• ภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

  • ภาพ นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ อดีตข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (11)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


ปฏิรูปเจ้าเมือง สู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง

พุทธศักราช 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ออกพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ยกเลิกการปกครองแบบอาชญา 4 แบ่งการปกครองเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง มณฑล ตำแหน่งที่ถูกยกเลิกไป คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร โดยเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการเมืองปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมืองตามลำดับ ตำแหน่งท้าวฝ่ายหรือนายเส้น ตาแสง จ่าบ้าน นายบ้าน ซึ่งเดิมเจ้าเมืองแต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองท้องที่ต้องถูกยกเลิกไปด้วย ผู้ครองเมืองเล็ก ๆ ที่ถูกยุบลงเป็นอำเภอหรือตำบล เป็นกลุ่มที่ไม่อาจปรับเข้ากับการปกครองแบบใหม่ได้ นอกจากนี้ยังได้มีการยกเลิกการปกครองโดยการสืบสกุลด้วย ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งเดิมที่ไม่อาจปรับเข้ากับตำแหน่งใหม่ได้ต้องถูกลดความสำคัญลง ดังนั้นเพื่อเป็นการชดเชยและรักษาเกียรติยศของผู้ปกครองเดิมไว้ จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานศักดินาเจ้านาย พระยา ท้าว แสน เมืองประเทศราชในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2442 และในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯเปลี่ยนชื่อมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชื่อบริเวณในมณฑลนครราชสีมา[16] ดังนี้

มณฑลลาวกาว เป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ

มณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือ

บริเวณนครราชสีมา เป็นเมืองนครราชสีมา

บริเวณนางรอง เป็นเมืองนางรอง

บริเวณชัยภูมิ เป็นเมืองชัยภูมิ

เมืองขุขันธ์ขณะที่ยกเป็นผู้ว่าราชการเมือง มีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองร่วมกับเมืองต่าง ๆ ในมณฑลลาวกาวอีก 17 เมือง และเป็นผู้ว่าราชการเมืองคนเดียวในมณฑลนี้ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ขณะที่เมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น เมืองอุบลราชธานี เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุรินทร์ เมืองยโสธร เมืองสุวรรณภูมิ เมืองวารินชำราบ เมืองศีขรภูมิ ฯลฯ ผู้ว่าราชการเมืองมีบรรดาศักดิ์ชั้นพระเท่านั้นส่วนเมืองศีร์ษะเกษไม่มีผู้เหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงได้ว่างตำแหน่งไว้ นัยว่าพระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า)[17] ปลัดเมืองศีร์ษะเกษ มีความชอบพอกับเสือยงที่ทางราชการปราบปรามได้เมื่อพุทธศักราช 2437 เมืองศีร์ษะเกษจึงว่างผู้ว่าราชการเมือง

การยุบเมืองตั้งเป็นอำเภอ

พุทธศักราช 2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ตรากฎกระทรวง ชื่อ กฎข้อบังคับเรื่องเปลี่ยนชื่อมณฑล 4 มณฑล เป็นผลให้ชื่อมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปลี่ยนไป คือ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลอีสาน มณฑลฝ่ายเหนือ เป็นมณฑลอุดร

สำหรับมณฑลอีสานนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ ได้จัดแบ่งการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ออกเป็น 5 บริเวณ 14 เมือง 37 อำเภอ คือ บริเวณเมืองนครจำปาศักดิ์ บริเวณอุบลราชธานี บริเวณร้อยเอ็ด บริเวณสุรินทร์ และบริเวณขุขันธ์

บริเวณเมืองนครจำปาศักดิ์ มี 1 เมือง คือ เมืองนครจำปาศักดิ์ กับเมืองอื่น ที่ขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์ ยุบลงเป็นอำเภอมี 11 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครจำปาศักดิ์ อำเภอสยามโภค อำเภอธาราบริวัฒน์อำเภอพระพิพัฒน์ อำเภอเซลำเภา อำเภอสะพังภูยา อำเภอมูลป่าโมกข์ อำเภอสุขุมา อำเภอโพนทอง อำเภอบัว และอำเภอโดมประดิษฐ์

ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2446 เมืองนครจำปาศักดิ์ตกเป็นของลาวในอารักขาของฝรั่งเศส ยกเว้นอำเภอบัวเป็นของไทยและขึ้นอยู่กับเมืองเดชอุดม

บริเวณอุบลราชธานีมี 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ และเมืองอื่น ๆ ที่ขึ้นกับเมืองเหล่านี้ ยุบลงเป็นอำเภอ ระยะแรกมี 19 อำเภอ

บริเวณสุรินทร์ มี 2 เมือง คือ เมืองสุรินทร์กับเมืองสังฆะบุรี และเมืองอื่นที่ขึ้นกับเมืองเหล่านี้ยุบลงเป็นอำเภอ ระยะแรกมี 7 อำเภอ

บริเวณขุขันธุ์ มี 3 เมือง คือ เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์สะเกษ และเมืองเดชอุดม มีพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) เป็นข้าหลวงบริเวณ

เมืองขุขันธ์ ระยะแรกมี 5 อำเภอ คือ อำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอทุมพรพิสัย อำเภอกันทรารมณ์ และอำเภอมโนไพร[18] มีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เป็นว่าที่ผู้ว่าราชการเมือง

เมืองศีร์สะเกษ ระยะแรกมี 4 อำเภอ คือ อำเภอกลางศีร์สะเกษ อำเภออุทัยศีร์สะเกษ อำเภอ ปจิมศีร์สะเกษ และอำเภอราษีไศล มีพระภักดีโยธา (เหง้า) เป็นผู้ว่าราชการเมือง

เมืองเดชอุดม ระยะแรกมี 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเดชอุดม อำเภออุทัยเดชอุดม และอำเภอปจิมเดชอุดม มีพระสุรเดชอุดมมาภิรักษ์ (ทองปัญญา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง




-----------------------------------

[16] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525, (กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 2525), หน้า 197

[17] พระราชเมธี (วรวิทย์), ประวัติศรีสะเกษ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระเทพวรมุนี (เสน ปญฺญฺวชิโร), (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. 2535), หน้า 28

[18] พุทธศักราช 2446 อำเภอมโนไพร ตกไปเป็นของกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส มโนไพรเป็นเมืองได้ 45 ปี และเป็นอำเภออยู่เพียง 3 ปี