บทที่ ๕ หลักมูลฐานของหลักยิง ป.สนาม

บทที่ ๕

หลักมูลฐานของหลักยิง ป.สนาม

๑. ทั่วไป

ผู้ตรวจการณ์หน้ายิ่งเข้าใจหลักมูลฐานของหลักยิง ป.สนามได้ดีเพียงใด ย่อมจะช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ดียิ่งขึ้นเพียงนั้น ในบทนี้จะกล่าวโดยย่อถึงหลักการมูลฐานในวิชาหลักยิง ป.สนาม พอให้ใช้เป็นแนวทาง

๒. ปัญหาหลักยิง ป.สนาม

โดยปกติ ป. จะใช้ยิงระยะใกล้หรือไม่ก็ตามมักจะตั้งยิงอยู่หลังที่กำบัง จึงไม่อาจเห็นเป้าหมายที่จะยิงและทำการยิงโดยวิธีเล็งตรงต่อเป้าหมายนั้น ๆ ได้ ทหารปืนใหญ่จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีเล็งจำลอง คือ เล็งจากจุดอื่นซึ่งมิใช่เป้าหมาย

ปัญหาทางหลักยิง ป. จึงเป็นการแก้ปัญหาของวิธีการยิงเล็งจำลองเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือปัญหาที่ว่าจะตั้งปืนอย่างไร ให้หลักฐานแก่กระสุนอย่างไร เมื่อยิงไปแล้วกระสุนจึงจะไประเบิด ณ เป้าหมาย เหนือเป้าหมายและตำบลที่ต้องการ ขั้นตอนต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาทางหลักยิงคือ

ก. หาที่ตั้งกองร้อย (ปืนใหญ่) และที่ตั้งเป้าหมายให้สัมพันธ์กัน

ข. หาหลักฐานแผ่นเรขา ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างที่ตั้งกองร้อยกับเป้าหมายที่จะยิงนั้น ซึ่งสรุปได้แก่ ทิศทาง ระยะและแตกต่างสูงระหว่าง ป.และเป้าหมายนั้น

ค. แปลงหลักฐานแผ่นเรขาให้เป็นหลักฐานยิง

ง. นำหลักฐานยิงไปตั้งให้กับอาวุธและกระสุนแล้วทำการยิง

๓. ชุดหลักยิงปืนใหญ่

ความจำเป็นในการแก้ปัญหาทางหลักยิงดังกล่าว จึงได้จัดแบ่งเจ้าหน้าที่ออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ เรียกว่า ชุดหลักยิง ป.ประกอบด้วย

ก. ผู้ตรวจการณ์ (Observer) หมายถึง ผู้ตรวจการณ์หน้า, ผู้ตรวจการณ์ทางอากาศ, ผู้ตรวจการณ์ ซึ่งประจำที่ตรวจการณ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือค้นหาเป้าหมายทั้งปวง มีหน้าที่ในการค้นหาเป้าหมายให้พบ พิสูจน์ทราบและกำหนดที่ตั้งเป้าหมายให้ถูกต้อง แล้วรายงานไปยังศูนย์อำนวยการยิง ดำเนินการขอยิง ปรับการยิง รายงาผลการยิงให้ทราบ ผู้ตรวจการณ์จึงเปรียบเสมือนตาของชุดหลักยิง ป.

ข. ศูนย์อำนวยการยิง (ศอย. Fire Direction Center) รับข่าวสารและคำของยิงจากผู้ตรวจการณ์แล้วนำมาประเมินค่าตกลงใจวิธีที่จะโจมตี ดำเนินการหาหลักฐานยิงแล้วส่งไปยังส่วนยิงในรูปของคำสั่งยิง จึงเปรียบเสมือนมันสมองของชุดหลักยิง ป.

ค. ส่วนยิง (Firing Battery) รับคำสั่งยิงจาก ศอย. นำหลักฐานไปตั้งให้กับอาวุธและกระสุนทำการยิงอาวุธเพื่อให้บังเกิดผลต่อเป้าหมาย ส่วนยิงจึงเปรียบเสมือนแขนและกำปั้นของชุดหลักยิง ที่จะใช้ทำอันตรายเป้าหมายได้

ชุดหลักยิง ป.

๔. หลักมูลฐานในการใช้อำนาจการยิงของ ป.

การใช้อำนาจการยิงของ ป. ให้ได้ผลนั้น จะต้องยิงอย่างแม่นยำในเวลาที่เหมาะสมด้วยปริมาตรกระสุนที่มีความหนาแน่นเพียงพอ อย่างจู่โจม ด้วยกระสุนและชนวนที่เหมาะ

ก. ยิงอย่างแม่นยำ หมายความว่าต้องนำกระสุนไประเบิด ณ ตำบลที่เหมาะซึ่งจะก่อให้เกิดผลแก่ เป้าหมายได้มากที่สุด ความแม่นยำขึ้นอยู่กับความถูกต้องของการกำหนดที่ตั้งเป้าหมาย ที่ตั้งอาวุธ การหาหลักฐานยิงและการใช้หลักฐานยิงตั้งให้กับอาวุธและกระสุนเป็นสำคัญ

ข. ในเวลาที่เหมาะ หมายถึงกระสุนต้องไประเบิด ณ ตำบลที่ต้องการในเวลาที่จะก่อความเสียหายแก่เป้าหมายได้มากที่สุด จึงขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่ของชุดหลักยิงเป็นสำคัญ

ค. ด้วยความหนาแน่นเพียงพอ หมายความว่ากระสุนต้องไประเบิด ณ ตำบลที่ต้องการจำนวนมากพอที่จะทำความเสียหายให้กับเป้าหมายได้ตามระดับที่ต้องการ

ง. อย่างจู่โจม หมายถึงการยิงอย่างหนาแน่นโดยข้าศึกไม่ทราบล่วงหน้าหรือป้องกันไม่ทัน การรวมการยิงด้วย ป.หลาย ๆ กระบอกในห้วงเวลาสั้น ๆ โดยข้าศึกไม่รู้ตัวจะทำความสูญเสียได้มากกว่า ทั้งยังทำลายขวัญข้าศึกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จ. ด้วยกระสุนและชนวนที่เหมาะ กระสุนแต่ละชนิดย่อมยังผลต่อเป้าหมายแตกต่างกัน ส่วนชนวนนั้น ส่วนใหญ่แล้วใช้บังคับการระเบิดของกระสุนว่าจะให้ระเบิดที่ใดเวลาใด ซึ่งจะช่วยให้อำนาจของกระสุนทวีขึ้น หรือได้ผลสมความมุ่งหมาย

อำนาจของกระสุนปืนใหญ่เมื่อระเบิดขึ้นนั้นสรุปแล้วได้แก่

๑) อำนาจของคลื่นระเบิด

๒) อำนาจของสะเก็ดระเบิด

๓) อำนาจของหลุมระเบิด

๔) อำนาจของควันและเพลิง

๕) อำนาจของสารที่บรรจุ

๖) อำนาจการทะลุทะลวง

๗) อำนาจการทำลายขวัญจากเสียงระเบิดและภาพที่ปรากฏ

๕. หลักฐานยิง (Firing Data)

ก. หลักฐานที่จำเป็นในการที่จะนำไปตั้งให้กับปืน เพื่อให้ปืนชี้ตรงไปยังเป้าหมายในลักษณะที่เหมาะรวมทั้งหลักฐานที่จะนำไปตั้งและประกอบเข้ากับกระสุน เพื่อทำการยิงให้กระสุนไประเบิด ณ ตำบลและเวลาที่ต้องการ เรียกว่าหลักฐานยิง

ข. หลักฐานยิงเหล่านี้ใช้หลักฐานแผ่นเรขาและตัวแก้ต่าง ๆ เป็นมูลฐานในการหาหรือคำนวณซึ่งได้แก่

๑) ทิศทางจาก ป. ไปยังป้าหมายหรือตำบลระเบิดนั้น

๒) ระยะจาก ป. ไปยังเป้าหมายหรือตำบลระเบิดนั้น

๓) แตกต่างสูงระหว่าง ป. กับเป้าหมายหรือตำบลระเบิดนั้น

๔) ตัวแก้ต่าง ๆ เช่น ตัวแก้สภาพอากาศและตัวแก้การจัดวางตำบลระเบิด (ตัวแก้กรวย) เป็นต้น

ค. หลักฐานยิงปกติแล้วประกอบด้วย

๑) ส่วนบรรจุ (Charge) คือดินส่งกระสุนที่จะผลักดันกระสุนออกจากลำกล้องให้ได้ระยะและโค้งกระสุนวิถีตามที่ต้องการ ป. สนามนั้นส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงดินส่งกระสุนได้

๒) มุมทิศ (Deflection) ได้แก่ มุมที่กำหนดขึ้นใช้อ้างกับที่หมายเล็งเพื่อหมุนปืนให้หันไปชี้ในทิศทางที่ต้องการ ปกติกำหนดเป็นมิลเลียม

๓) เวลาชนวน (Fuze Setting) คือเวลาที่จะนำไปตั้งให้กับชนวนบางแบบ (เช่น ชนวนเวลาหรือวีที) เพื่อบังคับการระเบิดของลูกกระสุน

๔) มุมยิง ( Quadrant Elevation) ได้แก่ มุมทางสูงในอันที่จะยกลำกล้องปืนขึ้น เพื่อยิงให้กระสุนไประเบิด ณ ระยะหรือตำบลที่ต้องการ ปกติกำหนดเป็นมิลเลียม

๖. การจัดวางตำบลระเบิด

ก. โดยปกติแล้วปืนทั้งหมดในกองร้อยจะทำการยิงด้วยมุมทิศเดียวกัน รวมทั้งเวลาชนวนและมุมยิงด้วย แต่เมื่อเป้าหมายอาจมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป บางครั้งจึงต้องปรับรูปแบบของตำบลระเบิดให้เหมาะกับ ม.นั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดด้วยการเปลี่ยนแปลงมุมทิศ มุมยิงหรือเวลาชนวนให้เหมาะ

ข. กรวย (Sheaf) ในวิชาหลักยิง ป.หมายถึงการจัดวางตำบลระเบิดของกระสุน ป.ในทางข้างของ ป. ที่ทำการยิง ร่วมกันตั้งแต่ ๒ กระบอกขึ้นไป

ค. ความกว้างของกรวย (Width of Sheaf) ได้แก่ ระยะห่างทางข้าง (ได้ตั้งฉากกับทิศทางยิง) ระหว่างจุดศูนย์กลางของตำบลระเบิดที่อยู่ปลายสุดของปีกทั้งสอง

ง. กว้างด้านหน้าของกรวย (Front of Sheaf) ได้แก่ ความกว้างของกรวยบวกกับความกว้าง (เส้นผ่าศูนย์กลาง) ของตำบลระเบิดที่ได้ผล ๑ นัด

จ. ประเภทหรือแบบของกรวยโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น

๑) กรวยขนานคู่ (Parallel Sheaf) หรือ (กรวยปกติ Normal Sheaf) คือ กรวยที่มีวิถีกระสุนวิถีของ ป.ทุกกระบอก ขนานกัน (มุมทิศเดียวกัน)

๒) กรวยปิด (Converged Sheaf) คือ กรวยที่มีพื้นระดับและพื้นดิ่งตัดกัน ณ ตำบลกระสุนตก (มุมทิศหรือมุมยิงต่างกัน)

๓) กรวยเปิด (Open Sheaf) คือ กรวยที่มีระยะห่างทางข้างของศูนย์กลางตำบลระเบิดสองตำบลข้างเคียงมีค่าเท่ากับความกว้างของตำบลระเบิดที่ได้ผล ๑ นัด

๔) กรวยพิเศษ ( Special Sheaf) คือกรวยอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว

ฉ. ความกว้างของตำบลระเบิดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระสุน ๑ นัดที่ถือว่าได้ผล ปกติจะถือเกณฑ์ดังนี้

๑) ป.๑๐๕ มม. ๓๐ เมตร

๒) ป.๑๕๕ มม. ๕๐ เมตร

๓) ป.๑๗๕ มม. ๙๕ เมตร

๔) ป. ๘ นิ้ว ๘๐ เมตร

ช. สำหรับความมุ่งหมายในการวางแผนการยิงฉากป้องกันขั้นสุดท้ายนั้นถือว่าใช้กรวยเปิด แต่ให้ง่ายให้ถือหลักดังนี้

- ป. ๑๐๕ มม. ๖ กระบอก กว้างด้านหน้าจริง ๑๘๐ ม. ใช้ ๒๐๐ ม.

- ป. ๑๕๕ มม. ๖ กระบอก กว้างด้านหน้าจริง ๓๐๐ ม. ใช้ ๓๐๐ ม.

- ป. ๑๕๕ มม. ๔ กระบอก กว้างด้านหน้าจริง ๒๐๐ ม. ใช้ ๒๐๐ ม.

๗. อาการกระจายและย่านคาดคะเน

ก. เมื่อยิงกระสุนจำนวนหนึ่งจาก ป.กระบอกเดียวกัน กระสุนงวดงานเดียวกัน และใช้มุมทิศมุมยิงเดียวกัน กระสุนจะไม่ไปตก ณ จุดเดียวกัน แต่จะกระจายเป็นรูปแบบของกลุ่มตำบลระเบิดอันหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ เรียกว่า “อาการกระจาย” (Dispersion) รูปร่างของกลุ่มตำบลระเบิดเหล่านั้นเรียกว่า “รูปร่างของอาการกระจาย” (Dispersion Pattern)

ข. ตำบลกระสุนตกของการยิงกระสุนไปกลุ่มหนึ่ง จะกระจัดกระจายไปทั้งทางทิศ (ทางข้าง) และทางระยะ (โดยปกติแล้วการกระจายทางระยะจะมากกว่าทางทิศ) เมื่อแบ่งกลุ่มกระสุนออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน ทั้งทางทิศและทางระยะด้วยการลากเส้นตรงไปตามเส้นยิงเพื่อแบ่งการกระจายทางข้าง และลากเส้นตั้งฉากเพื่อแบ่งการกระจายทางระยะจุดตัดของ ๒ เส้นตรงนี้เรียกว่าจุดปานกลางมณฑล (Mean Point of Impact)

ค. ในทางระยะเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มกระสุนที่ตกเลยจุดปานกลางมณฑลออกไป ถ้าลากเส้นขนานกับเส้นตั้งฉากแบ่งกลุ่มกระสุนออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กันนี้โดยถือหลักว่า กระสุนส่วนที่ตกเลยจุดปานกลางมณฑลออกไปทั้งหมด (๕๐%) จะตกเลยเส้นนี้ออกไปเท่ากับส่วนที่ตกใกล้เข้ามา (ข้างละ ๒๕%) ก็จะได้ความยาวที่เหมาะสมอันหนึ่งสำหรับวัดหรือคาดคะเนว่ากระสุนนัดต่อ ๆ ไปจะไปตกที่ไหน ความยาวของระยะนี้ เรียกว่า ย่านคาดคะเน (Probable Error)

ในส่วนที่กระสุนตกใกล้เข้ามา (๕๐%) และการกระจายทางข้างทั้ง ๒ ข้างก็สามารถลากเส้นในลักษณะเดียวกันนี้ได้และเมื่อกระทำดังนี้ครบ ๘ ย่านคาดคะเนทั้งทางทิศและทางระยะ โดยกระทำทั้ง ๒ ข้างของ จุดปานกลางมณฑล ก็จะคลุมกลุ่มกระสุนที่ยิงไปทั้งหมดได้ สี่เหลี่ยมใหญ่ (ขอบนอกสุด) ของเส้นตัดเหล่านี้ เรียกว่า สี่เหลี่ยมผืนผ้า ๑๐๐ % หรือรูปสี่เหลี่ยมอาการกระจาย

หมายเหตุ สี่เหลี่ยมผืนผ้า ๑๐๐% นี้ ตามความเป็นจริงแล้วจะมีกระสุนประมาณ ๗ นัดใน ๑๐๐๐ นัด ที่ผิดปกตินอกพื้นที่ของสี่เหลี่ยมนี้ แต่ในทางหลักยิงให้ถือว่ากระสุนจะตกภายในรูปสี่เหลี่ยมนี้เสมอ

เปอร์เซ็นต์ของกระสุนที่ตกในแต่ละย่าน

รูปที่ ๕ - ๑ สี่เหลี่ยมผื้นผ้า ๑๐ เปอร์เซ็นต์

ง. เมื่อยิงด้วยชนวนเวลา ก็จะหาย่านคาดคะเนของเวลาชนวนได้ในลักษณะ และแนวความคิดเดียวกัน

จ. นอกจากนั้น เมื่อเป้าหมายมีความเอียงลาดหรืออยู่ในพื้นที่ดิ่ง ย่านคาดคะเนทางระยะก็จะไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงได้หาค่าย่านคาดคะเนทางดิ่งไว้ใช้ประโยชน์อีกด้วย

ฉ. เมื่อยิงด้วยชนวนเวลาให้ระเบิดในอากาศจากผลของย่านคาดคะเนเวลาชนวน และย่านคาดคะเนทางดิ่งรวมกันจะทำให้เกิดย่านคาดคะเนทางสูงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ช. สรุปแล้วย่านคาดคะเนที่ใช้อยู่และหาไว้ให้แล้วในตารางมีอยู่ด้วยกัน ๖ อย่างคือ

๑) ย่านคาดคะเนทางระยะ (ยร. Rang Probable Error, PER) สำหรับย่านคาดคะเนทางระยะนี้ใช้มากในการยิงหาหลักฐานและการหามุมยิงต่ำสุดหรือสูงสุด โดยกำหนดไว้ว่าค่ามุมสูงที่จำเป็นในการที่จะเลื่อนจุดปานกลางมณฑลของตำบลระเบิดไปข้างหน้า หรือข้างหลัง ๔ ย่านคาดคะเนทางระยะ เรียกว่า ซ่อม (Fork)

๒) ย่านคาดคะเนทางทิศ ( ยท. Deflection Probable Error PED)

๓) ย่านคาดคะเนทางดิ่ง (ยด. Vertical Probable Error PEV)

๔) ย่านคาดคะเนเวลาชนวน (ยช. Time to Burst Probable PETB)

๕) ย่านคาดคะเนทางสูงหรือสูงกระสุนแตก (ยส. Height of Burst Probable PEHB)

๖) ย่านคาดคะเนระยะถึงตำบลระเบิด (ยรบ. Rang to Burst Probable PERB)

คือความคลาดเคลื่อนของระยะจากจุดกำเนิดไปยังตำบลระเบิดเมื่อทำการยิงด้วยชนวนเวลา

๘. การใช้ย่านคาดคะเน

ผู้ตรวจการณ์หน้าสามารถที่จะใช้ย่านคาดคะเนให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ดังนี้

ก. พิจารณาความแม่นยำของอาวุธ ย่านคาดคะเนยิ่งน้อย แสดงว่าอาวุธนั้นยิ่งมีความแม่นยำมาก

ข. ใช้พิจารณาประกอบการปรับการยิงในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น

๑) เมื่อมุมตรวจการณ์มาก เช่น เป็นมุมฉาก การปรับทางทิศของ ผตน. จะกลายเป็นย่านคาดคะเนทางระยะของปืน จะทำให้ปรับลำบาก

๒) ในระยะไกลหรือมุมยิงใหญ่ ย่านคาดคะเนจะมากทั้งทางทิศและทางระยะ มากกว่าปกติ อย่าเสี่ยงโดยไม่จำเป็น (ถาม ศอย.ได้ตลอดเวลาถ้าต้องการทราบ)

๙. สรุป

ผู้ตรวจการณ์หน้ายิ่งเข้าใจหลักยิง ป.ได้แจ่มแจ้งเท่าใด การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของชุดหลักยิงจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพียงนั้น ทั้งในด้านการประหยัดกระสุน ประหยัดเวลา และความแม่นยำในการยิง

ผู้ตรวจการณ์หน้าที่มีฝีมือย่อมจะพยายามประยุกต์ใช้วิชาการสาขาต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเสมอ รายละเอียดในเรื่องวิชาหลักยิง ป. ให้ศึกษาเพิ่มเติมจาก รส. ๖ – ๔๐ หรือแนวสอนวิชาอำนวยการยิง ป. และแนวสอนวิชาส่วนยิง ป.