A Level

A-Level คืออะไร

A-Level (Applied Knowledge Level) นั้นมาจากข้อสอบวิชาสามัญเดิม เน้นการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการทาง ทปอ. กำหนดขอบเขตข้อสอบแล้วว่าจะไม่ออกเนื้อหาเกินจากหลักสูตรที่เรียนมาตั้งแต่ชั้น ม.4-ม.6 แน่นอน เนื้อหาจะอ้างอิงหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. เน้นวัดความรู้นำมาประยุกต์ใช้ในการสอบ มีจำนวน 10 วิชา และน้องเลือกสอบสูงสุดได้ถึง 10 วิชา แต่ก็มีบางวิชาที่ต้องเลือกเพราะมีเวลาสอบซ้ำกัน นั้นคือวิชาภาษาต่างประเทศ 

แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเลยก็คือการนำ PAT7 ในส่วนของภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เข้ามาไว้ในหมวด A-Level และได้ยกเลิกการสอบวิชาภาษาอาหรับออกไป เนื่องจากมีจำนวนผู้สอบน้อยมาก และใช้คะแนนไม่กี่สาขาเท่านั้นในปีที่ผ่านมา แต่อาจมีการจัดสอบจากสาขาวิชาเอกโดยตรงแทน

รูปแบบการสอบรายวิชา A-Level  กำหนดสอบด้วยกระดาษเท่านั้น ส่วนค่าสมัครสอบ A-Level  จะราคาวิชาละ 100 บาท แต่ปีหน้าถ้าระบบสอบด้วยคอมพิวเตอร์ได้ผลตอบรับที่ดี ก็อาจเปลี่ยนการสอบทั้งหมดเป็นการสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CBT) แทนได้

วิชาสามัญ VS A-Level ต่างกันมากไหม?? สอบวิชาอะไรบ้าง??

ไฮไลท์ TEST BLUEPRINT โครงสร้างและตัวอย่างข้อสอบ A-Level ปีนี้มีการปรับลดจำนวนข้อลงในบางวิชา ที่เน้นการคำนวณ คิดคำตอบ จึงต้องใช้เวลาวิเคราะห์ทำโจทย์แต่ละข้อมากขึ้น

ส่วนข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ ปีนี้ในหมวดทักษะการอ่าน (Reading Skill) จะเพิ่มในส่วน บทความโฆษณา, บทวิจารณ์สินค้าหรือบริการ, รายงานข่าว, บทความทั่วไป จำนวนถึง 40 ข้อ ที่น้อง ๆ ต้องทำในส่วนนี้ บริหารเวลาการทำข้อสอบให้ดีนะคะ เพราะมีคะแนนรวมของส่วนทักษะการอ่านถึง 50 คะแนนเลยเรียกได้ว่าถ้าเตรียมตัวในส่วนนี้ดีก็ได้คะแนนในวิชาภาษาอังกฤษเกือบครึ่งเลย

ปีนี้เพื่อลดการซ้ำซ้อนที่น้อง ๆ DEK66 ต้องสอบวิชาคณิตหลายสนาม วิชา PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ และ คณิต 1 วิชาสามัญ ถูกรวมกันเป็น “วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1” โดยจะเน้นสอบความรู้พื้นฐาน+เพิ่มเติม แนวข้อสอบถูกออกแบบมาให้ประยุกต์ ใช้สูตรที่ซับซ้อน ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ในการแก้โจทย์มากกว่าปีก่อน พี่วีวี่แนะนำว่าเหมาะกับกลุ่มน้อง ๆ ที่จะเข้าคณะสายวิทย์เลือกสมัครมาก ๆ เช่น คณะวิศวกรรม, คณะวิทยาศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ และคณะตามเกณฑ์ที่น้อง ๆ ต้องใช้

และต่อมา “วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 2” ที่มาจากคณิต 2 วิชาสามัญ จะเน้นข้อสอบคณิตพื้นฐาน วัดความเข้าใจเบื้องต้น แนวโจทย์ไม่ซับซ้อนแต่ยังมีความประยุกต์อยู่ พี่วีวี่แนะนำให้น้องดูเกณฑ์คะแนน สัดส่วนที่แต่ละคณะ / สาขากำหนดให้ดี แล้วสมัครวิชาที่จำเป็นต้องใช้ดีกว่า จะได้ประหยัดเงินค่าสมัครมีเวลาไปเตรียมตัวฟิตวิชาอื่นอีกด้วย

จะสังเกตได้ว่า ข้อสอบรายวิชา A-Level ส่วนใหญ่จะเป็นการเลือกแบบ ปรนัย 5 ตัวเลือก ให้ตัดสินใจเลือกคำตอบเหมือนเดิม ส่วนในรายวิชาคำนวณ ก็จะมีอัตนัย 5 ข้อใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องดีในปีของ DEK66 นี้ก็คือบางรายวิชามีจำนวนข้อที่ลดลง เช่น เคมี วิชาสามัญเมื่อก่อนมีจำนวนข้อ 45 ข้อ แต่ปีนี้เปลี่ยนเป็น A-Level เคมี ลดลงเหลือ 35 ข้อ ลดจำนวนข้อลงถึง 10 ข้อ และอีกหนึ่งวิชาที่ลดจำนวนข้อลงถึง 10 ข้อ คือวิชาชีววิทยา วิชาสามัญ 50 ข้อ เปลี่ยนเป็นวิชา A-Level ชีววิทยา 40 ข้อ และวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปวิชาสามัญ 32 ข้อ เปลี่ยนเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ลดเหลือ 30 ข้อ แต่มีอัตนัยเลือกตอบเชิงซ้อนเพิ่มขึ้น 4 ข้อ แต่จำนวนข้อที่หายไปอาจเพิ่มโอกาส ทำให้น้อง ๆ มีเวลาตัดสินใจ คิดคำนวณคำตอบให้รอบคอบก่อนกาลงกระดาษ เพิ่มคะแนนให้เข้าเป้ามากขึ้น สำหรับน้องที่เตรียมตัวเก็บเนื้อหาตาม Test Blueprint แต่เนิ่น ๆ

ถ้าน้อง ๆ อยากดู TEST BLUEPRINT โครงสร้างและตัวอย่างข้อสอบของ A-Level ในวิชาอื่นได้ประกาศตัวอย่างข้อสอบของทุกวิชาแล้วคลิกลิงค์นี้ดูได้เลย >>>  https://blueprint.mytcas.com จะยกเว้นในราย วิชาภาษาต่างประเทศอื่น ๆ วิชาภาษาไทย และวิชาสังคมศึกษา ที่ยังไม่ได้ประกาศโครงสร้างของข้อสอบนะคะ   

ที่สำคัญตอนนี้ได้มีการปรับคะแนนเต็มในรายวิชา A-Level ทั้ง 10 วิชา ของข้อสอบปี66 ประกาศจากทาง ทปอ. ให้ทุกวิชามีคะแนนเต็ม 100 คะแนนในทุกวิชา ดังนั้นจะง่ายในการนำไปคำนวณเกณฑ์คะแนนใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้สะดวกมากขึ้น

ใครออกข้อสอบ A-Level ในวิชาไหนบ้าง

ในทีมของผู้ออกข้อสอบปีนี้จะร่วมทีมจากหลากหลายมหาวิทยาลัย และร่วมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นมาช่วยกันกำหนดพัฒนาข้อสอบในรูปแบบใหม่ในสนาม TCAS66 จะมีหน่วยงาน สสวท. ที่มีความรู้ทางด้านวิชาการมาออกข้อสอบวิชา ชีวะ, ฟิสิกส์ , คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1, เคมี, คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2, วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เหมือนเดิม ตามวิชาสามัญปี65 ส่วนทางด้านภาษาต่างประเทศอื่น ๆ , ภาษาไทย และสังคมศาสตร์ จะเป็นของ มศว. มาช่วยดูแลข้อสอบในส่วนนี้ และสุดท้าย วิชาภาษาอังกฤษ จากปีก่อนเป็นทีม มศว. ปีนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นทีมจาก มธ. เข้ามาดูแลในส่วนนี้แทน 

ใครบ้างที่ต้องสอบวิชา A-Level

คะแนน A-Level สำคัญมากนะน้อง ๆ เพราะจะเห็นได้ว่าจาก TCAS66 มีทั้งหมด 4 รอบ ใช้คะแนน A-Level ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดยื่นคะแนนสมัครไปแล้วถึง 3 รอบ โดยเฉพาะ TCAS รอบ 3 ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการเปิดจำนวนที่นั่งเยอะที่สุด เรียกได้ว่าถ้าวางแผนอ่านเกณฑ์ที่กำหนดครบ ทำคะแนน A-Level ให้ดีเกินเกณฑ์ ก็อาจมีตัวเลือกคณะ / สาขาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้มากขึ้น  สามารถใช้ผลคะแนนในการยื่นได้หลาย ๆ รอบอีกด้วย 

สนามสอบ A-Level

การรับสมัครสอบ A-Level จะเปิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 66 และจัดสอบช่วงเดือนมีนาคมปี 66 เพื่อที่จะน้อง ๆ เรียน เก็บเนื้อหาให้ครบตามหลักสูตรจนจบในห้องเรียน ก่อนลงสนามสอบ และจัดสอบโดยเลือกใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ น้อง ๆ สามารถเลือกสนามสอบเป็นโรงเรียนใกล้ ๆ บ้านได้ โดยตัดสินใจเลือกสนามสอบได้ในระบบไม่เกิน 5 แห่ง พี่วีวี่ขอแนะนำให้น้อง ๆ เรียงลำดับสนามตามความต้องการมากที่สุดไล่ลงมาให้ครบทั้ง 5 ที่เพราะระบบจะทำการสุ่มสนามสอบให้อัตโนมัติ ถ้าไม่วางแผนแต่เนิ่น ๆ อาจต้องเดินทางไกลกว่าจะไปถึงสนามสอบและอาจเข้าห้องสอบล่าช้าได้