• ภาพ การประหารชีวิตนักโทษหรือผู้มีความผิดตามคำพิพากษาในอดีตระบอบศักดินาและสมบูรณาญาสิทธิราชย์

  • ที่มาของภาพจาก :

https://arin-article.blogspot.com/2018/11/17.html

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (10)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


กบฏเสือยง

พุทธศักราช 2437 สมัยพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เกิดเหตุการณ์กบฏเสือยงขึ้น ซึ่งเสือยงผู้นี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในเขตเมืองศีร์ษะเกษและเมืองขุขันธ์ ในหนังสือเมืองขุขันธ์ (2548) และหนังสือประวัติจังหวัดศรีสะเกษ ของสุนทร สุริยุทธ ได้กล่าวถึงข้อมูลของเสือยงไว้ดังนี้ “เสือยง” เป็นขุนโจรแห่งเมืองศีร์ษะเกษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เสือยงมีศักดิ์เป็นหลานของพระวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 5 เคยรับราชการ แต่ถูกให้ออกจากราชการ เมื่อออกจากราชการจึงได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนเวทย์มนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์จากอาจารย์ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ อาจารย์ที่พอจะกล่าวถึงก็มี ตาเถื่อน บ้านเจ็ก หลวงทิพย์โภชน์ บ้านสะอาง เป็นต้น แล้วกลับมาอยู่เมืองศีร์ษะเกษได้นางมาลา บ้านหนองครกเป็นภรรยา เริ่มประกอบสัมมาอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาไม่นานเกิดขัดใจกับคนใช้ แล้วจับคนใช้ฆ่าทิ้ง จึงถูกจับในคดีฆ่าคนตาย และถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยส่งไปจำคุกอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี แต่จำคุกได้ไม่นานก็สามารถรูดโซ่แหกคุกหนีไปต่อหน้าผู้คุม

เมื่อออกมาจากเมืองอุบลได้แล้วก็มารวบรวมสมัครพรรคพวกที่เมืองศีร์ษะเกษออกปล้นฆ่าชาวบ้านอย่างหนักขึ้นกว่าเดิม เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการแหกคุกของเสือยงทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เสือยงต้องการอะไรก็หยิบฉวยได้ตามใจชอบทำให้เจ้าหน้าที่ของเมืองศีร์ษะเกษ และเจ้าหน้าที่จากเมืองอุบลต้องร่วมมือช่วยกันปราบปรามแต่ก็แพ้เสือยงทุกครั้ง เป็นเหตุให้เสือยงมีสมัครพรรคพวกมากขึ้นเป็นกองโจรใหญ่ จนถึงกับตั้งยุ้งขนาดใหญ่ไว้เก็บข้าวของที่กลางป่า ซึ่งเรียกว่า บ้านเล้า (ปัจจุบัน คือ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ) ออกทำการปล้นสะดมตามหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ อย่างอุกอาจ ในท้องที่ของเมืองศีร์ษะเกษไม่พอ ยังได้ออกกระทำการในหมู่ชาวบ้านในเขตแดนเมืองขุขันธ์อีกด้วย ซึ่งยากที่จะปราบได้ จนกองกำลังเมืองศีร์ษะเกษ และกองกำลังเมืองอุบลราชธานีเห็นเป็นการเหลือกำลังเจ้าเมืองศีร์ษะเกษจึงได้มีหนังสือถึงเมืองขุขันธ์ให้ช่วยปราบเสือยง พระยาบำรุงบุระประจันตจางวาง(จันดี) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์จึงได้เรียกประชุมเจ้าเมือง กรมการเมืองเพื่อวางแผนปราบเสือยง ที่ประชุมเห็นควรให้ท้าวทองคำ[11] และท้าวบุญมี[12] เป็นหัวหน้าคณะยกไปปราบเสือยง และเชิญอาจารย์ของเสือยง มีตาเถื่อน บ้านเจ็ก และหลวงทิพย์โภชน์ บ้านสะอาง ไปช่วยปราบปรามด้วย คณะเจ้าหน้าที่เมืองขุขันธ์ที่ยกไปเมืองศีร์ษะเกษเป็นขบวนช้างถึง 9 เชือก เมื่อคณะที่ยกไปปราบเสือยงมาถึงก็พักอยู่ชานเมืองศีร์ษะเกษ ได้ประกาศให้เสือยงเข้ามอบตัวแต่โดยดี ถ้าขัดขืนจะจับตาย เมื่อเสือยงได้ทราบก็พูดกับพรรคพวกเป็นเชิงท้าทายว่า “กินตับวัว ตับควายยังไม่หมด เมืองขุขันธ์ก็เอาตับช้างมาส่งอีก” แม้ว่าอาจารย์ของเสือยงจะเป็นผู้ป่าวประกาศ เสือยงก็ไม่ยอม คงจะคิดว่าตนเป็นใหญ่และย่ำยีความสงบสุขของประชาชนมานานแล้ว ถึงจะมอบตัวก็คงไม่ได้มีชีวิต จึงต้องสู้ตายแบบเสือสงวนศักดิ์ ในวันหนึ่งเสือยงยกกองกำลังเข้าล้อมกองเจ้าหน้าที่เมืองขุขันธ์ ยิงด้วยปืนผาหน้าไม้ที่มีจนหมด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อกองกำลังเมืองขุขันธ์เลย เสือยงจำต้องพาพรรคพวกบริวารล่าถอย ต่อจากนั้นท้าวทองคำ หัวหน้ากองกำลังเมืองขุขันธ์ที่ยกมาปราบนั้น จึงสั่งให้รุกไล่ปฏิบัติการขั้นเฉียบขาด ครั้งแรกได้ยกกำลังเข้าล้อมเสือยงที่บ้านหนองโพแต่เสือยงฝ่าวงล้อมหนีไปได้ กองกำลังเมืองขุขันธ์ได้ติดตามไปหยุดยั้ง เมื่อปะทะที่ใดฝ่ายเสือยงก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง ต่อมาเสือยงได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้าน ตาเกษ (ตำบลตาเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) กองกำลังเมืองขุขันธ์ได้เข้าล้อม บ้านตาเกษ เสือยงไปไม่รอดถูกจับตัวได้ ณ ที่แห่งนั้น กองกำลังเจ้าหน้าที่เมืองขุขันธ์ เมื่อจับเสือยงได้แล้ว ได้นำตัวเสือยงไปเมืองศีร์ษะเกษ แล้วนำเสือยงไปประหารที่บริเวณศาลหลักเมือง ผ่าเอาตับเสือยงออกเซ่นสังเวยครู แล้วแห่ศีรษะเสือยงไปรอบเมือง เสียบประจานไว้ที่ทางแยกไปเมืองขุขันธ์ ต่อจากนั้นเมืองศีร์ษะเกษก็สงบไม่มีโจรผู้ร้ายอีก[13]

ในบันทึกของคุณสุนทร สุริยุทธ เครือญาติสายสัมพันธ์เจ้าเมืองศรีสะเกษ ซึ่งได้เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของคุณปู่ คุณย่า ซึ่งแต่ก่อนคุณปู่รับราชการตำแหน่งนายเส้นเขตปจิม[14] ในสมัยพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ปราบเสือยงพอดี แต่ในบันทึกไม่ได้กล่าวถึงพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 ว่าได้ไปทำการปราบด้วย ซึ่งในหนังสือเมืองขุขันธ์ ของสภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์กลับระบุว่าพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) ได้ยกกำลังไปปราบด้วยตนเอง โดยระบุว่าพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เจ้าเมืองขุขันธ์ในขณะนั้นได้ใช้ช้างเป็นพาหนะ ใช้ปืนคาบศิลาเป็นอาวุธในการออกไปปราบเสือยงในครั้งนี้ โดยมีการแต่งช้างศึกที่มีการผูกเครื่องรางของขลัง ประเจียด ตะกรุด พิสมรที่คอช้าง เมื่อได้เวลาอันเป็นฤกษ์ยามดีแล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์ก็ได้นำคณะออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่สู่เขตเมืองศีร์ษะเกษทันที โดยที่ท่านเจ้าเมืองขุขันธ์ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่า กลุ่มเสือยงกำลังออกปล้นชาวบ้านอยู่พอดี จึงสั่งให้คณะได้เร่งเดินทางเพื่อให้ทันเหตุการณ์ ในที่สุดกองกำลังของเจ้าเมืองขุขันธ์ เดินทางเข้าเขตแดนของเมืองศีร์ษะเกษก็ได้เกิดการเผชิญหน้ากับกองโจรเสือยง ณ ทางทิศตะวันตกของบ้านดวนใหญ่ ในเวลาพลบค่ำใกล้จะมืดพอดี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ) เจ้าเมืองขุขันธ์ได้ร้องบอกให้เสือยงมอบตัว แต่เสือยงไม่ฟังได้สั่งสมุนโจรยิงเข้าใส่เจ้าเมืองขุขันธ์ทันที เวลาไม่นานนักเสียงปืนก็เงียบสงบลง โดยที่ฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์และกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและอันตรายใด ๆ

เมื่อเสียงปืนจากกลุ่มโจรเสือยงสงบลงแล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์จึงร้องบอกเสือยงอีกครั้งว่า ยิงพอแล้วหรือยัง ถ้ายิงพอแล้วก็ให้มอบตัว แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากกลุ่มเสือยง เจ้าเมืองขุขันธ์เกรงว่าเสือยงจะหลบหนีไปจึงตัดสินใจใช้อาวุธปืนคู่กายชื่อ ปืนคาบศิลายิงใส่เสือยง พร้อมทั้งสั่งกองกำลังระดมยิงอาวุธใส่กลุ่มเสือยงทันที พอสิ้นเสียงปืนคาบศิลาของเจ้าเมืองขุขันธ์แล้ว ร่างของเสือยงก็ร่วงตกจากคอช้างเสียชีวิตทันที ทำให้สมุนโจรของเสือยงที่ยังมีรอดชีวิตอยู่ตกตะลึงแตกตื่นวิ่งหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรื่องราวและความโหดร้ายของเสือยงต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือเจ้าเมืองขุขันธ์นี้เอง และในครั้งนั้นเจ้าเมืองขุขันธ์ได้นำศพเสือยงไปมอบให้เจ้าเมืองศีร์ษะเกษตัดศีรษะ แล้วแห่ประจานรอบเมืองและเสียบประจาน ณ สี่แยกทางไปเมืองขุขันธ์[15] จากเนื้อหาส่วนนี้ผู้เรียบเรียงเห็นว่าฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์อาจจะมาช่วยปราบเสือยงในช่วงใกล้จะสิ้นสุดเหตุการณ์แล้วก็เป็นไปได้



-----------------------------------

[11] ท้าวทองคำ ต่อมาได้เป็น พระพิชัยสุนทรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์

[12] ท้าวบุญมี ต่อมาได้เป็น พระพิชัยราชวงษา นายอำเภอขุขันธ์

[13] สุนทร สุริยุทธ, เรื่องเดิม, หน้า 32.

[14] ตำแหน่งนายเส้นหรือท้าวฝ่าย ในระบบการปกครองของชาวอีสานสมัยเก่าเป็นตำแหน่งในชุมชนขนาดเล็ก เทียบกับตำแหน่งนายอำเภอ

[15] สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์, เมืองขุขันธ์, (ศรีสะเกษ : สพท.ศรีสะเกษ เขต 3, 2548)