บทที่ ๓ การตรวจการณ์ของทหารปืนใหญ่

บทที่ ๓

การตรวจการณ์ของทหารปืนใหญ่


๑. ทั่วไป

ก. การตรวจการณ์ (Observation) หมายถึง การตรวจสอบศึกษา หรือ พิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อให้ได้ข่าวสารทางทหารที่มีค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การตรวจสอบภูมิประเทศ, การตรวจหาที่ตั้ง และการกระทำของข้าศึกเป็นต้น

ข. การตรวจการณ์อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑) การตรวจการณ์โดยตรง ได้แก่ การตรวจการณ์หรือพิจารณาต่อภูมิประเทศหรือข้าศึกนั้น ๆ โดยตรง โดยใช้ตาเปล่า เครื่องช่วยการเห็น เช่น กล้องต่าง ๆ หรือเครื่องมือทางอีเลคโทรนิคทั้งหลาย เช่น เรดาร์กำหนดที่ตั้งอาวุธหรือเรดาร์ตรวจจับเป้าหมายเคลื่อนที่ เป็นต้น

๒) การตรวจการณ์โดยอ้อม ได้แก่ การตรวจสอบพื้นที่หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยการพิจารณาจากสิ่งอื่นๆ เช่น จากภาพถ่ายทางอากาศ, จากภาพถ่ายทางดาวเทียม หรือพิจารณาทางปรากฏการณ์หรือสิ่งบอกเหตุอื่น ๆ

ค. เครื่องมือในการตรวจการณ์อาจแบ่งออกได้ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ กล่าวคือ

๑) คน ได้แก่ ผู้ตรวจการณ์, ผู้ตรวจการณ์หน้า, ผู้ตรวจการณ์ทางอากาศ เป็นต้น ทั้งใช้ตาเปล่า และเครื่องมือช่วยการเห็น

๒) เครื่องมืออีเลคโทรนิค เช่น เรดาร์หาที่ตั้งอาวุธ, เรดาร์ตรวจจับเป้าหมายเคลื่อนที่, เครื่องหาทิศด้วยเสียง,เครื่องหาทิศวิทยุ, เครื่องหาทิศเรดาร์ และเครื่องมือระยะไกล (Remote Sensors) แบบต่าง ๆ

๓) การถ่ายภาพ ได้แก่ ภาพถ่ายทางอากาศ, ภาพถ่ายดาวเทียม, การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพของเครื่องบินเล็กบังคับวิทยุ เป็นต้น

ด้วยเครื่องมือตรวจการณ์ที่ทันสมัยเหล่านี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใดในสนามรบ ข้าศึกอาจตรวจพบได้เสมอ

๒. ความมุ่งหมายของการตรวจการณ์

ทหารปืนใหญ่ใช้การตรวจการณ์เพื่อความมุ่งหมายหลัก ๔ ประการ กล่าวคือ

ก. การค้นหาเป้าหมาย (Target Acquisition) เพื่อค้นหา, พิสูจน์ทราบและกำหนดที่ตั้งเป้าหมายต่าง ๆ ให้ทันเวลาและมีความถูกต้องเพียงพอที่จะใช้อาวุธโจมตีอย่างได้ผล

ข. ปรับการยิง (Adjustment of Fires) เพื่อแก้ไขหรือนำตำบลระเบิดของกระสุนเข้าสู่เป้าหมาย หรือพื้นที่ที่ต้องการ เมื่อจำเป็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการยิงขึ้น

ค. ตรวจผลการยิง (Surveillance of First) ได้แก่ การตรวจผลการยิงที่เกิดแก่เป้าหมาย ในระหว่างและภายหลังการยิงแล้ว และรายงานผลให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อเป็นข้อมูลทางการข่าวต่อไป

ง. เฝ้าตรวจสนามรบและรายงานข่าวสาร ( Battlefield Surveillance) หมายถึง การเฝ้าตรวจสนามรบตลอดเวลาแล้วรายงานทุกสิ่งที่ตรวจพบไม่ว่าจะเป็นข่าวเกี่ยวกับภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ ข้าศึกและฝ่ายเราอย่างถูกต้องรวดเร็วไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง

ขีดความสามารถของเครื่องมือตรวจการณ์ต่าง ๆ และเทคนิคการใช้โดยละเอียดให้ศึกษาได้จาก รส. ๖ – ๑๒๑ การค้นหาเป้าหมายของทหารปืนใหญ่

๓. ผู้ตรวจการณ์หน้า

ผู้ตรวจการณ์หน้าเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญยิ่งของระบบการตรวจการณ์ของทหารปืนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดหลักยิง หรือระบบการค้นหาเป้าหมาย

ผู้ตรวจการณ์ต่าง ๆ นั้น ไม่ว่าผู้ตรวจการณ์ประจำที่ตั้งที่ตรวจการณ์ของกองพัน หรือผู้ตรวจการณ์ทางอากาศ ปกติแล้วจะมีจำนวนน้อยกว่า และอยู่หลังแนวยิ่งกว่าผู้ตรวจการณ์หน้าเป็นอันมาก ดังนั้น การที่จะมองเห็นเป้าหมายและผลของการยิงที่กระทำไป ย่อมกล่าวได้ว่า ผู้ตรวจการณ์หน้า คือ หัวใจของการตรวจการณ์ของทหารปืนใหญ่

ในชุดหลักยิงหรือระบบหลักยิงของทหารปืนใหญ่เปรียบเทียบผู้ตรวจการณ์ไว้เสมือนตา คือ สามารถมองเห็นเป้าหมายดึงกระสุนเข้าสู่เป้าหมายและเห็นผลของการยิงต่อเป้าหมายนั้น ๆ ได้ด้วยตาของตนเอง ผู้ตรวจการณ์หน้า คือ ตาของชุดหลักยิงหรือระบบหลักยิงของ ป. อย่างแท้จริง

๔. ที่ตรวจการณ์กองพัน

ก. เพื่อเพิ่มเติมการตรวจการณ์ด้วยผู้ตรวจการณ์หน้า และเพิ่มความลึกของระยะตรวจการณ์ พัน.ป.ชต. อาจจัดตั้งที่ตรวจการณ์ขึ้นได้ตามความเหมาะสม ซึ่งปกแล้วแล้วมักใช้ร่วมกับฐานแสงหรือฐานแผนที่บริเวณเป้าหมาย โดยใช้เจ้าหน้าที่จากหมู่แผนที่ หรือหมู่ตรวจการณ์หน้าของ พัน.ป.พย. หรือ ชร.พย. เข้าประจำ และมักจะจัดตั้งขึ้น ๒ แห่งเป็นอย่างน้อย

ข. ลักษณะที่พึงประสงค์ของที่ตรวจการณ์โดยทั่วไปคือ

๑) สามารถตรวจการณ์ได้กว้างขวางและระยะไกล

๒) ง่ายในการซ่อนพราง

๓) มีเส้นทางเข้าถึงได้ดี

๔) ง่ายในการใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสาร

๕) หลีกเลี่ยงภูมิประเทศเด่น ๆ เพื่อมิให้เป็นที่สนใจของข้าศึก

๖) ควรจะมีที่ตรวจการณ์สำรองไว้พร้อม

ค. ปกติแล้วที่ตรวจการณ์ควรจะอยู่ลาดหลังเนินหรือลาดหน้าเนิน ไม่ควรอยู่ยอดของเนิน เพราะจะเกิดการตัดกับขอบฟ้าได้ง่าย และเมื่อเข้าประจำที่ตรวจการณ์แล้ว ผู้ตรวจการณ์ควรจะได้เขียนภาพภูมิประเทศ สังเขป แผนผังการมองเห็น และเตรียมการอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ ผตน.ทำเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตาม ความมุ่งหมายของการตรวจการณ์ได้ครบครัน

ง. ที่ตรวจการณ์หลังเนินมีข้อดีดังนี้

๑) อาจเข้าประจำที่ตรวจการณ์ได้ในเวลากลางวัน

๒) เคลื่อนที่หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้สะดวกมีเสรียิ่งขึ้น

๓) ง่ายในการติดตั้ง ซ่อมบำรุง และซ่อนเร้นเครื่องมือสื่อสาร

๔) ลดอันตรายจากอาวุธเล็งตรงของข้าศึกได้ดี

จ. ที่ตรวจการณ์หลังเนินมีข้อเสียคือ

๑) เขตตรวจการณ์มักจะจำกัด

๒) ถ้าข้าศึกยิงลงบนยอดเนินอาจจะขัดขวางการตรวจการณ์ และเป็นอันตรายได้

ฉ. ข้อดีของที่ตรวจการณ์ลาดหน้าเนิน

๑) ถ้าข้าศึกยิงยอดเนินอาจจะไม่เป็นอันตราย

๒) คลุมเขตและพื้นที่ตรวจการณ์ได้กว้างขวาง

๓) มีฉากหลังกำบังช่วยให้การพรางทำได้ดีขึ้น

ช. ข้อเสียของที่ตรวจการณ์ลาดหน้าเนิน

๑) โดยปกติแล้วต้องเข้าประจำในเวลากลางคืนหรือเมื่อทัศนวิสัยจำกัด และการเปลี่ยนที่ตั้งเวลากลางวันเสี่ยงต่อการตรวจพบ

๒) การซ่อมบำรุงสายโทรศัพท์เวลากลางวันทำได้ยาก เว้นแต่วางสายไว้อย่างซ่อนเร้น

๓) การใช้วิทยุเป็นอันตรายจากการตรวจจับได้ง่าย เว้นแต่จะใช้เครื่องควบคุมระยะไกล

๔) ไม่มีการป้องกันจากการยิงเล็งตรง

ซ. ที่ตรวจการณ์กองพันนี้ ปกติแล้ว ฝอ.๒ เป็นผู้อำนวยการจัดตั้งขึ้น โดยประสานกับ นลว. ผท. ของกองพัน แล้ววางสายไปยัง นตต. โดยมีหมู่ติดต่อหรือหมู่ทางสายของกองพันช่วยเหลื