• ภาพทับหลัง ปราสาทสระกำแพงใหญ่ สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

  • ภาพปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (3)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


เมื่อพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองแล้ว พร้อมกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวชม บุตรพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นปลัดเมือง และให้ท้าวบุญจันทร์ บุตรท้าวด้วง หลานท้าวชม เป็นยกบัตรเมืองศรีสะเกศ ทำราชการการขึ้นต่อกรุงเทพฯ เมื่อพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านโนนสามขาสระกำแพง แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะกันดารน้ำ ไม่เหมาะสมที่จะขยายเป็นเมืองใหญ่ในอนาคตได้ ต่อมาพุทธศักราช 2328 จึงได้เลือกที่ตั้งเมืองแห่งใหม่เป็นที่สูง มีบริเวณกว้างขวาง ใกล้ลำน้ำแห่งหนึ่งบริเวณแห่งนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ลำน้ำนั้นก็มีความเย็นใสสะอาดดี และท่านให้ชื่อลำน้ำนั้นว่าห้วยสำราญ ซึ่งอยู่บริเวณบ้านพันทาเจียงอี (เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษทุกวันนี้) จึงได้ย้ายเมืองศรีสะเกศไปตั้งที่บ้านหนองพันทาเจียงอี ตั้งศาลากลางที่ริมน้ำห้วยสำราญ (บริเวณศาลากลางในปัจจุบัน) ปลูกสร้างบ้านพักข้าราชการ ขุนนางเรียงรายไปทางด้านหน้าและหลังศาลากลาง เรียกว่าคุ้มโฮงหรือคุ้มเมืองเก่าเลยหมู่บ้านพักข้าราชการออกไป เรียกว่า คุ้มตลาดนอก เลยคุ้มตลาดนอกออกไปเป็นโรงช้าง (ตรงวัดป่ามิ่งเมืองทุกวันนี้)[3] เมื่อช้างเชือกใดเจ็บป่วยก็แยกออกไปรักษาที่หนองผักแว่นหรือหนองช้างโซ ต่อมาก็เรียกบ้านเจียงอี (เป็นภาษาส่วย แปลว่า ช้างป่วย) แล้วเรียกว่าเมืองศรีสะเกศตามเดิม ในส่วนที่ตั้งเมืองเดิมบ้านโนน สามขาสระกำแพงก็คงเรียกบ้านสระกำแพงอยู่จนเท่าทุกวันนี้

จากบันทึกของคุณสุนทร สุริยุทธ เครือญาติสายสัมพันธ์กับสกุลเจ้าเมืองศรีสะเกษได้บันทึกเกี่ยวกับเมืองศรีสะเกษว่า เมืองศรีสะเกษปัจจุบันปรากฏว่ามีคุ้มเมืองเก่ามาแต่พร้อมเมืองศรีสะเกษ เรื่องนี้ได้รับคำบอกเล่าจากคุณย่า คือ นางทา สุริยุทธ บุตรีหลวงสุริยะ กรมการเมืองศรีสะเกศ สมัยพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศท่านสุดท้าย เล่าว่าพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) สร้างเมืองขุขันธ์ขึ้นที่บ้านดวนใหญ่ มีภรรยามาจากไหน ชื่ออะไรไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามีบุตร 3 คน คนใหญ่เป็นหญิงชื่อ วันนา คนน้องเป็นชายชื่อท้าวอุ่น คนสุดท้องเป็นชายชื่ออะไรไม่ปรากฏ สอดคล้องกับหนังสือเมืองขุขันธ์ ของสภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ ที่ระบุว่าพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) มีบุตรที่พอปรากฏเป็นหลักฐาน คือ พระรัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ภายหลังมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ใน) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 5 และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (นวน) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 6 แต่ในหนังสือเมืองขุขันธ์ ของสภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์กลับไม่ปรากฏชื่อ นางวันนา เป็นธิดาของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับบันทึกส่วนตัวของคุณยายแสง โกมณเฑียร บุตรีของญาพ่อทอง สุวรรณวิเศษ ทายาทของพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านสุดท้าย ได้ระบุไว้ว่า พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นชาติลาว อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่เป็นหนุ่มกับบิดา มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่เมืองขุขันธ์ บิดามารดาได้ฝากเข้าทำงานกับเจ้าเมืองขุขันธ์ พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ยังโสดจึงได้แต่งงานกับลูกสาวเจ้าเมืองขุขันธ์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือเชียงปุม ณ สุรินทร์ ของสุนัย ราชภัณฑารักษ์ ระบุว่า พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นบุตรเจ้ามืดคำดล เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิ ท่านที่ 2 (ระหว่างพุทธศักราช 2268 - 2306) ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์ ท้าวมืดนั้นเป็นบุตรของจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคล เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิท่านแรก ตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยา (ระหว่างปีพุทธศักราช 2256 - 2268) ซึ่งเจ้าแก้วมงคลเป็นโอรสของเจ้าชัยมงคล และเจ้าชัยมงคลเป็นโอรสพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ 26 ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช[4] แต่ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง หากท่านพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ไม่ได้เป็นบุตรของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) แล้ว ทำไมท่านเจ้าเมืองขุขันธ์จึงต้องแต่งตั้งให้ท้าวอุ่นเป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ เพราะตำแหน่งปลัดเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้มักจะเป็นบุตรของเจ้าเมือง โดยตำแหน่งปลัดเมืองเมื่อเทียบกับระบบการปกครองแบบอาญาสี่ของล้านช้างแล้ว เทียบได้กับตำแหน่งอุปราช (อุปฮาด) หรือว่าที่เจ้าเมืองคนต่อไป แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เรียบเรียงเท่านั้น

ดังนั้นจากการที่ผู้เรียบเรียงรวบรวมเอกสารมาวิเคราะห์เห็นว่าพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) คงสืบเชื้อสายมาจากเจ้าแก้วมงคลนั้นคงจะจริงและมีสายสัมพันธ์ด้วยกับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว และข้อสังเกตอีกประการที่สนับสนุนว่าพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าแก้วมงคล คือ ราชทินนามที่ปรากฏเฉพาะลูกหลานของเจ้าแก้วมงคล คือ ราชทินนาม “รัตนวงษา” ดังนั้น เมื่อเรียบเรียงเอกสารต่าง ๆ จะพบว่า พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) มีพี่น้องปรากฏนาม ดังนี้

  1. นางวันนา สมรสกับ จารย์ศรีธรรมา ช่างหลวงนครจำปาศักดิ์

ผู้บูรณะวัดพระโต เมืองศรีสะเกศ

  1. พระรัตนวงษา (ท้าวเซียง) เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ) ท่านที่ 4

  2. พระรัตนวงษา (ท้าวสูน) เจ้าเมืองท่งศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ) ท่านที่ 5

  3. พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก

หลังจากที่พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) สมรสกับธิดาคนโตของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก เมื่อสมรสแล้วก็ได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านดวนใหญ่ ท้าวอุ่นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางที่พระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ต่อมาได้อพยพจากบ้านดวนใหญ่ มาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านโนนสามขาสระกำแพง (ดังที่เล่าประวัติไว้ข้างต้น) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือเมืองศรีสะเกศปัจจุบัน และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนวงษา ปกครองเมืองศรีสะเกศสืบต่อไป พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศอยู่ได้ 3 ปี ถึงแก่กรรมในพุทธศักราช 2328



-----------------------------------

[3] สุนทร สุริยุทธ, ประวัติจังหวัดศรีสะเกษ, (ศรีสะเกษ : 2541), หน้า 26.

[4] สุนัย ราชภัณฑารักษ์, เชียงปุม ณ สุรินทร์, (ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท, 2529), หน้า 9.