• ช่างตีเหล็ก บ้านกำแพง ต.กำแพงใหญ่ อ. อุทุมพรพิสัย

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (7)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


พุทธศักราช 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปรับปรุงหน่วยของเงินบาทใหม่ให้เข้ากับหลักสากล โดยกำหนดให้เงิน 1 บาทเท่ากับ 100 สตางค์ (แทน 64 อัฐ) และใช้เหรียญ 1 สตางค์ แทนสลึงเฟื้อง โดยยกเลิกเงินเหรียญเฟื้องซีกเสี้ยว อัฐและโสฬส สตางค์แดงของไทยทำครั้งแรกจากโรงกระษาปณ์ประเทศเบลเยี่ยมตลอดจนเหรียญทองแดง และนิเกิลที่มีใช้จ่ายในเมืองไทยก็สั่งทำจากโรงกระษาปณ์แห่งเดียวกันนี้ และในศกเดียวกันนี้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกรมธนบัตรมารวมกับกรมตรวจและกรมการสารบัญชี

พุทธศักราช 2432 กรมการเมืองสุวรรณภูมิ มีใบบอกได้กล่าวโทษพระเจริญราชเดช (ท้าวฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคาม พระยาสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์ และพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ว่ากระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ โดยเจ้าเมืองมหาสารคามได้เอาบ้านนาเลา ตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม เจ้าเมืองสุรินทร์ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมืองชุมพลบุรี ส่วนพระวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกองขอตั้งเป็นเมืองราษีไศล จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าหลวงกำกับเมืองจำปาศักดิ์และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานีร่วมคณะไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่าการกระทำของเจ้าเมืองทั้ง 3 ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลยมานานแล้ว ยากที่จะรื้อถอนได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้คงเป็นเมืองขึ้นของทั้ง 3 เมืองตามเดิม และในปีนี้ภาคตะวันออกได้เกิดแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ราษฎรไม่ได้ทำไร่ทำนาเป็นเวลาติดต่อกันมาหลายปี ราษฎรได้รับความอดอยาก กินหัวเผือก หัวมันแทนข้าว ในปีนี้ข้าวเปลือกมีราคาสูงถึงเกวียนละ 1 ชั่ง 8 ตำลึง

พุทธศักราช 2428 – 2450 เป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอันมีผลต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงมีพระราชดำริจัดการปฏิรูปการปกครองตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้รวมศูนย์กลางเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากสมัยก่อนจะมีตำแหน่งเจ้าเมือง ปกครองมีอำนาจในการปกครองท้องถิ่น มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น ๆ ในหัวเมืองใหญ่นอกราชอาณาเขตหรือบางเมืองเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครสามารถแต่งตั้งขุนนางเองได้ และเมื่อเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครถึงแก่กรรม บุตรหลานผู้สืบสกุลก็สามารถเป็นเจ้าเมืองครองอำนาจในเมืองนั้น ๆ สืบต่อไปได้ ด้วยความที่ทรงไม่ไว้วางพระทัยในความไม่มั่นคงของราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองใหญ่ ๆ และมีความสำคัญในแต่ละภูมิภาคจากส่วนกลางมากำกับดูแลเมืองสำคัญและเมืองบริวารอีกชั้นหนึ่งด้วย

สำหรับเมืองศีร์ษะเกษในสมัยนั้นปรากฏชื่อหลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) และขุนไผทไทยพิทักษ์ (เกลื่อน) คณะข้าหลวงเมืองศีร์ษะเกษที่ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าเมืองศรีสะเกษ ในปีพุทธศักราช 2433 - 2443 และในปีพุทธศักราช 2443 – 2450 พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า) ปลัดเมืองศีร์ษะเกษ บุตรชายพระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษท่านแรก