาวิชาทางด้านวิชาชีพ ทฤษฎี ปฏิบัติการ และการฝึกงาน ประกอบไปด้วย เภสัชวิเคราะห์ เภสัชศาสตร์สัมพีนธ์ อาหารและเคมี โภชนาการศาสตร์ บทนำเภสัชภัณฑ์ เภสัชพฤกษศาสตร์ ชีวเภสัชกรรมและเภสัชจลนศาสตร์ เภสัชเวท เภสัชกรรมและการบริหารเภสัชกิจ เภสัชวิทยาและเภสัชวิทยาคลินิก นิติเภสัชและจริยธรรม พิษวิทยา เภสัชอุตสาหกรรม เภสัชเคมี และ การปฏิบัติฝึกงาน

3. ในชั้นปีที่ 5-6 จะเป็นการศึกษาในหมวดวิชาสาขาที่นักเรียนสนใจเน้นความชำนาญทางวิชาชีพ มีให้เลือก 2 สาขา คือ

- สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ( สายผลิต ) โดยศึกษาในชั้นปีที่ 5 จะเน้นศึกษาในด้านการผลิตยา การค้นคว้าตัวยา และควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยา รวมถึงการวิจัยยาและคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ

เภสัชกรทางด้านสาขานี้เหมาะกับสายงานในด้านการผลิต ซึ่งส่วนมากจะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา เช่น เภสัชกรอุตสาหกรรม เภสัชกรฝ่ายผลิตยา เภสัชกรแผนกควบคุมมาตรฐานตัวยา เภสัชกรฝ่ายการวิจัยคิดค้นตัวยา หรือรับราชการในกระทรวงทางด้านอาหารและยา หรือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ

- สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม ( สายคลินิก ) จะเน้นในการศึกษาด้านการบริบาลเภสัชกรรมมากขึ้น ในด้านการใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วย การแนะนำปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย และการสร้างเสริมสุขภาพ โดยจะศึกษาเนื้อหาเพิ่มอีก 1 ปี

เภสัชกรทางด้านสาขานี้เหมาะกับสายงานในด้านการบริบาล ซึ่งอาจจะทำงานในโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา สถานบริการสุขภาพ เช่น เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรประจำร้านยา เภสัชกรชุมชน เภสัชกรการตลาด เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หรือรับราชการในกระทรวงทางด้านอาหารและยา และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ

4. การฝึกงาน

- สาขาเภสัชศาสตร์ จะฝึกงานใน โรงงานผลิตยา สำนักสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม ศูนย์วิจัยต่างๆ โรงพยาบาล ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์

- สาขาบริบาลเภสัชกรรม จะฝึกงานใน ร้านขายยา โรงพยาบาล สำนักการควบคุมโรค

จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) สายวิทยาศาสตร์ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการปฏิบัติหน้าที่เภสัชกร มีสุขภาพจิตดีและมีความสนใจในวิชาชีพเภสัชกร

ลักษณะทั่วไปของอาชีพ

- ค้นคว้าพัฒนาตำรับสูตรยาใหม่ๆ เพื่อขึ้นทะเบียน แล้วทำการผลิตยาออกจำหน่าย

- ควบคุมการผลิตยาไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

- วิเคราะห์ ตรวจสอบยาที่ผลิตให้ได้คุณภาพตามที่กำหนด

- ปรุงยา จ่ายยา และสิ่งที่เกี่ยวข้องตามใบสั่งแพทย์ เช่น ยาน้ำ ยาขี้ผึ้ง ยาเม็ดกลม ยาเม็ดแบน ยาแคปซูล และยาฉีดตามใบสั่งของแพทย์

- ชี้แจงอธิบายยาแก่ แพทย์ พยาบาล และผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ทางการแพทย์ด้าน เคมีภัณฑ์ และการใช้ยา

- ควบคุมการจ่ายยาและยาเสพติดที่ให้โทษ ยาพิษ สารพิษทางการแพทย์ หรือเกษตรกรรม

- ทำหน้าที่วิเคราะห์และทดสอบตามปกติ เพื่อให้ทราบชนิดความบริสุทธิ์ และ ความแรงของยา

- จัดระเบียบและควบคุมยาในคลัง ทำบัญชีประจำคลังยา เคมีภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์

- จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์สะสมเครื่องใช้การแพทย์ไว้ในห้องยา

- อาจผลิต จำหน่าย และชี้แจงผลิตภัณฑ์ เช่น ยา เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง ยาการเกษตร และยารักษาสัตว์

- ศึกษาวิธีการใช้เครื่องมือ วิธีการปฏิบัติงานรับผิดชอบ เตรียมความพร้อมของเครื่องมือ

คุณสมบัติผู้ประกอบอาชีพ

1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์

2. เป็นคนละเอียด รอบคอบ มีความระมัดระวังสูง

3. มีสุขภาพดีและจิตใจดี ไม่พิการ ไม่ตาบอดสี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความเป็นผู้นำ เนื่องจากต้องควบคุมผู้อื่น โดยเฉพาะสายงานการผลิต มีบุคลิกภาพดี

4. รักในอาชีพนี้ สนใจอย่างเต็มที่ เต็มใจที่จะบริการงานทางด้านสาธารณสุข มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมสูง

5. ต้องมีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ เคมี และ ชีววิทยา สามารถสอบได้คะแนนดีในวิชาเหล่านี้

6. ชอบค้นคว้า วิเคราะห์ ทดลอง

7. มีจิตใจหนักแน่น ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และมีคุณธรรมและจริยธรรม

8. มีความเชื่อมั่นในตนเอง มัทัศนที่ดีต่องาน มีอุดมการณ์ที่คิดจะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

9. มีความสามารถในการวางแผน และสนใจวิทยาการเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะทางด้านเคมี ชีววิทยา

10. มีความสามารถในการจำที่ดีเยี่ยม เพราะต้องจำชนิดของยา ส่วนประกอบของยา และต้นไม้ที่มีประโยชน์เป็นฤทธิ์ยา รวมทั้งจำชื่อยาต่างๆ และสารเคมีที่ใช้บำบัดรักษาโรค

11. มีความคล่องทางด้าน การอ่าน เขียน พูด ภาษาอังกฤษที่ดี เพราะชื่อของชนิดยา และ สารเคมีต่างๆ เป็นชื่อภาษาอังกฤษ

12. มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจดี สมบูรณ์ แข็งแรง สายตาดี ไม่เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง

แนวทางการประกอบอาชีพ

ปัจจุบันความต้องการของยาสำหรับการแพทย์ปัจจุบัน และ การแพทย์แผนโบราณ มีเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร แนวโน้มในการทำงานของอาชีพนี้ยังคงมีอยู่มาก ถ้าไม่เลือกงานและมีความสามารถที่ดีก็จะไม่มีการตกงานเลยสำหรับอาชีพเภสัชกร เภสัชกรสามารถเข้าทำงานได้ในสถานที่เหล่านี้

1. เภสัชกรโรงพยาบาล ทำหน้าที่จ่ายยา แนะนำปรึกษาเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง และติดตามผลการใช้ยาของผู้ป่วย

2. เภสัชกรอุตสาหกรรม เป็นเภสัชกรในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา โดยแยกเป็นแผนกได้ดังนี้

2.1. แผนกผลิต

2.2. แผนกควบคุมการผลิต

2.3. แผนกวิจัยคิดค้นตำรับยา

3. เภสัชกรชุมชน เภสัชกรประจำร้านขายยา ทำงานในร้านยาชุมชน อาจเป็นผู้จัดการ หรือเจ้าของกิจการร้านยา ทำหน้าที่จำหน่ายยา แนะนำปรึกษาเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง

4. เภสัชกรตลาด Detialer ทำหน้าที่เป็นเภสัชกรผู้แทนที่จะออกไปพบลูกค้า พบหมอ หรือ เภสัชกรห้องยา เพื่อแนะนำยาของบริษัทที่ตนสังกัดอยู่ มีความสามารถในการค้าขาย ชักชวนให้เขาสั่งยาที่แนะนำนั้นได้ และมีความรู้ที่ดีอธิบายตัวยาที่ตนขาย ปัจจุบันในประเทศไทยมีเภสัชกรที่ทำงานในด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

5. เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น สารวัตรอาหารและยา เจ้าหน้าที่วิเคราห์ยาอาหารหรือเครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์

6. รับราชการต่างๆ เช่น สำนักกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

7. อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์ ของแต่ละสถาบันนั้น

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

- สายงานด้านการตลาด มีความกระตือรือร้น มีความคล่องตัวในการค้าขาย แสวงหาความรู้ด้านการตลาด รู้จักวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี

- สายงานด้านโรงพยาบาล มีความสามารถในการบริหารงาน และการบริการที่ดี

- สายงานราชการ ขึ้นอยู่กับความรู้ ถวามสามารถและผลงานทางวิชาการ

- สายงานด้านเอกชน อยู่ที่ความรู้ความสามารถและผลงาน ความรับผิดชอบและความกระตือรือร้น

การศึกษาต่อ

เภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สามารถศึกษาต่อได้ในระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก ตามสาขาที่ตนถนัดหรือใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ