บทที่ ๙ คำขอยิง

บทที่ ๙

คำขอยิง


ตอนที่ ๑ องค์ประกอบของคำขอยิง

๑. ทั่วไป

ก. คำขอยิง (Call of fire) ได้แก่ ข่าวสารที่จำเป็นที่ ศอย. จะพึงทราบเพื่อพิจารณาวิธีโจมตีเป้าหมายให้ได้ผล ซึ่งเตรียมขึ้นโดย ผตน. หรือผู้ที่ขอให้ทำการโจมตีเป้าหมาย

ข. คำขอยิงนี้จะต้องส่งอย่างรวดเร็วที่สุด แต่จะต้องให้แจ่มแจ้งชัดเจนเพียงพอ ในอันที่จะเข้าใจ, บันทึกและทวนข่าวได้อย่างไม่ผิดพลาด

ค. เมื่อ ผตน. เห็นเป้าหมายและกำลังหาหลักฐานอยู่ ควรที่จะได้บอกพลวิทยุโทรศัพท์ของตนทันที เพื่อให้พลวิทยุเริ่มเรียก และเริ่มส่งคำขอยิงส่วนที่ส่งได้ไปก่อนขณะที่ ผตน. กำลังหาที่ตั้งเป้าหมายอยู่ แทนที่จะคอยจนเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงเรียก

ง. องค์ประกอบของคำขอยิงมี ๖ ประการด้วยกัน คือ

๑) การแสดงตนของผู้ตรวจการณ์ (Observer Identification)

๒) คำสั่งเตือน (Warning order)

๓) ที่ตั้งเป้าหมาย (Target location)

๔) ลักษณะเป้าหมาย (Target Description)

๕) วิธีโจมตี (Method of engagement)

จ. ไม่ว่าจะกำหนดที่ตั้งเป้าหมายแบบใด คำขอยิงควรจะส่งเป็น ๓ กลุ่ม หรือ ๓ ส่วนใหญ่ ๆ แล้วหยุดและให้ทวนข่าวในแต่ละตอนกล่าวคือ

๑) การแสดงตนของผู้ตรวจการณ์และคำสั่งเตือน

๒) ที่ตั้งเป้าหมาย

๓) ลักษณะเป้าหมาย, วิธีโจมตี, วิธียิงและการควบคุม

๒. การแสดงตนของผู้ตรวจการณ์ (บอกเสมอ)

คือ การเรียกขานทางการสื่อสารด้วยนามสถานี หรือประมวลลับให้ ศอย. ทราบว่าใครเรียกและขอยิง เพื่อที่ ศอย. จะได้ระงับการสื่อสารอื่น ๆ เช่น “ลพบุรี ๑๘ จาก ลพบุรี ๒๔”

๓. คำสั่งเตือน (บอกเสมอ)

เป็นการแสดงความเร่งด่วนในการสื่อสารและเตือนเจ้าหน้าที่ ศอย. ให้เตรียมปฏิบัติภารกิจประกอบด้วยส่วนสำคัญคือ ประเภทของภารกิจ, ขนาดหน่วยที่จะยิงและวิธีกำหนดที่ตั้งเป้าหมายที่จะตามมา

ก. ประเภทของภารกิจ (Type of mission) ภารกิจยิงมีหลายแบบ ตามแต่ ผตน. จะเลือกใช้ส่วนใหญ่คือ

๑) ปรับการยิง (ปย.) เมื่อ ผตน. ต้องการปรับการยิงก่อนที่จะยิงหาผล อาจจะเป็นเพราะการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายไม่แน่นอน หรือขาดตัวแก้ที่เหมาะสมก็จะระบุในคำสั่งเตือนว่า “ปรับการยิง”

๒) ยิงหาผล (ยผ.) ผตน.ควรจะแสวงหาประโยชน์จากการยิงหาผลในนัดแรกไว้เสมอ ความถูกต้องของการยิงหาผลนั้นขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะเป้าหมายและกระสุนที่จะใช้ยิงเป็นสำคัญ เมื่อ ผตน. เห็นว่าการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายถูกต้องเพียงพอ จะยิงหาผลได้ในนัดแรก ก็จะเตือนมาว่า “ยิงหาผล”

๓) ยิงข่ม (ข.) เมื่อ ผตน.ต้องการที่จะให้ทำการยิงอย่างรวดเร็วลงบนเป้าหมายตามคำขอที่วางแผนไว้แล้ว (ไม่ใช่เป้าหมายตามเหตุการณ์) ผตน. ก็จะขอให้ยิงข่ม ตามด้วยชื่อหรือหมายเลขเป้าหมาย เช่น ยิงข่ม เป้าหมาย กข.๑๐

ตามปกติเมื่อยิงข่ม ปืนจะเริ่มยิงทันทีภายใน ๒๐ – ๓๐ วินาที ถ้าเป็นเป้าหมายใกล้ฝ่ายเราจะยิง ๑ นัด (ชุด) ถ้าเป็นเป้าหมายอื่น ๆ จะยิง ๒ – ๓ นัด ผตน. เห็นว่ายังไม่ได้ผลจะขอให้ปรับการยิงเพื่อยิงซ้ำต่อไป เช่น “ปรับการยิง มุมภาค ๕๖๐๐ ซ้าย ๑๐๐ เพิ่ม๒๐๐ ปืนกล ๒ กระบอกกำลังยิง เปลี่ยน หรือ มุมภาค ๕๖๐๐ ซ้าย ๑๐๐ เพิ่ม ๒๐๐ ยิงซ้ำ เปลี่ยน”

๔) ยิงข่มฉับพลัน (ขฉ.) เมื่อ ผตน. ต้องการให้ยิงอย่างรวดเร็วต่อเป้าหมายที่วางแผนไว้แล้วหรือเป้าหมายตามเหตุการณ์ เพื่อยับยั้งมิให้ฝ่ายตรงข้ามดำเนินกลยุทธ หรือเคลื่อนที่ทางอากาศ ก็จะขอยิงข่มฉับพลัน ด้วยหมายเลขเป้าหมาย เช่น “ยิงข่มฉับพลันยอดเนิน ๑๗๖”

การยิงข่มฉับพลันนี้ จะยิงเร็วกว่าการยิงข่ม และใช้ได้ทั้งเป้าหมายที่วางแผนไว้แล้ว และเป้าหมายตามเหตุการณ์ที่เพิ่งตรวจพบ

ข. ขนาดหน่วยที่จะยิง

ผตน. อาจกำหนดขนาดหน่วยที่จะใช้ทำการยิงหาผลด้วยก็ได้ ถ้าไม่กำหนดก็มักจะใช้หน่วยขนาดกองร้อย ยิงหาผล เช่น “ปรับการยิง กองพัน”

ค. วิธีกำหนดที่ตั้งเป้าหมายที่จะใช้

๑) ถ้าใช้วิธีโปล่าร์ ก็ให้ระบุ โปล่าร์ไว้ในคำสั่งเตือนด้วย เช่น “ปรับการยิงโปล่าร์ เปลี่ยน”

๒) ถ้าจะใช้วิธีย้ายจากจุดทราบที่ตั้ง ก็ให้ระบุจาก (จุดที่ทราบที่ตั้ง) เอาไว้ด้วย เช่น “ปรับการยิง จาก กข.๗๑๐ เปลี่ยน”

๓) ถ้าจะกำหนดที่ตั้งเป้าหมายด้วยวิธีพิกัดตาราง ไม่ต้องระบุใด ๆในคำสั่งเตือน คือถ้าไม่ระบุโปล่าร์หรือจาก ก็ถือว่า กำหนดโดยวิธีพิกัดตาราง เช่น “ปรับการยิง กองพัน เปลี่ยน”ตัวอย่างขององค์ประกอบแรกที่จะส่งข่าวในการขอยิง คือ

ปรับการยิงวิธีพิกัดตาราง

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี๒๔ ปรับการยิง เปลี่ยน”

ยิงหาผลด้วยวิธีโปล่าร์

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี ๒๔ ยิงหาผล กองพัน โปล่าร์ เปลี่ยน”

ปรับการยิงด้วยวิธีย้ายจากจุดทราบที่ตั้ง

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี ๒๔ ปรับการยิง จาก กข. ๗๑๐ เปลี่ยน”

การยิงข่ม

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี ๒๔ ยิงข่ม สิงโต ๑๐๑ เปลี่ยน

การยิงข่มฉับพลัน

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี ๒๔ ยิงข่มฉับพลัน คย.๑๗๖ เปลี่ยน

๔. ที่ตั้งเป้าหมาย (บอกเสมอ)

องค์ประกอบนี้ก็เพื่อให้ ศอย. กรุยที่ตั้งเป้าหมายลงในแผ่นเรขายิงและหาหลักฐานยิงได้นั่นเอง ซึ่งได้กล่าวโดยละเอียดแล้วในบทที่ ๘ ในที่นี้ย้ำเฉพาะที่สำคัญ

ก. พิกัดตาราง ปกติใช้ ๖ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดยิงหาหลักฐานหรือ ม. ที่จะทำการขอยิงหาหลักฐานโดยไม่ปรับ

เพื่อความรวดเร็วในการของยิงทิศทางตรวจการณ์ จะส่งหลังสุดก็ได้ เพราะ ศอย. ไม่ต้องการใช้ประกอบในการกรุยที่ตั้งเป้าหมาย

ตำบลเด่น ๆ ที่ปรากฏในแผนที่เช่น สี่แยกหรือสะพานเป็นต้น หรือตำบลที่เคยยิงมาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปหาพิกัดซ้ำอีก จะทำให้ชักช้า

ข. วิธีโปล่าร์

เมื่อขานว่า โปล่าร์ ในคำสั่งเตือนไว้แล้ว ศอย. ก็จะทราบและเตรียมการกรุยด้วยวิธีโปล่าร์ไว้ทันที ถ้าใช้ที่อยู่ของตนเป็นจุดอ้างในการกรุยโปล่าร์ ก็จะขานเฉพาะมุมภาค (๑๐ มิล) ระยะ (๑๐๐ เมตร) และแตกต่างสูง (๕ เมตร) เท่านั้น ศอย. ก็สามารถกรุย ม. ได้

ค. ย้ายจากจุดทราบที่ตั้ง

เมื่อขานจาก..........(จุดทราบ) ไว้ในคำสั่งเตือนแล้ว ศอย. ก็พร้อมที่จะกรุย ม. ผตน. ก็จะส่งมุมภาค (๑๐ มิล) การย้ายทางข้าง (๑๐ เมตร) การย้ายทางระยะ (๑๐๐เมตร) และการย้ายทางสูง (๕ เมตร) ไปให้ทราบ องค์ประกอบใดที่ไม่ใช้ให้ละเว้นเสีย เพื่อความรวดเร็วในการส่งข่าว

๕. ลักษณะเป้าหมาย (บอกเสมอเว้นแต่การยิงหาหลักฐาน)

ผตน.บอกลักษณะเป้าหมายสั้น ๆ แต่ให้กระจ่างพอที่ ศอย. จะพิจารณาจำนวนและประเภทของกระสุนในการโจมตีได้อย่างเหมาะสม ลักษณะเป้าหมายที่ควรจะบอกได้แก่

ก. ชนิดของเป้าหมาย เป้าหมายนั้นเป็นอะไร เช่น ทหาร, ยานพาหนะ,รถถัง,คลังอุปกรณ์ เป็นต้น

ข. จำนวนของเป้าหมาย เป้าหมายนั้นมีจำนวนเท่าไร เช่น หมู่, หมวด,รถบรรทุก๓ คัน เป็นต้น

ค.การเคลื่อนไหวของเป้าหมาย เป้าหมายนั้นกำลังทำอะไร เช่น กำลังขุดหลุม, กำลังเคลื่อนที่หรืออยู่ในที่รวมพล

ง. การป้องกันของเป้าหมาย เป้าหมายนั้นอยู่ในบังเกอร์ หลุมบุคคลหรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น

จ. รูปร่างและขนาดของเป้าหมาย เป้าหมายนั้นมีรูปร่างและขนาดซึ่งมีความสำคัญในการยิง เช่น เป้าหมายมีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก็ให้บอกความยาวและความกว้างเป็นเมตร และบอกมุมภาคตามความยาวของเป้าหมายเป็นจำนวนเต็ม ๕๐ มิล แกนยาวของเป้าหมายทำมุมเป็นแนวเฉียงกับทิศเหนือตารางเท่าไร ไม่ใช่มุมภาคจากผู้ตรวจการณ์ไปยังเป้าหมาย เช่นบอกว่า “ค่ายทหารยาว ๔๐๐ กว้าง ๒๐๐ แนวเฉียง ๒๘๕๐” ถ้าเป้าหมายมีรูปร่างเป็นวงกลมก็ให้บอกรัศมีไปด้วย เช่นบอกว่า “ทหาร ๑ กองพันในที่รวมพลรัศมี ๒๐๐” เป็นต้น

๖. วิธีโจมตี (บอกเมื่อเห็นว่าจำเป็น)

เป็นวิธีการต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ในการโจมตีเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยชนิดของการปรับการยิง กระสุนวิถี กระสุนชนวน และการวางตำบลระเบิด (กรวยพื้นยิง)

ก. ชนิดของการปรับการยิง การปรับการยิงมี ๒ ชนิด คือ การปรับการยิงประณีต และการปรับการยิงเป็นพื้นที่ อาจจะทำการปรับการยิงชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้ ถ้าไม่ระบุชนิดของการปรับการยิงไว้ในคำขอยิง ให้ถือว่า ชนิดของการปรับนั้น เป็นการยิงเป็นพื้นที่

๑) การยิงประณีต ไม่ว่าจะเป็นการยิงหาหลักฐาน หรือการยิงทำลาย คงใช้ปืนหนึ่งกระบอกทำการปรับการยิง เมื่อต้องการยิงหาหลักฐานประณีต ศอย. จะเป็นผู้ส่งข่าวให้ ผตน. ทราบ ถ้าต้องการยิงทำลาย ผตน. ต้องระบุในคำขอยิงว่า “ยิงทำลาย”

๒) การยิงเป็นพื้นที่ ใช้โจมตีเป้าหมายที่อยู่กระจัดกระจาย โดยเหตุที่เป้าหมายเป็นพื้นที่ ส่วนมากเป็นเป้าหมายที่เคลื่อนที่ได้ ดังนั้นการปรับการยิงจะต้องปรับให้รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันมิให้เป้าหมายหนีไปเสียก่อน ควรเลือกจุดปรับที่เห็นเด่นชัดใกล้ ๆ กับศูนย์กลางของพื้นที่เป้าหมายที่จะทำการโจมตี จุดนี้เรียกว่า “จุดปรับการยิง” เพื่อให้การยิงจู่โจมได้ผล อาจจะกระทำการปรับต่อจุดปรับการยิงช่วยไว้ด้วย เมื่อทำการปรับต่อจุดปรับการยิงช่วยเสร็จแล้ว จึงย้ายไปยังเป้าหมายจริง ๆ ตามปกติการปรับการยิงต่อเป้าหมายเป็นพื้นที่ จะทำการปรับด้วย ป.๑ กระบอก จะใช้ ป.๒ กระบอกทำการปรับก็ต่อเมื่อต้องการปรับสูงกระสุนแตก ซึ่งใช้ชนวนเวลาในการยิงหาผล

๓) อันตรายใกล้ฝ่ายเรา เมื่อเป้าหมายอยู่ห่างจากแนวทหารฝ่ายเดียวกัน ในระยะไม่เกิน ๖๐๐ ม. ให้ผู้ตรวจการณ์หน้า บอกว่า “อันตรายใกล้ฝ่ายเรา” โดยบอกในหัวข้อประกอบย่อยชนิดของการปรับการยิง

ข. ชนิดของกระสุนวิถี กระสุนวิถีมี ๒ ชนิด คือ กระสุนวิถีมุมเล็กและกระสุนวิถีมุมใหญ่ เมื่อผู้ตรวจการณ์หน้าต้องการยิงด้วยมุมเล็ก ไม่ต้องระบุ “มุมเล็ก” ไว้ในคำขอยิง แต่ถ้าผู้ตรวจการณ์ต้องการให้ยิงด้วยมุมใหญ่ ต้องระบุ “มุมใหญ่” ไว้ในคำขอยิงด้วย โดยระบุต่อจากชนิดของการปรับการยิง ในกรณีที่ผู้ตรวจการณ์ไม่ระบุให้ยิงมุมใหญ่ ถ้าทางศูนย์อำนวยการยิงคำนวณหาหลักฐานยิงออกมาแล้วจำเป็นต้องยิงด้วยมุมใหญ่ ศูนย์อำนวยการยิงจะต้องแจ้งให้ผู้ตรวจการณ์ทราบว่า จะยิงด้วยมุมใหญ่

ค. กระสุน ถ้าผู้ตรวจการณ์ไม่ระบุกระสุนหรือชนวนไว้ในคำขอยิงให้หมายถึงว่า ยิงด้วยกระสุนระเบิด ชนวนไว ทั้งในขั้นการปรับการยิงและขั้นการยิงหาผล

ในกรณีที่ชนิดของภารกิจ “ปรับการยิง” ผู้ตรวจการณ์ได้ระบุเฉพาะกระสุนหรือชนวนในการยิงหาผลไว้ ให้หมายถึงว่า ผู้ตรวจการณ์ต้องการให้การยิงหาผลด้วยกระสุนหรือชนวนที่ระบุไว้นั้น เช่นระบุว่า “กระสุนระเบิดและกระสุนควันขาวในการยิงหาผล” “ชนวนวีทีในการยิงหาผล” หรือ “ชนวนไวและวีทีในการยิงหาผล” เป็นต้น

ในกรณีที่ชนิดของภารกิจ ปรับการยิง ผู้ตรวจการณ์ได้ระบุเฉพาะกระสุนหรือชนวนแต่ไม่มีคำว่า “ในการยิงหาผล” ต่อท้ายกระสุนหรือชนวน ให้หมายถึงว่าผู้ตรวจการณ์ต้องการกระสุนหรือชนวนชนิดที่บอกนั้นยิงทั้งในขั้นการปรับการยิงและขั้นยิงหาผล เว้นแต่ผู้ตรวจการณ์จะมีคำขอเปลี่ยนแปลงชนิดกระสุนหรือชนวนภายหลัง เช่น การขอยิงกระดอนแตก ผู้ตรวจการณ์จะบอกว่า “ชนวนถ่วงเวลา” เปลี่ยน ซึ่งหมายความว่าในขั้นปรับการยิงใช้ชนวนถ่วงเวลาทำการปรับ และใช้ชนวนถ่วงเวลาในขั้นการยิงหาผลด้วย เว้นแต่ถ้าปรากฏที่ปลายทั้งสองข้างของห้วงควบ ๑๐๐ เมตร มีกระสุนแตกอากาศน้อยกว่า ๕๐% ก็ให้เปลี่ยนชนวนยิงหาผลเป็นชนวนไวหรือวีที ในกรณีเช่นนี้ ผู้ตรวจการณ์หน้าส่งการแก้ขั้นต่อไปว่า “ชนวนไวยิงหาผล” หรือ “ชนวนวีทียิงหาผล”

๑) กระสุน ผู้ตรวจการณ์อาจจะขอกระสุนชนิดอื่น นอกเหนือไปจากกระสุนระเบิด เช่น กระสุนส่องแสง กระสุนควันขาว กระสุนควันขับออกท้าย เป็นต้น

๒) ชนวน ภารกิจยิงโดยมากในขั้นปรับการยิง จะปรับด้วยชนวนไว แต่มีบางภารกิจไม่ใช้ชนวนไว ทำการปรับการยิง เช่น ภารกิจยิงส่องสว่าง หรือภารกิจยิงเป็นพื้นที่ ซึ่งใช้ชนวนถ่วงเวลายิงกระดอนแตก เมื่อผู้ตรวจการณ์หน้า ขอให้ยิงกระสุนที่มีชนวนชนิดเดียวอยู่ในตัวมันเอง ผู้ตรวจการณ์หน้าก็ไม่ต้องระบุชนวนลงไปคำขอยิงด้วย เช่น ของยิงกระสุนส่องแสงหรือกระสุนควันขับออกทางท้าย ซึ่งเป็นกระสุนชนิดที่มีชนวนชนิดเดียวอยู่ในตัวมันเอง ผู้ตรวจการณ์หน้าก็ไม่ต้องระบุ “กระสุส่องแสงชนวนเวลา” ลงไปในคำขอยิง

๓) ปริมาตรการยิง ถ้าผู้ตรวจการณ์หน้าเห็นว่าจำเป็นต้องใช้กระสุนในการยิงหาผลประมาณกี่นัดให้ระบุจำนวนกระสุนลงไปในคำขอยิงด้วย เช่น ระบุว่า “ชนวนวีที ๓ นัดในการยิงหาผล” ถ้าเป็นคำขอยิงหาผลด้วยชนวนไว ก็ระบุว่า “๓นัด” เฉย ๆ โดยไม่ต้องระบุว่า “ชนวนไว ๒ นัดในการยิงหาผล”

๔) กรวยพื้นยิง การวางตำบลระเบิดให้เหมาะสมกับเป้าหมาย เพื่อให้ได้ผลจากการยิงมากที่สุด ตามปกติในการยิงหาผลจะยิงด้วยกรวยปกติ ถ้าผู้ตรวจการณ์ต้องการทำการยิงหาผลด้วยกรวยอย่างอื่น ผู้ตรวจการณ์หน้าต้องระบุในคำขอยิง เช่น “กรวยปิด” หรือ “กรวย ๒๕๐ เมตร” เป็นต้น ถ้าทำการยิงหาผลทั้งกองพันและผู้ตรวจการณ์หน้า มีความประสงค์จะให้การยิงหาผลนั้นแผ่กว้างออกไป ผู้ตรวจการณ์จะระบุไปว่า “ต่างทิศ หรือ “ต่างระยะ” ตามปกติต่างทิศหรือต่างระยะ คือ ๑๐๐ เมตร แต่ต่างทิศหรือต่างระยะระหว่างตำบลระเบิดในภารกิจยิงส่องสว่าง ๘๐๐ เมตร (๑๐๐๐ เมตร สำหรับกระสุนส่องแสง เอ็ม.๔๘๕ ปกค.๑๕๕ มม.)


๗. วิธียิงและการควบคุม (บอกเมื่อจำเป็น)

วิธียิงและการควบคุมเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคำขอยิง ซึ่งผู้ตรวจการณ์ ใช้กำหนดในการโจมตีเป้าหมาย ไม่ว่าจะต้องควบคุมเวลาเริ่มยิง หรือสามารถตรวจเห็นเป้าหมายหรือไม่ก็ตาม ผู้ตรวจการณ์จะระบุใช้วิธียิงและการควบคุมตามความเหมาะสม ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างล่างนี้

ก. วิธียิง ในการยิงเป็นพื้นที่ ตามปกติปรับด้วยปืน ๑ กระบอก ของหมวดที่อยู่กึ่งกลางของกองร้อย (หรือใช้ปืน ๑ กระบอกของคู่กลางของกองร้อยทำการปรับ) ถ้าผู้ตรวจการณ์หน้ามีเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิจารณาเห็นว่าปรับด้วยปืน ๒ กระบอก (๑ หมวด) จะทำให้การปรับได้ผลดีกว่าการปรับด้วยปืน ๑ กระบอก โดยทำการยิงเป็นรอบจากขวา (ซ้าย)ผู้ตรวจการณ์ก็ขอไปว่า “เป็นรอบจากขวา (ซ้าย)” และขอให้ปืนทำการยิงพร้อมกันทั้ง ๒ กระบอก ก็จะขอไปว่า “ปืนสองกระบอก” โดยทั่วไปจังหวะการยิงเป็นรอบระหว่างนัดคือ ๒ วินาที สำหรับปืน ปบค.๑๐๕ มม. และ ๕ วินาที สำหรับปืน ปกค.๑๕๕ มม. แต่ถ้าต้องการจังหวะการยิงอย่างอื่นก็ให้ระบุในคำขอยิงนั้นด้วย เช่น “เป็นรอบจากขวา (ซ้าย) จังหวะ ๑๐ วินาที”เป็นต้น

ข. วิธียิงและควบคุม (บอกเมื่อเห็นว่าจำเป็น)

๑) ตามคำสั่งข้าพเจ้า (ตคจ. At my command, AMC) เป็นคำของยิงของผู้ตรวจการณ์หน้าเพื่อควบคุมเวลาที่จะยิง เมื่อผู้ตรวจการณ์หน้าต้องการควบคุมเวลาที่จะยิง ให้ระบุว่า “ตามคำสั่งข้าพเจ้า” ในองค์ประกอบวิธีควบคุม ศูนย์อำนวยการยิงจะบอกผุ้ตรวจการณ์หน้าให้ทราบเมื่อปืนพร้อมที่จะยิง เช่น

“กองร้อย (กองพัน) พร้อม เปลี่ยน”

และเมื่อผู้ตรวจการณ์หน้าพร้อมที่จะยิงก็บอกไปว่า “ยิง” ปืนจะยิงตามคำสั่งของผู้ตรวจการณ์หน้าไปเรื่อย ๆ จนกว่า ผู้ตรวจการณ์หน้าจะบอกว่า

“ยกเบิกตามคำสั่งข้าพเจ้า เปลี่ยน”

๒) ตรวจไม่ได้ (Cannot observe) เป็นการควบคุมการยิงวิธีหนึ่ง ซึ่งแสดงให้ทราบว่าผู้ตรวจการณ์หน้าไม่สามารถปรับการยิงได้ แต่มีเหตุผลเชื่อได้แน่นอนว่า ณ ที่นั้นมีเป้าหมายอยู่จริงและมีความสำคัญเพียงพอที่จะทำการยิงได้ โดยไม่ต้องมีการปรับการยิงหรือการตรวจการณ์ กรณีเช่นนี้ ผู้ตรวจการณ์หน้าจะขอให้ทำการยิงหาผลและระบุว่า “ตรวจไม่ได้” ในองค์ประกอบวิธีควบคุม

๓) พร้อมกัน ณ เป้าหมาย เป็นเทคนิคการยิงพิเศษของอาวุธจากหลายหน่วยเพื่อให้กระสุนไประเบิด ณ เป้าหมายเดียวกัน เป็นการบอกให้ศูนย์อำนวยการยิงทราบว่าผู้ตรวจการณ์หน้าต้องการให้กระสุนทุกนัดระเบิดพร้อมกัน ณ เป้าหมาย โดยร้องขอว่า “พร้อมกัน ณ เป้าหมาย นาทีจาก...ขณะนี้ เปลี่ยน” หรือ “พร้อมกัน ณ เป้าหมาย ๐๘๕๙ ขณะนี้เวลา ๐๘๐๐ เปลี่ยน”

๔) ยิงเมื่อพร้อม ถ้าไม่มีการควบคุมอย่างใดอย่างหนึ่งข้างบน แสดงว่าให้ปืนทำการยิงทันทีที่พร้อม


๘. การแก้คำขอยิงที่ผิด

ก. การส่งคำขอยิงของ ผตน. หรือการทวนข่าวของเจ้าหน้าที่ ศอย. บางครั้งอาจผิดพลาดได้ถ้า ผตน. ได้ส่งคำขอยิงผิดพลาดไปแล้วนึกขึ้นได้ หรือ ศอย. ทวนข่าวกลับมาผิด ผตน.ก็บอกไปว่า “ผิดหยุด” แล้วส่งข้อความที่ถูกต้องไปใหม่ ตัวอย่างเช่น ผตน. ส่งไปว่า

“........จากจุดยิงหาหลักฐานที่ ๒ เปลี่ยน”

“มุมภาค ๔๖๘๐.................เปลี่ยน”

ทันใดนั้น ผู้ตรวจการณ์หน้านึกขึ้นได้ว่า มุมภาคที่ถูกต้องนั้นเป็น ๕๖๘๐ จึงบอกศูนย์อำนวยการยิงไปว่า “ผิดหยุด มุมภาค ๕๖๘๐ เปลี่ยน” หลังจากที่ได้รับการทวนอย่างถูกต้องแล้ว ผตน.จึงส่งคำของยิงที่เหลือต่อไป

ข. ถ้า ผตน. ส่งผิดในองค์ประกอบย่อยนั้น จะทำให้มีผลกระทบกระเทือนหลักฐานอื่นที่ส่งไปแล้ว ผตน.บอกว่า “ผิดหยุด” แล้วส่งองค์ประกอบย่อยที่ถูกต้อง และหลักฐานที่ถูกกระทบกระเทือนขององค์ประกอบย่อยนั้นทั้งหมดตามลำดับอย่างถูกต้องไปด้วย ตัวอย่างเช่น ผตน. ส่งไปว่า

“ซ้าย ๒๐๐ เพิ่ม ๔๐๐ สูงขึ้น ๔๐ เปลี่ยน”

ทันใดนั้น ผตน.นึกขึ้นได้ว่า เพิ่ม ๔๐๐ ควรจะเป็นลด ๔๐๐ ดังนั้น ส่งองค์ประกอบย่อยที่ถูกต้องคือ “ลด ๔๐๐” และหลักฐานที่ถูกกระทบกระเทือนขององค์ประกอบย่อยทั้งหมดนั้นไปด้วย คือ

“ผิดหยุด ซ้าย ๒๐๐ ลด ๔๐๐ สูงขึ้น ๔๐ เปลี่ยน”

เพราะว่าหากไม่ส่ง ซ้าย ๒๐๐ และสูงขึ้น ๔๐ ไปด้วย ก็จะทำให้หมายความว่า ได้ยกเลิกคำว่า “ซ้าย ๒๐๐และสูงขึ้น ๔๐”ไปแล้ว

ค. ถ้า ผตน.ได้ส่งคำขอยิงไปหมดแล้ว จึงพบว่าส่งองค์ประกอบย่อยผิด หรือลืมไม่ได้ส่งองค์ประกอบหรือองค์ประกอบย่อย ผตน.จะส่งองค์ประกอบหรือองค์ประกอบย่อยที่ถูกต้องไปใหม่พร้อมทั้งหลักฐานที่ถูกกระทบกระเทือนทั้งหมดไปด้วย ตัวอย่างเช่น ผตน.ส่งไปว่า

“กระทิงแดง จาก เสือดำ ปรับการยิง จากจุดยิงหาหลักฐานที่ ๒ เปลี่ยน”

“มุมภาค ๕๖๘๐ ซ้าย ๒๐๐ เพิ่ม ๔๐๐๐ สูงขึ้น ๔๐ เปลี่ยน”

“ทหารราบในที่แจ้ง ชนวนเวลาในการยิงหาผล ตามคำสั่งข้าพเจ้า เปลี่ยน”

เมื่อส่งคำขอยิงไปหมดแล้ว ผู้ตรวจการณ์หน้านึกขึ้นได้ว่าใช้ชนวนวีทีในการยิงหาผลต่อเป้าหมายนี้จะดีกว่า ใช้ชนวนเวลา จึงส่งแก้ไปว่า

“ผิดหยุด ชนวนวีทีในการยิงหาผล เปลี่ยน”

หรือ เพิ่ม ๔๐๐ ที่ถูกต้อง คือ ลด ๔๐๐ จึงส่งการแก้ไปว่า

“ผิดหยุด ซ้าย ๒๐๐ ลด ๔๐๐ สูงขึ้น ๔๐ เปลี่ยน”

หรือไม่ต้องการควบคุม ก็ส่งการแก้ไปว่า

“ผิดหยุด ยกเลิกตามคำสั่งข้าพเจ้า เปลี่ยน”

ง. การแก้คำขอยิงที่ผิดวิธีโปล่าร์ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ ข. เช่น ผตน. ส่งไปว่า

“มุมภาค ๘๐๐ ระยะ ๒๐๐๐ สูงขึ้น ๔๐ เปลี่ยน”

ทันใดนั้นนึกขึ้นได้ว่าส่งระยะผิด ที่ถูกต้องคือ ๑๐๐๐ จึงส่งการแก้ไปว่า

“ผิดหยุด ระยะ ๑๐๐๐ สูงขึ้น ๔๐ เปลี่ยน”

(บอกทั้งระยะและสูงขึ้น/ต่ำลงด้วย)

จ. ในกรณีแก้คำขอยิงที่ผิดต้องบอกว่า “ผิดหยุด”ด้วยเสมอ


๙. ข่าวถึงผู้ตรวจการณ์หน้า (ขถต.)

ก. เมื่อ ศอย. ได้รับคำขอยิง ก็จะพิจารณาว่าจะโจมตีเป้าหมายอย่างไร ข้อตกลงใจในการโจมตีเป้าหมายนี้ จะส่งกลับไปยังผู้ตรวจการณ์หน้าในรูปของข่าวถึงผู้ตรวจการณ์หน้า ข่าวถึงผู้ตรวจการณ์หน้าจะประกอบด้วย

๑) หน่วยที่จะยิง กำหนดกองร้อยเดียวหรือหลายกองร้อยที่จะทำการยิงในภารกิจนั้น ถ้าจะยิงหาผลหลายกองร้อยหรือทั้งกองพัน โดยใช้กองร้อยใดกองร้อยหนึ่งปรับการยิง จะบอกกองร้อยปรับการยิงด้วย เช่น

- ร้อย ๑ ปรับและยิงหาผล “ร้อย ๑”

- ร้อย ๓ ปรับ ร้อย ๒ และ ๓ ยผ. “ร้อย ๒ ร้อย ๓ . ร้อย ๓”

- ร้อย ๒ ปรับ กองพัน ยผ. “กองพัน ร้อย๒”

๒) การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคำขอยิงใด ๆ เช่น

- ผตน. ขอไอซีเอ็ม แต่ ศอย.จะให้วีที “ร้อย ๑ วีทีในการยิงหาผล”

* ผตน. ขอปรับการยิง ศอย. ตกลงใจ ยิงหาผลเลย ก็จะส่งข่าวเปลี่ยนแปลงไปเช่น

* “กองพัน ยิงหาผล”

๓) จำนวนนัดที่จะยิงหาผล (ต่อกระบอก) เช่น

“กองพัน ร้อย ๒ วีทีในการยิงหาผล ๓ นัด”

ข. ข่าวเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่ ศอย. เห็นว่าผู้ตรวจการณ์หน้าควรจะรู้ หรือเมื่อผู้ตรวจการณ์หน้าร้องขอ จะส่งข่าวให้ทราบต่างหากตามความเหมาะสมได้แก่

๑) ย่านคาดคะเนทางระยะ (ยร.) ถ้าย่านคาดคะเนทางระยะตั้งแต่ ๓๘ เมตรขึ้นไปในภารกิจยิงเป็นพื้นที่ ศอย.จะบอก ผตน.ให้ทราบ เพื่อ ผตน. จะได้ขอยิงหาผลเมื่อผ่าห้วงควบ ๒๐๐ เมตร และเป็นข้อพึงระลึกในการปรับการยิง แต่ในการยิงหาหลักฐานประณีตแบบ เอบีซีเอ ถ้าย่านคาดคะเนทางระยะตั้งแต่ ๒๕ เมตรขึ้นไป จะต้องบอก ผตน.ด้วย เพื่อ ผตน.จะได้ใช้ห้วงควบ ๕๐ เมตรพิจารณาหลักฐาน

๒) มุมตรวจการณ์ (มุม ต.) ศอย.จะต้องบอก ผตน. เสมอ ถ้ามุม ต. ๕๐๐ มิลหรือมากกว่า เพื่อให้ ผตน.ใช้ดุลยพินิจในการตรวจและปรับการยิงและบอกเมื่อผู้ตรวจการณ์หน้าขอทราบ

๓) เวลาแล่น ปกติเวลาแล่นจะขานให้ ผตน.ทราบเสมอ เมื่อเป็นการตรวจการณ์ทางอากาศ การโจมตีเป้าหมายเคลื่อนที่ หรือเมื่อร้องขอ

ค. หมายเลขเป้าหมายนั้น ปกติแล้วเป้าหมายตามเหตุการณ์จะไม่กำหนด เว้นไว้แต่ ผตน.ร้องขอให้กรุยเป้าหมาย และ นอย.เห็นด้วย หรือเมื่อ นอย. นย.(นตต.) คนใดคนหนึ่งกำหนดให้กรุยเป็นเป้าหมาย หมายเลข เป้าหายนี้จะแจ้งให้ ผตน.ทราบ เมื่อจบภารกิจยิงแล้ว พร้อมทั้งพิกัดกรุยใหม่เมื่อกรุยเสร็จ เช่น

ผตน. “ซ้าย ๑๐ เพิ่ม ๒๐ กรุยเป้าหมาย จบภารกิจ ข้าศึกตาย ๑๐ คน ที่เหลือหนีไปทางทิศใต้ เปลี่ยน”

ศอย. “ซ้าย ๑๐ เพิ่ม ๒๐ กรุยเป้าหมาย จบภารกิจ ข้าศึกตาย ๑๐ คน ที่เหลือหนีไปทางทิศใต้ เป้าหมาย กฉ. ๗๐๑ เปลี่ยน”

ผตน. “เป้าหมาย กฉ. ๗๐๑ ทราบแล้ว”

ศอย. “เป้าหมาย กฉ.๗๐๑ พิกัด ๘๔๒๑๕๔๒๒ เปลี่ยน”

ผตน. “เป้าหมาย กฉ.๗๐๑ พิกัด ๘๔๒๑๕๔๒๒ ทราบแล้ว”

ถ้า นอย. ไม่เห็นด้วยในการกรุยเป็นเป้าหมายก็จะทวนข่าวเฉย ๆ แต่ไม่บอกหมายเลขเป้าหมาย เช่น

ศอย. “ซ้าย ๑๐ เพิ่ม ๒๐ กรุยเป้าหมาย จบภารกิจ ข้าศึกตาย ๑๐ คน ที่เหลือหนีไปทางทิศใต้ ทราบแล้ว”

๑๐. การแสดงฝ่าย

เว้นไว้แต่กรณีเร่งด่วนหรือการติดตามสนับสนุนอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เช่น กรณีเป็นกองร้อยแยกเฉพาะหรือภารกิจยิงข่มต่าง ๆ เป็นต้น การถามฝ่ายและแสดงฝ่าย (บอกพวก) ปกติจะใช้ประกอบในการขอยิงอยู่เสมอโดย ศอย. ถามฝ่ายไปในการทวนข่าวคำขอยิงวรรคสุดท้าย ซึ่ง ผตน. จะต้องตอบหรือแสดงฝ่ายกลับมาในทันที การตอบหรือการแสดงฝ่าย ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ – ๒๐ วินาทีเท่านั้น ถ้านานกว่านี้ให้สงสัยไว้ก่อน การถามฝ่ายนี้ใช้เฉพาะในตอนแรกเท่านั้น การปรับการยิงหรือการยิงเพิ่มเติมที่ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาไม่จำเป็นต้องถามฝ่ายอีก (ดูตัวอย่างในข้อ ๑๒)

๑๑. การขอยิงจากหน่วยเหนือ

ก. เมื่อ บก.หน่วยเหนือ เช่น กรม ป. เป็นต้น ของยิง คำขอยิงนี้มีลักษณะคล้ายกับคำขอยิงของ ผตน. แต่มีลักษณะเป็นคำสั่งมากกว่า เช่น อาจกำหนดหน่วยที่จะยิงหาผลและจำนวนนัดที่จะยิงด้วยก็ได้

ข. องค์ประกอบของคำขอยิงจากหน่วยเหนือ คือ

๑) คำสั่งเตือน

๒) ที่ตั้งเป้าหมาย

๓) วิธีโจมตี

๔) การควบคุม

ค. ตัวอย่างเช่น

๑) “ลพบุรี ๑๘ จากชัยนาท ๑๐ ยิงหาผล กองพัน เปลี่ยน”

๒) “เป้าหมาย กข.๑๐๑ หรือ พิกัด ๔๓๒๗๙ สูง ๕๒๐ เปลี่ยน”

๓) และ ๔) “วีที ๓ นัด พร้อมกัน ณ เป้าหมาย ๑๐นาทีจาก ขณะ......นี้ เปลี่ยน”

หมายเหตุ จะบอกลักษณะเป้าหมายด้วยก็ได้

๑๒. ตัวอย่างและวรรคตอนการส่งคำขอยิง

ก. ไม่ว่าจะกำหนดเป้าหมายด้วยวิธีใด ผู้ตรวจการณ์หน้าควรแบ่งส่งคำขอยิงเป็น ๓ วรรคเสมอ (เมื่อส่งไปแต่ละวรรคตอนแล้วศูนย์อำนวยการยิงจึงทวนกลับ) คือ

๑) การแสดงตนและคำสั่งเตือน

๒) หลักฐานในการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายทั้งหมด

๓) องค์ประกอบที่เหลือทั้งหมดของคำขอยิง

ข. คำขอยิงวิธีพิกัดตาราง

คำขอยิงเริ่มแรก

ผตน. ศอย.

“๑๘จาก ๒๔ ปรับการยิง เปลี่ยน” “๒๔ จาก ๑๘ ปรับการยิง ทราบแล้ว”

“พิกัด ๘๔๕๕๒๖ เปลี่ยน” “พิกัด ๘๔๕๕๒๖ ทราบแล้ว”

“รถบรรทุก ๔ คัน กำลังจอดเปลี่ยน” “รถบรรทุก ๔ คัน กำลังจอด ถามฝ่ายเสือแหวน เปลี่ยน”

“ตอบฝ่าย สิงโต สิงโต เปลี่ยน”

ข่าวถึงผู้ตรวจการณ์

“ร้อย ๒ ๒ นัดทราบแล้ว” “ร้อย ๒ ๒ นัด เปลี่ยน”

“ยิงไปแล้ว ทราบแล้ว” “ยิงไปแล้ว เปลี่ยน”

“มุมภาค ๑๖๕๐ ขวา ๖๐ ลด ๔๐๐” “มุมภาค ๑๖๕๐ ขวา ๖๐ ลด ๔๐๐ ทราบแล้ว”

หมายเหตุ การส่งคำขอของวิธีพิกัดตาราง ผู้ตรวจการณ์หน้าอาจจะส่งมุมภาคพร้อมกับคำขอยิงเริ่มแรกหรือจะส่งมุมภาคในภายหลังหรือส่งมุมภาคก่อนจะแก้ในนัดแรกนก็ได้

ค. คำขอยิงวิธีโปล่าร์

คำขอยิงเริ่มแรก

ผตน. ศอย.

“ลพบุรี ๑๘ จาก ลพบุรี ๒๔ยิงหาผลโปล่าร์เปลี่ยน” “ลพบุรี๒๔จาก๑๘ ยิงหาผลโปล่าร์ทราบแล้ว”

“มุมภาค ๔๕๒๐ ระยะ๒๓๐๐ ต่ำลง ๓๕ เปลี่ยน” “มุมภาค๔๕๒๐ ระยะ๒๓๐๐ ต่ำลง ๓๕

ทราบแล้ว

“ทหารราบ ๑ กองร้อยในที่แจ้ง เปลี่ยน” “ทหารราบ ๑ กองร้อยในที่แจ้ง ทราบแล้ว

ข่าวถึงผู้ตรวจการณ์

“กองพัน ชนวนวีที ๓ นัดทราบแล้ว” “กองพันชนวนวีที ๓ นัด เปลี่ยน”

หมายเหตุ

๑) นายทหารอำนวยการยิงสั่งให้รวมกำลังยิงทั้งกองพัน

๒) นายทหารอำนวยการยิงเปลี่ยนยิงหาผลจากชนวนไว เป็นชนวนวีที

๓) สมมุติว่าไม่มีการถามฝ่าย

ง. คำขอยิงวิธีย้ายจากจุดทราบที่ตั้ง

คำขอยิงเริ่มแรก

ผตน. ศอย.

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี ๒๔ “ลพบุรี ๒๔ จาก ลพบุรี ๑๘

ปรับการยิง จากเนิน ๗๓๒ เปลี่ยน” ปรับการยิง จากเนิน ๗๓๒

ทราบแล้ว”

“มุมภาค ๕๒๑๐ ซ้าย ๓๘๐ ต่ำลง ๒๕ เปลี่ยน” “มุมภาค ๕๒๑๐ ซ้าย ๓๘๐ เพิ่ม ๔๐๐

ต่ำลง ๒๕ ทราบแล้ว”

“ทหารราบ ๑ หมวด รถถัง ๑ คันในที่โล่งแจ้ง “ทหารราบ ๑ หมวด รถถัง ๑ คันในที่

ชนวนไวและวีทีในการยิงหาผล” โล่งแจ้ง ชนวนไวและวีที ในการยิงหาผล

ทราบแล้ว”

ข่าวถึงผู้ตรวจการณ์

“ร้อย ๓, ๑ นัด ทราบแล้ว” “ร้อย ๓, ๑ นัด เปลี่ยน”

หมายเหตุ สมมุติว่าไม่มีการถามฝ่าย

จ. คำขอยิงข่ม

ผตน. ศอย.

“ลพบุรี ๑๘จาก ลพบุรี ๒๔ ยิงข่ม “ลพบุรี ๒๓ จากลพบุรี ๑๘ ยิงข่ม

สิงโต ๑๐๑ เปลี่ยน” สิงโต ๑๐๑ ทราบแล้ว”

ฉ. คำขอยิง ยิงข่มฉับพลัน

“ลพบุรี ๑๘ จากลพบุรี ๒๔ “ลพบุรี ๒๔ จากลพบุรี ๑๘

ยิงข่มฉับพลัน ยิงข่มฉับพลัน

พิกัด ๒๑๑ ๔๓๒ เปลี่ยน” พิกัด ๒๑๑ ๔๓๒ ทราบแล้ว”

ช. คำขอยิงจากหน่วยที่เหนือกว่ากองพัน

คำสั่งเตือน “ลพบุรี ๑๘ จากชัยนาท ๓๐ ยิงหาผลกองพัน เปลี่ยน”

การกำหนดที่ตั้งเป้าหมาย “เป้าหมาย กฉ. ๗๐๑ หรือพิกัด ๔๓๒๕๗๘๙๑ สูง ๓๒๐”

วิธีโจมตี “ชนวนวีที ๓ นัด”

การควบคุม “พร้อมกัน ณ เป้าหมาย เวลา ๐๙๕๕ ขณะนี้เวลา ๐๙๔๕ เปลี่ยน”


๑๓ สรุป

ก. ทั่วไป เมื่อผู้ตรวจการณ์เข้าใจเรื่องคำขอยิง ตลอดจนการพิจารณาใช้กระสุนและชนวนให้เหมาะสมกับเป้าหมายแล้ว จะทำให้ผู้ตรวจการณ์ปรับการยิงต่อเป้าหมายได้ผลรวดเร็วขึ้น

ข. องค์ประกอบและลำดับคำขอยิง

องค์ประกอบ ตัวอย่าง

๑) การแสดงตนของผู้ตรวจการณ์ ๑) ลพบุรี ๑๘ จาก ลพบุรี ๒๔

๒) คำสั่งเตือน

ก) วิธีพิกัด ก) ปรับการยิง

ข) วิธีโปล่าร์ ข) ปรับการยิงโปล่าร์

ค) วิธีย้ายจากจุดทราบที่ตั้ง ค) ปรับการยิง จากเนิน ๗๓๒

๓) การกำหนดที่ตั้งเป้าหมาย

ก) วิธีพิกัด ก) พิกัด ๘๔๕ ๕๒๖ มุมภาค ๑๖๕๐

ข) วิธีโปล่าร์ ข) มุมภาค ๕๔๒๐ ระยะ ๒๓๐๐ ต่ำลง ๓๕

ค) วิธีย้ายจากจุดทราบที่ตั้ง ค) มุมภาค ๕๒๑๐ ซ้าย ๓๘๐ เพิ่ม ๔๐๐ ต่ำลง ๒๕

๔) ลักษณะเป้าหมาย ๔) ผกค. ๒๐ คนในที่แจ้ง

๕) วิธีโจมตี

ก) ชนิดของการปรับการยิง ก)อันตรายใกล้ฝ่ายเรา

(ยิงประณีต,ยิงเป็นพื้นที่)

ข) กระสุนวิถี ข) มุมใหญ่ (เว้นเมื่อยิงมุมเล็ก)

ค) กระสุนและชนวน

(๑) ชนิดกระสุน (๑) กระสุนควันขาว

(เว้นเมื่อใช้กระสุนระเบิด)

(๒) ชนิดชนวน (๒) ชนวนวีทีในการยิงหาผล

(เว้นเมื่อใช้ชนวนไว)

ง) กรวยพื้นยิง ง) กรวยปิด

(เว้นเมื่อใช้กรวยปกติ)

๖) วิธียิงและการควบคุม

ก) วิธียิง ก) เป็นรอบจากขวา (ซ้าย)

(เว้นเมื่อปรับด้วย ป.๑ กระบอก)

ข) การควบคุม ข) ตามคำสั่งข้าพเจ้า

(เส้นเมื่อไม่มีการควบคุมการยิง)

ค. คำขอยิงจากหน่วยเหนือและคำขอยิงจากผู้ตรวจการณ์หน้า มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คำขอยิงจากหน่วยเหนือจะระบุให้หน่วยใด ทำการยิงหาผลก็ได้ ส่วนคำของยิงของผู้ตรวจการณ์ จะขอได้เพียงหน่วยที่ทำการยิงให้เท่านั้น ตัวอย่างจากคำของยิงจากหน่วยเหนือ

“ยิงหาผลกองพัน เปลี่ยน”

“เป้าหมาย กฉ. ๗๐๑ ชนวนวีที ๓ นัด”

“พร้อมกัน ณ เป้าหมาย ๑๐ นาที จากขณะ...นี้ เปลี่ยน”

ง. ความรวดเร็วคือหัวใจของการส่งคำขอยิง แต่จะต้องแจ่มแจ้ง ไม่ผิดพลาด เมื่อกำหนดที่ตั้งเป้าหมายยังไม่เสร็จ หรือเตรียมคำขอยิงยังไม่สมบูรณ์ อย่ารีรอให้เสียเวลา ส่วนที่ส่งได้ให้ส่งไปก่อน ไม่ต้องคำนึงถึงลำดับ

ประมวลหรือวิธีส่งคำขอยิงให้รวดเร็วใด ๆ ที่เตรียมการหรือตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้วมีประโยชน์มาก

เป้าหมายในสนามรบปัจจุบัน ปรากฏขึ้น และหายไปอย่างรวดเร็วมาก ทำอย่างไรท่านจึงจะยิงได้ทัน นี่แหละคือปัญหาหลัก



ตอนที่ ๒ การเลือกใช้กระสุนและชนวน


๑๔. ผลของการยิง

ก. เมื่อผตน.เห็นเป้าหมายและกำหนดที่ตั้งได้แล้ว สิ่งต่อไปที่จะต้องกระทำก็คือ ตกลงใจว่าจะโจมตีอย่างไร จึงจะได้ผลมากที่สุด ความรู้เรื่องกระสุนและชนวนอย่างดี จะช่วยให้ ผตน. เลือกใช้กระสุนและชนวนได้อย่างรวดเร็ว ถ้าผู้บังคับบัญชามิได้ให้แนวทางหรือกำหนดข้อจำกัดไว้ ข้อตกลงใจประการแรก ที่ ผตน. จะต้องทำก็คือ ต้องการผลการยิงระดับใดใน ๓ ระดับ คือ ทำลาย, ตัดรอนกำลัง, หรือข่มเป้าหมาย

ข. การยิงทำลาย (Destruction) คือทำความเสียหายให้กับข้าศึก ๓๐% ขึ้นไป จะเป็นการทำลายหน่วยนั้นจนไม่อาจรบได้อีกเป็นการถาวร

ถ้าเป็นเป้าหมายแข็งแรง ต้องมีการยิงถูกด้วยกระสุนระเบิด หรือกระสุนเจาะคอนกรีตหลายนัด

การยิงทำลายปกติแล้วใช้กระสุนมากและถือว่าเป็นการไม่ประหยัดอย่างยิ่ง

ค. การยิงตัดรอนกำลัง (Neutralization) ทำความเสียหายให้ข้าศึก ๑๐% ขึ้นไป จะทำให้ข้าศึกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นการชั่วคราว

การยิงตัดรอนกำลังสามารถใช้กระสุน และชนวนได้เกือบทุกชนิดที่เหมาะสมกับเป้าหมายนั้น ๆ และเป็นวิธีโจมตีที่ประหยัด

การโจมตีเป้าหมายส่วนใหญ่แล้วควรจะใช้การยิงตัดรอนกำลังนี้เป็นหลัก

ง. การยิงข่ม (Suppression) เป็นการจำกัดหรือลดขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าศึกลง

การยิงด้วยกระสุนระเบิกชนวนวีทีหรือกระสุนควันจะทำให้ข้าศึกสับสนวุ่นวายได้ดี แต่การยิงข่มนี้ จะมีผลในการข่มข้าศึก ก็ต่อเมื่อการยิงยังคบดำรงอยู่

การยิงข่มใช้กระสุนน้อย แต่ไม่อาจดำรงผลไว้ได้นาน ส่วนใหญ่แล้วจึงมักใช้เฉพาะเป้าหมายที่จำเป็น

จ. การที่ตกลงใจใช้ชนวนกระทบแตกหรือแตกอากาศนั้น ผตน.ควรจะได้พิจารณาถึง

๑) ลักษณะธรรมชาติของเป้าหมาย

๒) ระดับการป้องกันที่ข้าศึกใช้อยู่

๓) ขีดความสามารถในการเคลื่อนที่ของเป้าหมาย

๔) จะมีการปรับการยิงหรือไม่

ฉ. รายละเอียดและตัวอย่างในการพิจารณาใช้กระสุนและชนวนในการโจมตีเป้าหมายแต่ละชนิดจะกล่าวไว้ในบทที่ ๑๕

๑๕. กระสุนระเบิดชนวนต่าง ๆ

กระสุนระเบิดนั้นเป็นกระสุนมาตรฐานที่ ผตน. จะพึงใช้ สามารถใช้ได้ทั้งกับชนวนไว, ชนวนเวลา,ชนวนวีทีและชนวนถ่วงเวลา(กระดอนแตก)

ก. กระสุนระเบิดชนวนไว จะระเบิดเมื่อกระทบ ควรใช้กับ

- บุคคลบนพื้นที่ราบ

- บุคคลนอนหรือนั่งบนพื้นที่ราบ

- ยานที่ไม่มีเกราะ

- ยุทโธปกรณ์ขนาดเบา

กระสุนระเบิดชนวนไวนี้ จะลดผลไปมากถ้าข้าศึกอยู่ในหลุมเพลาะ หรือพื้นที่ไม่ราบเรียบ ในอาคาร หรือในบังเกอร์

ข. กระสุนระเบิดชนวนถ่วงเวลา ปกติแล้วจะระเบิด ๐.๐๕ วินาที หลังจากกระทบ เมื่อตังเป็นถ่วงเวลา (Delay) สามรถใช้ในการเจาะทะลวงหรือกระดอนแตก

- การยิงเป้าหมายในป่าทึบ บังเกอร์ดินบอบบาง อาคาร หรือยานที่ไม่มีเกราะควรใช้ชนวนถ่วงเวลา เพื่อผลการเจาะทะลวง

- ถ้ายิงด้วยส่วนบรรจุสูง มุมยิงเล็ก ๆ ต่อพื้นที่แข็ง ๆ จะทำให้เกิดการกระดอนแตก

ค. กระสุนระเบิดชนวนเวลา จะระเบิดตามเวลาที่ตั้งไว้ แต่ต้องเสียเวลาปรับการยิงเพื่อให้ได้ความสูงที่เหมาะ ดังนั้น ถ้าเวลาจำกัดไม่ควรใช้ชนวนถ่วงเวลา และการยิงมุมใหญ่ ก็ไม่ควรใช้เช่นเดียวกัน

ปกติกระสุนระเบิดชนวนเวลาใช้กับ

- หน่วยทหารในที่โล่ง

- หน่วยทหารในคูสนามเพลาะ

- หน่วยทหารในหลุมบุคลลึก

- หน่วยทหารในยานพาหนะ

ง. กระสุนระเบิดชนวนวีที ชนวนวีทีทำงานด้วยคลื่นวิทยุจะระเบิดเมื่อห่างจากพื้นตามที่ออกแบบไว้ ไม่จำเป็นต้องปรับความสูงของตำบลระเบิดเหมือนชนวนเวลา จึงให้การจู่โจมได้ดีและใช้กับการยิงโดยไม่มีการปรับ ชนวนวีทีนี้ เมื่อให้ยิงด้วยมุมใหญ่จะได้ผลดี เป้าหมายที่เหมาะได้แก่เป้าหมายที่เหมาะกับชนวนเวลา

หมายเหตุ ชนวนวีที เอ็ม. ๕๑๓ ไม่ควรจะใช้ขณะฝนตกและไม่ควรใช้ยิงเป้าหมายที่อยู่ในน้ำ บนหิมะ หรือบนน้ำแข็ง

- ชนวนวีที เอ็ม.๗๒๘ ไม่ไวต่อฝน น้ำ หิมะหรือน้ำแข็งจึงอาจใช้ได้กับทุกเป้าหมายและทุกสภาพ

- ชนวนวีที เอ็ม. ๗๒๘ จะระเบิดเหนือพื้นประมาณ ๗ เมตร จึงอาจเข้าใจผิดได้ง่ายว่าเป็นกระทบแตก สำหรับ เอ็ม.๕๑๓ และ ๕๑๔ จะระเบิด ๒๐ เมตร เหนือพื้น

จ. กระสุนระเบิดชนวนเจาะคอนกรีต ควรใช้กับเป้าหมายที่เป็นคอนกรีต ชนวนเจาะคอนกรีตมี ๒ ชนิด คือ

- ไม่ถ่วงเวลา ให้สำหรับปรับการยิงขั้นต้น ขจัดสิ่งปกคลุมและทำให้คอนกรีตร้าว

- ถ่วงเวลา ใช้สำหรับ ทะลุทะลวงเป้าหมายที่เป็นคอนกรีต

๑๖. กระสุนระเบิดปรับปรุง (ICM)

กระสุนไอซีเอ็มเป็นกระสุนระเบิดขับออกท้าย ประกอบชนวนเวลา มีลูกระเบิดเล็ก ๆ อยู่ภายในจำนวนมากและร่อนบินได้ จึงแผ่กระจายคลุมพื้นที่ได้กว้าง มีทั้งแบบสังหาร (AP) และแบบ ๒ ความมุ่งหมาย (DP)

ไอซีเอ็มแบบสังหารใช้กับเป้าหมายเป็นบุคคลขนาดใหญ่ในที่โล่งแจ้ง ในหลุมบุคคลเปิดซึ่งสามารถทำลายเกราะขนาดต่าง ๆ ได้อีกด้วย รวมทั้งสามารถใช้ในการยิงหาหลักฐานได้ดี กระสุนชนิดนี้เหมาะกับเป้าหมายที่เป็นบุคคลและยานรบขนาดเบาในที่โล่งแจ้ง

กระสุนไอซีเอ็มนี้ ไม่ควรใช้ใกล้ฝ่ายเราที่ไม่มีการกำบัง เพราะว่ามันกระจัดกระจายคลุมบริเวณกว้างขวางมาก

๑๗. กระสุนควันขาวชนวนไว กระสุนควันขาว (ฟอสฟอรัสขาว) นั้นใช้ประโยชน์ได้ ๓ ประการ คือ

- เผาผลาญ

- หมายจุดต่าง ๆ และ

- ควันกำบัง

สามารถใช้ทำลายยุทโธปกรณ์ของข้าศึกและกำบังการตรวจการณ์ของข้าศึกได้ดีอีกด้วย เป้าหมายที่เหมาะคือ

- ยานพาหนะ

- คลังน้ำมัน

- กำบังการตรวจการณ์ของข้าศึก

- ชี้เป้าหมายหรือหมายกึ่งกลางเขตปฏิบัติการ

๑๘. กระสุนควัน

กระสุนควันเป็นกระสุนขับออกท้ายมีกระป๋องควันหลายกระป๋อง มีควันมากและนานกว่าควันขาวและกระจายได้ดีกว่า เหมาะสำหรับสร้างฉากควันหรือรบกวนการตรวจการณ์ของข้าศึกแต่ต้องพิจารณาทิศทางลมให้ดี

๑๙. กระสุนส่องแสง

เป็นกระสุนขับออกท้าย มีพลุส่องแสงติดอยู่กับร่มให้หล่นช้า ปกติแล้วใช้สำหรับ

- ส่องสว่างพื้นที่ที่มีหรือสงสัยว่าจะมีข้าศึกหรือ

- ช่วยในการปรับการยิงในเวลากลางคืน

อัตราการส่องสว่างและพื้นที่ส่องสว่างขึ้นอยู่กับขนาดของอาวุธ โดยปกติจะส่องสว่างได้นานระหว่าง ๑ – ๒ นาที และคลุมพื้นที่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐๐๐ เมตรได้