เรื่องที่ 2 ความสำคัญของการลูกเสือกับการพัฒนา

การลูกเสือ เป็นการอาสาสมัครทำงานให้การศึกษาพัฒนาศักยภาพบุคคลทั่วไป โดยไม่มีการแบ่งแยก กีดกันในเรื่องเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ และลัทธิทางศาสนาใด ๆ

การพัฒนา คือ การเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเป็นไป ในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การลูกเสือจะสามารถทำการพัฒนาศักยภาพบุคคลให้มี การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งในหน่วยการเรียนนี้ จะกล่าวถึงการลูกเสือกับการพัฒนาตนเอง การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและการพัฒนาสัมพันธภาพในชุมชนและสังคม ดังนี้

2.1 การพัฒนาตนเอง

การพัฒนาตนเอง หมายถึง ความต้องการของบุคคลในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนจากที่เป็นอยู่ให้มีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และหน่วยงาน อีกทั้ง พัฒนาศักยภาพของตนเองให้เพิ่มขึ้น ดีขึ้นในทุกด้าน ดังนี้

1. การพัฒนาทางกาย

2. การพัฒนาทางจิตใจ

3. การพัฒนาทางอารมณ์

4. การพัฒนาทางสติปัญญา

5. การพัฒนาทางสังคม

6. การพัฒนาทางความรู้

7. การพัฒนาทางอาชีพ

8. การพัฒนาสิ่งแวดล้อม

1. การพัฒนาทางกาย หมายถึง การพัฒนาสุขภาพ อนามัย ให้ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ กริยาท่าทาง การแสดงออก การใช้น้ำเสียง วาจา การใช้คำพูดในการสื่อความหมาย และการแต่งกายที่สะอาด เหมาะสมกับกาลเทศะ เหมาะกับรูปร่างและผิวพรรณ

2. การพัฒนาทางจิตใจ หมายถึง การพัฒนาเจตคติที่ดี หรือความรู้สึกที่ดี หรือการมองโลกในแง่ดี รวมถึงการพัฒนาสุขภาพจิตของตนเองให้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปกติ และเป็นสุข โดยมีคุณธรรมเป็นหลักในการพัฒนาจิตใจ

3. การพัฒนาทางอารมณ์ หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการควบคุมความรู้สึกนึกคิด การควบคุมอารมณ์ที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น โดยมีธรรมะเป็นหลักพัฒนาทางอารมณ์

4. การพัฒนาทางสติปัญญา หมายถึง การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเอง การพัฒนาความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การพัฒนากระบวนการทางความคิดเชิงวิเคราะห์ การตัดสินใจด้วยความเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบปฏิญาณ ภูมิคุ้มกันที่ดีในตน มีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างพอประมาณ และมีเหตุผลที่ดี

5. การพัฒนาทางสังคม หมายถึง การพัฒนาความเป็นพลเมืองดี คิดดี ทำดีมีจิตสาธารณะ สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

6. การพัฒนาทางความรู้ หมายถึง การพัฒนาความรอบรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. การพัฒนาทางอาชีพ หมายถึง การพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการทางอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการฝึกทักษะฝีมือ

8. การพัฒนาสิ่งแวดล้อม หมายถึง การกระตุ้น และรักษา ตลอดจนแสวงหาแนวทาง ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในคุณค่า และการดูแลการรักษา

2.2 การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หมายถึง ความผูกพัน ความเกี่ยวข้องเป็นกระบวนการติดต่อเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อทำความรู้จักกัน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันด้วยความเต็มใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน อาศัยการแสดงออกทางกาย วาจา และใจ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจไม่จำกัดแน่นอน สามารถอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความอดทนในการอยู่ร่วมกัน

       การพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มที่ตนเอง ดังนี้

1. รู้จักปรับตนเองให้มีอารมณ์หนักแน่น ไม่หวาดระแวง ไม่อ่อนแอหรือแข็งกระด้าง ไม่เปลี่ยนแปลงหรือผันแปรง่าย

2. รู้จักปรับตนเองให้เข้ากับบุคคล และสถานการณ์ รวมทั้งยอมรับและปฏิบัติตามกฎ กติกา ระเบียบต่างๆ รู้จักบทบาทของตนเอง

3. รู้จักสังเกต รู้จด และรู้จ า การสังเกตจะช่วยให้เราสามารถเข้ากับทุกคน ทุกชั้น ทุกเพศ และทุกวัยได้ดี

4. รู้จักตนเองและประมาณตน ช่วยให้คนลดทิฐิ และเห็นความสำคัญของผู้อื่นช่วยสร้างความพึงพอใจให้แก่กัน

5. รู้จักสาเหตุและใช้เหตุผลต่อผู้อื่น ช่วยลดความวู่วาม ทำให้การคบหากันไปด้วยดี

6. มีความมั่นใจในตนเอง และเป็นตัวของตัวเอง

2.3 การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม

การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลง ภายในสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำ มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

       การพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ตนเอง มีดังนี้

1. พัฒนาบุคลิกภาพให้ผู้พบเห็นเกิดความชื่นชมและประทับใจ ด้วยการพูดและกิริยาท่าทาง

2. พัฒนาพฤติกรรมการแสดงออกด้วยความจริงใจ ใจกว้าง ใจดี

3. ให้ความช่วยเหลือเอาใจใส่ในกิจกรรมและงานส่วนรวม ด้วยความมีน้ำใจและเสียสละ

4. ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

5. ร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมให้ดีขึ้น

6. พูดคุยกับทุกคนด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตรกับทุกคน

7. ยึดหลักปฏิบัติตามค่านิยมพื้นฐาน คือ การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ ประหยัดและออม มีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามคุณธรรมของ ศาสนา มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

       สรุปได้ว่า การพัฒนาชุมชนและสังคมเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ประชาชน ในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปรับแนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะช่วยให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาให้เป็นชุมชนที่ดี สร้างให้เกิดความรู้สึกรักและผูกพันต่อชุมชนของตนเอง ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาชุมชน โดยใช้กระบวนการลูกเสือเป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้ ความคิดให้กับประชาชน ภายใต้กระบวนการรวมกลุ่ม เพื่อผลักดันให้การพัฒนาชุมชนบรรลุผลสำเร็จและเกิดผลต่อประชาชนโดยตรง