เซรามิค

ต้นกำเนิดชามตราไก่ เซรามิคลำปาง

          จากชาวจีนเมืองไท้ปูเพียงไม่กี่คนที่เดินทางรอนแรมมารวมเป็นหนึ่งในเชื้อชาติไทย พวกเขานำภูมิปัญญากว่าร้อยปีของการปั้น “ชามไก่” เข้ามาสู่เมืองไทย …50 กว่าปีที่ผ่านมาได้เกิดการแตกหน่อ แยกสาขาผ่านลูก ผ่านหลานไปจนถึงชาวบ้านท้องถิ่นเดิม จนกระทั่งกลายเป็นงานฝีมือที่คนไทยทั่วทั้งประเทศรู้จักดี เติบโตขึ้นเป็นโรงงาน ขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โต สร้างอาชีพหลักให้แก่ชาวจังหวัดลำปาง ผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ที่ชนรุ่นหลังปรับเปลี่ยนเพิ่มมูลค่ากันขึ้นมา และยังส่งออกนอกต่างประเทศทำเงินหลายพันล้านบาทต่อปีให้ประเทศไทย

          ภควดี อาติกา ผูจก.โครงการ “กาดม่วนใจ๋” แหล่งใหญ่ที่ขายเซรามิกแก่คนทั้งประเทศ โดยสาวลำปางผู้นี้เป็นผู้พาเราชมตำนาน “นักปั้นดิน” ที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชาวลำปาง และแม้ปัจจุบันก็ยังตกทอดสืบสานกันมาไม่เปลี่ยนแปลง และแนะนำให้รู้จักกับคุณป้าบุญสม หาญเมธี เถ้าแก่เนี้ยใจดี

          ป้าบุญสม เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า ตั้งแต่เปิดมาในปีพ.ศ.2540 กาดม่วนใจ๋น่าจะเป็นแหล่งขายเครื่องเซรามิคใหญ่ที่สุดแล้วในลำปาง นักท่องเที่ยวหรือกรุ๊ปทัวร์ที่ขึ้นไปเที่ยวยังจังหวัดเชียงใหม่ จะมาแวะซื้อเซรามิคที่ตลาดนี้เป็นของฝาก เธอเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับเดินไปหยิบชามไก่รุ่นเก่าที่ยังมีวางขายในร้านมาโชว์ให้เราดูด้วย

         ภควดี เล่าให้ฟังว่า สินค้าเซรามิคที่ขายอยู่ที่นี่ จะเป็นของที่ตระเวนไปหาซื้อมาจากโรงงานเซรามิคเกือบทุกแห่งในจังหวัด ซึ่งสินค้าทั้งหมดจะเป็นสินค้ามีตำหนิแต่คุณภาพดี ไม่ว่าจะเป็นโรงงานชาวบ้านธรรมดา หรือโรงงานเซรามิคขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูงและส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนั้นสวรรค์ของนักซื้อถ้วยชามแห่งนี้ คงไม่ต้องเล่ารายละเอียดแล้วว่ามีอะไรบ้าง เพราะมีทุกอย่างที่ใช้เงินต่ำสุดเพียง 1 บาท ก็ได้เป็นเจ้าของเซรามิคชิ้นสวยไว้ในมือ

        ทำไมจังหวัดลำปางกลายเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ภควดี เกริ่นว่า เพราะลำปางมีแหล่งแร่สำคัญ คือ ดินขาว ทำให้ลำปางกลายเป็นเมืองเซรามิก

         ย้อนเรื่องราวไปถึงบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สำคัญชาวลำปาง คือ การค้นพบแหล่งแร่ดินขาว ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และกลายมาเป็นวัตถุดิบที่เป็นหัวใจของการผลิตสินค้าเซรามิกในเวลาต่อมาเรื่องราวนี้ เกิดขึ้นจากการสังเกตเรื่องเล็กๆของคนไม่กี่คนที่ได้เห็นวัสดุที่ใช้ลับมีดของชาวบ้านอ.แจ้ห่ม วัสดุชิ้นนั้นประกอบด้วยแร่ดินขาว

           หลังจากนั้น นายซิมหยู แซ่ฉิน (ปัจจุบัน คือ โรงงานธนบดีสกุล) ชาวจีนเมืองไท้ปู (ในฮกเกี้ยน) เมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตถ้วยชาม ได้ชวนเพื่อนอีก 2 คน คือ นายเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ (โรงงานไทยมิตรในปัจจุบัน) และ นายซิวกิม แซ่กว๊อก (โรงงานกฎชาญเจริญในปัจจุบัน) นำจักรยานคู่ชีพออกค้นหาแหล่งดินขาว โดยมี ทวี ผลเจริญ เถ้าแก่ในกทม.เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน จนประมาณปีพ.ศ. 2498 -2499 ทั้งสามคนจึงค้นพบแหล่งแร่ดินขาวที่หมู่บ้านปางค่า อ.แจ้ห่ม ระหว่างกม.ที่ 26 – 27 ถ.ลำปาง – แจ้ห่ม หลังจากนั้นจึงว่าจ้างคนลากเกวียน บรรทุกแร่ดินขาวมาทดลองปั้นถ้วยชามในโรงงานของ ซิมหยู และ ประยูร ภมรศิริ ผลที่ได้คือ พวกเขาค้นพบว่า ดินขาว มีความแข็งแกร่งและทนทานความร้อนได้สูง ให้คุณค่าของเนื้อผลิตภัณฑ์เป็นสีขาวสวยงาม

          ข้อมูลจากจ.ลำปางระบุว่า ลำปางเป็นจังหวัดที่มีแร่ดินขาวมากที่สุดในประเทศถึง 65% รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ดินขาวเป็นวัตุดิบมีสัดส่วนถึง 93 % ของมูลค่าการผลิตทั้งประเทศ


แหล่งข้อมูลจาก : https://ceramiclover.wordpress.com/2015/08/15/%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A3%E0%B8%B2/