สายเลือด สายสกุลเจ้าเมืองศรีสะเกษเท่าที่สืบได้ (3)


ลำดับสายสกุลพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง)

สายที่ 3 พระวิเศษฯ (ท้าวศร) เท่าที่ค้นพบ


จากบันทึกของสกุลสีหบัณห์ ของคุณยายแสง โกมณเฑียร

รวบรวมโดย คุณปิยะศักดิ์ สุริยุทธ

เรียบเรียงและจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม



สายที่ 1 ท้าวคำปาน สายที่ 2 พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า) และสายที่ 4 นางคำ ไม่พบผู้สืบสายสกุล ว่าเป็นท่านใดบ้าง กำลังอยู่ระหว่างการสืบค้น

ชั้นที่ 8

1. พระวิเศษฯ (ท้าวศร) สมรสกับ ญ.ไม่ทราบชื่อ มีบุตรดังนี้

1.1 นายขำ สมรสกับ นางทุม มีบุตรดังนี้

1.1.1 พันตำรวจตรี หลวงชาญนิคม (ทอง จันทรศร)[6] สมรสกับ นางเกสร จันทรศร[7] มีบุตรดังนี้

- นายทิม จันทรศร อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี

- ร้อยเอก หาญ จันทรศร

- จ่านายสิบเอก ไพศาล จันทรศร

- นางสาวสุนทรี จันทรศร

1.1.2 นายสุก จันทรศร

1.1.3 ขุนพิศิษฐอักษร[8] (สอน หรือ โสก จันทรศร)

1.1.4 นายสูน จันทรศร

“สกุลจันทรศร” สายนี้เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้แก่ นายร้อยตำรวจเอกทอง ผู้บังคับกองตำรวจภูธรเมืองที่ 5 จังหวัดนครนายก ทวดชื่อพระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) บิดาชื่อหลวงวิเศษ (สอน) เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 3547 เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Chandrasara พระราชทาน ณ วันที่ 4/11/16[9]

นายร้อยตำรวจเอกทอง จันทรศร ผู้นี้ต่อมา คือ พันตำรวจตรี หลวงชาญนิคม (ทอง จันทรศร) ภายหลังเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในปีพุทธศักราช 2476 หลวงชาญนิคม (ทอง จันทรศร) ได้เข้าร่วมด้วย เป็นเหตุให้ต้องโทษถูกถอดยศและบรรดาศักดิ์ จำคุก 7 ปีเศษ ที่เรือนจำมหันตโทษ (บางขวาง) นนทบุรี แล้วถูกย้ายไปกักกันที่เกาะตะลุเตาอีก 2 ปีเศษ จนถึงปีพุทธศักราช 2486 จึงพ้นโทษ เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงขึ้นครองราชย์ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ พร้อมทั้งคืนยศและบรรดาศักดิ์เดิมให้




-----------------------------------

[6] พันตำรวจตรี หลวงชาญนิคม (ทอง จันทรศร) เป็นต้นสกุลจันทรศร

[7] นางชาญนิคม (เกสร จันทรศร) เป็นบุตรนายนวนกับนางหล่ำ ศรีผา มีพี่น้อง คือ นางผม และนางพรม สกุลศรีผานี้

สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองกมุทาสัยเก่า

[8] ขุนพิศิษฐอักษร (สอน จันทรศร) อดีตเลขานุการกรมบาญชีกลาง กระทรวงการคลัง

[9] เทพ สุนทรศารทูล. นามสกุลพระราชทาน 6,432 นามสกุล.กรุงเทพฯ : ดวงแก้ว, 2544