• ภาพ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๙

  • ต้นสกุล ขุขันธิน

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (12)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


กบฏท้าวบุญจันทร์ บุตรเจ้าเมืองขุขันธ์ (วัง)

ต่อมาในปีเดียวกันนี้ท้าวบุญจันทร์ บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (วัง) เจ้าเมืองขุขันธ์ น้องชายพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) ว่าที่ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ ไม่พอใจการปฏิรูปการปกครอง เพราะไม่ได้รับตำแหน่ง จึงได้เสนอให้ย้ายอำเภอกันทรลักษ์จากบ้านบักดองมาที่บ้านสิ หรือแยกบ้านสิเป็นอำเภอและขอเป็นนายอำเภอเอง แต่พระยาบำรุงบุรประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ไม่เห็นด้วย จึงเป็นเหตุทำให้ท้าวบุญจันทร์ไม่พอใจจึงนัดหมายประชาชนให้ไปทำบุญที่ภูฝ้าย มีชาวบ้านไปร่วมจำนวนมาก ฝ่ายท้าวบุญจันทร์เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองจึงมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก จึงได้ซ่องสุมผู้คนฝึกอาวุธที่ภูฝ้าย ต่อมาได้ย้ายกองกำลังไปซ่องสุมผู้คนที่ซำปีกา ซึ่งมีชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า (ปัจจุบันอยู่ในตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ) เพราะมีชัยภูมิที่ดี อุดมสมบูรณ์ จนมีผู้สมัครเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท้าวบุญจันทร์จึงประกาศว่าถ้าทุกอย่างพร้อมจะยกกำลังเข้าตีเมืองขุขันธ์

พระยาบำรุงบุรประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์เห็นว่ากลุ่มกบฏท้าวบุญจันทร์มีกำลังมากเกินกว่าจะปราบปรามได้ จึงกราบบังคมทูลต่อข้าหลวงผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสานขอกำลังทหารไปปราบกบฏ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ จึงทูลให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงทราบ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2444 ได้มีการประชุมเสนาบดีที่กรุงเทพมหานคร ประชุมมีมติให้ใช้ทหารพร้อมด้วยอาวุธ จำนวน 100 คน ไปปราบ และให้กรมยุทธนาธิการโทรเลขถึงกองทหารเมืองนครราชสีมาเตรียมทหารไว้ 200 คนเพื่อรอฟังข่าวจากมณฑลอีสาน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ โปรดให้กองทหารออกไปปราบปราม โดยให้ร้อยโทหวั่น ร้อยตรีเจริญ และร้อยตรีอิน คุมกำลังทหารหนึ่งกองร้อยพร้อมอาวุธยกไปเมืองขุขันธ์ หยุดพักและวางแผนปราบกบฏที่วัดไทยเทพนิมิต วันรุ่งขึ้นยกกำลังทหารและพลเรือนประมาณ 500 คน ไปซำปีกา

วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2444 หลวงศิริสมบัติ (คำสิงห์) กำนันตำบลกันตวด ซึ่งคุ้นเคยกับท้าวบุญจันทร์ นำช้าง 3 เชือก พร้อมทหารไปเกลี้ยกล่อมเชิญมาเจรจากลับถูกไล่ยิงจนต้องถอย

วันที่ 13 มีนาคม พุทธศักราช 2444 ได้ไปเจรจาอีก แต่ไม่ได้ผลจึงมีการยิงต่อสู้กันขึ้น ท้าวบุญจันทร์ถูกปืนแขนหักล้มลงบนแท่นหิน ไพร่พลล้มตายประมาณ 100 คน ที่เหลือหลบหนีเอาตัวรอด ทหารไม่ออกติดตาม เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าทึบ เมื่อกองทหารได้ชัยชนะและจับท้าวบุญจันทร์ได้แล้ว จึงทำการตัดเอาศีรษะของท้าวบุญจันทร์ไปที่เมืองขุขันธ์แห่ตระเวนไปรอบเมืองแล้วเสียบประจานที่ทางสี่แพร่งหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ขุขันธ์ในปัจจุบัน

การกบฏครั้งนี้ทำให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) ผู้เป็นพี่ชายของท้าวบุญจันทร์ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในการปรับปรุงราชการเมืองขุขันธ์ในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมืองขุขันธ์ได้ให้ท้าวติด ท้าวฮู กรมการเมืองออกไปรักษาการณ์อยู่ที่ด่านพระประสบเกิดขัดแย้งไม่ฟังบังคับบัญชาเมืองขุขันธ์ เอาใจไปเข้าข้างฝรั่งเศส ภายหลังได้ยกกำลังเข้าตีเอาเมืองมโนไพรได้ ขณะที่ทางการสยามไม่สามารถทำอะไรได้ พุทธศักราช 2446 เมืองมโนไพรตกเป็นของฝรั่งเศสตามสัญญาที่ฝ่ายสยามทำกับฝรั่งเศส