• ภาพพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ)

  • เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก

  • ที่มาภาพ: สภาพวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ https://www.mueangkhukhanculturalcouncil.org/2011/07/9.html

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (เรียบเรียงใหม่)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


เมืองศรีสะเกษมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจแต่ที่นี้จะกล่าวถึงประวัติเมืองศรีสะเกษในช่วงที่เริ่มสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่และเริ่มเป็นที่รู้จัก เมืองศรีสะเกศ, เมืองศีร์ษะเกษหรือเมืองศรีสะเกษ ในเอกสารฉบับนี้อาจจะสะกดแตกต่างกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางภาษาในยุคสมัยนั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบันใช้คำสะกดว่า “ศรีสะเกษ”

เมืองศรีสะเกศปรากฏความในตำนานเอกสารโบราณของอาณาจักรล้านช้างเกี่ยวกับการกำเนิดอาณาจักรล้านช้างร่มขาวจำปาศักดิ์ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้อาณาจักรล้านช้างแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างร่มขาวจำปาศักดิ์ ปรากฏความเมื่อพุทธศักราช 2237 อาณาจักรล้านช้างเกิดความระส่ำระสาย มีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเจ้านครหลวงเวียงจันทน์สวรรคต พระยาเมืองจันทน์เป็นขบถแย่งชิงราชสมบัติ และต้องการได้พระนางมังคลา ราชธิดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมาเป็นมเหสี แต่พระนางไม่ยินยอมจึงได้หนีไปอาศัยอยู่กับพระครู ยอดแก้ว แห่งวัดโพนเสม็ดหรือที่เรารู้จักกันในนาม เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) ขณะนั้นพระนางกำลังทรงพระครรภ์ ท่านพระครูยอดแก้วจึงส่งไปอยู่ภูชะง่อนหอคำ ได้ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่า “เจ้าหน่อกษัตริย์” ฝ่ายพระยาเมืองจันทน์เห็นราษฎรนับถือท่านพระครูยอดแก้วมากจึงคิดกำจัด ท่านพระครูยอดแก้วได้ทราบจึงพาราษฎรพร้อมทั้งศิษยานุศิษย์ประมาณ 3,000 คน อพยพหนีจากเวียงจันทน์ไปอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำสมสนุก แขวงเมืองนครพนม แล้วให้คนเชิญเอาเจ้าหน่อกษัตริย์ที่ภูชะง่อนหอคำไปอยู่ด้วย เมื่อพระครูไปถึงตำบลใดก็มีราษฎรนิยมนับถือเข้าเป็นพวกด้วยเป็นอันมาก ท่านพระครูได้พาเหล่าราษฎรผู้ติดตามลงไปถึงแดนเขมร แขวงเมืองบันทายเพชร แสดงความจำนงจะอยู่ในเขตแดนเขมร แต่ขุนนางท้องถิ่นกลับเรียกเอาเงินครอบครัวละ 8 บาท ท่านพระครูเห็นว่าจะเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎร จึงอพยพขึ้นตามลำน้ำโขงถึงนครกาละจำปานาคบุรีศรี จึงหยุดตั้งพักอยู่ที่เมืองนั้น ราษฎรที่อพยพตามมาก็แยกย้ายกันไปอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ปะปนกับพวกข่าส่วยเขมรซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิม ฝ่ายเจ้านางแพง บุตรีเจ้านางเภากับเจ้าปางคำ เชื้อสายเจ้า นครเชียงรุ้ง เป็นผู้ปกครองนครกาละจำปานาคบุรีศรี เห็นผู้คนนับถือพระครูเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ เจ้านางแพงเป็นสตรีจึงมอบอำนาจการปกครองให้ท่านพระครูยอดแก้วเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ท่านพระครูยอดแก้วเห็นว่า กิจการบ้านการเมืองเป็นเรื่องของฆราวาส ไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย จนถึงพุทธศักราช 2252 เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการทะเลาะวิวาทกันขึ้น ท่านพระครูจึงให้อำมาตย์ไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาซึ่งอยู่บ้านงิ้วสมสนุกลงไปยังเมืองกาละจำปานาคบุรีศรี พระครูพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ จึงอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นเอกราชตามราชประเพณี และเปลี่ยนนามเมืองนคร กาละจำปานาคบุรีศรี เป็นนครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี เมื่อพุทธศักราช 2256 ทรงพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร