บทที่ ๑๐ การปรับการยิง

บทที่ ๑๐

การปรับการยิง


ตอนที่ ๑ หลักมูลฐานในการปรับการยิง

๑. ทั่วไป

ก. ความต้องการหลักในการโจมตีเป้าหมายให้ได้ผลก็คือ ต้องยิงอย่างแม่นยำและจู่โจมลงบนเป้าหมายนั้น ๆ ดังนั้น ผตน. จะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะทำการยิงหาผลในนัดแรก (ไม่มีการปรับการยิงให้ข้าศึกรู้ตัว)

ข. เมื่อ ผตน. ม่อาจกำหนดที่ตั้งเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง อาจจะเป็นเพราะทัศนวิสัยเลว ภูมิประเทศลวงตา แผนที่ไม่ถูกต้องและขาดเครื่องมือที่ดี จนไม่อาจมั่นใจได้ว่าการยิงหาผลในนัดแรกจะบรรลุความต้องการได้ ก็ควรจะทำการปรับการยิง

ค. แม้ว่า ผตน. จะขอยิงหาผลในนัดแรก เพราะมั่นใจในการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายของตนก็ตาม ถ้า ศอย. ไม่มั่นใจในการหาหลักฐานยิงเช่น ขาดตัวแก้ที่ถูกต้อง นอย. ก็อาจสั่งให้ปรับการยิงได้

ง. การปรับการยิง (Adjustment of fire) หมายถึงการแก้ไขการยิงที่กระทำมาแล้วได้ผลมากขึ้น อาจจะกระทำโดยแก้ไขทิศทาง ทางระยะและสูงกระสุนแตกของนัดก่อน เพื่อนำตำบลระเบิดให้ไประเบิด ณ จุดที่ต้องการ

จ. โดยปกติ แล้วการปรับการยิงกระทำด้วยปืนกระบอกเดียว เว้นไว้แต่กรณีพิเศษ ซึ่งจะได้กำหนดไว้โดยเฉพาะในแต่ละเรื่อง

ฉ. เมื่อจำเป็นจะต้องปรับการยิง ผตน. จะต้องเลือกจุดปรับการยิงขึ้นมาจุดหนึ่ง เพื่อช่วยให้การปรับการยิงง่ายขึ้น

ในการยิงประณีต เช่น การยิงหาหลักฐานหรือการยิงทำลายจุดปรับการยิงก็คือ จุดยิงหาหลักฐานหรือเป้าหมายเป็นจุดที่จะยิงทำลายนั้น

ในการยิงเป็นพื้นที่ ผตน. จะต้องเลือกจุดเด่น ๆ จุดใดจุดหนึ่งบริเวณกึ่งกลางหรือใกล้เป้าหมายนั้น จุดจุดนี้แหละคือจุดที่ ผตน. กำหนดเป็นที่ตั้งเป้าหมายในคำของยิง

รูปที่ ๑๐ – ๑ จุดปรับการยิงในการยิงเป็นพื้นที่


๒. การตรวจ (Spottings)

ก. การตรวจ ก็คือการที่ผู้ตรวจการณ์พิจารณาตำบลกระสุนตกหรือกึ่งกลางของตำบลระเบิดของกลุ่มกระสุนเปรียบเทียบกับจุดปรับการยิงโดยใช้แนวตรวจการณ์หรือแนว ตม. เป็นหลักอ้างอิง

ข. การตรวจการณ์ทางข้างหรือทางทิศ ได้แก่ การประมาณว่าตำบลระเบิดอยู่ทางขวาหรือทางซ้ายของแนวตรวจการณ์เท่าใด (มิล) การตรวจทางระยะได้แก่ การประมาณว่าตำบลระเบิดอยู่หน้าหรือหลังของจุดปรับการยิงและการตรวจสูงกระสุนแตก (เมื่อยิงด้วยชนวนเวลา) ว่ากระสุนแตกเหนือเป้าหมายเท่าใด (มิล)

ค. การตรวจนี้จะต้องกระทำทันทีที่กระสุนระเบิดขึ้น เว้นแต่การยิงด้วยชนวนถ่วงเวลา อาจจะต้องคอยสังเกตควันหรือฝุ่นหลังการระเบิด

ง. ในการฝึกผู้ตรวจการณ์ขั้นต้นควรจะให้รายงานผลการตรวจด้วยเสมอ ส่วนในการรบผู้ตรวจการณ์หน้าตรวจตำบลระเบิดในใจ

จ. ผู้ตรวจการณ์ควรจะคอยสังเกตการณ์ตรวจที่กระทำได้ยากที่สุดก่อนเสมอ คือ การตรวจสูงกระสุนแตกละเอียด ๑ มิล การตรวจทางระยะว่าหน้าหรือหลังและการตรวจทางทิศละเอียด ๕ มิล

๓. การตรวจสูงกระสุนแตก (สูงตำบลระเบิด)

เมื่อยิงด้วยชนวนเวลาหรือชนวนแตกอากาศต่าง ๆ จะต้องตรวจสูงกระสุนแตกด้วยเสมอและเป็นส่วนที่ตรวจให้ถูกต้องยากที่สุด ผลการตรวจสูงกระสุนแตก มี ๕ ประการ คือ

ก. แตกอากาศ (AIR.อ) นัดหรือกลุ่มกระสุนที่ระเบิดในอากาศตรวจเป็นแตกอากาศ (กี่มิล) เหนือพื้น

ข. กระทบแตก (Graze.ก) นัดหรือกลุ่มกระสุนที่กระทบพื้นแล้วจึงแตกตรวจเป็นกระทบแตก

ค. คละ (Mixed.ค) เมื่อยิงกระสุนเป็นจำนวนคู่ มีการแตกอากาศและกระทบแตกเท่า ๆ กันตรวจเป็นคละ

ง. แตกอากาศคละ (Mixed Air. อค.) เมื่อกลุ่มกระสุนที่ยิงไปแตกอากาศมากกว่ากระทบแตก ตรวจเป็น อากาศคละ

จ. กระทบแตกคละ (Mixed Graze. กค) เมื่อกลุ่มกระสุนที่ยิงไปกระทบแตกมากกว่าแตกอากาศ ตรวจเป็น กระทบแตกคละ

๔. การตรวจทางระยะ

ก. การตรวจทางระยะก็เพื่อให้ทราบว่ากระสุนตกหน้า หลังหรือระยะเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ในการปรับการยิงนั่นเอง โดยปกติแล้วกระสุนนัดที่ตรงทิศหรือระเบิดใกล้แนว ตม.มักจะตรวจทางระยะได้เสมอ

ข. กระสุนที่ระเบิดไกลแนว ตม. การตรวจทางระยะมักจะลำบาก ดังนั้น ผตน. จะต้องพยายามหาประโยชน์จากความรู้ในภูมิประเทศ ควันของตำบลระเบิด เงา และลมให้สามารถตรวจทางระยะได้ แต่อย่างไรก็ตามความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ดังนั้นจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ค. ผลการตรวจทางระยะ รายงานได้ดังนี้

๑) หลัง (Over +) นัดที่ระเบิดหลังจุดปรับการยิงตรวจว่าหลัง

๒) หน้า (Shot - ) นัดที่ระเบิดหน้าจุดปรับตรวจเป็นหน้า

๓) ถูกเป้าหมาย (Target ม.) นัดที่กระทบเป้าหมายแล้วระเบิดตรวจเป็น ถูกเป้าหมาย (ใช้เฉพาะการยิงประณีตเท่านั้น)

๔) ระยะเป้าหมาย (Range Correct รยม.) นัดที่ระเบิดใกล้เป้าหมายในระยะถูกต้องตรวจว่าระยะเป้าหมาย

๕) สงสัย (Doubtful ?) นัดที่เห็นการระเบิดแต่บอกไม่ได้ว่า หน้า หลัง ถูก ม. หรือระยะเป้าหมายตรวจว่าสงสัย

๖) หาย (Lost ห.) เมื่อไม่เห็นตำบลระเบิด ตรวจว่าหาย

๗) หายหลัง (หน้า) (Lost over (shot) หล. หน.) นัดที่ไม่เห็นตำบลระเบิดแต่ทราบว่า ตกหน้าหรือหลังจุดปรับตรวจเป็น หายหน้าหรือหายหลัง

๘) ตรวจไม่ได้ (Unobserved ตมด.) ไม่เห็นตำบลระเบิด และไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร ตรวจว่า ตรวจไม่ได้

ทิศทางของแนว ตม.

รูปที่ ๑๐ – ๒ การตรวจทางระยะ

๕. การตรวจทางทิศหรือทางข้าง

ก. การตรวจทางทิศได้แก่ จำนวนทางข้างที่วัดเทียบกับแนวตรวจการณ์ในการยิงเป็นพื้นที่ใช้ละเอียด ๕ มิล ในการยิงประณีตละเอียด ๑ มิล การวัดมุมปกติใช้กล้องสองตา

ข. การตรวจกลุ่มกระสุน ให้ใช้กึ่งกลางของตำบลระเบิดเทียบกับแนวตรวจการณ์ ผลการตรวจทางข้างออกมาเป็น

๑) ขวา (Right ข.) เมื่อกระสุนระเบิดทางขวา แนว ตม.ตรวจเป็นขวา

๒) ซ้าย (Left ซ.) เมื่อกระสุนตกทางซ้ายแนว ตม. ตรวจเป็นซ้าย

๓) ตรงทิศ (Line ตท.) เมื่อกระสุนตกในแนวหรือใกล้แนว ตม. มากตรวจเป็นตรงทิศ

๖. ตรวจไม่ได้และหาย

แม้ว่าผู้ตรวจการณ์จะไม่เห็นตำบลระเบิด แต่บางครั้งก็อาจทราบได้ว่าการหายนั้นเกิดที่ใด เช่น เมื่อได้ยินเสียงระเบิดแต่ไม่เห็นตำบลระเบิด และภูมิประเทศด้านหลังจุดปรับการยิงเป็น หุบเหว ผู้ตรวจการณ์หน้าก็ทราบได้ทันทีว่าควรจะเป็นการหายหลัง

ก. ถ้าทัศนวิสัยจำกัดชั่วคราว เช่น ผตน. ต้องเข้าที่กำบังเมื่อถูกข้าศึกยิงหรือเป้าหมายมีควันกำบัง และเมื่อไม่อาจทราบได้ว่านัดไหนเป็นนัดที่ตนตรวจเป็นต้น ผู้ตรวจการณ์จะตรวจว่า “ตรวจไม่ได้ ยิงซ้ำ”

ข. ถ้าผู้ตรวจการณ์ไม่เห็นตำบลระเบิดให้ตรวจว่า “หาย”

ค. กระสุนอาจหายได้หลายกรณี เช่น

- กระสุนด้าน

- ทัศนวิสัยถูกกำบัง เช่น มีหมอกมีควันหรือเสียงรบกวนมากจนแยกไม่ได้

- ภูมิประเทศกำบัง

- สภาพอากาศ เช่น ฝนตกหรือฟ้าร้อง

- ผู้ตรวจการณ์เผลอเอง

- ความผิดพลาดของชุดหลักยิงชุดใดชุดหนึ่ง

ง. เมื่อปรากฏว่ากระสุนหาย ผตน.จะต้องพิจารณาถึงประสบการณ์ของผตน.เอง ความชำนาญของ ศอย.และหมู่ปืนและที่ตั้งของแนวฝ่ายเราเทียบกับเป้าหมาย แล้วควรจะตกลงใจแก้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างความเชื่อมั่นว่าการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายของตนถูกต้อง ความถูกต้องของการยิงในภารกิจก่อน ๆ นัดที่หายเป็นนัดแรกของการยิงหรือนัดถัดมา และความเร่งด่วนของภารกิจ

จ. เมื่อมีกระสุนหาย ผตน. จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ทันที

๑) ตรวจสอบหลักฐานของทุกส่วน รวมทั้งการกำหนดที่ตั้งเป้าหมายและคำขอยิงของตน

๒) ขอกระสุนควันหรือควันขาวหรือการยิงแตกอากาศ ๒๐๐ เมตร ด้วยกระสุนระเบิดในนัดถัดไป

๓) ยิงซ้ำ

๔) ขอจบภารกิจและเริ่มภารกิจใหม่

๕) ตกลงใจอย่างรอบคอบในอันที่จะย้ายนัดต่อมาในทางที่คาดว่าจะตรวจได้ ต้องระวังเป็นพิเศษ ถ้าเป้าหมายนั้นอยู่ใกล้ฝ่ายเรา

๗. ประเภทของการแก้

หลังจากตรวจตำบลกระสุนตกแล้ว ผตน. จะต้องส่งการแก้ (Correction) เป็นเมตรไปให้ ศอย. ทราบ เพื่อที่จะดึงกระสุนเข้าสู่จุดที่ต้องการ การแก้ส่งไปยัง ศอย. คงมี ๓ ประเภท เช่นเดียวกับการตรวจ แต่ให้ส่งสวนทางหรือกลับกันเสีย คือให้แก้ตามลำดับดังนี้

ก. การแก้ทิศทาง

ข. การแก้ทางระยะ

ค. การแก้สูงกระสุนแตก

๘. การแก้ทางทิศ

ก. การแก้ทางทิศเป็นเมตรในอันที่จะย้ายตำบลระเบิดไปตรงข้ามกับผลการตรวจนั้น หาได้โดยแฟคเตอร์ ตม. (ระยะจากที่ตรวจการณ์ไปยังจุดปรับการยิงเป็นจำนวนเต็มพัน หรือหารด้วย ๑๐๐๐) คูณกับมุมทางข้างที่วัดจากแนวตรวจการณ์ (ด้วยกล้องสองตาหรือมือ) หรือ “การแก้หรือย้ายทางทิศ = แฟคเตอร์ ตม. คูณ ผลการตรวจทางทิศ”

๑) การแก้ทางทิศใช้เต็ม ๑๐ เมตร ย้ายไปตรงข้ามกับผลการตรวจ

๒) การแก้ทางทิศ ๒๐ เมตรหรือน้อยกว่า ถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย ปกติแล้วการยิงเป็นพื้นที่จะยังไม่แก้ในขั้นต้น จนกว่าจะถึงขั้นการยิงหาผล

ข. ในการหาแฟคเตอร์ ตม. นั้นเพื่อความรวดเร็วและถูกต้องพอควรในการใช้กำหนดเป็นหลักโดยทั่วไปไว้ดังนี้

๑) ระยะ ตม. ๑๐๐๐ ม. ขึ้นไป ใช้จำนวนเต็มพัน เช่น ๒๐๐๐ = ๒, ๒๕๐๐ = ๒, ๒๖๐๐ = ๓, ๓๕๐๐ = ๒ เป็นต้น

๒) ระยะตม. น้อยกว่า ๑๐๐๐ ม. ใช้เต็มร้อย เช่น ๕๐๐ = .๕, ๖๐๐ = .๖, ๘๐๐ = .๘, ๙๐๐ = .๙ เป็นต้น

ค. เมื่อหาการแก้ทางทิศเป็นเมตรได้แล้ว ปัดจำนวนเต็ม ๑๐ แล้วขานไปให้ ศอย.ทราบ เช่น ซ้าย ๒๐,ขวา ๔๐ ในทิศทางตรงข้ามกับผลการตรวจ ตัวอย่างเช่น

ระยะ ตม.(ม.) แฟคเตอร์ (ตม.) ผลการจรวจ (มิล) การแก้ทางทิศ (ม.)

๔๐๐๐ ๔๐ ขวา ซ้าย ๑๖๐

๒๕๐๐ ๑๐๐ ซ้าย ขวา ๒๐๐

๓๔๐๐ ๕๐ ซ้าย ขวา ๑๕๐

๑๕๐๐ ๒๐ ขวา ซ้าย ๔๐

๘๐๐ ๐.๘ ๔๐ ซ้าย ขวา ๓๐

ง. เมื่อมุมระหว่างแนว ตม. และแนว ปม.(มุมตรวจการณ์มุม ต.) มีค่าตั้งแต่ ๕๐๐ มิล. ขึ้นไป ศอย. ควรจะบอก ผตน. ให้ทราบ เพราะว่ามุม ต.ที่ใหญ่การกระจายทางระยะของปืนจะปรากฏเป็นการแก้ทางทิศของ ผตน. มากขึ้นทำให้แก้ไขลำบากกระสุนจะเปะปะมากขึ้น กรณีเช่นนี้ ผตน.ควรจะ

๑) นัดแรกคงแก้ตามปกติโดยใช้แฟคเตอร์ ตม. ที่ประมาณได้

๒) พิจารณาผลการแก้ของนัดที่แล้วว่ากระสุนไปขวาซ้ายมากน้อยกว่าปกติเท่าใด แล้วพิจารณาตัดทอนหรือเพิ่มเติมการแก้นัดต่อไปตามสัดส่วนที่ปรากฏนั้น

รูปที่ ๑๐ – ๕ มุมตรวจการณ์


๙. การแก้ทางระยะ

ก. การแก้ทางระยะนั้นสังเกตยาก ดังนั้น ผตน.ควรจะพยายามหาห้วงควบทางระยะให้โดยเร็วที่สุด โดยดำเนินการดังนี้

๑) เมื่อตรวจได้ว่าระยะเป็นหน้าหรือหลัง ผตน. ควรจะเพิ่มหรือลดระยะมากพอที่จะมั่นใจว่า นัดต่อไปจะตกตรงข้าม

๒) ต่อไปแบ่งครึ่งของแต่ละห้วงควบไปตามลำดับ ในทางที่จะทำให้ใกล้เป้าหมายเข้าไปมากที่สุด

ข. สำหรับ ผตน.ที่ไม่ชำนาญพอ การแก้ไขทางระยะควรจะใช้จำนวนเต็ม ๑๐๐ ที่เป็นคู่ เช่น ๒๐๐, ๔๐๐, ๘๐๐ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายในการที่จะผ่าห้วงควบในนัดต่อๆไป จนกระทั่งสามารถมั่นใจได้ว่า เมื่อยิงหาผลกระสุนจะระเบิด ณ จุดที่ต้องการ

ค. การขอยิงหาผลหรือการเข้าขั้นการยิงหาผลนั้นโดยปกติเริ่มเมื่อ

๑) ผ่าห้วงควบ ๑๐๐ (เพิ่มหรือลด ๕๐) หรือ

๒) เมื่อผลการตรวจเป็นระยะเป้าหมายหรือถูกเป้าหมาย

ง. การแก้ทางระยะ คงแก้ตรงกันข้ามกับผลการตรวจ คือตรวจเป็นหน้า แก้เป็น “เพิ่ม...” ตรวจเป็นหลังแก้เป็น “ลด...” เป็นจำนวนเต็ม ๑๐๐ เว้นแต่เมื่อจะเข้าขั้นการยิงหาผล

จ. ผู้ตรวจการณ์จะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะร่นการปรับการยิงให้สั้นที่สุด และฉวยโอกาสที่ยะยิงหาผลให้ได้เร็วที่สุดเช่นกัน นัดแรก ผตน.แก้ เพิ่ม ๘๐๐ และกระสุนนัดต่อมาตกหลังใกล้ ม. มาก แทนที่จะแก้เป็น ลด ๔๐๐ ก็แก้เพียง ลด ๒๐๐ เมื่อมั่นใจว่ากระสุนจะตกหน้า ม. หรือใกล้ ม. มากขึ้น พอที่จะตกลงใจ ยิงหาผลได้ดังนี้เป็นต้น การผ่าห้วงควบตามลำดับขั้นควรกระทำต่อเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ฉ. ห้วงควบ (Braket) คือระยะห่างระหว่างตำบลระเบิด ๒ นัด หรือ ๒ กลุ่มที่ตกหน้าและหลัง หรือขวาและซ้ายของจุดปรับการยิงอย่างละนัดหรือกลุ่ม การผ่าห้วงควบหมายถึงการสร้างห้วงควบใหม่ให้มีค่าเล็กลงครึ่งหนึ่งนั่นเอง เช่น นัดแรก เพิ่ม ๘๐๐ นัดที่ ๒ ลด ๔๐๐ นัดที่ ๓ เพิ่ม ๒๐๐ นัดที่ ๔ ลด ๑๐๐ นัดที่ ๕ ลด ๕๐ ยิงหาผล ดังนี้เป็นต้น

๑๐. การแก้สูงกระสุนแตก

ก. การปรับสูงกระสุนแตกก็เพื่อให้ได้ตำบลระเบิดสูงเหนือเป้าหมาย ๒๐ เมตร ในการยิงหาผล โดยแก้ด้วยการใช้คำว่า “สูงขึ้น” หรือ “ต่ำลง” เป็นจำนวนเต็ม ๕ เมตร”

ข. การปรับการยิงด้วยชนวนเวลานั้น ปกติแล้วจะใช้ ป. ๒ กระบอกทำการยิง โดยจะเริ่มปรับการยิงด้วยชนวนไว (ป.๑กระบอก) จนกระทั่งได้ห้วงควบ ๑๐๐ เมตร จึงเริ่มปรับชนวนเวลาต่อด้วยการผ่าห้วงควบ ๑๐๐ ม. และขอเปลี่ยนเป็นชนวนเวลา

ค. ระเบียบการปฏิบัติโดยทั่วไปได้แก่

๑) เมื่อนัดแรกตรวจได้เป็นกระทบแตก ให้แก้ “สูงขึ้น ๔๐”

๒) เมื่อนัดแรกตรวจได้เป็นคละ ให้แก้ “สูงขึ้น ๒๐” (ควรจะขอยิงหาผลได้”

๓) เมื่อทั้ง ๒ นัดแตกอากาศก็ให้วัดมุมดิ่งระหว่างกึ่งกลางของตำบลระเบิดกับจุดปรับการยิงแล้ว นำไปคูณกับแฟคเตอร์ ตม. จะเป็นความสูงของตำบลระเบิดเหนือจุดปรับนั้น เอา ๒๐ ไปลบออกจากความสูงของตำบลระเบิด ก็จะเป็นความสูงที่จะต้องแก้ “ต่ำลง” (ควรจะขอยิงหาผลได้ถ้าแตกอากาศไม่สูงมากเกินไป)

จ. ระเบียบการเหล่านี้เป็นหลักปกติโดยทั่วไป แต่อาการกระจายต่าง ๆ ภูมิประเทศและความผิดปกติอื่น ๆ มีอยู่เสมอ ดังนั้นการนำไปใช้จะต้องใช้ดุลยพินิจประกอบ ตามความเหมาะสม

๑๑. การยิงกระดอนแตก

ก. การยิงด้วยกระสุนระเบิดชนวนถ่วงเวลาให้กระดอนแตกนั้น ผลการสังหารต่อบุคคลในคูสนามเพลาะหรือหลุมบุคคลหรือแม้แต่บุคคลในที่โล่งดีทาก เพราะเป็นการแตกอากาศต่ำและสะเก็ดระเบิดทางข้างใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

ข. อย่างไรก็ตาม จะต้องรำลึกไว้เสมอว่า เมื่อต้องการกระดอนแตกจะต้องยิงด้วยส่วนบรรจุสูง ๆ ให้มีความเร็วต้นมากพอ, ยิงด้วยมุมยิงเล็กและพื้นที่ต้องแข็ง มิฉะนั้นแล้วกระสุนจะระเบิดในดิน

ค. ถ้าปรับด้วย ป.หลายกระบอกก่อนเข้าขั้นการยิงหาผลมีกระดอนแตกตั้งแต่ ๕๐% ขึ้นไปให้ยิงหาผลด้วยชนวนถ่วงเวลา ถ้าน้อยกว่าให้พิจารณายิงหาผลด้วยชนวนไวหรือวีทีตามความเหมาะสม

ถ้าปรับด้วย ป.๑กระบอก เมื่อเข้าขั้นการยิงหาผล หากไม่กระดอนแตกควรขอยิงทดสอบอีก ๑ นัด ถ้านัดสุดท้ายนี้กระดอนแตกก็ควรยิงด้วยชนวนถ่วงเวลา ถ้าไม่กระดอนแตกควรเปลี่ยนชนวน

สำหรับชนวนวีทีนั้นไม่ต้องปรับสูงกระสุนแตก เมื่อปรับด้วยชนวนถ่วงเวลาแล้วก้ขอยิงหาผลด้วยชนวนวีทีได้เลย

๑๒. การแก้ขั้นต่อไป

ก. เมื่อกระสุนนัดแรกระเบิดแล้ว ผตน. คงปรับแก้เพื่อดึงกระสุนเข้าสู่ตำบลที่ต้องการแล้วทำการยิงหาผลโดยเร็วที่สุด การปรับแก้นี้มีองค์ประกอบและลำดับดังนี้

๑) แนวตรวจการณ์ (OT Direction)

๒) อันตรายใกล้ฝ่ายเรา (Danger Close)

๓) กระสุนวิถี (Trajectory)

๔) วิธียิง (Method of fire)

๕) กรวย (Distribution)

๖) กระสุน (Projectile)

๗) ชนวน (Fuze)

๘) ปริมาตร (Volume)

๙) การแก้ทางทิศ (Deviation)

๑๐) การแก้ทางระยะ (Range)

๑๑) การแก้สูงกระสุนแตก (Height of burst)

๑๒) การควบคุม (Control)

๑๓) การเตรียมตรวจ (Splash)

๑๔) การยิงซ้ำ (Repeat)

ข. สำหรับลักษณะเป้าหมายในการขอยิงข่มฉับพลันหรือเมื่อต้องการยิงเป้าหมายใหม่โดยไม่เริ่มต้นขอยิงใหม่ ให้บอกก่อนการควบคุมหรือเป็นข้อ ๑๒) แทนการควบคุม

ค. ข้อใดที่ไม่ต้องการเปลี่ยนให้ละเว้นคือไม่ต้องกล่าวถึง

ง. การแก้ขั้นต่อมานี้มีแนวทางและข้อพิจารณาโดยย่อดังนี้

๑) การแก้แนวตรวจการณ์

ถ้าแนวตรวจการณ์หรือมุมภาค ตม. ผิดพลาดหรือเปลี่ยนแปลงไปเกิน ๑๐๐ มิล จากที่ประกาศไปในครั้งแรกควรจะขอเปลี่ยนแปลงไปยัง ศอย. เพราะจะทำให้การปรับการยิงยุ่งยากและไม่แม่นยำ เช่น ในกรณีที่ ผตน. เคลื่อนที่ แนวตรวจการณ์จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก่อนจะแก้ก็ควรบอกแนวตรวจการณ์ใหม่ เป็นอันดับแรก เช่น “มุมภาค ๕๘๔๐” เป็นต้น

๒) อันตรายใกล้ฝ่ายเรา

ในกรณีที่การปรับการยิงของ ป.สนามทำให้กระสุนตกใกล้ฝ่ายเรา ๖๐๐ เมตร ลงมาหรือ ค. ระยะ ๔๐๐ เมตร, ป.เรือระยะ ๗๕๐ เมตร ผตน. ควรประกาศ “อันตรายใกล้ฝ่ายเรา” ให้ ศอย.ทราบ ในกรณีนี้มีข้อพิจารณาคือ

- ปืนที่จะยิงหาผลจะต้องทำการยิงในชั้นการปรับการยิงมาแล้ว

- การปรับของ ผตน. ให้ปรับจากนัดที่ใกล้ฝ่ายเรามากที่สุด และใช้เทคนิคการยิงคืบ (ไม่สร้างห้วงควบ)

- เมื่อปรับแล้วกระสุนไประเบิดไกลกว่า ๖๐๐ เมตรของแนวฝ่ายเรา ผตน. ควรบอก “ยกเลิกอันตรายใกล้ฝ่ายเรา” ด้วย

๓) การเปลี่ยนกระสุนวิถี

เมื่อ ผตน.เห็นว่าควรจะเปลี่ยนแปลงกระสุนวิถีเป็นมุมใหญ่ เพื่อให้ผลการยิงดีขึ้นหรือเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มุมใหญ่อีกต่อไปก็ขอเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่น

เมื่อ ผตน. ปรับการยิงต่อ รสพ. อยู่ ต่อมา รสพ.เหล่านั้นเคลื่อนที่เข้าหลบในหุบระหว่างเนิน การยิงมุมเล็กจะไม่ได้ผล ผตน. ก็ควรเปลี่ยนกระสุนวิถีโดยขอ “มุมใหญ่”

ในทางตรงกันข้าม ผตน. ปรับการยิงมุมใหญ่ต่อขบวนยานยนต์ที่อยู่ในเมื่อมีตึกสูง ๆ ต่อมาขบวนยานยนต์นั้นวิ่งออกมาพ้นเมือง มุมใหญ่ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ผตน. ผตน.ก็ขอ “ยกเลิกมุมใหญ่” ไปยัง ศอย.ดังนี้เป็นต้น

๔) การเปลี่ยนวิธียิง

เมื่อเห็นว่าวิธียิงเดิมควรจะเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนจากการยิงด้วย ป.กระบอกเดียวเป็น ๒ กระบอกจากซ้ายไปขวา ก็จะขอ “ป.๒ กระบอก,จากซ้าย”เป็นต้น

๕) เปลี่ยนแปลงกรวยพื้นยิง

เมื่อเห็นว่ากรวยที่ใช้อยู่เดิมจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรก็ควรเปลี่ยน เช่น

เดิมใช้กรวยขนานคู่ (ไม่บอก) ต่อมาเมื่อต้องการเปลี่ยนกรวยก็ขอ “กรวยปิด” “กรวยเปิด” หรือ “กรวย ๑๐๐ ม.” ตามความเหมาะสม

ถ้าใช้กรวยพิเศษอยู่ จะกลับไปใช้กรวยปกติก็ขอ “ยกเลิกกรวยปิด” ดังนี้เป็นต้น

๖) การเปลี่ยนกระสุน

ถ้าต้องการเปลี่ยนแบบกระสุนก็ขอเปลี่ยนไปเช่น “กระสุนควันขาว”

๗) การเปลี่ยนชนวน

ประกาศชนวนที่ต้องการเช่น “ถ่วงเวลา” “วีที” เป็นต้น

๘) การเปลี่ยนปริมาตร

เช่น เดิมขอไว้ ๒ นัด ต้องการ ๓ นัดก็ขอ “๓นัด” เป็นต้น

๙) การแก้ทางทิศ

แก้กระสุนให้เข้าสู่แนวตรวจการณ์ตามที่กล่าวมาแล้ว

๑๐) การแก้ทางระยะ

เพื่อดึงกระสุนเข้าสู่จุดที่ต้องการดังกล่าวแล้ว

๑๑) การแก้สูงกระสุนแตก

เพื่อให้กระสุนแตก ณ ความสูงที่ต้องการเมื่อยิงด้วยชนวนเวลา

๑๒) การเปลี่ยนแปลงวิธีควบคุม

เช่น “ยิงหาผล” “ตามคำสั่งข้าพเจ้า” “ยกเลิกตามคำสั่งข้าพเจ้า”

๑๓) การเตรียมตรวจ

ถ้า ผตน.ยุ่งยากในอันที่จะทราบว่ากระสุนนัดใดเป็นของตนหรือขณะที่ต้องมีภาระอย่างอื่น ต้องการใช้เวลาทำงานไปพร้อมกัน ก็จะรายงาน “ขอเตรียมตรวจ” หรือไม่จำเป็นก็ขอ “ยกเลิก เตรียมตรวจ”

๑๔) ยิงซ้ำ

เมื่อต้องการให้ยิงซ้ำโดยไม่มีการแก้ไขอย่างอื่นจะขอ “ยิงซ้ำ” ถ้าแก้ตำบลระเบิดด้วยก็แก้ก่อน แล้วตามด้วยยิงซ้ำ เช่น “เพิ่ม ๕๐ ยิงซ้ำ” เป็นต้น



ตอนที่ ๒ การยิงเป็นพื้นที่


๑๓. ทั่วไป

เทคนิคการปรับการยิงเป็นพื้นที่มี ถ วิธีคือ การสร้างห้วงควบตามลำดับขั้น, การสร้างห้วงควบเร่งด่วน, การปรับ ๑ นัดและการยิงคืบ

๑๔. การสร้างห้วงควบตามลำดับขั้น

ก. เหมาะสำหรับ ผตน. ที่ไม่ชำนาญและใช้ในการยิงประณีตต่าง ๆ เช่นการยิงหาหลักฐาน เป็นต้น เป็นวิธีที่มั่นใจว่ากระสุนที่ยิงหาผลจะตกภายในระยะ ๕๐ เมตร ของตำบลระเบิดที่ต้องการ

ข. วิธีการโดยย่อก็คือ

๑) เมื่อทราบผลการตรวจทางระยะ (หน้าหรือหลัง) ผตน.จะพยายามดึงกระสุนต่อไปให้ตกตรงข้ามโดยการเพิ่มหรือลดระยะตามความจำเป็น

๒) การเพิ่มหรือลดนี้ เพื่อให้ง่ายในการผ่าห้วงควบควรใช้ระยะ ๑๐๐, ๒๐๐, ๔๐๐ หรือ ๘๐๐ ตามที่เห็นสมควร

๓) เมื่อนัดต่อมาตกตรงข้าม ผตน.ก็จะผ่าห้วงควบไปตามลำดับจนกระทั่งได้ห้วงควบ ๑๐๐ เมตร แล้วผ่าครั้งสุดท้ายทำการยิงหาผล (เพิ่มหรือลด ๕๐ หรือเมื่อใกล้เป้าหมายก็ขอยิงหาผลโดยไม่ต้องแก้)

ค. ตัวอย่างเช่น

๑) นัดที่ ๑ ตกหน้า ผตน. คาดว่าเพิ่ม ๔๐๐ คงตกหลังแน่ ก็ขอ “เพิ่ม ๔๐๐”

๒) นัดที่ ๒ ตกหลัง คาดว่า ลด ๒๐๐ คงตกหน้าแน่ ก็ขอ “ลด ๒๐๐”

๓) หากกระสุนนัดที่ ๓ นี้ตกหน้า ก็แสดงว่าได้ห้วงควบ ๒๐๐ เมตร ทางไกลก็จะผ่าเป็น “เพิ่ม ๑๐๐” หากตกหลังอยู่อีกแสดงว่าได้ห้วงควบ ๒๐๐ เมตร ทางใกล้ก็จะผ่าเป็น “ลก ๑๐๐”

๔) ขณะนี้ได้ห้วงควบ ๑๐๐ เมตรแล้ว การผ่าครั้งสุดท้ายนี้ย่อมมั่นใจได้ว่ากระสุนจะตกในระยะ ๕๐ เมตร ของตำบลที่ต้องการอย่างแน่นอน ก็ขอ “เพิ่ม ๕๐ ยิงหาผล” “ลด ๕๐ ยิงหาผล” แล้วแต่กรณี

หมายเหตุ การแก้ทางทิศก็คงแก้ไปตามปกติเพื่อดึงกระสุนเข้าสู่แนวตรวจการณ์

๑๕. การสร้างห้วงควบเร่งด่วน

ก. การสร้างห้วงควบเร่งด่วนนี้ใช้เมื่อต้องการยิงอย่างรวดเร็ว และ ผตน. มีประสบการณ์สูง

ข. เทคนิคโดยย่อคือ

๑) เมื่อได้ผลการตรวจทางระยะนัดแรก ก็พยายามเพิ่มหรือลดระยะเพื่อให้ได้ผลการตรวจในทางตรงข้ามโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นหลัก ๑๐๐ คู่หรือคี่ คือพยายามให้ตกหน้าหรือหลังเป้าหมายใกล้วุดเป็นดี

๒) เมื่อนัดที่ ๒ ได้ผลการตรวจตรงข้ามแล้วก็พิจารณาว่า นัดนี้ห่างจากเป้าหมายเท่าใด แล้วพยายามลดหรือเพิ่มอีกให้น้อยครั้งที่สุดเพื่อจะทำการยิงหาผลโดยเร็ว

ค. ตัวอย่างเช่น

๑) นัดแรกตกหน้า ผตน.คาดว่า หน้าเป้าหมายประมาณ ๑๕๐ เมตร ก็จะขอเพิ่ม ๒๐๐

๒) นัดที่ ๒ ตกหลังประมาณ ๕๐ เมตร ผตน.มั่นใจว่าสามารถยิงหาผลได้ ก็จะขอ “ลด ๕๐ ยิงหาผล” โดยไม่ต้องสร้างห้วงควบ ๑๐๐ เมตรอีก ดังนี้เป็นต้น

๑๖. การปรับหนึ่งนัด

ก. วิธีนี้ใช้ในกรณีเร่งด่วนจริงๆเท่านั้น เพราะอาจผิดพลาดได้ง่าย แต่เป็นวิธีที่ให้การจู่โจมสูง หาก ผตน.มีเครื่องมือในการกำหนดที่ตั้งเป้าหมาย และกำหนดตำบลระเบิดได้อย่างถูกต้องพอ เช่นมีกล้องเลเซอร์ เป็นต้น ก็สามารถใช้ได้อย่างมั่นใจ

ข. วิธีการโดยย่อก็คือ ยิงกระสุนไป ๑ นัด ผตน.ตรวจตำบลกระสุนตกเปรียบเทียบกับเป้าหมายแล้วแก้ทางทิศ, ทางระยะหรือสูงกระสุนแตกตามความจำเป็น แล้วขอยิงหาผลในนัดที่ ๒

หมายเหตุ การใช้เทคนิคการตรวจการณ์ร่วม (๒ ต. ขึ้นไป) สามารถใช้เทคนิคปรับหนึ่งนัดนี้ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง

๑๗. การยิงคืบ

เมื่อทำการยิงใกล้ฝ่ายเรา จำเป็นที่จะต้องใช้เทคนิคการยิงคืบ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับฝ่ายเรา วิธีการโดยย่อก็คือ

ก. เลื่อนกระสุนเข้าหาเป้าหมายครั้งละ ๑๐๐ เมตร หรือน้อยกว่าไปตามลำดับ แทนที่จะสร้างห้วงควบ หรือแก้ทางระยะทีละมาก ๆ

ข. ผตน. จะต้องจดจำและรำลึกถึงที่ตั้งต่าง ๆ ของฝ่ายเราอยู่ตลอดเวลา การปรับหรือการแก้ต่าง ๆ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง

ค. โดยปกติแล้วปืนที่ใช้ยิงหาผลจะต้องได้ทำการยิงในขั้นการปรับมาแล้ว

ง. ในการยิงหาผลทั้งกองพัน ควรจะปรับ ป.เป็นรายกระบอก ทีละกองร้อย หรือเป็นภารกิจอันตรายใกล้ฝ่ายเราของ ๓ กองร้อยนั่นเอง

จ. ตัวอย่างเช่น

๑) นัดที่ ๑ ยิงมาแล้ว ตกหลังเป้าหมาย ก็ขอ “ลด ๑๐๐”

๒) นัดที่ ๒ ยิงมาแล้ว ยังตกหลังอยู่อีก ก็ขอ “ลด ๑๐๐” หรือ “ลด ๕๐” อีกจนกระทั่งมั่นใจว่ากระสุนจะเข้าสู่เป้าหมาย

๓) เสร็จแล้วขอ ป.กระบอกอื่นยิงปรับตั้งแต่นัดแรกใหม่ ถ้าผิดปกติก็อาจจะคืบได้ทีละมากขึ้น เช่น “ลด ๑๕๐”

๔) เมื่อปรับครบทุกกระบอกแล้วจึงเริ่มของยิงหาผล

๑๘. การยิงหาผล

ก. จุดมุ่งหมายของการยิงเป็นพื้นที่ได้แก่ การเลื่อนพื้นที่อันตรายจากการระเบิดของกลุ่มกระสุน เข้าคลุมเป้าหมายให้ได้ผลมากที่สุดจำนวน ประเภทของกระสุนและชนวนที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นเคลื่อนที่หรือไม่เป็นหลัก

ข. โดยปกติแล้วการยิงหาผลต่อเป้าหมายอยู่กับที่จะเริ่มเมื่อได้ทิศทาง ระยะ และความสูงของตำบลระเบิดถูกต้อง หรือมั่นใจว่าเมื่อผ่าห้วงควบทางระยะครั้งสุดท้ายจะถูกต้องนั่นคือ

๑) ปกติถึง การผ่าห้วงควบ ๑๐๐ เมตร หรือได้ระยะ ๕๐ เมตร ห่างจากจุดปรับการยิง

๒) ถ้าย่านคาดคะเนทางระยะ (PER) ตั้งแต่ ๓๘ เมตรขึ้นไป ผตน.อาจขอยิงหาผลได้ตั้งแต่การผ่าห้วงควบ ๒๐๐ เมตร (เพิ่มหรือลด ๑๐๐ ยิงหาผล) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตน ในกรณีเช่นนี้ ศอย. จะต้องแจ้งค่าย่านคาดคะเนทางระยะให้ ผตน.ทราบด้วย

๓) ในการยิงชนวนเวลา ผตน. ควรขอชนวนเวลาหลังจากปรับทางเทคนิคและทางระยะด้วยชนวนไวได้ถูกต้องแล้ว และทำการปรับสูงกระสุนแตกต่อจนมันใจว่าการยิงหาผลจะได้สูงกระสุนแตกเหมาะนั่นคือ

ก) จะไม่ขอยิงหาผลในเมื่อชุดสุดท้ายเป็นกระทบแตกหมด

ข) จะไม่ขอยิงหาผลในเมื่อชุดสุดท้ายมีสูงกระสุนแตกเกิน ๔๐ เมตร

ค) สำหรับการยิงด้วยชนวนถ่วงเวลาให้กระดอนแตกนั้น ถ้า ๒ นัด หรือ ๒ กลุ่มสุดท้ายที่ยิงมากระดอนแตก ๕๐%ขึ้นไป ก็ให้ขอการยิงหาผลด้วยชนวนถ่วงเวลานั้น ถ้าแจกอากาศไม่ถึง ๕๐% ให้ใช้ชนวนวีทีหรือชนวนไวยิงหาผลแทน

๑๙. การตรวจผลการยิงและการปรับแก้หลักฐานยิง

ผตน. ควรจะเฝ้าตรวจผลการยิงหาผลเสมอ และกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ภารกิจเสร็จสมบูรณ์กล่าวคือ

ก. ถ้าการยิงนั้นได้ผลดีและตำบลระเบิดถูกต้องดี ผตน.ก็ขอจบภารกิจและรายงานผลการยิง เช่น “จบภารกิจ,ข้าศึกตาย ๒๐ นอกนั้นกระจัดกระจายหนี”

ข. ถ้าการยิงนั้นได้ผลดี แต่ตำบลระเบิดยังไม่ถูกต้องนัก ผตน. ก็จะขอจบภารกิจและปรับหลักฐานยิงให้ ศอย.ด้วย เช่น “ซ้าย ๒๐,ต่ำลง ๕,จบภารกิจ ....(ผลการยิง)

ค. ถ้าการยิงถูกต้องดี แต่ผลยังไม่พอเพียง ก็จะขอยิงซ้ำ เช่น “ยิงซ้ำ” ถ้าการยิงซ้ำนี้พอใจก็ขอจบภารกิจ

ง. ถ้าผลการยิงยังไม่ดีพอ เพราะผิดพลาดทางทิศ ทางระยะหรือสูงกระสุนแตก ผตน. ควรปรับหลักฐานใหม่และขอยิงซ้ำ เช่น “เพิ่ม ๕๐, ต่ำลง ๑๐ ยิงซ้ำ”

จ. ถ้ายิงกระดอนแตกปรากฏว่ากระสุนกระดอนแตกน้อยกว่า ๕๐% และเห็นว่าควรยิงซ้ำ ผตน.ก็จะขอเปลี่ยนชนวนหรือกระสุนใหม่และขอยิงซ้ำ เช่น “ชนวนวีที ยิงซ้ำ” หรือ “ไอซีเอ็ม ยิงซ้ำ”

ฉ. ถ้า ผตน. ต้องการให้กรุยเป้าหมายใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต ก็จะขอให้กรุยเป้าหมายตามด้วยจลภารกิจและรายงานผลการยิง เช่น “กรุยเป้าหมาย จบภารกิจ ค สงบการยิง”เป็นต้น

ช. สรุปกรณีต่าง ๆ ได้ดังนี้

๑) การยิงถูกต้อง, ผลดี = จบ, ผล

๒) การยิงถูกต้อง, ผลดี, ต้องการกรุย = ขอกรุย, จบ. ผล

๓) การยิงผิดพลาด, ผลดี = ปรับแก้, จบ, ผล

๔) การยิงผิดพลาด, ผลดี, ต้องการกรุย = ปรับแก้, จบ, กรุย

๕) การยิงผิดพลาด, ผลไม่พอใจ = ปรับแก้, ขอซ้ำหรือเริ่มปรับใหม่

๖) การยิงถูกต้อง, ผลไม่พอใจ = ขอซ้ำ


ตอนที่ ๓ การยิงประณีต

๒๐. ทั่วไป

การยิงประณีต (Precision Fire) คือการยิงที่ต้องการความถูกต้องของกระสุนแต่ละนัด ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของ ผตน. อย่างมาก การยิงประณีตมี ๒ ชนิดคือ การยิงหาหลักฐานประณีต และการยิงทำลาย

หลักการโดยทั่วไปของการยิงประณีตก็คือใช้ ป.กระบอกเดียวทำการยิงทั้งในขั้นการปรับการยิงและในขั้นการยิงหาผล หลักปฏิบัติคือพยายามเลื่อนจุดปานกลางมณฑลของกลุ่มกระสุนเข้าสู่เป้าหมายให้ได้เร็วที่สุดและถูกต้องที่สุด

การยิงหาหลักฐานประณีตนั้น ปกติแล้วจะใช้ปืนหลัก ส่วนการยิงทำลายจะใช้หมู่ใดก็ได้

๒๑. การยิงหาหลักฐานประณีต (ยถปณ, Precision Registration)

ก. ความมุ่งหมายของการยิงหาหลักฐานประณีตก็คือ ต้องการให้ได้ตัวแก้ทางทิศ, ทางระยะและเวลาชนวน เพื่อนำไปใช้กับการยิงภารกิจอื่น ๆ ต่อไป

ข. แนวความคิดมูลฐานก็คือ พยายามดึงจุดปานกลางมณฑลของกลุ่มกระสุนเข้าสู่จุดที่ทราบที่ตั้งอย่างถูกต้องซึ่งเรียกจุดยิงหาหลักฐาน (จล.) แล้วนำหลักฐานนั้นมาเปรียบเทียบกับหลักฐานแผ่นเรขาก็จะได้ตัวแก้ที่ถูกต้อง

ค. การยิงหาหลักฐานประณีตมี ๒ อย่างคือ การยิงหาหลักฐานชนวนไว และการยิงหาหลักฐานชนวนเวลา และแบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นปรับการยิงและขั้นการยิงหาผล โดยทั่วไปแล้วจะทำการยิงหาหลักฐานด้วยชนวนไวก่อน แล้วจึงยิงด้วยชนวนเวลาในภายหลัง และ ศอย. มักจะเป็นผู้ริเริ่มและสั่งจบภารกิจโดยส่งข่าวให้ ผตน. ทำการตรวจและปรับการยิงให้

ง. ขั้นการปรับการยิง (ชนวนไว)

๑) การตรวจและการแก้ทางทิศ คงกระทำตามปกติโดยพยายามดึงกระสุนเข้าสู่แนวตรวจการณ์ให้ได้เร็วที่สุดเพื่อที่จะให้ได้ผลการตรวจทางระยะเร็วขึ้น การแก้ทางทิศเล็กน้อยก็ควรแก้ด้วย

๒) การตรวจและการแก้ทางระยะก็คงใช้ระเบียบดังที่กล่าวแล้ว แต่ควรสร้างห้วงควบอย่างประณีต เพื่อประกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

๓) ส้นสุดขั้นปรับการยิงเมื่อเข้าขั้นการยิงหาผล โดย ผตน. เป็นผู้ขอการยิงหาผลไปเมื่อการปรับทางทิศ และทางระยะได้ถูกต้องแล้ว

จ. ขั้นการยิงหาผล

๑) การยิงหาผลจะเริ่มขึ้นเมื่อ

ก) การแก้ทางทิศ มั่นใจว่าจะถูกต้อง แก้ไม่มาก

ข) ผลการตรวจทางระยะ

(๑) เป็นระยะเป้าหมาย

(๒) ผ่าห้วงควบที่เหมาะคือ ถ้าย่านคาดคะเนน้อยกว่า ๓๘ เมตร ปกติจะผ่าห้วงควบ ๑๐๐ เมตร (เพิ่ม,ลด ๕๐) แต่ถ้าย่านคาดคะเนทางระยะตั้งแต่ ๓๘ เมตรขึ้นไป (ซึ่ง ศอย. จะแจ้งให้ทราบ) ควรขอยิงหาผล เมื่อผ่าห้วงควบ ๒๐๐ เมตร

ค) ถ้ากรุสนถูกเป้าหมายในขั้นการปรับการยิง ถือว่ากระสุนนัดนั้นเป็นนัดแรกในการยิงหาผล

๒) การปฏิบัติในขั้นการยิงหาผล

ก) ในขั้นการยิงหาผลนี้ ผตน. ไม่ต้องแก้กระสุน คงส่งแต่ผลการตรวจไปให้ ศอย. ทราบเท่านั้น

ข) ในขั้นการยิงหาผลนี้ ศอย. อาจสั่งยิงทีละนัด, ๒ นัด หรือ ๓ นัดก็ได้ การส่งผลการตรวจให้พิจารณาส่งตามความเหมาะสม

ค) ผลการตรวจทางทิศ ตรวจเป็น ขวา ซ้าย หรือตรงทิศ

ง) ผลการตรวจทางระยะ ตรวจเป็น หน้า หลัง ถูกเป้าหมาย และสงสัย

หมายเหตุ - ในขั้นนี้คงตรวจได้ทุกนัด กระสุนหายคงไม่มี เว้นแต่ด้าน

- กระสุนตกในระยะเป้าหมาย แต่ไม่ตรงทิศ ตรวจว่าสงสัย

- การส่งผลการตรวจคงทำกลับกันกับการแก้คือ ส่งผลการตรวจที่ยากที่สุดก่อน คือ ผลการตรวจทางระยะแล้วตามด้วยผลการตรวจทางเทคนิค เช่น หลังตรงทิศ หน้าขวา สงสัยซ้าย ถูกเป้าหมาย เป็นต้น

- นัดที่ผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้น ผตน. ควรรายงานให้ ศอย. ทราบเป็นระยะไว้ด้วย เช่น “สงสัย, ซ้าย ๐๐ เมตร” ป็นต้น

ฉ. การยิงหาหลักฐานด้วยชนวนเวลา

๑) เมื่อ ศอย. ได้หลักฐานของชนวนไวแล้ว ก็จะเริ่มการยิงหาหลักฐานด้วยชนวนเวลาต่อไปโดยแจ้ง ผตน. ว่า “ตรวจชนวนเวลา”

๒) ผตน. ไม่ต้องปรับสูงกระสุนแตก คงรายงานเฉพาะผลการตรวจให้ ศอย.ทราบว่ากระทบแตก หรือแตกอากาศเท่านั้น

๓) นัดที่แตกอากาศสูงผิดปกติ ผตน. ควรรายงานสูงกระสุนแตกเป็นเมตรให้ ศอย.ทราบด้วย เช่น แตกอากาศ ๗๕ เมตร เป็นต้น

๔) บางครั้ง ศอย. อาจจะยังไม่ได้มุมทิศที่ถูกต้องในขั้นการยิงชนวนไว ก็อาจขอให้ ผตน. ส่งผลการตรวจทางระยะและทางทิศ สำหรับนัดที่กระทบแตกไปให้ด้วย เช่น “กระทบแตก. หลัง, ขวา” เป็นต้น

๕) การยิงในขั้นนี้ ศอย.อาจจะยิงทีละนัด ๒ นด หรือ ๓ นัดก็ได้ ผตน. ก็พิจารณาส่งผลการตรวจ แต่ละนัดให้ ศอย.ทราบตามความเหมาะสม และนัดใดที่ผิดปกติ ผตน. ก็ควรรายงานให้ ศอย. ทราบเช่นเดียวกัน

๖) การยิงดำเนินการไปเช่นนี้จนกว่า ศอย. จะสั่งจบภารกิจ

๒๒. การยิงทำลาย

ก. เป้าหมายเป็นจุด, มีความแข็งแรง เช่น บังเกอร์ หรือที่ตรวจการณ์ของข้าศึกเป็นต้น ผตน. เห็นว่าควรจะทำลายเสีย ก็จะขอยิงทำลายด้วยกระสุนและชนวนที่เหมาะ

ข. ขั้นปรับการยิง ผตน. คงแก้ทางทิศและทางระยะเพื่อดึงกระสุนเข้าสู่เป้าหมายตามปกติ

ค. การยิงนัดแรก ๆ หรือในขั้นปรับการยิง ศอย. อาขใช้กระสุนระเบิดชนวนไวเพื่อให้ง่ายในการตรวจและปรับการยิง เมื่อเห็นว่ากระสุนใกล้เป้าหมายมากแล้ว นอย. จะสั่งใช้กระสุนและชนวนที่เหมาะกับเป้าหมาย เช่น ชนวนถ่วงเวลาหรือชนวนเจาะคอนกรีต เป็นต้น ถ้าชนวนที่ใช้ในชั้นนี้ได้ผล ผตน. ก็ควรขอเปลี่ยนกระสุนและชนวนที่ตอนเห็นว่าจะได้ผลมากกว่า

ง. ขั้นการยิงหาผล ก็คงดำเนินการเช่นเดียวกันกับการยิงหาหลักฐานประณีต คือ ผตน. ขอการยิงหาผล แล้วส่งผลการตรวจทางระยะและทางทิศไปให้ ศอย.ทราบ พร้อมกับความผิดปกติต่าง ๆ ที่ตน สังเกตเห็น

จ. เมื่อเห็นว่าเป้าหมายถูกทำลายตามความต้องการแล้ว ผตน.ก็จะขอ “จบภารกิจ” เป้าหมายถูกทำลาย

๒๓. การยิงหาหลักฐาน เอบีซีเอ

ก. การยิงหาหลักฐานประณีตดังกล่าวแล้วนั้นมักจะสิ้นเปลืองกระสุนและใช้เวลามาก ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว เพราะไม่ประหยัดและยังอาจเป็นอันตรายจากการตรวจจับหาที่ตั้งด้วยเครื่องมือ คปม. ของข้าศึกง่ายอีกด้วยจึงเกิดเทคนิคการยิงหาหลักฐานแบบใหม่คือ การยิงหาหลักฐานแบบ เอบีซีเอ ขึ้น

ข. การยิงหาหลักฐานแบบนี้ ใช้กระสุนน้อยและรวดเร็วกว่า แต่ต้องพึ่งขีดความสามารถของ ผตน. เป็นอันมาก

ค. ระเบียบการดำเนินการขั้นต้นก็คงเหมือนกันเช่น

๑) ศอย. แจ้งข่าวไปถึง ผตน. “ลพบุรี ๒๔ จากลพบุรี ๑๘, ตรวจการยิงหาหลักฐาน เอบีซีเอ จล.๒ ชนวนไวและเวลา, เปลี่ยน”

๒) ผตน.ทวนข่าวแล้วรายงานทิศทางตรวจการณ์ เช่น “มุมภาค ๖๔๐๐ เปลี่ยน”

๓) การยิงและการปรับในขั้นต้นคงดำเนินไปเหมือนกับการ ยฐปณ เว้นแต่ให้แก้ทางทิศเพื่อดึงกระสุนเข้าสู่แนว ตม. ก่อนที่จะสร้างห้วงควบ ๒๐๐ เมตร แล้วไม่แก้ทางทิศอีก

ง. หลักการโดยทั่วไปก็คือ

๑) การยิงหาหลักฐานชนวนไวนั้น ต้องการผลการตรวจเป็นหน้า ๒ นัด หลัง ๒ นัด ตามแนว ตม. เมื่อยิงด้วยหลักฐานเดียวกันหรือด้วยหลักฐานที่แตกต่างกัน ๒๕ เมตร หรือหลักฐานที่แตกต่างกัน ๕๐ เมตร เมื่อย่านคาดคะเนทางระยะตั้งแต่ ๒๕ เมตรขึ้นไป

๒) การยิงหาหลักฐานชนวนเวลานั้น ต้องการผลเฉลี่ยของการแก้สูงกระสุนแตก ๔ นัด ที่ยิงด้วยหลักฐานเดียวกัน ให้ได้ความสูง ๒๐ เมตร เหนือจุดยิงหาหลักฐาน

๓) ผตน. ดำเนินการยิงโดยส่งตัวแก้ต่าง ๆ ให้ ศอย. ทราบตลอดเวลา จนกว่าจะได้หลักฐานกะกำหนด จึงขอให้ ศอย. บันทึกพร้อมกับแจ้งหลักฐานปรับแก้ และขอจบภารกิจ

๔) นัดที่ถูกเป้าหมายหรือนัดที่ได้ระยะเป้าหมาย ถือว่าได้ผลการตรวจทางระยะเป็นทั้งหน้า (-) และหลัง (+) นั่นคือถ้ามีถูกป้าหมายหรือได้ระยะเป้าหมาย ๒ นัด ก็ถือว่าจบภารกิจได้ เพราะได้ผลการตรวจเป็นหน้า หลังครบ ๔ นัดแล้ว

จ. ระเบียบการปฏิบัติการยิงชนวนไว

๑) ผตน. ตรวจทางทิศของกระสุนแต่ละนัดละเอียด ๑ มิล แล้วหาตัวแก้ทางทิศเพื่อดึงกระสุนเข้าสู่แนวตรวจการณ์ก่อนที่จะสร้างห้วงควบ ๒๐๐ เมตร

๒) เมื่อ ผตน. ดึงกระสุนเข้าสู่แนวตรวจการณ์ได้แล้ว ให้ตรวจทางทิศและบันทึกผลไว้ทุกนัด แต่ไม่ต้องแก้ทางทิศ

๓) หากผลการตรวจทางระยะออกมาเป็นสงสัย (มีทราบว่าหน้าหรือหลัง) ผตน. ควรแก้เฉพาะทางทิศเท่านั้น

๔) หากการแก้ทางทิศกระทำหลังจากการสร้างห้วงควบ ๒๐๐ เมตร นัดสุดท้ายที่ยิงและนัดก่อน ๆ ทั้งหมด ถือว่าเป็นนัดที่ใช้ไม่ได้ในการที่จะนำไปปรับแก้หลักฐานทั้งทางทิศและทางระยะ

๕) ถ้ากระสุนถูกเป้าหมาย หรือระยะเป้าหมายในขั้นปับการยิง ถือเป็นนัดแรกในการยิงหาผล ให้ทำการยิงซ้ำจนได้ผลการตรวจทางระยะครบ ๒ นัด

๖) เมื่อสร้างห้วงควบ ๕๐ เมตรแล้ว ให้ยิงไปอีก ๒ นัด ด้วยการเพิ่มหรือลด ๒๕ เมตร ตรงข้ามกับนัดสุดท้ายที่ตรวจทางระยะได้

๗) เมื่อทั้ง ๒ นัด ที่ยิงไป

ก) ตกหน้าหรือหลังทั้ง ๒ นัด ให้เพิ่มหรือลด ๒๕ เมตร (ตรงข้ามกับนัดที่แล้ว) แล้วยิงไปจนได้ผลการตรวจทางระยะครบ ๒ นัด (ยิง ๑ นัด รวมกับนัดเดิมอก ๑ นัด เป็น ๒ นัด)

ข) ตกคละให้ยิงซ้ำด้วยหลักฐานเดิมอีก ๑ นัด

๘) เมื่อได้ผลการตรวจเป็นหน้า ๒ นัด หลัง ๒ นัด จากการยิงด้วยหลักฐานเดียวกันหรือหลักฐานที่แตกต่างกัน ๒๕ เมตร ก็จะเป็นการจบภารกิจยิงหาหลักฐานด้วยชนวนไวพร้อมกับการปรับแก้หลักฐานให้ถูกต้องตามความจำเป็น

๙) หลักฐานปรับแก้ (Refinement Data) นั้นได้แก่การพิจารณาเลื่อนจุดปานกลางมณฑลของกระสุน ๔ นัด ที่ยิงออกไปให้เข้าสู่จุดยิงหาหลักฐานเป็นครั้งสุดท้ายในทางระยะ, ทางทิศหรือทั้ง ๒ อย่าง โดยมีความละเอียดถึง ๑๐ เมตร

๑๐) การปรับแก้หลักฐานทางระยะนั้นให้พิจารณาถึงที่ตั้งของ จล.เปรียบเทียบกับกระสุน ๒ กลุ่ม (๔นัด) ที่ยิงหาผลโดยถือเกณฑ์ ทั่วไปดังนี้

ก) ถ้า จล.อยู่ใกล้กับกลุ่มสุดท้ายมากกว่า ไม่ต้องปรับแก้

รูปที่ ๑๐ – ๖ จล.อยู่ใกล้กลุ่มสุดท้าย ไม่ต้องปรับแก้

ข) ถ้า จล.อยู่กึ่งกลางของกระสุนทั้ง ๒ กลุ่ม ให้ปรับแก้ทางระยะเป็นเพิ่มหรือลด ๑๐ จากนัดสุดท้ายที่ยิง

รูปที่ ๑๐ – ๗ จล.อยู่กึ่งกลางของกลุ่มกระสุนเพิ่ม (ลด) ๑๐

ค) ถ้า จล. อยู่ใกล้กับกลุ่มแรกมากกว่า ให้ปรับแก้เป็นเพิ่มหรือลด ๒๐ จากนัดสุดท้ายที่ยิง

รูปที่ ๑๐ – ๘ จล.อยู่ใกล้กลุ่มแรกมากกว่าเพิ่ม (ลด) ๒๐

๑๑) ผู้ตรวจการณ์จะต้องบันทึกผลการตรวจของกระสุนทุกนัดอย่างต่อเนื่องโดยเปรียบเทียบกับที่ตั้งของ จล.วิธีง่ายก็คือ เขียนภาพและให้หมายเลขกำกับไว้ทุกนัด

๑๒) หลักฐานปรับแก้ทางทิศ ให้นำผลการตรวจทางทิศ (เต็มมิล) ของกระสุนทั้ง ๔ นัด (อาจจะมีผลการตรวจทางทิศ ๒,๓ หรือ๔ นัดก็ได้ เพราอาจมีนัดทางทิศที่ถูก ม.อยู่ด้วย) มาบวกกันแล้วหารด้วยจำนวนนัดที่ยิงหาผลทั้งหมด (๒,๓ หรือ ๔ นัด) แล้วคูณด้วยแฟคเตอร์ ตม.(เต็ม ๑๐๐ เมตร) ก็จะได้หลักฐานปรับแก้ทางทิศ

ตัวอย่างที่ ๑

นัดที่ ผลการตรวจ

+ ๖ ข.

- ๘ ข.

- ๕ ข.

+ ๗ ข.

ผลบวก = ๒๖ ข.

เฉลี่ย ๒๖ หาร ๔ = ๖.๕ = ๖ ข.

แฟคเตอร์ ตม. = ๓

ปรับทางทิศ = ๓ ๖ = ๑๘ ม.

การปรับแก้ “ซ้าย ๒๐, ลด ๑๐ บันทึกหลักฐานกะกำหนด, จบภารกิจ เปลี่ยน”

(จล. อยู่กึ่งกลางกลุ่มกระสุน)

ตัวอย่างที่ ๒

นัดที่ ผลการตรวจ

ม.

+ ๗ ข.

- ๓ ข.

ผลบวก = ๔ ข.

เฉลี่ย = ๔ หาร ๓ = ๑.๓๓ = ๑ ข.

แฟคเตอร์ ตม. = ๒

ปรับทางทิศ = ๒๑ = ๒ ม.

การปรับแก้ “เพิ่ม ๑๐ บันทึกหลักฐาน

กะกำหนด, จบภารกิจ เปลี่ยน”

(จล.อยู่กึ่งกลางกลุ่มกระสุน)

ฉ. การยิงหาหลักฐานด้วยชนวนเวลา

๑) เมื่อยิงหาหลักฐานชนวนไวจบ ผตน. ก็จะพิจารณาหาหลักฐานปรับแก้ดังกล่าวแล้ว แล้วประกาศให้ ศอย.ทราบ ถ้าจะยิงหาหลักฐานด้วยชนวนเวลาต่อก็ขอการยิงชนวนเวลาหลังจากนั้น ตัวอย่างเช่น

“ขวา ๑๐ เพิ่ม ๑๐ บันทึกหลักฐานกะกำหนด ชนวนเวลา ยิงซ้ำ เปลี่ยน”

๒) จุดมุ่งหมายของการยิงหาหลักฐานด้วยชนวนเวลาก็คือ หาค่าตัวแก้สูงกระสุนแตกเฉลี่ย ๔ นัดที่ยิงด้วยหลักฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้สูงกระสุนเหนือ จล.๒๐ เมตร

๓) ถ้ากระสุนนัดแรกที่ยิงไปเป็นกระทบแตก ให้แก้ “สูงขึ้น ๔๐”

๔) เมื่อกระสุนแตกอากาศแล้ว ๑ นัด ก็ให้ขอ “๓ นัดยิงซ้ำ”

๕) เมื่อยิงกระสุน ๔ นัด ด้วยหลักฐานเดียวกัน การยิงหาหลักฐานก็เป็นอันจบสมบูรณ์เพียงพอที่จะหาตัวแก้สูงกระสุนแตกได้ดังนี้

ก) แตกอากาศทั้ง ๔ นัด ให้นำผลการตรวจทั้ง ๔ นัด (มุมดิ่งละเอียด ๑ มิล) มาบวกแล้ว หาค่าเฉลี่ยโดยเอา ๔ หาร (เต็ม ๑ มิล) แล้วหาค่าความสูงเฉลี่ยเป็นเมตรโดยการเอาแฟคเตอร์ ตม.คูณ ผลการตรวจเฉลี่ยนั้นแล้วเอา ๒๐ เมตร (ความสูงเหนือ จล. ที่ต้องการ) ไปลบจากความสูงเฉลี่ยนั้นปัดเป็นจำนวน ๕ เมตร ก็จะเป็นค่าตัวแก้สูงกระสุนแตกเฉลี่ยที่ต้องการ แล้วรายงาน ศอย. เช่น “ต่ำลง ๑๕ บันทึก เวลาชนวนกะกำหนด จบภารกิจ เปลี่ยน”

ข) ถ้าแตกอากาศ ๓ นัด กระทบแตก ๑ นัด ถือว่าสูงกระสุนแตกถูกต้อง ไม่ต้องแก้รายงาน “บันทึกเวลาชนวนกะกำหนด,จบภารกิจ, เปลี่ยน”

ค) ถ้าแตกอากาศ ๒ นัด กระทบแตก ๒ นัด แก้สูงขึ้น ๑๐ เช่น “สูงขึ้น ๑๐, บันทึกเวลาชนวนกะกำหนด,จบภารกิจ, เปลี่ยน”

ง) ถ้าแตกอากาศ ๑ นัด กระทบแตก ๓ นัด แก้สูงขึ้น ๒๐ เช่น “สูงขึ้น ๒๐, บันทึกเวลาชนวนกะกำหนด,จบภารกิจ,เปลี่ยน”

๖) ถ้าหากไม่มั่นใจ อาจยิงสอบอีก ๑ หรือหลายนัดก็ได้ แต่โดยปกติแล้วไม่จำเป็น

๗) ถ้านัดแรกแตกอากาศสูงมาก ผตน.ควรจะแก้สูงกระสุนแตกก่อนแล้วยิงไปอีก ๑ นัด ถ้าเห็นว่าพอวัดได้แม่นยำก็ขอให้ยิงเพิ่มอีก ๓ นัด และใช้ ๔ นัดหลังนี้ในการหาตัวแก้

ช. กรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างตามตาราง ๑๐-๑ ถึง ๑๐-๓ นี้ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่ง ผตน. อาจตองประสพ ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องช่วยหรือแนวทางในการเรียนรู้เท่านั้น มิใช้เป็นข้อบังคับที่ ผตน.จะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด แต่ละตัวอย่างใช้แทนแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นมิได้เกี่ยงข้องกัน คำแนะนำในการใช้แต่ละตารางมีดังนี้

๑) แต่ละตารางเป็นการดำเนินการต่อไปจากภารกิจ ซึ่งดำเนินมาแล้วที่แสดงไว้ทางด้านซ้ายของขอบตาราง

๒) นัดผ่าห้วงควบที่เหมาะสมหรือนัดที่ได้ระยะเป้าหมาย หรือถูกเป้าหมายในขั้นปรับการยิงคือนัดแรกที่ปรากฏในตาราง

๓) ในตารางได้กำหนดนัดที่,ผลการตรวจและการแก้ของ ผตน. ในแต่ละขั้นตอนไว้ด้วยเช่นในตาราง ๑๐-๑ นัด ๕(-), (๒) + ๒๕ แสดงว่า ผตน.ตรวจนัดที่ ๕ เป็นหน้าและแก้เป็น ๒ นัด,เพิ่ม ๒๕ เปลี่ยน

๔) ผลการตรวจซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจาก ผตน.ได้ทำการแก้ไปแล้วที่ได้แสดงไว้ทุกขั้นตอน ผู้ที่ใช้ตารางก็เพียงแต่เลือกเอาเฉพาะเหตุการณ์ที่ตนกำลังเกี่ยวข้องมาพิจารณา เพื่อหาการแก้และการปฏิบัติการที่เหมาะสมแล้วเลื่อนไปดูผลการตรวจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในนัดนั้นต่อไป กระทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบภารกิจ

๕) การจบภารกิจยิงหาหลักฐานด้วยชนวนไวนั้น มิใช่จบลงด้วยคำที่ว่า บันทึกหลักฐานกะกำหนด.....(ใช้นัดไหนได้บ้าง) เท่านั้น ผตน. จะต้องจบภารกิจลงด้วย การปรับแก้หลักฐานครั้งสุดท้ายเสมอ เช่น บันทึกหลักฐานกะกำหนด, จบภารกิจ, เปลี่ยน” หรือ “ซ้าย ๑๐ เพิ่ม ๒๐, บันทึกหลักฐานกะกำหนด,ชนวนเวลา,ยิงซ้ำ, เปลี่ยน” (ถ้าจะมีการยิงหาหลักฐานชนวนเวลาต่อ) เป็นต้น

๖) คำย่อที่ใช้ในตารางนี้มีดังนี้ น = นัดที่, ม = ถูกเป้าหมาย, รยม = ระยะเป้าหมาย, จล. = จุดยิงหาหลักฐาน, - = หน้า,ลด, + = หลัง,เพิ่ม, ซ = ซ้าย, ข = ขวา, (๑),(๒) = ๑ หรือ ๒ นัด, ยซ. = ยิงซ้ำ, บันทึก = บันทึกหลักฐานกะกำหนด

ตาราง ๑๐ – ๑ เพิ่ม ๒๕ ในนัดที่ ๕ และตาราง ๑๐ - ๒ ลด ๒๕ ในนัดที่ ๕

ตาราง ๑๐ - ๓ ระยะเป้าหมาย/ถูกเป้าหมายระหว่างปรับการยิง

หมายเหตุ

๑. ถ้าได้ผลการตรวจเป็นระยะเป้าหมาย หรือถูกเป้าหมาย ในระหว่างปรับการยิง ผตน. ดำเนินการต่อไปโดยขอยิงซ้ำ (จากนัดที่ ๓ ตาราง ๑๐ – ๓)

๒. ถ้าผลการตรวจในนัดที่เพิ่ม หรือลด ๕๐ ยังคงได้ผลเช่นเดียวกับนัดก่อน ผตน. ก็คงใช้ผลการตรวจและปรับจากนัดนั้นต่อไปตามปกติคือ เพิ่มหรือลด ๒๕ เป็นนัดที่ ๕ ในตาราง ๑๐ – ๑ และ ๑๐ – ๒

๓. นัดถูกเป้าหมาย อาจถือได้ว่าเป็น ๒ นัด ควบเป้าหมาย คือ ได้ผลการตรวจเป็นทั้งหน้าและหลัง

๔. ผตน. แก้ทางระยะไปครั้งละ ๒๕ เมตร จนกว่าจะได้ผลการตรวจเป็นถูกเป้าหมาย,ระยะป้าหมายหรือได้ผลตรงข้ามกับนัดก่อน แล้วขอแก้ไปในทางที่เหมาะเพื่อสอบห้วงควบ ถ้าแก้ทางระยะ ๒๕ ม.ไปแล้ว ๒ หรือ ๓ นัด ยังคงได้ผลการตรวจเช่นเดียวกับส่วนใหญ่อยู่ แสดงว่าสร้างห้วงควบผิด ผตน. ควรจะสร้างห้วงควบใหม่เช่นเพิ่มหรือลด ๕๐ หรือ ๑๐๐ ตามความเหมาะสมแล้วดำเนินการยิงหาผลต่อไป

๕. ผตน. ขอจบภารกิจเนื่องจากผลการตรวจเท่ากับกระสุน ๒ คู่ที่ยิงด้วยหลักฐานที่แตกต่างกัน ๒๕ เมตร และควบจุดยิงหาหลักฐานแล้ว

ซ. การยิงหาหลักฐานงวดงานที่สอง

การยิงหาหลักฐานด้วยกระสุนงวดงานที่สอง คงปฏิบัติเช่นเดียวกับงวดงานแรก ระเบียบปฏิบัติโดยทั่วไปคือ

๑) เมื่อ ยฐ. ชนวนไวของงวดงานแรกจบ ถ้าจะยิงชนวนเวลาต่อก็ดำเนินการต่อไปจนจบ

๒) ถ้าจะยิงหาหลักฐานงวดที่ ๒ ต่อ ศอย. ก็จะส่งข่าวถึง ผตน.ว่า “ตรวจการยิงหาหลักฐานงวดที่ ๒ “ ผตน.ก็จะดำเนินการปรับเพื่อสร้างห้วงควบ แล้วยิงหาผลเช่นเดียวกับการยิงงวดแรก

๓) การ ยฐ. ชนวนไวงวดที่ ๒ โดยปกติ ศอย. จะเริ่มต้นด้วย มุมทิศและมุมยิงกะกำหนดที่ได้จากงวดแรก สำหรับมุมทิศกะกำหนดของงวดแรกปกติจะใช้กับงวดที่ – ได้ด้วย

๔) โดยปกติไม่ยิงหาหลักฐานชนวนเวลา (ซ้ำอีก) เวลาชนวนกะกำหนดของงวดที่ ๒ หาได้โดยเอาตัวแก้เวลาชนวนทั้งสิ้นจากงวดแรก รวมเข้ากับเลาชนวนที่ตรงกับมุมสูงกะกำหนดของงวดที่สอง

ตัวอย่างการยิงหาหลักฐาน ๒ งวดงาน

- ศอย.ส่งข่าวถึง ผตน. “ลพบุรี ๒๔ จากลพบุรี ๑๘ ตรวจการยิงหาหลักฐานต่อ จุดยิงหาหลักฐานที่ ๒, ชนวนไวและเวลา, ๒ งวดงาน, เปลี่ยน”

- ผตน. ทวนข่าว แล้วดำเนินการยิงงวดแรกจนจบ แล้วรายงาน “บันทึกเวลาชนวนกะกำหนด, เปลี่ยน”

- ศอย. ถึง ผตน. “ตรวจการยิงหาหลักฐานงวดที่ ๒ เปลี่ยน”

- ผตน. ทวนข่าว “ตรวจหารยิงหาหลักฐานงวดที่ ๒, ทราบแล้ว” แล้วดำเนินการยิงต่อไปตามปกติ

ฌ. การยิงหาหลักฐานแบบย่อ

๑)บางครั้งสถานการณ์ทางยุทธวิธี หรือกระสุนขาดแคลนไม่สามารถยิงหาหลักฐานแบบสมบูรณ์ได้ก็อาจจำเป็นต้องยิงแบบย่อแทน

๒) แม้ว่าหลักฐานตัวแก้ที่ได้จากการยิงแบบย่อจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์นัก แต่ก็สามารถใช้แก้ความไม่มาตรฐานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี การตกลงใจว่าจะทำการยิงแบบใดนั้นเป็นหน้าที่ของ นอย.

๓) ผตน.ลดระเบียบปฏิบัติปกติให้สั้นลง โดยดำเนินการดังนี้

ก) ผ่าห้วงควบ ๕๐ เมตร แล้วยิงไปหนึ่งนัดให้ได้ผลการตรวจทางระยะแล้วหาหลักฐานปรับแก้เลยโดยพิจารณาถึงกระสุนนัดสุดท้ายที่ยิงเข้าสู่จุดยิงหาหลักฐานก่อนนี้ (คือสร้างห้วงควบด้วยกระสุนหนึ่งนัดแทนที่จะเป็น ๒ นัด)

ข) พิจารณาหาเทคนิคแบบย่ออื่น ๆ ที่จะลดขั้นตอนลงให้ได้มากที่สุด แต่ต้องประสานกับ ศอย. ให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อความถูกต้องได้

ค) ถ้าจะยิงหาหลักฐานด้วยชนวนเวลาต่อ ก็ขอไปตามปกติ เมื่อได้ผลเป็นแตกอากาศก็อาจใช้ผลของนัดนั้นเลยหรือยิงซ้ำอีกเพียง ๑ นัด แล้วใช้ผลเฉลี่ยของกระสุน ๒ นัด แทน ๔ นัด

๒๔. การยิงทำลายแบบ เอบีซีเอ

ก. การยิงทำลายคงดำเนินการเหมือนการยิงหาหลักฐานในขั้นต้น แต่เมื่อได้ปรับแก้หลักฐานแล้วให้ทำการยิงต่อไป เพื่อให้กระสุนถูกเป้าหมายตามความต้องการ

ข. ให้ยิงเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ นัด แล้วปรับหลักฐานครั้งหนึ่งตามความจำเป็น (ใช้เต็ม ๑๐ เมตร ทั้งทางทิศและทางระยะ)

ค. การแก้ทีละนัดก็อาจทำได้ ถ้าต้องการ

ง. ตัวอย่างเช่น แฟคเตอร์ ตม. ๒ ผตน. ปรับแก้หลักฐานดังนี้

นัดที่ ผลการตรวจ การแก้

- เพิ่ม ๑๐*

- ๔ ข. ยซ.

๑๐ + ๕ ข. ยซ.

๑๑ - ๔ ข. ซ. ๑๐**

๑๒ รยม. ๑ ซ. ยซ.

๑๓ ม. “จบภารกิจ ม.ถูกทำลาย”***


หมายเหตุ

* ม. อยู่กึ่งกลางของ ๔ นัด ในการปรับแก้หลักฐานครั้งแรก

** ส่วนใหญ่เป็นขวาเฉลี่ยได้(๔+๕+๔)หาร ๓ = ๔ ข. แก้ซ้าย = ๔๒ = ๘ = ซ้าย ๑๐

*** จบภารกิจเพราะ ม. ถูกทำลายแล้ว

ตอนที่ ๔ บันทึกช่วยผู้ตรวจการณ์หน้า

๑. นัดแรกในการยิงนั้น การตรวจด้วยตาเปล่าจะเห็นได้เร็วกว่าใช้กล้องสองตา เพราะอาจตกไกลเป้าหมายมาก และคาดคะเนตำบลระเบิดไม่ได้

๒. กรอบพลาสติกของกล้องสองตานั้นสามารถถอดออกได้ สำหรับ ผตน. ที่ใช้แว่นตาควรถอดกรอบออก แล้วใช้เทปปิดรัดส่วนที่เป็นโลหะเสีย เพื่อมิให้โลหะกระทบกับแว่นตาเป็นรอยได้

๓. เมื่อปรับโฟกัสของกล้องสองตาแล้ว ถ้าใช้เทปพันไว้ก็จะไม่เสียเวลาปรับโฟกัสอีก

๔. สำหรับภารกิจปรับการยิงเป็นพื้นที่ การวัดมุมทางข้างด้วยกล้องสิงตานั้นควรใช้เต็ม ๕ มิล

๕. ผตน. ควรเทียบนิ้วมือและมือของตนว่ากว้างเท่าไร (กี่มิล) เพื่อช่วยในการปรับทางทิศมาก ๆ ซึ่งจะสะดวกและง่ายกว่าการวัดด้วยกล้องสองตามาก

๖. แฟคเตอร์ ตม. ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงกระสุนแตกได้เช่นเดียวกับการปรับทางทิศ

๗. การเขียนภาพภูมิประเทศสังเขปไว้อย่างดีจะช่วยให้ ผตน. ใช้แผนที่ประกอบกับภูมิประเทศได้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น

๘. การใช้เทคนิค แปะปัง ร่วมกับทิศทาง (มุมภาค) ช่วยให้ ผตน. หาพิกัดตำบลกระสุนตกได้เป็นอย่างดี

๙. เมื่อกาติดต่อสื่อสารมีปัญหา ผตน. ควรตกลงใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งทันที

๑๐. จะต้องไม่ลืมว่าให้พยายามยิงหาผลในนัดแรกให้ได้ หรือยิงหาผลให้ได้เร็วที่สุด เพราะข้าศึกจะเคลื่อนที่หนีหรือเข้าที่กำบังทันทีถ้าเขาทราบว่าตนกำลังถูกยิง

๑๑. ทุกครั้งที่เกิดการชักช้าขึ้น ผตน. จะต้องริเริ่มกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาทันที

๑๒. การเขียนภาพสังเขปของกระสุนแต่ละนัด จะช่วยให้พิจารณานัดที่ใช้ได้ในการยิงหาหลักฐานแบบ เอบีซีเอ ได้ง่ายและถูกต้องยิ่งขึ้น