ท้องฟ้าจำลอง
มนุษย์ให้ความสนใจต่อวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์บนฟากฟ้ามาเป็นเวลาช้านานแล้ว สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้มนุษย์สนใจค้นคว้าหาความจริงในธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น ด้วยความคิดอันเป็นระบบของมนุษย์ ทำให้มนุษย์พยายามจัดแบ่งดาวที่มีจำนวนมากมายมหาศาลบนท้องฟ้าออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อความสะดวกในการค้นหาและสังเกตการณ์ กลุ่มดาวทั้งหมดบนท้องฟ้าจึงถูกแบ่งออกทั้งหมดเป็น 88 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มกำหนดไว้ในรูปของตัวบุคคล เครื่องมือสัตว์ต่าง ๆ ในเทพนิยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทพนิยายกรีก ซึ่งเป็นนิยายปรัมปราที่มีการเล่าขานสืบต่อมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล และยังเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน การกำหนดเช่นนี้ทำให้การจดจำกลุ่มดาวต่าง ๆ ง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก อีกยังทำให้การดูดาวมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ในช่วงฤดูหนาวตอนหัวค่ำ เราอาจสังเกตกลุ่มดาวนายพราน (Orion) กลุ่มดาวม้าปีก (Pegasus) กลุ่มดาวสารถี (Auriga) และกลุ่มดาววัว (Taurus) เป็นต้น ส่วนในช่วงฤดูร้อนตอนหัวค่ำ เราอาจสังเกตกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) กลุ่มดาวสิงโต (Leo) เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเห็นดาวเคราะห์ (Planets) บางดวงปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวจักราศี (Zodiac) อีกด้วย และด้วยความช่างสังเกตของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ทราบว่าการขึ้น – ตกของดาวต่าง ๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลกในแต่ละวัน และนอกจากจะสังเกตเห็นว่า ดาวฤกษ์บนท้องฟ้ามีความสว่างแตกต่างกันแล้ว ยังพบว่าดาวฤกษ์แต่ละดวงยังมีสีหลากหลายแตกต่างกันไป บ้างก็เป็นสีน้ำเงิน บ้างก็เป็นสีขาว บ้างก็เป็นสีแดง ซึ่งนักดาราศาสตร์ก็ได้ข้อสรุปในภายหลังว่าสีของดาวนั้นขึ้นกับอุณหภูมิของดาวแต่ละดวงนั่นเอง ถ้าดาวร้อนมากสีที่ปรากฏจะเป็นสีน้ำเงิน ถ้าร้อนน้อยลงก็จะเริ่มกลายเป็นสีขาว และถ้าไม่ร้อนมากก็จะกลายเป็นสีส้มหรือสีแดง
เมื่อมีการสร้างกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวขึ้นมาในครั้งแรกตั้งแต่สมัยกาลิเลโอ (Galileo) โลกทัศน์ทางดาราศาสตร์และความลี้ลับต่าง ๆ ของเอกภพก็มีความชัดเจนขึ้น นักดาราศาสตร์พบว่าในเอกภพมีดาวฤกษ์และวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ จำนวนมากมายมหาศาลที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และด้วยอำนาจการรวมแสง การแยกภาพและกำลังขยายของกล้องโทรทรรศน์ นักดาราศาสตร์พบว่าบางบริเวณบนท้องฟ้า มีดาวฤกษ์อยู่รวมกันเป็นกระจุก (Cluster) ดาวฤกษ์แต่ละดวงที่เป็นสมาชิกของกระจุกดาวมีแรงดึงดูดระหว่างกัน บางกลุ่มก็มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก บางกลุ่มก็มีสมาชิกเป็นจำนวนน้อยแตกต่างกันไป นักดาราศาสตร์แบ่งกระจุกดาวออกเป็น 2 ชนิด คือ กระจุกดาวทรงกลมหรือกระจุกดาวปิด (Globular Cluster) ตัวอย่างเช่น กระจุกดาวในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส(Hercules Cluster) เป็นต้น และกระจุกดาวกาแลกติก หรือ กระจุกดาวเปิด (Galactic Cluster หรือ Open - Cluster) ตัวอย่างเช่น กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) เป็นต้น
ดาวฤกษ์จำนวนนับแสนล้านดวงอาจมาอยู่ร่วมกัน ภายใต้แรงโน้มถ่วงระหว่างกัน เป็นอาณาจักรดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ เรียกว่า “ดาราจักร (Galaxy)” ดาราจักรมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป บ้างก็เป็นทรงรี (Elliptical) บางก็เป็นก้นหอย (Spiral) และบ้างก็ไร้รูปร่าง (Irregular) ระบบสุริยะของเราเป็นสมาชิกในดาราจักรที่มีชื่อเรียกว่า “ทางช้างเผือก (Milky Way)” มีรูปร่างเป็นก้นหอย ดาราจักรเพื่อนบ้านของเราที่มีรูปร่างคล้ายดาราจักรทางช้างเผือก มีชื่อว่าดาราจักร “แอนโดรเมดา (Andromeda) อยู่ห่างจากเราประมาณ 2.2 ล้านปีแสง
อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก http://www.lesa.biz/astronomy