เรื่องที่ 3 การปฏิบัติตนในฐานะลูกเสือ กศน. เพื่อเป็นจิตอาสา และให้การบริการ

          การปฏิบัติตนในฐานะลูกเสือ กศน. เพื่อเป็นจิตอาสาและการให้บริการ ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนี้
ความรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นผู้มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม มีดังนี้
    1. ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหาความรู้
    2. รู้จักการออกกำลังกาย เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
    3. มีความประหยัดรู้จักความพอดี
    4. ประพฤติตัวให้เหมาะสม ละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
  5. ทำงานที่รับมอบหมายให้สำเร็จ
  6. มีความรับผิดชอบ ตรงเวลา สามารถพึ่งพาตนเองได้
ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการช่วยเหลือสังคม ไม่ทำให้ผู้อื่น หรือสังคมเดือดร้อนได้รับความเสียหาย ได้แก่
    1. มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น เชื่อฟังพ่อแม่ ช่วยเหลืองานบ้าน ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ
    2. มีความรับผิดชอบต่อสถานศึกษา ครูอาจารย์ เช่น ตั้งใจเล่าเรียน เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์ ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยของสถานศึกษา ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติสถานศึกษา
    3. มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น เช่น ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
    4. มีความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง เช่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาสมบัติของส่วนรวม ให้ความร่วมมือต่อสังคมในฐานะพลเมืองดี

 การปฏิบัติตนในฐานะลูกเสือ กศน. เพื่อการบริการ ต้องตระหนักในสิ่งต่อไปนี้
    1. บริการแก่ตนเองก่อน เป็นการเตรียมตนเองให้พร้อมที่จะให้บริการตนเองก่อน ทั้งในด้านการเงิน สุขภาพ เวลาว่าง สติปัญญา ฯลฯ หากยังไม่มีความพร้อม ก็ไม่อาจให้บริการแก่ผู้อื่นได้ หรือได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะตราบใดที่เรายังต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือต้องอยู่ภายใต้การโอบอุ้มค้ำชูของผู้อื่น ต้องขอให้ผู้อื่นช่วยเหลือเรา แสดงว่าเรายังไม่พร้อม ฉะนั้น ลูกเสือ กศน. ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการบริการ

        2. บริการแก่หมู่คณะ เมื่อฝึกบริการตนเองแล้ว ต้องขยายการให้บริการแก่หมู่คณะในการหาประสบการณ์ หรือความชำนาญ ด้วยการบริการเป็นรายบุคคล บริการแก่ครอบครัวบริการแก่บุคคลใกล้ชิด อันเป็นส่วนรวม ลูกเสือ กศน. ทุกคนควรมีประสบการณ์ภาคปฏิบัติในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือหมู่คณะด้วยการปฏิบัติตนให้เป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง เป็นมิตรกับคนทุกคน ซื่อสัตย์สุจริต มีกริยาสุภาพ และใช้วาจาสุภาพไม่หยาบโลน
    3. บริการแก่ชุมชน เมื่อฝึกบริการแก่ตนเอง และบริการแก่หมู่คณะแล้ว สมควรที่จะไปบริการแก่ชุมชนตามสติปัญญา ประสบการณ์ และความสามารถแนวคิดในการบริการแก่ชุมชน คือ การชำระหนี้แก่ชุมชนด้วยการร่วมมือ เสียสละร่วมกัน เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น การพัฒนาอาคาร สถานที่ บ้านเมืองในชุมชนนั้น การสร้างสาธารณสถาน เช่น ทำความสะอาด การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ การควบคุมการจราจร การดับเพลิง การจัดงานรื่นเริง งานสังคม เพื่อประโยชน์ของสังคมนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ลูกเสือ กศน. ได้ประสบการณ์จากชีวิตจริง สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่อาศัยอยู่ได้ สามารถประกอบอาชีพได้โดยปกติสุขเพราะได้รับการฝึกให้รู้จักเสียสละ เพื่อบริการแก่ชุมชนหรือสังคม โดยไม่ได้เอารัดเอาเปรียบหรือเห็นแก่ได้