บทที่ ๗ หลักการและเทคนิคมูลฐานที่ ผตน.ใช้บ่อย


บทที่ ๗

หลักการและเทคนิคมูลฐานที่ ผตน.ใช้บ่อย

๑. ทั่วไป

ก. ดังกล่าวแล้วว่า ผตน. นั้นมีหน้าที่มูลฐานอยู่ ๔ ประการ ในที่นี้จะนำหลักการและเทคนิคต่าง ๆ ที่ ผตน. จะต้องใช้บ่อย ๆ ในการปฏิบัติ หน้าที่เป็นตาของระบบหลักยิง และเป็นผู้เฝ้าตรวจสนามรบ เพื่อรวบรวมข่าวสารต่าง ๆ

ข. ในฐานะที่เป็นผู้มองเห็นสนามรบ และเฝ้าตรวจสนามรบตลอด ๒๔ ชั่วโมง ผตน. จะต้องคอยตรวจตราตรวจสอบทุกอย่างที่มีอยู่ในสนามรบไดแก่ ภูมิประเทศ ข้าศึกและฝ่ายเรา มีลักษณะการปฏิบัติหรือมีกี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตามความเป็นจริงที่ตรวจพบ ห้ามคาดคะเนหรือเดาเพราะเมื่อเดาข้อมูลที่ได้จะไม่ถูกต้องทำให้การตีความข่าวกรองผิดพลาดซึ่งอาจจะมีผลร้ายยิ่งกว่าไม่ได้รายงานเสียอีก

ค. ในการรายงานข่าวโดยทั่วไป ให้รำลึกถึงความสมบูรณ์ แจ่มแจ้ง กะทัดรัดไว้เสมอ คือต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้

๑) ใคร – ใครเป็นผู้รายงาน

๒) อะไร – วัตถุ,ภูมิประเทศ, สภาพอากาศที่รายงาน

๓) เมื่อไร – วัน, เวลาที่รายงานหรือที่ตรวจพบ

๔) ที่ไหน – บริเวณ, ที่ตั้ง, หรือพื้นที่ที่ตรวจพบ

๕) อย่างไร – สิ่งที่ตรวจพบเป็นอย่างไร, ลักษณะหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตนได้กระทำหรือสังเกตเห็น

ง. ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับกำลังของข้าศึกนั้น ให้รำลึกถึงคำว่า “ขกท.ห่วย” หรือ “SALUTE” ไว้เสมอ กล่าวคือ

๑) ขนาดหน่วย (Size) - หน่วยใหญ่ขนาดไหน

๒) การปฏิบัติ (Activities) - กำลังทำอะไรอยู่

๓) ที่ตั้ง (Location) - ที่ไหน ควรบอกพิกัด

๔) หน่วย (Unit) - เป็นหน่วยประเภทใด

๕) เวลา (Time) - ตรวจเห็นเมื่อใด

๖) ยุทโธปกรณ์ (Equipment) - หน่วยนั้นมียุทโธปกรณ์อะไรบ้าง

จ. ในการดำเนินภารกิจยิงนั้น วิธีปฏิบัติมาตรฐานได้แก่

๑) กำหนดที่ตั้งเป้าหมาย

๒) ส่งคำขอยิง

๓) ปรับการยิง ถ้าจำเป็น

๔) เฝ้าตรวจและรายงานผลการยิง

๒. มุมและการวัดมุม

ก. มุม (Angle) คือจำนวนหรือปริมาณของการหมุนของเส้นตรงเส้นหนึ่งรอบจุดในพื้นที่คงที่อันหนึ่งจากทิศทางหนึ่งไปยังอีกทิศทางหนึ่ง อาจจะหมุนตามเข็มนาฬิกาหรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้

ข. มาตราวัดมุมมีหลายมาตราแต่ที่ทางทหารนิยมใช้กันมีอยู่ ๓ ระบบคือ

๑) ระบบองศา แบ่งวงกลมออกเป็น ๓๖๐ ส่วน เรียกว่า องศา (Degree) แต่ละองศาแบ่งออกไปอีก ๖๐ ส่วน เรียกว่า ลิปดา (Minute) แต่ละลิปดาแบ่งออกเป็น ๖๐ ส่วน เรียกว่า ฟิลิปดา (Second)

๒) ระบบเกรด หรือเกรเดียนท์ แบ่งวงกลมออกเป็น ๔๐๐ ส่วน เรียกแต่ละส่วนว่า ๑ เกรด (Grad, g) แต่ละเกรดแบ่งออกเป็น ๑๐๐ ส่วน เรียก เซนติเกรด (Centigrade. c) แต่ละเซนติเกรดแบ่งออกเป็น ๑๐๐ ส่วน เรียก เซนติ – เซนติเกรด (Centi – Centigrade, cc)

สำหรับระบบนี้เครื่องคำนวณคาสิโอที่มีใช้อยู่ในเหล่าปืนปัจจุบัน แบ่งระบบเป็น ๔๐๐ g , ๖๐ c, ๖๐ cc ไปตามลำดับ ซึ่ง ๑ เกรด จะเท่ากับ ๑๖ มิล พอดี เป็นประโยชน์มากในการคำนวณมุมเป็นมิล ซึ่งไม่มีเครื่องคำนวณ

๓)ระบบมิลหรือมิลเลียม แบ่งวงกลมออกเป็น ๖๔๐๐ ส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า ๑ มิล (Mil, m) การแบ่งรายละเอียดออกไปใช้ทศนิยมไปตามลำดับ

สรูปว่า ๑ วงกลม = ๓๖๐ องศา = ๔๐๐ เกรด = ๖๔๐๐ มิล

๑ มุมฉาก = ๙๐ องศา = ๑๐๐ เกรด = ๑๖๐๐ มิล

ค. สำหรับวิชาหลักยิงทางทหารปืนใหญ่นั้น นิยมใช้ระบบมิลมากที่สุดเพราะว่า

๑) ความงายในการอ่าน เขียนและวัด

๒) มุม ๑ มิล ที่มีแขนของมุมยาว ๑๐๐๐ ส่วน จะรองรับเส้นรอบวงที่มีความยาว ๐.๙๘๑๗ ส่วน ใกล้เคียงกับ ๑.๐ มาก จึงถือว่า เส้นรอบวง ๑ เมตร จะรองรับมุม ๑ มิล ณ ระยะ ๑๐๐๐ ม. แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

๓. สูตรมิลเลียมหรือ กฎ กผร. (Mil Formula)

ก. ด้วยคุณสมบัติของมุม ๑ มิล ดังที่กล่าวแล้วในข้อ ค.๒ ข้างต้นคือ ๑ ส่วนของเส้นรอบวงกลมที่มีรัศมี ๑๐๐๐ ส่วน จะรองรับมุม ๑ มิล ณ จุดศูนย์กลางของวงกลมนั้น

นั่นคือ มุม ๑ มิล ณ ระยะ ๑๐๐๐ ม. จะมีเส้นรอบวงหรือกว้างด้านหน้า ๑ เมตร

มุม ๑๐ มิล ณ ระยะ ๑๐๐๐ ม. จะมีเส้นรอบวงหรือกว้างด้านหน้า ๑๐ เมตร

มุม ๑ มิล ณ ระยะ ๒๐๐๐ ม. จะมีเส้นรอบวงหรือกว้างด้านหน้า ๒ เมตร

ดังนี้เป็นต้น

ข. เขียนเป็นสูตรมิล หรือ กฎ กผร. ได้ว่า

๑) ก = ผ/ร หรือ M = W/R

๒) ผ = ก คูณ ร หรือ W = M R

๓) ร = ผ/ก หรือ R = W/M

ในเมื่อ ก. (M) = มุมเป็นมิล

ผ. (W) = กว้างด้านหน้าหรือด้านประกอบมุมยอด (Width)

ร. (R) = แขนของมุมหรือระยะเต็มพันหรือหารด้วย ๑๐๐๐ (ทศนิยม ๑ ตำแหน่ง) (Rang) หน่วย ผ. และ ร. ต้องเป็นหน่วยเดียวกัน เช่น เมตรต่อเมตร, หลาต่างหลา

ค. อย่างไรก็ตามเมื่อมุมโตขึ้น ความถูกต้องก็จะค่อย ๆ ลดลง ตามหลักการแล้วยอมให้ใช้ได้กับมุมที่เล็กกว่า ๖๐๐ มิล ลงมาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

ง. ตัวอย่างเช่น สามเหลี่ยมมีมุม ก = ๑๐๐ มิล ระยะ ๓๐๐๐ ม. จะมีกว้างด้านหน้า = ๑๐๐ คูณ ๓๐๐๐/๑๐๐๐ เท่ากับ ๓๐๐ เมตร

หรือ กว้างด้านหน้า ๒๐ เมตร วัดมุม ณ จุดหนึ่งได้ ๕ มิล ดังนั้น ระยะเต็มพัน = ๒๐/๕ = ๔

ระยะยิง = ๔ คูณ ๑๐๐๐ = ๔๐๐๐ เมตร ดังนี้เป็นต้น

๔. สูตรสัมพันธ์ตรีโกณ

ก. สูตรสัมพันธ์ตรีโกณ คือ ความสัมพันธ์ ระหว่างด้านและมุมของสามเหลี่ยมมุมฉากใด ๆ นำมาคำนวณ และทำตารางหาค่าความสัมพันธ์ไว้ใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ

รูปที่ ๗ – ๒ รูปตัวอย่างสามเหลี่ยมมุมฉาก


ข. สูตรสัมพันธ์ตรีดกณกำหนดไว้ดังนี้

๑) ไซน์ มุม ก. = ด้านตรงข้ามมุม/ด้านตรงข้ามมุมฉาก = ต/ฉ

๒) โคไซน์มุม ก. = ด้านประชิดมุม/ด้านตรงข้ามมุมฉาก = ป/ฉ

๓) แทนแยนท์มุม ก. = ด้านตรงข้ามมุม/ด้านประชิดมุม = ต/ป

๔) โคแทนแยนท์มุม ก. = ด้านประชิดมุม/ด้านตรงข้ามมุม = ป/ต

๕) เซคแกนท์มุม ก. = ด้านตรงข้ามมุมฉาก/ด้านประชิดมุม = ฉ/ป

๖) โคเซคแกนท์มุม ก. = ด้านตรงข้ามมุมฉาก/ด้านตรงข้ามมุม = ฉ/ต

หมายเหตุ

ถ้าคิดมุม ข ก็จะพบว่า

ด้าน ป เป็นด้าน ต

ด้าน ต เป็นด้าน ป

ส่วนด้าน ฉ นั้นคงเดิม

ค. ค่าของสูตรสัมพันธ์ตรีโกณเหล่านี้ของแต่ละมุมมีค่าคงที่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงด้านใดด้านหนึ่งจะกระทบกระเทือนถึงด้านอื่นๆ เสมอ ด้วยคุณสมบัติกังกล่าว จึงอาจใช้สูตรตรีโกณแก้ปัญหาสามเหลี่ยมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ง. สูตรสัมพันธ์ตรีโกณที่ ผตน. ต้องใช้บ่อยๆ ได้แก่ กฏของไซน์ ซึ่งใช้กฎ กผร. เมื่อต้องการความถูกต้องในการหาด้านต่างๆ ของสามเหลี่ยม ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมที่มีค่าตั้งแต่ ๖๐๐ มิล. ขึ้นไป จำเป็นจะต้องใช้กฏของไซน์แทนกฏ กผร.

จ. ค่าของไซน์อย่างหยาบ ที่ ผตน. จะต้องจำให้ได้ขึ้นใจมีดังนี้

มุม ๑๐๐ มิล. = ๐.๑ มุม ๒๐๐ มิล. = ๐.๒

มุม ๓๐๐ มิล. = ๐.๓ มุม ๔๐๐ มิล. = ๐.๔

มุม ๕๐๐ มิล. = ๐.๕ มุม ๖๐๐ มิล. = ๐.๖

มุม ๗๐๐ มิล. = ๐.๖ มุม ๘๐๐ มิล. = ๐.๗

มุม ๙๐๐ มิล. = ๐.๘ มุม ๑๐๐๐ มิล. = ๐.๘

มุม ๑๑๐๐ มิล. = ๐.๙ มุม ๑๒๐๐ มิล. = ๐.๙

มุม ๑๓๐๐ ถึง ๑๖๐๐ มิล. = ๑.๐

จำง่ายๆ ก็คือ "๖ สอง ๗ หนึ่ง ๘ สอง ๙ สอง" คือ มุม ๑๐๐ - ๕๐๐ มิล. มีค่าเป็นทศนิยมของเลขหลักร้อยของมุมนั้นคือ ๐.๑ ถึง ๐.๕ มุม ๖๐๐ - ๗๐๐ = ๐.๖ ๘๐๐ = ๐.๗ ๙๐๐ - ๑๐๐๐ = ๐.๘ ๑๑๐๐ - ๑๒๐๐ = ๐.๙ ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐ = ๑.๐

ฉ. ตัวอย่างการใช้กฏของไซน์

ผตน. วัดมุมทางข้างจาก จล.๑ ไปยัง ม. ได้ซ้าย ๗๐๐ มิล. ระยะจาก ผตน. ไป จล.๑ เท่ากับ ๒,๕๐๐ ม. ระยะจาก ผตน.ไป ม. ๓,๑๐๐ ม. (ดังรูป)

รูปที่ ๗ - ๓ ตัวอย่างการย้ายโดยใช้กฏของไซน์


๑) การย้ายทางข้าง = ๐.๖ คูณ ๒๕๐๐ = ๑๕๐๐

๒) การย้ายทางระยะ = ๓๑๐๐ – (๐.๘ คูณ ๒๕๐๐)

= ๓๑๐๐ – ๒๐๐๐

= เพิ่ม ๑๑๐๐

หมายเหตุ

ก. จะเห็นว่าถ้าใช้กฎ กผร. จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

๑) การย้ายทางข้าง = ๒.๕ คูณ ๗๐๐ = ๑๐๔๐

๒) การย้ายทางระยะ = ๓๑๐๐ – ๒๕๐๐ เพิ่ม ๖๐๐ ซึ่งมีความผิดพลาดอย่างมาก

ข. มุมภายในสามเหลี่ยมใด ๆ มีค่าเท่ากับ ๒ มุมฉาก คือ ๓๒๐๐ มิล ดังนั้นในสามเหลี่ยมมุมฉากอีก ๒ มุม จะมีค่าเท่ากับ ๑ มุมฉาก คือ ๑๖๐๐ มิล ในกรณีที่มุม ณ จล.๑ คือ ๑๖๐๐ – ๗๐๐ = ๙๐๐ มิล

๕. การวัดมุมและการใช้มุม

ก. มุมที่ ผตน. ใช้ส่วนมากแล้วได้แก่ มุมภาค มุมข้าง และมุมดิ่ง โดยปกติแล้วจะใช้เครื่องมือและวิธีวัดมุมต่าง ๆ ในภูมิประเทศดังนี้

๑) มุมภาค (Azimuth) วัดโดยเข็มทิศ หรือกล้องกองร้อยในขั้นต้น แล้วใช้การวัดมุมทางข้างประกอบเพื่อให้รวดเร็วขึ้น มุมภาคที่ใช้โดยปกติแล้วเป็นมุมภาคตาราง ถ้าเป็นมุมภาคอย่างอื่นต้องบอกด้วยเสมอ

๒) มุมข้าง (Deviation) วัดโดยใช้กล้องสองตา กล้อง ผบ.ร้อย กล้องกองร้อย หรือวัดด้วยมือ

๓) มุมดิ่ง (Vertical Angle) วัดโดยใช้กล้องสองตา กล้อง ผบ.ร้อย กล้องกองร้อย เข็มทิศเอ็ม.๒ หรือวัดหยาบๆด้วยมือ

ข. ผตน. ใช้มุมประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวในการ

๑) มุมภาค ใช้กำหนดที่ตั้งเป้าหมายวิธีโปล่าร์ หรือการสกัดตรงแสดงทิศทางที่ตรวจการณ์ (แนว ตม.) และหาที่อยู่ของตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ

๒) มุมข้างใช้ในการปรับการยิงทางข้าง การการะยะเป้าหมาย และกำหนดที่ตั้งเป้าหมาย (ย้ายจากจุดที่ทราบ)

๓) มุมดิ่ง ใช้ในการกำหนดที่ตั้งเป้าหมาย (โปล่าร์หรือย้ายจากจุดที่ทราบที่ตั้ง) การปรับการยิงทางดิ่งหรือสูงกระสุนแตก รายละเอียดจะกล่าวไว้ในเรื่องนั้น ๆ

๖. ระยะและการหาระยะ

ก. ผู้ตรวจการณ์หน้าเกี่ยวข้องกับระยะตลอดเวลา ทั้งในการกำหนดที่อยู่ของตนเอง, กำหนดที่ตั้งเป้าหมายและในการปรับการยิง การหาระยะของ ผตน. ตามหลักแล้วควรผิดพลาดไม่เกิน ๒๐% ทั้งทางบวก หรือลบของระยะจริง

ข. วิธีที่ ผตน. ใช้หาระยะนั้นโดยปกติแล้วได้แก่

๑) วิธีเทียบสนามฟุตบอล หรือยิงหมายระยะ

๒) วิธีสังเกตลักษณะของวัตถุหรือภูมิประเทศ

๓) วิธีแปะ – ปัง (การใช้เสียง)

๔) วิธีสูตรสัมพันธ์มิล

๕) วิธีวัดเอาในแผนที่หรือเปรียบเทียบกับแผนที่

๖) วิธีใช้กล้องวัดระยะวัด

๗. วิธีเทียบสนามฟุตบอล

สนามฟุตบอลนั้นปกติจะมีความยาว ๙๐ – ๑๑๐ เมตร แต่ก็ให้ถือว่ายาว ๑๑๐ เมตร สามารถนำมาเป็นหน่วยวัดระยะได้เป็นอย่างดี โดยดำเนินการดังนี้

ก. ทำความคุ้นเคยกับภาพของระยะ ๑๐๐ เมตร หรือขนาดของความยาวสนามฟุตบอล

ข. สำหรับระยะใกล้ตั้งแต่ ๕๐๐ เมตรลงมา ให้ประมาณว่าจะมีสนามฟุตบอลได้กี่สนามจากที่ท่านอยู่ไปถึงเป้าหมาย

ค. สำหรับระยะระหว่าง ๕๐๐ – ๑๐๐๐ เมตร ให้พิจารณาหาจุดกึ่งกลางของระยะทางนั้น แล้วพิจารณาระยะจากท่านไปยังจุดกึ่งกลางนั้น เหมือนข้อ ข. แล้วเอา ๒ คูณ

ง. การใช้วิธีนี้จะต้องเข้าใจและคุ้นเคย ลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกว่าระยะไกลหรือใกล้กว่าปกติเป็นอย่างดี คือ

๑) รู้สึกว่าใกล้กว่าปกติเมื่อ

ก) มองข้ามน้ำ, หุบเหวหรือที่ต่ำ

ข) อากาศสดใสปลอดโปร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังฝนตก

ค) ตะวันอยู่ข้างหลังผู้ตรวจการณ์หรือหน้าเป้าหมาย

ง) สีของฉากหลังตัดกับวัตถุอย่างมาก

จ) วัตถุสีสดใส เช่น ขาว แดง เหลือง

ฉ) มองขึ้นข้างบน

ช) เป้าหมายใหญ่

ซ) ในทะเล

ฌ) ขณะที่ต้นไม้ไม่มีใบ เช่น ในฤดูหนาว (ของฝรั่ง)

ญ) ต้นไม้หรือกิ่งก้านของมันตัดกับขอบฟ้าหรือฉากหลังที่สว่างจ้า

ฎ) ใช้กล้องส่องทางไกล

๓) รู้สึกว่าไกลกว่าปกติเมื่อ

ก) มองข้ามพื้นที่เป็นลูกคลื่น

ข) ตะวันอยู่หน้าผู้ตรวจการณ์หรือหลังเป้าหมาย

ค) อากาศไม่สดใส เช่น มีหมอก ควัน ฝนตก เป็นต้น

ง) ฉากหลังสีกลมกลืนกับวัตถุนั้น

จ) มองลงไปยังที่ต่ำ

ฉ) เป้าหมายเล็ก

ช) สีทึมทึบ

ซ) เป้าหมายมีการพราง

ฌ) เมื่อตรวจการณ์ด้วยท่าคุกเข่าหรือท่านั่งในขณะที่อากาศร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดินเปียกชื้นทั้งนี้เพราะการแผ่รังสีความร้อน

จ. สำหรับการยิงหมายระยะก็คงใช้เทคนิคคล้าย ๆ กันโดย ผตน. ขอให้ ศอย. ทำการยิงหมายระยะให้เช่น ๔๐๐ หรือ ๕๐๐ ม. แล้วจดจำระยะนั้นไว้ นำไปเปรียบเทียบกับระยะที่ต้องการทราบดังกล่าวแล้ว วิธีนี้ ผตอ. ใช้มาก เพราะความสูงของการบินแต่ละครั้งอาจจะไม่เท่ากัน

ฉ. หากไม่แน่ใจให้ใช้วิธีเฉลี่ย เช่น ระยะที่คาดว่าใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า ๙๐๐ ม. ไกลสุดไม่เกิน ๑๒๐๐ ม. ก็ให้เฉลี่ยปานกลางคือ ๑๐๐๐ ม. หรือ ๑๑๐๐ ม. ดังนี้เป็นต้น

๘. วิธีสังเกตลักษณะของวัตถุหรือภูมิประเทศ

ก. วิธีนี้จะช่วยขจัดความผิดพลาดของวิธีใช้สนามฟุตบอลได้เป็นอย่างดี เช่น จากตารางข้างล่าง ถ้าท่านสามารถทราบด้วยตาเปล่าว่าพาหนะ เป็นรถล้อหรือสายพาน ระยะก็จะอยู่ระหว่าง ๔๐๐๐ – ๒๐๐๐ ม. และถ้าแยกได้ว่าเป็นรถถังแต่ไม่ทราบแบบ ระยะก็จะอยู่ระหว่าง ๑๐๐๐ – ๑๕๐๐ ม. ดังนี้เป็นต้น

ข. ภาพปรากฏในระยะต่าง ๆ เมื่อด้วยตาเปล่า

๑) ระยะ ๕๐๐ ม. ทราบว่าเป็นพลประจำรถถัง ทหารราบ ปืนกล ค. ปตถ. หรือจรวดต่อสู้รถถัง

๒) ระยะ ๑๐๐๐ ม. ทราบว่าเป็นรถถัง รสพ. รยบ. แบบใด

๓) ระยะ ๑๕๐๐ ม. ทราบว่าเป็นรถถัง รสพ. รยบ.และ ป.

๔) ระยะ ๒๐๐๐ ม. ทราบว่าเป็นรถสายพานหรือรถล้อ

ค. ภาพปรากฏในระยะต่าง ๆ เมื่อใช้กล้องสองตา

๑) ระยะ ๑๒๐๐ ม. ต้นไม้สามารถมองเห็นกิ่งเล็กได้ ใบจะรวมเป็นกลุ่มบาง ๆ เมื่อตัดกับขอบฟ้า และสามารถมองทะลุกิ่งต่าง ๆ ได้

๒) ระยะ ๑๒๐๐ ม. – แยกขบวนเดินทางของทหารราบได้

- อาคารเห็นเสาธงและป้ายหรือตราประจำอาคารได้

๓) ระยะ ๑๕๐๐ ม. - ต้นไม้ เห็นใบเป็นกลุ่มหนาทึบ ทราบลักษณะอย่างหยาบได้และเห็นกลุ่มของกิ่งใหญ่ ๆ ได้

- ทหารเดินเท้าเห็นการแยกกลุ่มได้ เห็นพลประจำรถถังหรือเห็นรูปร่างของม้า แยกประเภทยานพาหนะได้

๔) ระยะ ๒๐๐๐ ม. – ทราบว่าเป็นพลประจำรถถัง ทหารราบ ปืนกล ค. ปตถ. หรือจรวดต่อสู้รถถัง

๕) ระยะ ๓๐๐๐ ม. – ต้นไม้เห็นลำต้นส่วนล่างได้ กิ่งใหญ่ ๆ จะกลมกลืนไปกับใบ

- ขบวนยานยนต์ หรือ ป.ที่กำลังลากแยกแยะได้

๖) ระยะ ๔๐๐๐ ม. – ลำต้นจะกลมกลืนเข้ากับกลุ่มใบ มีผิวเรียบ

- ทราบว่าเป็นรถถัง รสพ. รยบ.แบบใด

- ทราบว่าเป็นบ้านหรืออาคารแบบใด

๗) ระยะ ๕๐๐๐ ม. - พื้นที่ป่าจะมองเห็นคล้ายป่าละเมาะ แต่มีผิวเรียบและทึมทึบ

- ทราบว่าเป็นรถถัง รสพ. หรือ รยบ.

- เห็นปล่องโรงงาน โรงสีได้

๘) ระยะ ๖๐๐๐ ม. - แยกออกว่าเป็นรถล้อหรือสายพาน

๙) ระยะ ๑๕๐๐ ม. - โบสถ์ วิหาร และอาคารเด่น ๆ แยกประเภทได้

๙. หาระยะโดยวิธีใช้เสียงหรือวิธีแปะ – ปัง

ก. โดยอาศัยหลักการที่ว่าแสงมีความเร็วมากจนถือได้ว่าไม่เสียเวลาเดินทางเลย ส่วนเสียงมีความเร็วประมาณ ๓๔๐ เมตร ต่อวินาที ที่อุณหภูมิ ๕๙ องศา (อุณหภูมิโดยทั่วไปถือว่า ๓๕๐ เมตรต่อวินาที) เมื่อเห็นต้นกำเนิดของเสียงและจับเวลาเดินทางของเสียงได้ ก็จะหาระยะโดยประมาณได้อย่างใกล้เคียง

ข. วิธีปฏิบัติโดยทั่วไปก็คือ

๑) เมื่อเห็นแสงแลบ ฝุ่นหรือควันจากระเบิดของกระสุนหรือการยิงของอาวุธให้เริ่มจับเวลา

๒) เมื่อได้ยินเสียงนั้นให้หยุดจับเวลา

๓) นำเวลาที่จับได้เป็นวินาทีคูณกับ ๓๕๐ จะได้ระยะจากต้นกำเนิดเสียงนั้นมาถึง ผตน. เป็นเมตร

ค. วิธีจับเวลา อาจจะใช้นาฬิกาที่มีอยู่ในอัตราของหมู่ตรวจการณ์หน้าจะถูกต้องดียิ่งขึ้น ถ้าไม่มีนาฬิกา จับเวลา ให้เริ่มนับเมื่อแสง และหยุดนับเมื่อได้ยินเสียงด้วยจังหวะนับหนึ่งถึงเจ็ด หรือนับ ๗ ครั้ง ภายใน ๒ วินาที จำนวนที่นับได้คือหลักร้อยของระยะ เช่น เมื่อนับถึง ๖ ได้ยินเสียง แสดงว่า ต้นเสียงห่าง ๖๐๐ เมตร นับถึง ๑๒ แสดงว่าห่าง ๑๒๐๐ เมตร เป็นต้น

สำหรับการนับตั้งแต่สิบวินาทีขึ้นไปไม่ต้องซ้ำตัวเลขนั้น เช่น หนึ่งพันหนึ่งศูนย์ หนึ่งพันหนึ่งสี่ ดังนี้เป็นต้น หลักการก็คือให้ออกเสียงได้ ๔ พยางค์เท่า ๆ กันทุกครั้งเพื่อให้ง่ายในการฝึกหีดทิ้งจังหวะนับ

๑๐. วิธีใช้สูตรสัมพันธ์มิล หรือ กฎ กผร.

ก. หาก ผตน. ทราบระยะทางข้างหรือทางดิ่งของวัตถุใด ๆ อย่างแน่นอน เช่น ทราบว่า รยบ. ๒ ๑/๒ ตัน ยาว ๗.๓ เมตร หรือ เสาธงหน้าอาคารสูง ๑๖ เมตร เป็นต้น ก็จะทำการวัดมุมภายในระหว่างปลายทั้งสองของสิ่งนั้นแล้วใช้สูตร กผร. คำนวณโดย

๑) วัดมุมภายในหรือง่ามมุมระหว่างปลายทั้งสองของวัตถุหรือระยะที่ทราบนั้น โดยกล้องสองตาหรือกล้อง ผบ.ร้อย หรือด้วยมือ

๒) นำความยาวหรือระยะที่ทราบมาหาค่ามุมที่วัดได้แล้วคูณด้วย ๑๐๐๐ ก็จะได้ระยะไปยังจุดนั้น

ข. ตัวอย่างเช่น ผตน. วัดมุมจากหน้า รยบ. ๒ ๑/๒ ตันไปยังท้ายรถได้ ๕ มิล (รยบ. ๒ ๑/๒ ตัน โดยทั่วไปยาว ๗.๓ เมตร)

= ผ/ก คูณ ๑๐๐๐

= ๗.๕ / ๕ คูณ ๑๐๐๐

= ๑๔๖๐ เมตร

ดังนั้นระยะจาก ผตน. ถึง รยบ. ๒ ๑/๒ ตัน เท่ากับ ๑๔๖๐ เมตร หรือ ๑๕๐๐ เมตร ดังนี้เป็นต้น

ค. หากระยะที่ทราบไม่ตั้งฉากกับแนวตรวจการณ์ (ตม.) ความผิดพลาดจะมีมากขึ้น แต่ก็อาจหาค่าโดยประมาณได้

หมายเหตุ การหาค่าอย่างละเอียดควรใช้สูตรสัมพันธ์ตรีโกณแทน

ง. ตารางต่อไปนี้ใช้สำหรับประมาณ ระยะไปยังรถถังฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีลักษณะทั่วไปคือ

๑) ถ. กลาง (ตั้งแต่ ที ๖๒ ลงมา กว้าง ๓.๕ ม. ยาว ๖.๕ ม.)

๒) ถ. หนัก (ที ๖๔ ที ๗๒ และ ASU – ๘๕) กว้าง ๓.๕ ม.ยาว ๗.๕ ม.

ตารางประมาณระยะไปยังรถถัง


๑๑. วิธีวัดหรือเปรียบกับแผนที่

ก. การหาระยะโดยการวัดจากแผนที่ดำเนินการดังนี้

๑) กำหนดที่ตั้งของ ๒ จุดนั้นลงในแผนที่

๒) วัดระยะบนแผนที่นั้น

๓) นำระยะที่วัดได้ไปคูณกับส่วนของมาตราส่วนของแผนที่นั้น หรือนำไปเทียบกับมาตราเส้นบรรทัดความยาวที่วัดด้วยมาตราใด ต้องตัดทอนให้เป็นหน่วยความยาวของมาตรานั้นเสมอ

ข. หากกำหนดที่ตั้งของจุดที่ต้องการวัดลงในแผนที่ไม่ได้ก็ให้เปรียบเทียบกับระยะของจุดที่ทราบที่ตั้งบนแผนที่ ๒ จุด ซึ่งกำหนดจุดปละวัดระยะได้ตามความเหมาะสม

๑๒. การใช้กล้องวัดระยะ

ถ้ามีกล้องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์หรือแบบอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ผตน. ก็จะหาระยะไปยังจุดต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและง่ายดาย เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากต่อ ผตน.

๑๓. ทิศทาง

ก. ผตน. ที่มีความสามารถจะต้องหาทิศได้อย่างถูกต้อง ทิศทางใช้ประโยชน์ ทั้งในการกำหนดที่อยู่ของตนเอง กำหนดที่ตั้ง ม. ปรับการยิงและรายงานข่าวสารต่าง ๆ โดยปกติแล้วใช้ร่วมกับระยะ

ข. การหาทิศอาจหาได้ โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

๑) การประมาณ ด้วยการศึกษาภูมิประเทศประกอบกับแผนที่ ผตน. ที่ไม่มีเครื่องมือวัดมุมหรือวัดทิศทางก็อาจกำหนดทิศทางอย่างคร่าว ๆ ในภูมิประเทศได้ อย่างน้อย ผตน. จะต้องศึกษาภูมิประเทศให้ทราบทิศทางหลัก ๆ ทั้ง ๘ ทิศเสมอ (น. อน. อ. อต. ต. ตตต. ตห. ตตน.)

๒) การใช้เข็มทิศกล่าวแล้วในบทก่อน

๓) การวัดบนแผนที่ ด้วยการใช้แผ่นพัดตรวจการณ์ บรรทัดวัดมุมหรือขีดแบ่งเอาเองดังกล่าวแล้ว

๔) การวัดจากจุดอ้าง จุดอ้างที่ทราบทิศทางแล้วสามารถใช้กล้องสองตาหรือแม้แต่มือ วัดมุมไปยังจุดต่าง ๆ และนำมาคำนวณหาทิศทางของจุดนั้น ๆ ได้

๕) ใช้กล้องหาทิศหรือเครื่องมือวัดมุมอื่น ๆ เช่น กล้องไยโร กล้องกองร้อย เป็นต้น

๑๔. การขานตัวเลขและตัวอักษรของทหารปืนใหญ่

ก. เพื่อความรวดเร็ว แจ่มแจ้งและไม่ผิดพลาดในการสั่งการ คำขอและการติดต่อสื่อสาร การขานหรือออกเสียงตัวเลขและตัวอักษรของทหารปืนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับวิชาหลักยิง ป. ให้ยึดหลักการต่อไปนี้

ข. การขานตัวเลขไม่ว่าจะเป็นรายงานด้วยปากเปล่าหรือการใช้เครื่องมือสื่อสารให้ยึดหลักการที่ว่า

๑) เลขหลักหน่วย หลักสิบ อ่านทีละตัว

๒) เลขหลักร้อย หลักพันที่เต็มร้อย เต็มพัน อ่านเป็นร้อยเป็นพัน

๓) เลขที่มีจุดทศนิยมและเลขที่ไม่เต็มร้อยเต็มพัน อ่านทีละตัว

๔) ตัวอย่างเช่น

๐ ขานว่า ศูนย์ ๑ ขานว่า หนึ่ง

๒ ขานว่า สอง ๓ ขานว่า สาม

๑๐ขานว่า หนึ่งศูนย์ ๑๑ ขานว่าหนึ่งหนึ่ง

๙๐ ขานว่า เก้าศูนย์ ๑๐๐ ขานว่า หนึ่งร้อย

๕๐๐ ขานว่า ห้าร้อย ๑๐๐๐ ขานว่า หนึ่งพัน

๑๐๐๐๐ ขานว่า หนึ่งศูนย์พัน ๕๐๐๐ ขานว่า ห้าพัน

๑๖๐๐๐ ขานว่า หนึ่งหกพัน ๑.๑ ขานว่า หนึ่งจุดหนึ่ง

๑๐๐.๕ ขานว่า หนึ่งศูนย์ศูนย์จุดห้า ๕๙๖ ขานว่า ห้าเก้าหก เป็นต้น

ค. การขานตัวอักษร คงยึดระเบียบการใช้วิทยุโทรศัพท์ ตัวอย่างเช่น

ก = ไก่ ข = ข้าว ค = ควาย ษ = ฤๅษี ส = สิงโต

หมายเหตุ

ข ที่เปลี่ยนเป็น ข้าว เพราะใกล้กับไก่

ส ที่เปลี่ยนเป็น สิงโต เพราะใกล้กับเรือ ซึ่งอาจฟังผิดได้ง่าย

ง สำหรับอักษรภาษาอังกฤษซึ่งมีปะปนอยู่เสมอ และจำเป็นต้องอ่านหรือขานให้ทราบ ควรจดจำไว้ด้วย ดังนี้

A = อัลฟ่า B = ราโว่ C = ชาลี D = เดลต้า

E = เอคโค่ F = ฟอกซทรอต G = กอล์ฟ H = โฮเตล

I = อินเดีย J = จูเลียต K = กิโล L = ลิม่า

M = ไมค์ N = โนเวมเบอร์ O = ออสการ์ P = ปาป้า

Q = ควิเบค R = โรมิโอ S = เซียร่า T = แทงโก้

U = ยูนิฟอร์ม V = วิคเตอร์ W = วิสกี้ X = เอกซเรย์

Y = แยงกี้ Z = ซูลู

๑๕. มาตรฐานของความถูกต้องและการปัดเศษ

ก. ความถูกต้องมาตรฐานของการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายและการปรับการยิงของ ผตน. นั้นให้ถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้กล่าวเป็นอย่างอื่น

๑) ทิศทาง, มุมภาคหรือแนวอ้างอื่น ๆ เต็ม ๑๐ มิล

๒) การย้ายทางข้าง เต็ม ๑๐ เมตร

๓) การย้ายทางระยะ เต็ม ๑๐๐ เมตร (เว้นเมื่อขอ ยผ.)

๔) การย้ายทางสูงหรือทางดิ่ง เต็ม ๕ เมตร

๕) พิกัดตารางละเอียด เต็ม ๑๐ เมตร ( ๘ ตัว)

๖) พิกัดตารางหยาบ เต็ม ๑๐๐ เมตร ( ๖ ตัว)

ข. สำหรับการปัดเศษทศนิยมนั้น ให้ใช้ตามวิชาหลักยิง ป. ที่กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ดังนี้ (ถ้าจำเป็นจะต้องปัด)

๑) ทศนิยมน้อยกว่า ๐.๕ ให้ปัดทิ้ง เช่น ๒๒.๔ เป็น ๒๒

๒) ทศนิยมที่มากกว่า ๐.๕ ให้ปัดขึ้น เช่น ๒๒.๖ เป็น ๒๓

๓) ทศนิยม ๐.๕ ให้ปัดเป็นเลขจำนวนคู่ เช่น ๒๒.๕ เป็น ๒๒

หมายเหตุ ทั้งนี้ก็เพราะว่าในวิชาหลักยิง ป. นั้นมักจะมีการแบ่งครึ่งหรือผ่าห้วงควบอยู่เสมอ จำนวนคู่จะง่ายในการแบ่งยิ่งขึ้น