• ภาพปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 17 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (2)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรขึ้นครองราชสมบัติแล้วจึงได้รีบจัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งตำแหน่งท้าวพระยาเสนาซ้ายขวา ตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุตครบทุกตำแหน่ง และทรงสร้างวัดหลวงแห่งใหม่เรียกว่า “วัดหลวงใหม่” แล้วนิมนต์ท่านพระครูยอดแก้วเข้าไปปกครองวัดนั้น พระครูยอดแก้วจึงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เมื่อส่งมอบหน้าที่ปกครองบ้านเมืองแก่เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรแล้ว เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กจึงจัดส่งศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถออกไปรักษาดินแดนและตั้งเมืองต่าง ๆ โดยให้ขึ้นตรงต่ออำนาจปกครองของนครจำปาศักดิ์ ตั้งแต่บัดนั้นอาณาเขตนครจำปาศักดิ์จึงแผ่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่อีสานตอนใต้ ได้แก่บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน สำหรับศิษย์เอกที่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแห่งนครจำปาศักดิ์ ส่งออกไปหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองปรากฏตามหลักฐานมีหลายท่าน ดังนี้

  1. จารย์หวด ไปรักษาด่านบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง เรียกว่าดอนโขง เป็นเจ้าเมืองโขง

  2. ท้าวสุด เป็นพระยาไชยเชษฐา ไปรักษาบ้านหางโคกปากน้ำเซทางฝั่งโขงตะวันออก เป็นเจ้าเมืองเชียงแตง

  3. จารย์แก้ว ไปรักษาบ้านทม เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

  4. ท้าวมั่น ข้าหลวงเดิมของนางแพนเป็นหลวงเอก ไปรักษาบ้านโพน เป็นเจ้าเมืองสาระวัน

  5. จารย์เชียง เป็นเจ้าเมืองศรีนครเขต อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน

  6. ท้าวพรหม เป็นราชบุตรโคตร ไปรักษาด่านบ้านแก้วอาเฮิม เป็นเจ้าเมืองคำทองใหญ่

  7. จันทรสุริยวงศ์ ไปรักษาด่านบ้านโพนสิม เป็นเจ้าเมืองตะโป

  8. จารย์สม ไปรักษาบ้านทุ่งอิฐกระบือ เป็นเจ้าเมืองอัตปือ

  9. บุตรพะละงุม เป็นขุนหนักเฒ่า ไปรักษาบ้านโคงเจียง เป็นเจ้าเมืองเชียงเจียง[1]

หลังจากที่เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กส่งศิษย์เอกไปปกครองเมืองต่างๆ แล้ว ในส่วนของจารย์เชียง ที่ได้ปกครองเมืองศรีนครเขต (อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของเมืองศรีนครเขตอีกเลย พบเป็นเมืองร้างที่ถูกทิ้งร้างไว้จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแล้ว

ปรากฏว่าในปีพุทธศักราช 2325 พระภักดีภูธรสงคราม(ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ซึ่งสืบเชื้อสายของจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคลได้ขอตั้งบ้านโนนสามขาสระกำแพง ขึ้นเป็นเมืองแยกออกจากเมืองขุขันธ์ จากหนังสือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ได้ระบุถึงสาเหตุของพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ที่ขอตั้งเมืองใหม่ขึ้นนั้น เนื่องจากพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์) ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลข้อตั้งท้าวบุญจันทร์ บุตรเลี้ยงเป็นพระไกร ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ อยู่มาวันหนึ่งพระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) เผลอเรียกพระไกร (ท้าวบุญจันทร์) ว่า ลูกเชลย พระไกร (ท้าวบุญจันทร์) จึงโกรธ และผูกพยาบาท ภายหลังมีพ่อค้าญวน 30 คน มาซื้อโคกระบือที่เมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) จึงอำนวยความสะดวกพร้อมทั้งจัดที่พักให้ญวนตลอดจนให้ไพร่นำทางกลุ่มพวกญวนไปช่องโพย ให้พวกญวนนำโค กระบือไปยังเมืองพนมเปญได้สะดวก พระไกรจึงได้กล่าวโทษมายังกรุงเทพฯ จากเหตุการณ์ที่พระไกร ได้กล่าวหาพระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) ในข้อหากบฏคบคิดร่วมกับญวน จนเป็นเหตุให้พระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ และพระไกรได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 แทนนั้น ทำให้พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นไม่พอใจ เนื่องจากพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) มีศักดิ์เป็นหลานของพระยาขุขันธ์ (เชียงขันธ์) อีกทั้งเกิดความระแวงเกรงกลัวว่าตัวท่านอาจจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตตนเองและครอบครัวในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ จึงต้องตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนแยกตั้งเป็นเมืองใหม่ โดยกราบบังคมทูลขอแยกบ้านโนนสามขาสระกำแพง และทูลขอเป็นเจ้าเมืองด้วยตนเอง ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นพระทัยและเห็นว่ามีความชอบธรรมมีเหตุมีผล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโนนสามขาสระกำแพง ขึ้นเป็น เมืองศรีษะเกศ ในปีพุทธศักราช 2325 และพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก (บรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ได้รับเป็นสัญลักษณ์ที่ลูกหลานเหลนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม ที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาทุกวันนี้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ลูกหลานของเจ้าแก้วมงคลหรือจารย์แก้ว เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านแรก (สุวรรณภูมิ) ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวง พระ พระยา ในราชทินนามรัตนวงศา คงหมายถึงต้นตระกูลที่ชื่อว่า แก้ว[2])



-----------------------------------

[1] เติม วิพากษ์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557), หน้า 143.

[2] อุทัย เทพสิทธา, ความเป็นมาของไทย-ลาว, (กรุงเทพฯ : สาส์นสวรรค์, 2509), หน้า 269.