• ภาพเกวียนบรรทุกไม้ บ้านกำแพง 14 มีนาคม ปี 2479

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 15-16 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

  • ภาพท่าข้าว ข้างทางรถไฟ บ้านตำแย-บ้านกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (6)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


พุทธศักราช 2424 พระพรหมภักดี (ท้าวโท) ยกกระบัตรเมืองศีร์ษะเกษจึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ท่านที่ 5 ถือศักดินา 3,000 ส่วนท้าวเหง้าบุตรพระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 4 เป็น พระภักดีโยธา ปลัดเมือง ถือศักดินา 600 ให้ราชวงศ์ (ปัญญา) บุตรหลวงไชย (สุก) เป็น พระพรหมภักดี ยกกระบัตรเมือง ถือศักดินา 500 และท้าวเกษ บุตรของพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองศีร์ษะเกษ ในปีนี้เจ้าเมืองและกรมการเมือง ได้ขอตั้งบ้านโนนหินกองซึ่งอยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ เป็นเมืองราษีไศล และให้เมืองราษีไศลนั้นขึ้นแก่เมืองศีร์ษะเกษ ให้พระพลราชวงศา (จันศรี) บุตรหลวงอภัย กรมการเมือง เป็นพระประจนปัจจนึก เจ้าเมืองราษีไศลคนแรก ถือศักดินา 800 ขึ้นตรงต่อเมืองศีร์ษะเกษแต่นั้นมา และมีตราพระราชสีห์ โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงแสง (จัน) น้องชายของพระประจนปัจจนึก เป็นหลวงหาญศึกพินาศ ปลัดเมือง ให้ท้าวคำเม็ก บุตรเจ้าเมืองราษีไศลพระประจนปัจจนึก เป็นหลวงพิฆาตไพรี ยกกระบัตรเมืองราษีไศล ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ และในปีนี้มีท้องตราราชสีห์ถึงหัวเมืองตะวันออกให้ราษฎรซื้อขายให้ปันสัตว์พาหนะแก่กัน ทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณเป็นหลักฐานแก่กัน ห้ามมิให้ทำหนังสือเดินทางแก่พวกพ่อค้าที่ไล่ต้อนสัตว์พาหนะไปขาย โดยไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณ

พุทธศักราช 2430 ท้าวนาก (ตำแหน่งใดไม่ปรากฏ) เมืองศีร์ษะเกษทำหนังสือเบิกล่องเดินทางให้แก่นายฮ้อยคำยี่ คำอ่อน และเชียงน้อย ตองสู้ ซึ่งคุมโคกระบือไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณไปจำหน่ายผิดพระราชบัญญัติ โปรดเกล้าฯ ให้ลูกขุนศาลาปรึกษาโทษท้าวนากตัดสินทวน 50 (โบย 50) และปรับพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 5 ซึ่งทำการอ้างว่ามีตราพระราชสีห์อนุญาตว่าถ้าราษฎรจะซื้อขายโคกระบือให้ เจ้าเมืองทำเบิกล่องเดินทาง ให้ตรวจตำหนิรูปพรรณลงในใบเลิกล่อง เป็นเบี้ยละเมิดจัตุรคูณเป็นเงิน 5 ชั่ง 6 ตำลึง กึ่ง 3 สลึง 600 เบี้ย

และในปีเดียวกันนี้เองพระยาราชเสนา (ทัด ไกรฤกษ์) ข้าหลวงกำกับเมืองอุบลราชธานี ได้รายงานลงไปกรุงเทพฯ ว่า ราษฎรในภาคตะวันออกใช้ลาดทองเหลืองแทนเงินหล่อขึ้นเอง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของต่าง ๆ แทนเบี้ยอัฐทองแดง คิดราคาตั้งแต่ 30 ลาด ถึง 80 ลาด เป็นหนึ่งบาท ไม่เป็นอัตราที่แน่นอน ราษฎรในภาคตะวันออกได้รับความลำบากในการซื้อขายแลกเปลี่ยน จึงขอพระราชทานเบี้ยอัฐทองแดงไปจำหน่ายในภาคตะวันออก จึงโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเบี้ยอัฐทองแดงออกไปจำหน่ายในภาคตะวันออกตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2430 เป็นต้นมา

คุณสุนทร สุริยุทธ[8] กล่าวถึงเรื่องเงินในหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ ว่าเรื่องเงินนี้ ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้เงินพดด้วง คือ เงินกลมประทับตราเป็นสำคัญ 2 ดวง ดวงหนึ่งเป็นรูปจักร เป็นเครื่องหมายประเทศอีก 1 ดวง ใช้รูปแปลก ๆ กัน คือ เป็นสังข์บ้าง เป็นตรีบ้าง เป็นเครื่องหมายรัชกาลที่ 4 มี 4 ขนาด คือ ขนาด 1 บาท ขนาดครึ่งบาท เรียกว่า 2 สลึง ขนาด 1/4 ของบาท เรียกว่าสลึง ขนาด 1/8 ของบาท เรียก เฟื้อง รองนั้นลงมาถึงเบี้ย มีอัตรา 400 เบี้ย เป็น ราคา 1 เฟื้อง แต่ว่าไม่เป็นราคาตามกฎหมาย สุดแต่มีเบี้ยเข้ามาขายในท้องตลาดมากหรือน้อย ในเวลาที่เบี้ยในท้องตลาดมีมาก ราคาเบี้ยตกถึง 1,000 เบี้ยต่อเฟื้องก็มี แต่ราษฎรซื้อขายเครื่องบริโภคในท้องตลาด มักใช้เบี้ยเป็นพื้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คงใช้เงินแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เปลี่ยนตามรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ใช้ตราบัว อุนาโลม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ใช้ตราครุฑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ใช้ตราปราสาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ใช้ตราพระมหามงกุฎ ส่วนตราอีกดวงหนึ่งซึ่งบอกนามประเทศคงใช้ตราจักรเหมือนกันทั้ง 4 รัชกาลตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเปิดค้าขายกับฝรั่งต่างประเทศเมื่อพุทธศักราช 2398 การค้าขายในกรุงเทพฯ เจริญรวดเร็วเกินคาดหมาย แต่ก่อนเคยมีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพียงปีละ 12 ลำ ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาแล้ว มีเรือกำปั่นของฝรั่งเข้ามาค้าขายปีละ 200 ลำ พวกพ่อค้าเอาเงินเหรียญดอลลาร์มาขอแลกจากรัฐบาลเงินพดด้วงนั้น ช่างหลวงทำขึ้นที่พระคลังมหาสมบัติ เตา 1 ทำได้ราววันละ 240 บาท เพราะทำด้วยมือไม่ได้ใช้เครื่องจักร เตาหลวงมี 10 เตา ระดมกับทำเงินพดด้วงได้แค่วันละ 2,400 บาท ไม่เพียงพอให้ฝรั่งแลก พวกกงศุลพากันร้องทุกข์ว่าเป็นการเสียประโยชน์ของพวกชาวต่างประเทศที่เข้ามาค้าขาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำริจะเปลี่ยนรูปเงินตราสยามจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ (เรียกในครั้งนั้นว่า เงินแป) ให้ทำได้มากด้วยใช้เครื่องจักร ขณะที่กำลังสั่งเครื่องจักรนั้น ได้ประกาศให้ราษฎรรับเงินเหรียญดอลลาร์จากชาวต่างประเทศมาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติในอัตรา 3 เหรียญดอลลาร์ต่อ 5 บาท ครั้น พุทธศักราช 2403 การสร้างโรงกษาปณ์สำเร็จลง ทำเงินตราสยามเป็นเงินเหรียญมีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรทั้งสองข้างเครื่องหมายรัชกาลด้าน 1 ตราช้างเผือกอยู่ในวงจักร เป็นเครื่องหมายประเทศด้าน 1 เป็นเหรียญ 3 ขนาด คือชนิดขนาด 1 บาท 1 สลึง และขนาด 1 เฟื้อง (ยังมีเหรียญขนาดตำลึง ครึ่งตำลึง ครึ่งบาท และครึ่งเฟื่องอีกเป็นเหรียญเถา แต่มิได้ใช้เป็นเครื่องแลก) และโปรดฯ ให้ทำเหรียญทองคำราคาเหรียญละ 10 สลึง (ตรงกับ 1 ตำลึงจีน) ด้วยอีกอย่างหนึ่งเมื่อประกาศใช้เงินตราอย่างเหรียญแล้ว เงินพดด้วงก็ให้ใช้ต่อไป แต่ไม่ทำขึ้นอีก

ต่อมาในพุทธศักราช 2405 โรงกระษาปณ์มีการจัดทำเหรียญดีบุกขึ้น เป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย มีตราทำนองเดียวกันเงินเหรียญนั้น มี 2 ขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า อัฐ ราคา 8 อันเฟื่อง เท่ากับอันละ 100 เบี้ย ขนาดเล็กเรียกว่า โสฬส ราคา 16 อันเฟื่องเท่ากับอันละ 50 เบี้ย การใช้เบี้ยหอยแทนเงินก็เป็นอันเลิก แต่นั้นมา

พุทธศักราช 2408 จึงมีการสร้างเหรียญทองแดงขึ้นอีก 2 ขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่าซีก คือ 2 อันเฟื้อง ขนาดเล็กเรียกว่าเสี้ยว คือ 4 อันเฟื่อง

พุทธศักราช 2423 มีการผลิตธนบัตรขึ้นในเวลานั้นเรียกกันว่า อัฐกระดาษ

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2444 ได้มีการตราพระราชบัญญัติเงินธนบัตรขึ้นในแทนเงินเหรียญ และได้ใช้ธนบัตรแทนเงินมาจนทุกวันนี้



-----------------------------------

[8] สุนทร สุริยุทธ, เรื่องเดิม, หน้า 28.