• ภาพกองเกวียนบนถนน น้ำอ้อม-ศรีสะเกษ

  • Sisaket,Carts pulled by cattle Note. Nam Om, and road to Sisaket.March 15,16, 1936

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 15-16 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (5)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


พุทธศักราช 2406 จีนหอยพ่อค้าเมืองอุบลราชธานีออกไปตั้งค้าขายอยู่บ้านเหมือดแอ่ริมน้ำห้วยขะยูง ได้ถูกผู้ร้ายปล้นชิงทรัพย์แล้วฆ่าตาย ญาติของจีนหอยได้ไปร้องต่อเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายเมืองอุบลราชธานีแจ้งว่าเป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิ ครั้นไปร้องต่อเมืองสุวรรณภูมิ ฝ่ายเมืองสุวรรณภูมิก็แจ้งว่าเป็นเขตของเมืองศรีสะเกศ ญาติของจีนหอยจึงได้ไปร้องต่อพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา พระยากำแหงสงครามจึงได้เรียกเจ้าเมืองอุบลราชธานี เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และเจ้าเมืองศรีสะเกศมาพร้อมกัน แล้วมีบัญชาว่า ความเรื่องนี้เกิดฆ่ากันตายใกล้เขตเมืองอุบลราชธานี เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองศรีสะเกศ ถ้าเมืองใดจับคนร้ายได้จะยกตำบลนี้ให้ขึ้นกับเมืองนั้น ถ้าจับคนร้ายไม่ได้ให้เฉลี่ยกันออกเงินให้ญาติของจีนหอยเป็นเงิน 5 ชั่ง หรือถ้าหัวเมืองใดยินยอมชำระเงิน 5 ชั่ง ให้ญาติของจีนหอยก็จะยกตำบลนี้ให้ขึ้นกับหัวเมืองนั้น เจ้าเมืองอุบลราชธานีจึงยินยอมชำระเงิน 5 ชั่งให้แก่ญาติของจีนหอย ตำบลที่พิพาทกันจึงตกเป็นของเมืองอุบลราชธานีตามคำตัดสินของพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา

พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ปกครองเมืองศรีสะเกศนานถึง 56 ปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2368 – 2424 ปรากฏว่าเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 10 พุทธศักราช 2424 พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ได้นำบ่าวไพร่ออกไปชมการทำนาที่บ้านโนนจาน ตำบลน้ำคำ (ตำบลน้ำคำปัจจุบัน) เวลาค่ำพระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) ลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ดำน้ำครู่หนึ่งเป็นลมหน้ามืดจมน้ำ บุตรภรรยา บ่าวไพร่ช่วยเหลือไม่ทัน (ตำราพื้นเมืองเขาว่าเงือกฉก) ครั้นรุ่งขึ้นจึงพบศพ

พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) มีบุตรเท่าที่ปรากฏนาม คือ ท้าวคำปาน ผู้ช่วยเมืองศรีสะเกศ พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า) ผู้ว่าราชการจังหวัดศีร์ษะเกษท่านแรก พระวิเศษฯ (ท้าวศร) ปลัดเมืองศีร์ษะเกษและมีบุตรหญิงคนหนึ่งชื่อ นางคำ นางคำได้แต่งงานกับท้าวสุริยา หลังจากที่พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ถึงแก่กรรมแล้ว ปรากฏว่าพระพรหมภักดี (ท้าวโท) ยกกระบัตรเมืองศีร์ษะเกษ บุตรชายหลวงวิเศษ และท้าวคำปาน ผู้ช่วยราชการเมืองศีร์ษะเกษ บุตรชายพระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท เพื่อแย่งกันขอเป็นเจ้าเมือง แต่พอไปถึงกรุงเทพฯ ท้าวคำปาน ผู้ช่วยราชการเมืองศีร์ษะเกษ ได้ป่วยและถึงแก่กรรมเสียก่อน