• ภาพบ้านยกพื้น มีใต้ถุนสูง ระหว่างเส้นทางน้ำอ้อม-ศรีสะเกษ บ้านปุน อำเภอศรีรัตนะในปัจจุบัน

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 15 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

  • ภาพเด็กๆ ชาวบ้าน บ้านสำโรงระวี-บ้านปุน ระหว่างเส้นทางน้ำอ้อม-ศรีสะเกษ อำเภอศรีรัตนะ

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 15 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

  • ภาพชาวบ้านช่วยกันหาบของ เส้นทางน้ำอ้อม-ศรีสะเกษ อำเภอศรีรัตนะ

  • ภาพของ : ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

  • ถ่ายเมื่อ 15 มีนาคม 2479

  • ที่มาของภาพจาก FB : Wisuwat Buroot

เล่าเรื่องเมืองศรีสะเกษ (4)

โดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


หลังจากที่พระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) ถึงแก่กรรม ท้าวชม ผู้เป็นบุตรชาย ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิเศษภักดี เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 2 และท้าวด้วง ยกบัตรเมืองศรีสะเกศ ได้เป็นพระภักดีโยธา ปลัดเมืองศรีสะเกศ ส่วนหลวงวิเศษ บุตรพระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) เป็นยกบัตรเมืองศรีสะเกศ

พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) มีบุตรเท่าที่ปรากฏนาม 2 ท่าน คือ

  1. ท้าวด้วง ต่อมาเป็น พระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) [5]

เจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 3

  1. หลวงวิเศษ ต่อมาเป็น พระภักดีโยธา ปลัดเมืองศรีสะเกศ

ช่วงที่พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) ปกครองเมืองศรีสะเกศไม่ปรากฏเหตุการณ์ใดสำคัญมากนัก แต่พบเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาในเอกสารประวัติวัดมหาพุทธารามกล่าวถึง พุทธศักราช 2328 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) ได้ย้ายเมืองศรีสะเกศจากที่ตั้งเดิมบ้านโนนสามขาสระกำแพงมาตั้งที่บริเวณที่เป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ในขณะที่สร้างเมืองนั้นมีคนไปพบหลวงพ่อโต ภายในใจกลางป่าแดง สภาพที่พบนั้นเป็นตุ๊กตาหินที่มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป ชาวบ้านเล่ากันว่า ตุ๊กตาหินองค์นี้มีอภินิหาร กล่าวคือ หากมองดูจะเห็นเป็นรูปเล็ก ๆ เท่าแขนคนธรรมดา แต่พอเข้าไปโอบกอดด้วยแขนกลับโอบไม่รอบ ราษฎรจึงพากันฉงนใจไปบอกกับจารย์ศรีธรรมา ช่างหลวงเมืองจำปาศักดิ์ พี่เขยพระยารัตนวงษา (ท้าวอุ่น) เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านแรก จึงได้มีการสมโภชกันขนานใหญ่และได้อุปถัมภ์บำรุง โดยให้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบหลวงพ่อโต พร้อมทั้งนำอิฐปูนมาสร้างเสริมให้ใหญ่จริง ๆ ดังเห็นในปัจจุบัน ตั้งชื่อว่า วัดพระโตหรือวัดป่าแดง ปัจจุบัน คือ วัดมหาพุทธาราม เมื่อสร้างวัดแห่งนี้แล้ว พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) จึงได้จัดหาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิมาปกครอง ก่อสร้างเสนาสนะที่จำเป็นต่าง ๆ และเจ้าเมืองศรีสะเกศคนต่อ ๆ มาไม่ว่า พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) พระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) ก็ได้อุปถัมภ์เอาใจใส่บำรุงวัดพระโตเสมือนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกศตลอดมา และในปีเดียวกันนั้นพระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) ได้ทำการชักชวนราษฎร ขุนนาง บริจาคทรัพย์สร้างวัดคู่เมืองศรีสระเกศ และได้ตั้งนามวัดว่า วัดหลวงสุมังค์ ปัจจุบัน คือ วัดหลวงสุมังคลาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่บิดา คือ พระยารัตนวงศา (ท้าวอุ่น) ขอแยกจากเมืองขุขันธ์มาตั้งจังหวัดศรีสะเกษ ณ ปัจจุบัน วัดหลวงสุมังค์นี้ปรากฏมี พระวิเศษมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองศรีสะเกศเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่สร้างขึ้นพร้อมเมืองศรีสะเกศประดิษฐานหลังจากที่พระยาวิเศษภักดี (ท้าวชม) เจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 2 ถึงแก่กรรม ท้าวด้วงจึงได้เป็น เจ้าเมืองแทนบิดา และใช้ราชทินนามเดิมของบิดาสืบต่อมา เป็นพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) เจ้าเมืองศรีสะเกศ ท่านที่ 3[6] (ในพงศาวดารอีสานไม่ได้กล่าวถึงเจ้าเมืองศรีสะเกศลำดับต่อมาอีกเลย มากล่าวตอนสิ้นรัชกาลที่ 2 และต้นรัชกาลที่ 3 ทีเดียว) และในปีเดียวกันนี้ ปรากฏเหตุการณ์สำคัญในพงศาวดารว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงแยกย้ายกันขึ้นไปตรวจสำรวจสำมะโนครัว แลตั้งกองสักเลกอยู่ตามหัวเมืองมณฑลอีสานบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เป็นต้น แลให้เรียกส่วยผลเร่ว เป็นธรรมเนียมแต่นั้นมา ในระหว่างนั้นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสะเกศถึงแก่กรรม[7]

ดังนั้น ช่วงปลายพุทธศักราช 2367 หลังจากพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) เป็นเจ้าเมืองได้ไม่ถึงปีจึงถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันเป็นผลให้ในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2368 พระภักดีโยธา (ท้าวบุญจันทร์) ปลัดเมือง บุตรชายของพระยาวิเศษภักดี (ท้าวด้วง) ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสะเกศท่านที่ 4 และโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนหลวงวิเศษ ยกกระบัตรเมืองศรีสะเกศเป็นที่พระภักดีโยธา ปลัดเมืองศรีสะเกศแทน ส่วนราชบุตรเป็นหลวงยกกระบัตรแทน ทิดอูดเป็นหลวงมหาดไทย และขุนไชยณรงค์เป็นหลวงธิเบศร์ ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับหลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย กรมการเมืองศรีสะเกศ ซึ่งเป็นเผ่าลาวทั้งสามคนจึงได้อพยพครอบครัว และบ่าวไพร่ จำนวน 2,756 คน ยกไปตั้ง ณ บ้านลำโดมใหญ่ ซึ่งเป็นตั้งอยู่ระหว่างหว่างเขตเมืองศรีสะเกศกับเมืองนครจำปาศักดิ์ และเมืองอุบลราชธานี บ้านลำโดมใหญ่ ปรากฏมีชายฉกรรจ์ จำนวน 606 คน สำมะโนครัว 2,150 คน ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองขนานนามว่า “เมืองเดชอุดม” (ปัจจุบัน คืออำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี) ในวันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 8 พุทธศักราช 2388 ตามคำขอของหลวงธิเบศร์ที่กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านลำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมือง จึงทรง โปรดเกล้าฯ ให้หลวงธิเบศร์ เป็นพระศรีสุระสงคราม เจ้าเมืองเดชอุดม ให้หลวงมหาดไทยเป็นปลัดเมืองเดชอุดม ให้หลวงอภัยเป็นยกกระบัตรรักษาราชการแขวง เมืองเดชอุดมทิศเหนือตั้งแต่ลำห้วยเท้าสารฝั่งใต้ ทิศตะวันตกตั้งแต่ลำห้วยเท้าสารไปถึงเชิงเขาเพียงลำน้ำซอง (ฤๅซอม) โอบตามเชิงเขาไปถึงโดมน้อย ทิศตะวันออกตั้งแต่ลำโดมน้อยฟากทิศตะวันตกไปจนถึงลำน้ำมูล ทำราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร



-----------------------------------

[5] ในเอกสารส่วนตัวของคุณยายแสง โกมณเฑียร ที่ท่านได้รับมาจากตระกูลสีหบัณห์ ทายาทพระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองท่านสุดท้าย ระบุว่า ท้าวด้วง ต่อมาได้ครองเมืองศรีสะเกษแทนบิดาในราชทินนาม พระยาวิเศษภักดี แต่เมื่อเทียบเคียงกับเอกสารอื่นประกอบ กลับไม่พบชื่อท้าวด้วงเป็นเจ้าเมืองท่านที่ 3 พบว่าเจ้าเมืองท่านที่ 3 คือ พระยาวิเศษภักดี (ท้าวบุญจันทร์) ซึ่งเป็นบุตรท้าวด้วง ผู้เรียบเรียง [ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม] สันนิษฐานว่าท้าวด้วง อาจจะเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษที่หายสาบสูญ ไม่ได้จดบันทึกไว้อย่างที่ควรจะเป็น หากมีการชำระประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษครั้งต่อไปเห็นควรว่า น่าจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาคงจะดีมิใช่น้อย

[6] บันทึกลำดับสายสกุลเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ.

[7] เติม วิพากษ์พจนกิจ, เรื่องเดิม, หน้า 144