• ภาพ ชาวบ้านกำลังทอผ้า บ้านกำแพง อ.อุทุมพรพิไสย

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (15)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


จังหวัดขุขันธ์สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พุทธศักราช 2467 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เป็นผลให้ภาคและมณฑลต้องถูกยุบเลิกไป ในปีเดียวกันนี้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีก โดยแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด ให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล อำนาจการบริหารที่อยู่กับกรมการจังหวัดเปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่ผู้เดียว โดยมีกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา

พุทธศักราช 2476 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทางอ้อม โดยการเลือกผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2476 ปรากฏว่าผู้แทนราษฎรจังหวัดขุขันธ์ คือ ขุนพิเคราะห์คดี (อินทร์ อินตะนัย) บุตรญาแม่มาศ หลานพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านสุดท้าย เป็นผู้แทนราษฎรท่านแรกของจังหวัดขุขันธ์

จังหวัดขุขันธ์ สู่ จังหวัดศรีสะเกษ

วันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ตรา “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง”[22] โดยในมาตรา 3 กำหนดให้เปลี่ยนชื่อ “จังหวัดขุขันธ์” เป็น จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอ คือ อำเภอห้วยเหนือเป็นอำเภอขุขันธ์ อำเภอน้ำอ้อมเป็นอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอคงเป็นอำเภอราษีไศล และอำเภอศีร์ษะเกษเป็นอำเภอเมืองศรีสะเกษ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสากลเหมือนกันทั่วประเทศ ชื่อจังหวัดศรีสะเกษจึงยึดตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 หน้า 664 หลังจากที่มีการเขียนไม่เหมือนกันมาจึงเป็นที่ยุติว่า“จังหวัดศรีสะเกษ” ตลอดมาจนปัจจุบัน



-----------------------------------

[22] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง

พุทธศักราช 2481 (2481, 14 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 55),

[ออนไลน์], แหล่งที่มา

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/A/658.PDF.