• ภาพ บ้านยกใต้ถุนสูง ระหว่างเส้นทางน้ำอ้อม - ศรีสะเกษ บ้านสำโรงระวี อ.ศรีรัตนะ (ปัจจุบัน)

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 16 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

  • ภาพ กะลอ อุปกรณ์พื้นบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งชาวบ้านทั่ว ๆ ไป มักจะเรียกว่า “โปง” ใช้สำหรับเคาะเรียกประชุมลูกบ้านในหมู่บ้าน หรือเคาะเพื่อไล่นกที่ลงมากินข้าวในนา ภาพถ่ายระหว่างเส้นทางน้ำอ้อม-ศรีสะเกษ บ้านสำโรงระวี อ.ศรีรัตนะ

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 16 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (14)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


เมืองขุขันธ์ถูกจัดตั้งเป็นจังหวัดครั้งแรก

พุทธศักราช 2459 ได้มี “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ให้เรียกว่าจังหวัด ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2459”[19] มีสาระสำคัญว่า

“…เพื่อความเข้าใจง่ายในการปกครอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า เมือง ให้เรียกว่าจังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัด ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 33, 2459 หน้า 51…”

ดังนั้นเมืองขุขันธ์จึงเปลี่ยนเป็น“จังหวัดขุขันธ์”[20]ตั้งแต่วันที่19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2459 เป็นต้นมา โดยเริ่มแรกมี 7 อำเภอ คือ อำเภอศีร์ษะเกษ อำเภอห้วยเหนือ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอท่าช้าง อำเภอน้ำอ้อม อำเภอคง และอำเภอเดชอุดม มีที่ตั้งศาลากลางจังหวัดที่อำเภอศีร์ษะเกษ ต่อมามีการเพิ่มอีก 1 กิ่งอำเภอ เป็นผลให้เขตการปกครองของจังหวัดขุขันธ์ในอดีตมี 7 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้สะกดชื่อตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2460 ได้แก่ อำเภอเมืองขุขันธ์ อำเภอศีร์ษะเกษ อำเภอราษีไศล (อำเภอคง) อำเภอรัตนบุรี (ต่อมาถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดสุรินทร์) อำเภอกันทรลักษ์ (อำเภอน้ำอ้อม) อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอเดชอุดม (ต่อมาได้รับการโอนไปขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีใน พุทธศักราช 2472) กิ่งอำเภอบัวบุณฑริก (หรืออีกชื่อหนึ่งคือกิ่งอำเภอโพนงาม ซึ่งแยกออกมาจาก อำเภอเดชอุดม ในปีพุทธศักราช 2466 ต่อมาได้รับการโอนไปขึ้นกับ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับอำเภอเดชอุดม)[21]

พุทธศักราช 2465 มีการปรับปรุงการบริหารงานส่วนภูมิภาคใหม่ โดยรวมมณฑลหลายมณฑลเข้าเป็นภาค และโปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นภาคอีสาน โดยมีอุปฮาด ทำหน้าที่ตรวจการบริหารราชการเหนือสมุหเทศาภิบาล และทำหน้าที่สมุหเทศาภิบาลประจำมณฑล ซึ่งที่ทำการภาคตั้งอยู่ด้วย โดยขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องอยู่ในปกครองของกระทรวงมหาดไทย

เพื่อให้การสั่งงานเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น พุทธศักราช 2468 มีการยุบเลิกมณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ดขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา จังหวัดขุขันธ์จึงขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา

พุทธศักราช 2470 มีการยุบเลิกมณฑลทั่วประเทศ จังหวัดขุขันธ์จึงขึ้นต่อการบริหารส่วนกลาง

พุทธศักราช 2470 มีการโอนตำบลต่าง ๆ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีไปขึ้นในการปกครองของจังหวัดขุขันธ์ คือ

1. โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลโพนค้อ อำเภอวารินชำราบ ไปขึ้นกับอำเภอน้ำอ้อม ต่อมาเป็นตำบลเสียว ตำบลหนองหว้า ตำบลท่าคล้อ และตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์

2. โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลโพนค้อ อำเภอวารินชำราบ ไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์ ต่อมาเป็นตำบลโนนค้อ และตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ

3. โอนพื้นที่ตำบลหนองแก้ว ตำบลทาม ตำบลละทาย ตำบลเมืองน้อย และตำบลหนองแวง อำเภอเขื่องใน ไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์


พุทธศักราช 2471 จังหวัดขุขันธ์ได้โอนพื้นที่อำเภอเดชอุดม และกิ่งอำเภอโพนงามไปขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี



-----------------------------------

[19] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2459 (2459, 28 พฤษภาคม), ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม33), [ออนไลน์], แหล่งที่มา

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/A/51.PDF.

[20] กรมศิลปากร, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544), หน้า 10.

[21] เติม วิพากษ์พจนกิจ, เรื่องเดิม, หน้า 149.