• ภาพคณะทำงานของขุนอุทัศระบิล (ลม้าย โกมณเฑียร)

ข้าราชการตุลาการ ประจำศาลจังหวัดขุขันธ์

ประมาณปี พ.ศ. 2464

  • ที่มาของภาพจาก : คุณปิยะศักดิ์ สุริยุทธ

  • ภาพถ่าย ขุนอุทัศระบิล (ลม้าย โกมณเฑียร)

ข้าราชการตุลาการ ประจำศาลจังหวัดขุขันธ์

ประมาณปี พ.ศ. 2464 ขุนอุทัศระบิล สมรสกับ นางแสง บุตรีของญาพ่อทอง สุวรรณวิเศษ หลานพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์สะเกษท่านสุดท้าย

  • ที่มาของภาพจาก : คุณปิยะศักดิ์ สุริยุทธ

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (8)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


เมืองศีร์ษะเกษยุคปฏิรูปการปกครอง

ประเพณีการปกครองของไทยสมัยก่อนนั้น พระมหากษัตริย์ทรงจัดการปกครองทุกอย่างนับตั้งแต่ กรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนถึงแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงแบ่งการปกครองออกเป็น 2 แผนก คือ ฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรียน ฝ่ายทหารมีสมุหกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา ฝ่ายพลเรือนมี สมุหนายกเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งสองตำแหน่งนี้เรียกว่า “อัครมหาเสนาบดี” ฝ่ายสมุหนายกนั้นแบ่งหน้าที่ราชการออกเป็น 4 ตำแหน่ง คือ เวียง วัง คลัง นา เรียกว่าจตุสดมภ์ ระเบียบนี้ได้ใช้มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระราชดำริวางระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ และประกาศยกเลิกจัดหน่วยงานราชการ แบบเก่าให้จัดใหม่เป็นแบบกระทรวง ทบวง กรม ตามอย่างอารยประเทศ กระทรวงที่ประกาศตั้งครั้งแรกมี 11 กระทรวง คือ

1. กระทรวงมหาดไทย

2 กระทรวงนครบาล

3. กระทรวงกลาโหม

4. กระทรวงต่างประเทศ

5. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

6. กระทรวงเกษตราธิการ

7. กระทรวงโยธาธิการ

8. กระทรวงยุติธรรม

9. กระทรวงธรรมการ

10. กระทรวงวัง

11. กระทรวงมุรธาธร

แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ และได้ยึดถือเป็นหลักการวัดหน่วยงานราชการตลอดมาจนบัดนี้ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้จัดการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ โดยให้เอาหัวเมืองเอก โท ตรี และจัตวา รวมเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งออกเป็น 4 หัวเมือง โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงกำกับราชการ มีข้าหลวงกำกับหัวเมือง เมืองละ 1 คน และให้มีข้าหลวงใหญ่ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณอีก 1 คน ดังนี้

  • หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองจำปาศักดิ์ มีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอก 11 เมือง คือ เมืองจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองอัตปือ เมืองสาละวันเมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองขึ้นที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวาอีก 26 เมือง รวม 37 เมืองเมืองขุขันธ์โปรดเกล้าฯ ให้พระรัตนโกศา (จันดี) เป็นพระยาบำรุงบุรประจันต์ข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์ ท้าวทองคำ เป็นว่าที่ปลัดเมืองขุขันธ์ ภายหลังเมื่อปราบกบฏเสือยงแล้ว ท้าวทองคำ เป็นพระพิไชยสุนทรสงครามปลัดเมืองขุขันธ์ในปีพุทธศักราช 2437

  • หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองอุบลราชธานี มีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอก 12 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองกาฬสินธุ์ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคามเมืองร้อยเอ็ด เมืองภูแล่นช้าง เมืองกมลาไสย เมืองเขมราฐธานี เมืองยโสธร เมืองสองคอนตอนดง เมืองนอง และเมืองศีร์ษะเกษ เมืองขึ้นที่เป็นเมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา 29 เมือง รวม 41 เมือง

  • หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองหนองคายมีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอก 16 เมือง คือ เมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณหนิคม เมืองโพนพิสัย เมืองชัยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองกมุทาสัย เมืองบุรีรัมย์ เมืองหนองหาร เมืองขอนแก่น เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองหล่มสัก เมืองโท เมืองเตรีและเมืองจัตวา 36 เมือง รวม 52 เมือง

  • หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองนครราชสีมามีเมืองในสังกัดเป็น เมืองเอก 3 เมือง คือ เมืองนครราชสีมา เมืองชนบท และเมืองภูเขียว มีเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา 16 เมือง รวม 19 เมือง


พุทธศักราช 2435 โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงหัวเมืองใหม่เป็นหัวเมืองลาวพวน หัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวพุงขาว หัวเมืองลาวกลาง หัวเมืองลาวเฉียง เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษขึ้นต่อหัวเมืองลาวกาว มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว ตั้งกองบัญชาการที่เมืองจำปาศักดิ์ แต่ประทับที่เมืองอุบลราชธานี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาวที่ปกครองดูแลชาวอุบลราชธานี ได้กราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ตอนหนึ่งว่า

“…ความเป็นไปของชาวชนประเทศนี้ ตั้งแต่ศาสนาแลความปกครองลงไปจนถึงประเภทประเพณี จะนับว่ายกอันใดขึ้นสรรเสริญว่าเป็นการดีฤายังดีไม่มีแล้ว ที่สุดแต่เครื่องนุ่งห่มและอาหารก็หยาบคาย แลส่อแสดงถึงความกันดารของผู้บริโภค ดูน่าสังเวชยิ่งนัก สารพัดความกดขี่ฉ้อโกงแทบทุกอย่างที่คนจะพึงทำก็แก่คนใด ก็ดูเหมือนจะได้มีในที่นี้ตลอดแล้วแทบทุกอย่าง…”

ในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมกลุ่มเมืองชั้นนอกตั้งเป็นมณฑล และทรงแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงใหญ่หรือข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 3 มณฑล คือ

  • มณฑลลาวกาว ปรับปรุงจากหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองอัตปือ เมืองสาละวัน เมืองคำทองใหญ่เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศีร์ษะเกษ เมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาไสย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองนอง เมืองสองคอนดอนดง รวม 23เมือง และเมืองขึ้นอีก 55 เมืองรวม 78 เมือง

  • มณฑลลาวพวน ปรับปรุงจากหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มณฑลลาวกลางปรับปรุงจากหัวเมืองลาวฝ่ายกลางในปีเดียวกันนี้ได้ส่งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงประจำในเมืองต่าง ๆ โดยให้พระศรีพิทักษ์เป็นข้าหลวงใหญ่ว่ากล่าวหัวเมืองลาวส่วยแยกออกไปอีกเขตหนึ่ง เพราะราษฎรพูดภาษาส่วยและเขมร ในเขตเมืองสุรินทร์ เมืองขุขันธ์ เมืองศีร์ษะเกษ และเมืองสังขะ ในหัวเมืองเหล่านี้ทรงแต่งตั้งข้าหลวงผู้ช่วยให้กำกับดูแลราชการอีก คือ ให้หลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) ขุนไผทไทยพิทักษ์ (เกลื่อน)[9] เป็นข้าหลวงอยู่เมืองศีร์ษะเกษ


พุทธศักราช 2436 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดให้มิสเตอร์โทมัสปาเมอร์ มิสเตอร์แมกสมูลเลอร์ มิสเตอร์วิลเลียม ไปจัดตั้งไปรษณีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว อันรวมถึงเมืองขุขันธ์ และเมืองศีร์ษะเกษด้วย ซึ่งมากรุงเทพฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง



-----------------------------------

[9] ไพฑูรย์ มีกุศล, การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บรรณกิจเทรดดิ้ง, 2515), หน้า 64