ประวัติ/การค้นพบ

ไดโนเสาร์  

การขุดพบโครงกระดูกไดโนเสาร์บนทือกเขาภูเวียงได้สร้างชื่อเสียงให้กับเทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอด และโครงกระดูกไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่ชื่อว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ซึ่งนำชื่อภูเวียงมาเป็นชื่อสกุล และอัญชิญพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นชื่อชนิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา สังกัดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการจัดแสดงเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ 

การค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทย

สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2513 หน่วยสำรวจธรณีวิทยา จากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้พบ แร่ยูเรเนียม ชนิดคอฟฟินไนต์ เกิดร่วมกับแร่ทองแดงชนิดอะซูไรต์และมาลาไคต์ ทำให้ต่อมา องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานปรมาณู เข้าไปสำรวจเพิ่มเติมด้วย ระหว่างปี พ.ศ. 2518 ตลอดจนปี   พ.ศ. 2523 กรมทรัพยากรธรณีได้เข้าไปทำการเจาะสำรวจในรายละเอียด

ในปี พ.ศ. 2519 นายสุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยา ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์เศษกระดูกไดโนเสาร์บริเวณพื้นลำห้วยประตูตีหมา และต่อมาวินิจฉัยได้ว่าเป็นเศษส่วนปลายของกระดูกขาหลังท่อนบนด้านซ้ายของ ไดโนเสาร์ซอริสเชีย ในกลุ่มซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มี 4 ขา คอยาว หางยาว) โดยถือได้ว่าเป็นการค้นพบหลักฐานไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทย ที่นำไปสู่การสำรวจและวิจัยอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก : http://www.isangate.com/new/32-art-culture/knowledge/576-dinosaurus.html