บทที่ ๖ เครื่องช่วยในการตรวจการณ์

บทที่ ๖

เครื่องช่วยในการตรวจการณ์

๑. ทั่วไป

ก. การยิงอย่างแม่นยำและทันเวลาเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้อำนาจการยิงของ ป.ได้ผลสมความมุ่งหมาย ผตน. ที่เชี่ยวชาญในหลักการและรู้จักใช้เครื่องมือช่วยต่าง ๆ อย่างฉลาด จะช่วยให้การยิงกระทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

ข. เครื่องช่วยในการตรวจการณ์มีเป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ

๑) หลักฐานเพิ่มเติมแผนที่ (Auxiliary Map Data)

๒) แผ่นพัดตรวจการณ์ (Observed Fire Fan, OF Fan)

๓) ภาพภูมิประเทศสังเขป (Terrain Sketch)

๔) แผนผังการเห็น (Visibility Diagram)

๕) การวัดมุมด้วยมือ (Measuring Angle with Hand)

๖) กล้องสองตา (Binocular)

๗) เข็มทิศ (Compass)

๘) กล้องเลเซอร์ (Laser Range Finder)

๙) กล้องกลางคืน (Night Vision Device)

๑๐) เวลาแปะปัง (Flash-to-Bang Time)

๒. หลักฐานเพิ่มเติมแผนที่

ก. เมื่อ ผตน. กำหนดที่อยู่ของตน หาทิศและวางแผนที่ให้ถูกทิศแล้ว ถ้าไม่มีแผ่นพัดตรวจการณ์ก็จะเริ่ม เพิ่มเติมหลักฐานลงบนแผนที่ เพื่อช่วยให้การกำหนดทิศทางและที่ตั้งของตำบลต่าง ๆ ได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้นโดย

๑) ลากเส้นรัศมีลงบนแผนที่ แสดงทิศทางจากที่ตรวจการณ์แต่ละเส้นห่างกันเป็นมุมตามที่ต้องการ (เต็ม ๑๐๐ น่าจะง่ายกว่า)

๒) เขียนเส้นโค้งแสดงระยะตัดเส้นรัศมีเหล่านี้โดยใช้ที่ตั้งของที่ตรวจการณ์เป็นจุดศูนย์กลาง โดยปกติจะใช้ห้วง ๑๐๐๐ ม.

๓) หมายจุดต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ซึ่งไม่ปรากฏในแผนที่ลงในแผนที่ และควรหมายจุดอื่น ๆ ที่ต้องใช้บ่อย ๆ ลงไปด้วย เช่น จุดอ้าง จุดยิงหาหลักฐาน เป้าหมายต่าง ๆ เป้าหมายที่เคยยิงมาแล้ว และตำบลที่น่าจะมีเป้าหมายหรือข้าศึกอยู่

ข. เมื่อต้องการทราบมุมภาคของจุดหรือเป้าหมายใดก็อาจหาได้อย่างรวดเร็ว โดยพิจารณาจากเส้นรัศมีที่เขียนขึ้น และระยะก็จะทราบจากการพิจารณาเส้นโค้งซึ่งลาดตัดเส้นรัศมีเหล่านั้น (ดูรูป)

๓. แผ่นพัดตรวจการณ์

แผ่นพัดตรวจการณ์เป็นเครื่องมือช่วยในการกำหนดจุดบนแผนที่ ที่ตรวจเห็นในภูมิประเทศได้ดีเป็นพิเศษ เป็นเครื่องช่วยหาหลักฐานด้วยการกรุยแบบโปล่าร์ลงบนแผ่นพัดได้โดยตรง แผ่นพัดตรวจการณ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบันมี ๓ ชนิดด้วยกัน

ก. แผ่นพัดตรวจการณ์ชนิด ๑ มุมฉาก เป็นเครื่องมือวัดมุมทำด้วยวัตถุโปร่งใส รูปร่างคล้ายพัด แบ่งมุมไว้บนแผ่นพัด ๑๖๐๐ มิล โดยแบ่งเส้นรัศมีห่างกันเส้นละ ๑๐๐ มิล มีส่วนโค้งกำหนดระยะตามเส้นรัศมี เป็นช่วง ๆ ช่วงละ ๕๐๐ เมตร ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ๑๐๐๐ เมตร ถึง ๖๐๐๐ เมตร (ดูรูป)

รูปที่ ๖ - ๒ แผ่นพัดตรวจการณ์ชนิด ๑ มุมฉาก

ข. แผ่นพัดตรวจการณ์ชนิดครึ่งวงกลม เป็นเครื่องมือกรุยชนิดหนึ่งสร้างด้วยวัตถุโปร่งใส มีรูปร่างเป็นครึ่งวงกลม เขียนมุมไว้บนแผ่นพัด ๖๔๐๐ มิล ใช้สำหรับวัดมุมได้ทั้งเป็นมิล และเป็นองศา แบ่งมาตราตามส่วนโค้งละเอียดถึง ๒๐ มิล และ ๒ องศา เขียนตัวเลขกำกับไว้ทุก ๆ ๑๐๐ มิล และ ๑ๆ องศา ระยะแสดงไว้ที่ขอบแผ่นพัด สามารถอ่านระยะได้ถึง ๗๐๐๐ เมตร และยังมีบรรทัดฉากสำหรับกรุยจุดและอ่านพิกัดรวมอยู่ในแผ่นพัดชนิดนี้ด้วย (ดูรูป)

รูปที่ ๖ - ๓ แผ่นพัดตรวจการณ์ชนิดครึ่งวงกลม

ค. แผ่นพัดตรวจการณ์ชนิดวงกลม เป็นเครื่องมือวัดมุมทำด้วยวัตถุโปร่งใส มีรูปร่างเป็นวงกลม เขียนมุมไว้บนแผ่นพัด ๖๔๐๐ มิล โดยแบ่งเส้นรัศมีห่างกันเส้นละ ๑๐๐ มิล และระหว่างเส้น ๑๐๐ มิล จะมีเส้นประแบ่งครึ่งทำมุมห่างกัน ๕๐ มิล มีเส้นโค้งรวมศูนย์กลางเดียวกันซึ่งตัดเส้นรัศมีใช้แทนระยะเป็นช่วง ๆ ๕๐๐ เมตร ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ๑๐๐ เมตร ถึง ๓๐๐๐ เมตร และยังมีบรรทัดฉากสำหรับกรุยจุดและอ่านพิกัดรวมอยู่ในแผ่นพัดชนิดนี้ด้วย (ดูรูป)

รูปที่ ๖ - ๔ แผ่นพัดตรวจการณ์ชนิดวงกลม (มาตราส่วน ๑/๕๐๐๐๐)

๔. ภาพภูมิประเทศสังเขปและแผนผังจุดอ้าง

ก. ภาพภูมิประเทศสังเขป เป็นภาพที่ผู้ตรวจการณ์วาดขึ้นอย่างคร่าว ๆ เพื่อใช้แทนภูมิประเทศจริงในการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายโดยมีจุดอ้าง จุดยิงหาหลักฐาน เป้าหมาย และจุดที่คาดว่าข้าศึกจะปรากฏแสดงไว้

ข. ภาพภูมิประเทศสังเขปนี้ จะช่วยผู้ตรวจการณ์กำหนดที่ตั้งเป้าหมายได้เร็วขึ้น เช่น ถ้าเป้าหมายปรากฏขึ้นใกล้กับจุดใด ๆ ที่เขียนแสดงไว้ในภาพภูมิประเทศสังเขป ผู้ตรวจการณ์สามารถหามุมภาคไปยังเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยวัดมุมข้างระหว่างจุดที่ทราบมุมภาคกับเป้าหมาย แล้วนำค่ามุมข้างที่วัดได้อาจจะโดยใช้กล้องสองตาหรือใช้มือก็ได้แล้วนำไปคำนวณหามุมภาคของเป้าหมายต่อไป

รูปที่ ๖ - ๕ ตัวอย่างภาพภูมิประเทศสังเขป

ค. แผนผังจุดอ้าง เป็นแผนผังซึ่งกำหนดมุมภาคของตำบลสำคัญในภูมิประเทศไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับภาพภูมิประเทศสังเขป และเพื่อช่วยผู้ตรวจการณ์กำหนดที่ตั้งเป้าหมายได้เร็วเช่นกัน

รูปที่ ๖ - ๖ แผนผังจุดอ้างแบบหนึ่ง

รูปที่ ๖ - ๗ แผนผังจุดอ้างแบบหนึ่ง

๕. แผนผังการเห็น

แผนผังการเห็นเป็นภาพสังเขปของพื้นที่ตรวจการณ์ของผู้ตรวจการณ์ เขียนขึ้นตามมาตราส่วนของแผนที่แสดงพื้นที่ซึ่งผู้ตรวจการณ์ไม่สามารถมองเห็นได้จากที่ตั้งของตน แผนผังการเห็นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับ ฝอ.๒ กองพันปืนใหญ่โดยพิจารณาแผนผังการเห็นแต่ละแผ่นที่ได้รับจากผู้ตรวจการณ์ทุก ๆ คน ฝอ.๒ ก็สามารถที่จะพิจารณาพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตปฏิบัติการณ์ของหน่วยรับการสนับสนุนที่ไม่อาจทำการตรวจการณ์ได้อย่างทั่วถึง ฝอ.๒ ก็จะจัดที่ตั้งตรวจการณ์ของกองพันขึ้น เพื่อให้สามารถทำการครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้น ถ้าสามารถทำได้หรือขอการตรวจการณ์ทางอากาศเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เหล่านั้น ในการเตรียมแผนผังการเห็น ผู้ตรวจการณ์วางกระดาษแก้วลงบนแผนที่ของตนแล้วลากเส้นรัศมีต่าง ๆ จากที่ตรวจการณ์ออกไปจนเต็มเขตตรวจการณ์ของตน เส้นรัศมีต่าง ๆ เหล่านี้ตามปกติเขียนห่างกัน ๑๐๐ มิล และเขียนมุมภาคตารางที่ถูกต้องกำกับแต่ละเส้นไว้แล้วสร้างภาพทรวดทรงของแต่ละเส้นรัศมีขึ้น แสดงจุดต่าง ๆ ซึ่งมองเห็นและไม่เห็นจากที่ตรวจการณ์ โดยใช้ข่าวสารที่ได้จากภาพทรวดทรงต่าง ๆ ผู้ตรวจการณ์ก็ทำเครื่องหมายแสดงจุดต่าง ๆ ซึ่งมองไม่เห็นไปตามเส้นรัศมีแต่ละเส้น และทำการแรเงาในพื้นที่ระหว่างเส้นที่ลากต่อจุดที่มองไม่เห็นต่าง ๆ เหล่านั้น พื้นที่แรเงาไว้แสดงพื้นที่ซึ่งผู้ตรวจการณ์ไม่สามารถมองเห็นได้จากที่ตรวจการณ์ของตน วิธีสร้างภาพทรวดทรงของภูมิประเทศและแผนผังการเห็นนี้ได้กล่าวในรายละเอียดยิ่งขึ้น ในวิชาการอ่านแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ

รูปที่ ๖ - ๘ แผนผังการเห็นโดยใช้เส้นรัศมีทางทิศ

รูปที่ ๖ - ๙ รูปหน้าตัดเพื่อแสดงที่อับสายตา (บริเวณที่แรเงาไว้)

๖. การวัดมุมด้วยมือ

เมื่อมีความจำเป็นที่จะหาค่ามุมข้างระหว่างจุดสองจุดให้ได้โดยรวดเร็ว และไม่ต้องการความถูกต้องมากนัก ผู้ตรวจการณ์ก็อาจใช้มือและหรือนิ้วมือของตนเป็นเครื่องมือในการวัดมุมได้ ผู้ตรวจการณ์แต่ละคน ควรจะได้เทียบมือและนิ้วของตนไว้เพื่อให้ทราบค่ามุมสำหรับ นิ้วเดียว, นิ้วหลายนิ้วรวมกัน และค่ามุมของมือที่แสดงไว้ตามรูป ค่าต่าง ๆ ที่ได้แสดงไว้ในรูปเป็นค่าที่ได้จากมือที่มีขนาดปานกลาง ผู้ตรวจการณ์แต่ละคนจะต้องเทียบมือและนิ้วมือของตนแต่ละบุคคล การเทียบทำได้โดยใช้กล้องสองตาของตนหรือเครื่องมือวัดมุมอย่างอื่นทำการวัดมุมที่ตรงกับมุมที่มือหรือนิ้วมือหลายนิ้วรวมกัน ทำการวัดได้เมื่อทำการเทียบมุมและใช้มือและหรือนิ้วมือนิ้วเดียว (หรือหลายนิ้ว) ในการวัดมุม แขนของผู้ตรวจการณ์จะต้องเหยียดไปจนสุดเพื่อที่จะให้มือและนิ้วมือเดียว (หรือหลายนิ้ว) อยู่ห่างจากตามีระยะเท่ากันเสมอ

หมายเหตุ ค่าของมุมซึ่งได้แสดงไว้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น อาจผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างตามลักษณะของแต่ละบุคคล

รูปที่ ๖ - ๑๐ การวัดมุมด้วยมือ

๗. กล้องสองตา

ก. กล่าวทั่วไป กล้องสองตาใช้สำหรับการตรวจการณ์ ปรับการยิงปืนใหญ่สนาม, วัดมุมทางระดับและมุมทางดิ่ง จากจุดอ้าง กล้องสองตามีประโยชน์อย่างยิ่งในการลาดตระเวน ตรวจการณ์ และกิจการแผนที่เพราะเหตุที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา กล้องสองตานี้จึงเป็นเครื่องมือหลักของผู้ตรวจการณ์หน้า กล้องสองตาประกอบด้วย กล้องส่องทางไกลสองอันติดอยู่บนบานพับเพื่อใช้ปรับระยะห่างของช่องตาให้เหมาะกับระยะห่างของตาผู้ใช้แต่ละคน บานพับก็จะยึดให้แกนกล้องทั้งสองขนานกัน กล้องสองตาที่ใช้อยู่ใช้อยู่มี ๒ ขนาด ด้วยกัน ทั้ง ๒ ขนาดมีมาตราประจำแก้ว การใช้และการปรนนิบัติบำรุงคล้ายกัน ส่วนที่แตกต่างกันได้แก่ คุณสมบัติของเลนซ์ น้ำหนักและรูปร่างกล้องสองตาขนาดเล็กคือขนาด ๖ คูณ ๓๐ ซึ่งหมายความว่ามีกำลังขยาย ๖ เท่า และความยาวโฟกัส (จุดรวมแสง) ๓๐ มม. มีน้ำหนักประมาณ ๒ ๑/๒ ปอนด์ และมีความกว้างของการมองเห็นประมาณ ๑๕๐ มิล กล้องสองตาขนาดใหญ่คือ ๗ คูณ ๕๐ ซึ่งมีกำลังขยาย ๗ เท่าและความยาวโฟกัส (จุดรวมแสง) ๕๐ มม. มีความกว้างของการมองเห็นประมาณ ๑๓๐ มิล หนักประมาณ ๖ ปอนด์ หมู่ตรวจการณ์แต่ละหมู่จะได้รับกล้องสองตาทั้ง ๒ ขนาดนี้อย่างละกล้อง หรืออาจจะเป็นขนาดเดียวกันทั้ง ๒ กล้องก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ากองพันจะมีเครื่องมืออย่างไหนอำนวยให้

รูปที่ ๖ – ๑๑ กล้องสองตา

ข. การจับกล้อง จับด้วยมือทั้งสองและกดเบา ๆ เข้ากับตาทั้งสองข้าง เพื่อให้ประสานกับตาอย่างสม่ำเสมอ ถ้ากดกล้องกับตาแรงเกินไป การสันโยกของร่างกายจะถูกถ่ายทอดไปยังกล้อง ทำให้ยากแก่การที่จะจับกล้องให้นิ่งได้ การใช้กล้องในท่านั่งหรือนอน ให้มือหรือข้อศอกมีสิ่งรองรับหรือมีวัตถุแข็งรองรับจะเป็นการช่วยตัดการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องการออกได้

ค. การปรับช่องตา ให้มองผ่านแว่นด้านที่ใช้มองไปยังวัตถุที่อยู่ไกลพอสมควร แล้วกางหรือหุบกล้องที่บานพับ จนกระทั่งภาพที่มองเห็นไม่แยกกันเป็นวงกลมซ้อนกัน และปรากฏเป็นภาพที่อยู่ในวงกลมเดียวกันอย่างแท้จริง ขณะนี้ช่องตาของกล้องก็เหมาะกับระยะห่างของตาของผู้ตรวจการณ์หน้าแล้ว อันจะทำให้ปริมาณของแสงที่เข้าตามีมากที่สุด ผู้ตรวจการณ์ก็ควรจะบันทึกการตั้งที่มาตราระยะของตาและจดจำไว้เพื่อตนจะได้ใช้ในคราวต่อไป โดยที่จะได้ไม่ต้องทำการปรับดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ละครั้งที่ใช้

ง. การปรับจุดรวมแสง (Focus) ช่องมองแต่ละอันสามารถปรับปรุงจุดรวมแสงได้โดยอิสระ หลังจากได้ช่องว่างระหว่างตาเหมาะสมแล้ว ให้มองผ่านช่องมองทั้งสองไปยังวัตถุที่อยู่ไกลพอเหมาะ เอามือข้างหนึ่งปิดหน้ากล้องของกล้องข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งปรับปลอกปรับจุดรวมแสงของกล้องอีกข้างหนึ่ง เข้าหรือออกจนกระทั่งภาพชัดเจ แล้วทำอย่างนี้ซ้ำอีกสำหรับตาอีกข้างหนึ่ง ผู้ตรวจการณ์ควรบันทึกการตั้งที่มาตราสายตา (มาตราปรับ) จุดรวมแสงของแต่ละข้าง และจดจำไว้เพื่อนำไปใช้กับกล้องอื่น ๆ ได้ ในทางทฤษฎีระยะจุดรวมแสงจะเปลี่ยนเมื่อระยะที่หมายเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเมื่อได้ปรับจุดรวมแง ณ ระยะปานกลางของเขตการตรวจการณ์เอาไว้แล้ว ที่หมายอื่น ๆ ที่อยู่ในระยะอื่น ๆ ก็สามารถที่จะมองเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องปรับจุดรวมแสงอีก นอกจากว่าเมื่อใช้ดูที่หมายใกล้มากเท่านั้น จึงอาจจะต้องปรับระยะจุดรวมแงอีก

จ. มาตราประจำแว่นแก้ว ทั้งกล้องขนาด ๖ คูณ ๓๐ และ ๗ คูณ ๕๐ มีมาตราประจำแก้วเหมือนกัน มาตราทางระดับแบ่งขีดย่อยไว้ทุก ๆ ๑๐ มิล และเขียน ๑,๒,๓,๔,๕ กำกับไว้ ซึ่งหมายถึง ๑๐,๒๐,๓๐,๔๐,๕๐ มิล มาตรานี้ใช้วัดมุมในทางระดับ เส้นขีดสั้น ๆ เหนือมาตราทางระดับตรงกึ่งกลางและขอบซ้ายเป็นมาตราวัดมุมทางดิ่ง แต่ละขีดเท่ากับ ๕ มิล มาตราทางดิ่งเหล่านี้ผู้ตรวจการณ์ใช้วัดมุมทางดิ่งซึ่งมีค่าน้อย (มาตราระยะทางดิ่งที่มีตัวเลขกำกับไว้ซึ่งอยู่ทางปลายของมาตราทางระดับ ได้จัดทำไว้เพื่อใช้ในการตั้งศูนย์ของปืนเล็กและปืนกล ผู้ตรวจการณ์ปืนใหญ่ไม่ใช้มาตรานี้)

รูปที่ ๖ – ๑๑ มาตราประจำแก้วของกล้องสองตา

๘. เข็มทิศ เอ็ม.๒

ก. เข็มทิศ เอ็ม.๒ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้หลายประการ สามารถใช้วัดมุมภาคเข็มทิศ, มุมภาคจริง, มุมภาคตารางและวัดมุมทางดิ่งได้ ตามปกติผู้ตรวจการณ์จะใช้เข็มทิศ เอ็ม.๒ หามุมภาค ส่วนมุมทางระดับนั้นใช้กล้องสองตาวัด ตัวเรือนของเข็มทิศ เอ็ม.๒ ประกอบด้วยระดับวงกลมสำหรับใช้เมื่ออ่านมุมภาคและมีหลอดระดับใช้เมื่ออ่านมุมดิ่งมีศูนย์เป็นแผ่นแบนร่วมกับกระจกเงาที่ฝาปิดเพื่อเล็งและอ่านมุม นอกจากนี้ยังมีควงปรับมาตรามุมภาคซึ่งทำให้ผู้ตรวจการณ์สามารถอ่านมุมภาคจริง, มุมภาคตารางได้โดยตรง ควงปรับนี้สามารถหมุนให้มาตราเลื่อนได้ประมาณ ๘๐๐ มิล

รูปที่ ๖ – ๑๓ เข็มทิศ เอ็ม.๒

ข. การถือเข็มทิศ ควรถือเข็มทิศให้แน่นและนิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้อ่านค่าได้ถูกต้อง ท่านั่งหรือท่านอน ใช้มือหรือข้อศอกเป็นสิ่งรองรับ หรือวางเข็มทิศบนสิ่งรองรับที่แข็ง จะช่วยตัดการเคลื่อนไหวของเข็มทิศ และจะช่วยลดความผิดพลาดในการวัดลงได้ เมื่อใช้เข็มทิศ เอ็ม.๒ เล็งต่อที่หมายหรือจุดเล็ง มือทั้งสองข้างควรจะถือเข็มทิศให้แน่น อย่าให้เข็มทิศ เอ็ม.๒ ใกล้กับสนามแม่เหล็ก เพราะสารเหล่านี้จะดึงดูดเข็มทิศและทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการวัดได้

รูปที่ ๖ - ๑๔ ตำแหน่งของฝาปิดเข็มทิศ เอ็ม. ๒ ในการวัดมุมภาค

ค. การวัดมุมภาคเข็มทิศ ลำดับขั้นในการวัดมุมภาคเข็มทิศของจุดหรือเป้าหมาย โดยใช้เข็มทิศ เอ็ม.๒ มีดังนี้

๑) ยกฝาปิดขึ้นประมาณ ๔๕ องศา กับตัวตลับเข็มทิศ เพื่อว่าจะได้เห็นมาตรามุมภาคในกระจก

๒) ถือเข็มทิศด้วยมือทั้งสองในระดับสายตา โดยให้ศูนย์หลังใกล้ตาที่สุดและกระชับแขนทั้งสองข้างเข้ากับลำตัว

๓) ให้ระดับแก่เข็มทิศ โดยดูในกระจกและปรับระดับวงกลมให้อยู่กึ่งกลาง

๔) เล็งไปยังจุดหรือที่หมายเล็ง

๕) อ่านค่ามุมภาคบนมาตรามุมภาคที่ปรากฏในกระจกเงา โดยอ่านที่ปลายเข็มทิศแสดงทิศใต้ (สีดำ) ค่ามุมภาคที่อ่านได้ เป็นมุมภาคเข็มทิศของจุดหรือเป้าหมายนั้น

ง. การวัดมุมภาคตาราง จะวัดมุมภาคตารางจะต้องทราบค่ามุมเยื้องประจำของพื้นที่ปฏิบัติงาน (ตามปกติจะตั้งค่ามุมเยื้องประจำสำหรับพื้นที่ที่ใช้ไว้ในเข็มทิศ และค่ามุมเยื้องประจำจะบันทึกไว้บนแผ่นสำหรับบันทึกที่ตลับเข็มทิศ ถ้าเข็มทิศที่ใช้นั้นไม่มีแผ่นสำหรับบันทึกค่ามุมเยื้องประจำ จะบันทึกบนแผ่นกระดาษซึ่งทากาวเหนียวแล้วปิดทับไว้ที่ตลับ) ขั้นแรกในการวัดมุมเยื้องประจำอยู่ตรงกับขีดหลัก หลังจากได้ตั้งค่ามุมเยื้องประจำบนเครื่องมือแล้ว การวัดค่ามุมภาคตารางก็คงปฏิบัติเช่นเดียวกับการวัดมุมภาคเข็มทิศ

รูปที่ ๖ – ๑๕ เข็มทิศ เอ็ม.๒ ในการวัดมุมภาค

จ. การวัดมุมภาคจริง การที่จะวัดมุมภาคจริงไปยังเป้าหมายนั้น จะต้องทราบค่ามุมเยื้องเข็มทิศของพื้นที่นั้น ค่าที่ได้รับทราบจากนายทหารลาดตระเวนแผนที่ของกองพัน หรือจากขอบระวางแผนที่บริเวณนั้น ๆ ขั้นแรกในการใช้เข็มทิศ เอ็ม.๒ วัดมุมภาคจริงก็คือ ตั้งค่ามุมเยื้องเข็มทิศบนมาตรามุมภาคของเครื่องมือ โดยหมุนควงปรับมาตรามุมภาค (ใช้ไขควง) จนกระทั่งค่ามุมเยื้องเข็มทิศอยู่ตรงขีดหลักมุมภาค หลังจากได้ตั้งค่ามุมเยื้องเข็มทิศบนเข็มทิศแล้ว ก็คงปฏิบัติเช่นเดียวกับการวัดมุมภาคเข็มทิศ

ฉ. การวัดมุมดิ่ง ค่ามุมดิ่งจากที่อยู่ของผู้ตรวจการณ์ไปยังเป้าหมาย สามารถใช้เข็มทิศ เอ็ม.๒ วัดได้ ลำดับขั้นในการวัดมุมดิ่งมีดังนี้

๑) เปิดฝาออกไปให้กางทำมุมประมาณ ๔๕ องศา กับตลับเข็มทิศ กางศูนย์หลังออกจนกระทั่งตั้งได้ฉากกับตัวตลับเข็มทิศ

๒) หมุนเข็มทิศเอาด้านข้างลง และถือให้อยู่ในพื้นดิ่ง โดยให้ศูนย์กลางชี้เข้าหาตัว และกระเดื่องสำหรับให้ระดับมุมพื้นที่อยู่ทางด้านขวา

๓) มองผ่านช่องศูนย์หลังแล้วยกเครื่องมือขึ้น หรือกดลง จนกระทั่งเส้นกึ่งกลางในกระจกแบ่งครึ่งช่องศูนย์หลัง ตัดกับจุดที่วัดมุมดิ่ง

๔) ให้ระดับแก่หลอดระดับมุมสูงที่ปรากฏในกระจกเงา โดยการหมุนกระเดื่องสำหรับให้ระดับ

๕) อ่านค่ามุมดิ่งที่ตรงกับขีดหลักมุมพื้นที่ ค่ามุมนี้คือมุมดิ่งจากที่อยู่ของผู้ตรวจการณ์ ไปยังจุดที่วัดหรือเป้าหมาย

๙. กล้องเลเซอร์ (Laser Range Finder)

ก. เครื่องมือวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์หรือกล้องเลเซอร์นี้ ทบ. มีแนวความคิดที่จะจัดหาให้เป็นเครื่องมือของ ผตน. หรือประจำ ต.ต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับ ผตน. เป็นอันมาก ทั้งความรวดเร็วและแม่นยำในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ

ข. ลักษณะโดยทั่วไปของกล้องนี้คล้ายกับกล้องสองตาทั้งขนาดและน้ำหนัก แต่สามารถวัดระยะไปยังตำบลใด ๆ ก็ได้ในระยะกว่า ๑ๆ กม. และมีความผิดพลาดไม่เกิน ๕ เมตร โดยใช้เวลาในการวัดเพียงแต่กดปุ่มแล้วปล่อยเท่านั้น ระยะก็จะปรากฏออกมาเป็นตัวเลข รายละเอียดและวิธีใช้จะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ สำหรับที่สหรัฐใช้อยู่เป็นแบบ AN/GVS5

ค. เมื่อสามารถวัดระยะได้อย่างถูกต้องรวดเร็วเช่นนี้ ผตน. ก็อาจใช้กล้องเลเซอร์ให้เป็นประโยชน์ได้หลายประการเช่น

๒) ทำแผนที่บริเวณเป้าหมาย เมื่อสามารถ วัดระยะและมุมภาคไปยังจุดใดๆได้ถูกต้อง ผตน. ก็อาจใช้วิธีโปล่าร์ กำหนดพิกัดของจุดยิงหาหลักฐาน, เป้าหมายคาดคะเน, เป้าหมายที่ปรากฏหรือตำบลสำคัญต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

๓) ใช้ปรับการยิง เมื่อวัดระยะและมุมภาคไปยังตำบลระเบิดของกระสุนที่ยิงออกไปได้อย่างถูกต้อง การปรับการยิงก็จะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยิงหาหลักฐานแบบ เอบีซีเอ. ละการยิงทำลายเป็นต้น การผ่าห้วงควบก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป และในการยิงเป็นพื้นที่อาจจะสั่งยิงหาผลได้ในนัดที่ ๒ เลยนัดเดียว

๑๐. กล้องกลางคืน

ก. เครื่องช่วยในการเห็นเวลากลางคืน หรือกล้องกลางคืนที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบันมีขีดความสามารถสูง เช่น สามารถตรวจเห็นคนในระยะกว่า ๑ กม. ตรวจเห็นยานพาหนะต่าง ๆ ได้กว่า ๑๐ กม. เป็นต้น

ข. กล้องกลางคืนนี้มีหลายแบบ โดยปกติแล้วใช้หลักการของ

๑) การขยายแสงธรรมชาติ เช่น แสงดาว แสงเดือน หรือแสงจากตัวเมือง เป็นต้น ให้มีความสว่างเพิ่มขึ้น กล้องประเภทนี้มักเรียกว่า กล้องแสงดาว ( Star Light Scope)

๒) อาศัยแสงอินฟาเรด คือยิงแสงอินฟาเรดออกไป ช่วยให้การเห็นในที่มืดดีขึ้น

๓) อาศัยความร้อนจากธรรมชาติ เช่น ร่างกายตน, เครื่องยนต์ที่ร้อนหรือท่อไอเสียต่าง ๆ กล้องประเภทนี้การเห็นได้ดีแม้จะมีหมอกหรือควันกำบัง

ค. กล้องกลางคืนเหล่านี้ ผตน. สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งในการเฝ้าตรวจสนามรบ, การค้นหาเป้าหมาย, การปรับการยิงและมีบางแบบที่ใช้เป็นกล้องเล็งของปืนเล็กยาวได้ด้วย

๑๑. เวลา แปะ ปัง (Flash to Bang time)

ก. บางครั้งระยะ ต. - ม. ที่กำหนดได้ไม่ถูกต้องจะทำให้ยากในการปรับการยิง ผตน. ที่สามารถ อาจตรวจสอบ ระยะ ต. – ม. ได้โดยการสังเกตตำบลระเบิดของกระสุน หรือการยิงของข้าศึก แล้วจับเวลาที่เห็นแสงแลบนั้นจนกระทั่งได้ยินเสียง ปัง แล้วนำมาคำนวณหาระยะ

ข. เสียงเคลื่อนที่ในอากาศปกติมีความเร็วประมาณ ๓๕๐ เมตรต่อวินาที ดังนั้น ระยะ ต. – ม. = เวลาแปะปัง (วินาที) คูณ ๓๕๐ (เมตร)

ค. ในเวลามือค่ำหรือทัศนวิสัยเลวอาจใช้เทคนิคเวลาแปะปังนี้ช่วยในการปรับการยิงได้ด้วยซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป