ตัวอย่างหินอัคนี

1. หินอัคนีบาดาล หมายถึง หินอัคนีเนื้อหยาบที่เกิดจากการเย็นตัว ตกผลึก และแข็งตัวอย่างช้าๆ จากหินหนืด ณ ระดับหนึ่งใต้ผิวโลก (โดยทั่วไปลึกมากกว่า ๒ กิโลเมตร) ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่

หินแกรนิต (granite) เป็นหินอัคนีบาดาลสีขาวเทา โดยมากมีจุดประสีดำๆ ประกอบด้วย แร่ควอตซ์สีขาวใส แร่เฟลด์สปาร์สีขาวขุ่น และแร่ไบโอไทต์สีคล้ำ เป็นส่วนใหญ่ หินแกรนิตเป็นหินสำคัญบนเปลือกโลกส่วนทวีป ในประเทศไทย มักพบตามแนวทิวเขาขนาดใหญ่ ของประเทศ อาทิ ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ตทางภาคตะวันตกและภาคใต้ (จังหวัดพังงา ระนอง และภูเก็ต) ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาผีปันน้ำ ทางภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง) 

หินไดโอไรต์ (diorite) เป็นหินอัคนีบาดาลสีคล้ำเข้ม เนื่องจากมีปริมาณของแร่ควอตซ์ลดลงมาก ส่วนปริมาณของแร่เฟลด์สปาร์และแร่สีคล้ำๆ เช่น ไบโอไทต์ ฮอร์นเบลนด์ กลับเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นเป็นสีขาวประดำเป็นส่วนใหญ่ ในประเทศไทยพบไม่มากนัก ส่วนใหญ่พบในบริเวณเดียวกับหินแกรนิต เช่น ที่จังหวัดเลย แพร่ น่าน เชียงราย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์  

หินแกบโบร (gabbro) เป็นหินอัคนีบาดาลสีเขียวเข้มถึงดำ ประกอบด้วย แร่ไพรอกซีน และแร่เฟลด์สปาร์ชนิดแพลจิโอ-เคลสเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจมีแร่โอลิวีนอยู่บ้าง พบไม่มากนักบนเปลือกโลกส่วนที่เป็นทวีป แต่พบมากในส่วนล่างของเปลือกโลกส่วนที่เป็นมหาสมุทร ในประเทศไทยพบน้อยมาก เป็นแนวทิวเขาเตี้ยๆ ในจังหวัดเลย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ศรีสะเกษ ปัตตานี ยะลา 

2. หินภูเขาไฟ หมายถึง หินอัคนีเนื้อละเอียด หรือละเอียดมากคล้ายแก้ว จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นผลึก เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของหินละลายที่ไหลขึ้นมาสู่ผิวโลก ที่สำคัญได้แก่

หินไรโอไลต์ (rhyolite) เป็นหินภูเขาไฟที่มีสีขาวเทา เนื้อละเอียด และมีส่วนประกอบทางแร่ คล้ายกับหินแกรนิต มักประกอบด้วยผลึกดอก (phenocryst) ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในเนื้อหิน ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ผลึกดอกส่วนใหญ่ได้แก่ แร่ควอตซ์ และแร่ไบโอไทต์ หินไรโอไลต์มักเกิดเป็นภูเขาหรือเนินกลมๆ บางที่ก็เรียงรายเป็นทิวเขา ในประเทศไทย พบอยู่ไม่มากนัก เช่น ที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี แพร่ เลย

หินแอนดีไซต์ (andesite) เป็นหินภูเขาไฟที่มีสีเขียวหรือเขียวเทา เนื้อละเอียด และมีส่วนประกอบทางแร่คล้ายหินไดโอไรต์ ผลึกดอกมักเป็นแร่เฟลด์สปาร์ แร่ไพรอกซีน และแร่แอมฟิโบล มักเกิดเป็นแนวทิวเขายาวเช่นกัน เช่น ที่จังหวัดลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ สระบุรี

หินบะซอลต์ (basalt) เป็นหินภูเขาไฟสีเข้มถึงดำ เนื้อละเอียด และมีส่วนประกอบทางแร่ คล้ายหินแกบโบร ผลึกดอกมักเป็นแร่โอลิวีนหรือไพรอกซีน เนื้อหินมักมีรูพรุน ในประเทศไทย พบมากที่จังหวัดศรีสะเกษ ลำปาง กาญจนบุรี และจันทบุรี บางแห่งเป็นต้นกำเนิดของพลอย 

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก:http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=33&chap=6&page=t33-6-infodetail09.html