• ภาพ นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร อดีตข้าหลวงต่างพระองค์หัวเมืองลาวกาว

  • ภาพพิธีมอบเมืองตราดและเกาะกงให้กับข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำเขมร

  • ภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส (ปกหลัง) Le Petit Journal ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1905

  • ที่มาของภาพจาก : http://watsaithong.blogspot.com/p/blog-page.html

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (9)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


เหตุการณ์สงครามฝรั่งเศส - สยาม (วิกฤตการณ์ ร.ศ.112)

พุทธศักราช 2436 สยามเกิดพิพาทกับฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกันในนามเหตุการณ์ ร.ศ.112 กล่าวคือ เมื่อฝรั่งเศสได้ญวน และเขมรเป็นอาณานิคมแล้วฝรั่งเศสได้แต่งตั้งให้ ปาวี เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ปาวีอ้างว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเคยเป็นเมืองขึ้นของญวน และเขมรมาก่อน ฝรั่งเศสควรมีสิทธิครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนี้ด้วย

วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2436 ฝรั่งเศสได้ให้เรสิดังปัสตา ร้อยเอกโทเร ร้อยตรีโมโซ และมองซิเออ ปรุโซ คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน 200 คน กับกำลังเขมรเมืองพนมเปญอีกจำนวนหนึ่งลงเรือ 33 ลำ พร้อมด้วยอาวุธยกเป็นขบวนทัพขึ้นไปตามลำน้ำโขง เข้ามาในเขตสยาม ขับไล่ทหารสยามที่รักษาการณ์อยู่ที่บุ่งขลา แขวงเมืองเชียงแตง บังคับให้เจ้าเมืองกับร้อยโทคร้าม ข้าหลวงและทหารอีก 12 คน ให้ข้ามไปอยู่เมืองธาราบริวัฒน์ ฝั่งโขงตะวันตก ทหารฝรั่งเศสเหล่านี้อ้างว่าดินแดนฝั่งโขงตะวันออกและเกาะคอนเป็นของญวนในบำรุงของฝรั่งเศส เมื่อทหารฝรั่งเศสยึดได้เมืองเชียงแตงแล้ว ได้ให้ทหารแยกย้ายไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในแก่งหลีผี แล้วเดินทัพต่อไปถึงเมืองหลวงพระบาง

พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวฝ่ายใต้ เมืองสีทันดร เห็นว่าฝรั่งเศสทำผิดสัญญาพระราชไมตรี จึงสั่งให้ทหารและข้าราชการคุมกำลังแยกย้ายกันไปป้องกันฝรั่งเศสไว้ แล้วมีหนังสือไปห้ามปรามกองทัพฝรั่งเศสตามทางพระราชไมตรี แต่ฝรั่งเศสหาฟังไม่ กลับระดมยิงทหารรักษาการณ์ฝ่ายสยาม และรัฐบาลสยามก็หาได้มีคำสั่งให้ต่อสู้ฝรั่งเศสอย่างใดไม่ พอมีหนังสือไปอีก ฝรั่งเศสก็ได้ใช้ปืนใหญ่น้อยยิงมาอีก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าเหลือกำลังจะห้ามปราม และปฏิบัติการโดยดีกับฝรั่งเศสได้แล้วจึงได้ระดมยิงปืนโต้ตอบไปบ้าง

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงต่างพระองค์หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานีได้ทรงทราบ และขัดเคืองฝรั่งเศสเป็นอมิตรเช่นนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กำลังพลของเมืองศีร์ษะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด หัวเมืองละ 800 คน เมืองสุวรรณภูมิเมืองยโสธร เมืองละ 500 คน และให้เกณฑ์กำลังเมืองขุขันธ์ เพิ่มอีก 500 คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมกำลังไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพรและเมืองเซลำเภา ให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากเมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์ที่เมืองขุขันธ์

วันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2436 โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์กับราชบุตรคุมกำลังเมืองยโสธร 500 คน และให้อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไสยคุมกำลังเมืองศีร์ษะเกษ 500 คน รวมเป็น 1,000 คน พร้อมด้วยอาวุธออกไปสมทบกับกองทัพพระประชา นายสุจินดา ณ เมืองสีทันดร และให้พระไชยภักดี สามีญาแม่อ้วนหลานเขยพระภักดีโยธา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเมืองศีร์ษะเกษ คุมกำลังเมืองศีร์ษะเกษ 500 คน พร้อมด้วยอาวุธยกไปรักษาการณ์อยู่ ณ ช่องโพย และด่านพระประสพ แขวงเมืองขุขันธ์ การพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ตกลงกันได้ตามสัญญาลงวันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2436 ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของไทยจึงตกเป็นของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาดังกล่าว[10]

หลังสงครามฝรั่งเศส - สยาม (วิกฤตการณ์ ร.ศ.112)

พุทธศักราช 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกลุ่มหัวเมืองชั้นนอกขึ้นเป็นมณฑล จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น 4 มณฑล เป็นมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 มณฑล คือ มณฑลนครราชสีมา ซึ่งปรับปรุงมาจากมณฑลเดิม ทรงแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ปกครองมณฑล มณฑลนครราชสีมาแบ่งย่อยเป็น 3 บริเวณ คือ บริเวณนครราชสีมา บริเวณนางรอง และบริเวณชัยภูมิ มีข้าหลวงบริเวณเป็นผู้ปกครองขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาล



-----------------------------------

[10] สุนทร สุริยุทธ, เรื่องเดิม, หน้า 31.