ประวัติชื่อบ้านนามเมืองของหาดใหญ่

ประวัติชื่อบ้านนามเมืองของหาดใหญ่

๑. บ้านหาดใหญ่ ตําบลคอหงส์ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าชื่อ “บ้านหาดใหญ่” นี้มาจากชื่อของต้นมะหาดขนุนขนาดใหญ่ ซึ่งยืนต้นเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งคลองเตยทางเข้าหมู่บ้านจันทร์นิเวศน์และบ้านทุ่งเสา ปัจจุบันคือช่วงปลายสุดของถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓ ต้นมะหาดขนุนนี้เองที่ชาวบ้านในสมัยก่อนใช้เป็นที่หลบแสงแดดในช่วงกลางวัน ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันเป็นหาดใหญ่ในที่สุด

๒. บ้านทุ่งตําเสา ตําบลทุ่งตําเสา อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าแต่เดิมหมู่บ้านนี้ยังคงสภาพเป็นทุ่งโล่งกว้างมีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่หนาแน่นชาวบ้านนิยมตัดมาใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนเรียกกันว่า “ต้นตําเสา” ต่อมาจึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน

๓. บ้านทุ่งรี ตําบลคอหงส์ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชาวบ้านเล่ากันว่าแต่เดิมหมู่บ้านนี้เป็นท้องทุ่งนา ลักษณะเป็นรูปวงรีเวลาชาวบ้านไปทํากิจธุระที่ใด ก็ตามมักเรียกสถานที่อยู่ของตนว่าอยู่ทุ่งรี จนกระทั่งเรียกติดปากว่า “บ้านทุ่งรี”

๔. บ้านทุ่งโดน ตําบลคอหงส์ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าแต่เดิมหมู่บ้านนี้ยังเป็นทุ่งนาอยู่และมีต้นโดนใหญ่ขึ้นอยู่ปลายนา ต้นโดนนี้เองที่ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวมักนิยมนําส่วนยอดและใบมารับประทานร่วมกันกับน้ำพริก

๕. บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง กว้างใหญ่ ประกอบด้วยที่ราบลุ่มและทุ่งนาเป็นหลัก ชาวบ้านในพื้นที่จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทุ่งใหญ่” อันเป็นลักษณะเด่นทางสภาพแวดล้อมที่ปรากฏแต่เดิม

๖. บ้านพรุเตาะนอก ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมในบริเวณดังกล่าวนี้ยังเป็น “พรุ” หรือบริเวณที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังเป็นประจำ และภายในบริเวณดังกล่าวนี้เองยังมี “ต้นเตาะ” (สันนิษฐานว่าน่าจะคล้าย ๆ กับส้มคางคก, ส้มขามคางคก, กาเตาะปูฆู (มลายู) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น วันดีคืนดีใบของต้นเตาะก็ตกหล่นลงมาสู่พรุอย่างมากมาย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านที่มีลักษณะดังกล่าว และมีอาณาบริเวณอยู่นอกสุดของหมู่บ้านว่า “บ้านพรุเตาะนอก” ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในก็เรียกว่า “บ้านพรุเตาะใน” เป็นต้น

๗. บ้านทุ่งลุง ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงสภาพเป็นทุ่งนากว้างใหญ่และกลางทุ่งนานี้เองยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ต้นหนึ่งเป็นที่ศักการบูชาของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวว่ามีเทวดาสถิตอยู่ภายในเรียกกันว่า “ต้นลุง” ซึ่งมีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี(ปัจจุบันต้นลุงยืนต้นอยู่บริเวณตรงข้ามวัดทุ่งลุง) ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่ๆตนอยู่อาศัยว่า “บ้านทุ่งลุง”

๘. บ้านน้ำน้อย ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมในบริเวณหมู่บ้านนี้มีแหล่งน้ำธรรมชาติมีหินผาสูงใหญ่ และที่หินผานี้เองจะปรากฏว่ามีน้ำไหลย้อยออกมาอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หินน้ำย้อย” ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันเป็น “บ้านน้ำน้อย” ดังปัจจุบัน

๙. บ้านคอหงส์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมบริเวณพื้นที่ดังกล่าว(ที่ตั้งวัดคอหงส์)ยังมี “ต้นฆ้อหงส์” ขึ้นอย่างหนาแน่น เวลาเกิดกระแสลมพัดยามใดก็จะแลดูคล้ายคอของหงส์ที่ลิ่วลมแลดูสวยงามยิ่ง จนชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านฆ้อหงส์” ต่อมาจึงเพี้ยนไปเป็น “บ้านคอหงส์” ดังปัจจุบัน

๑๐. บ้านคูเต่า ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า เดิมทีนั้นภายในบริเวณดังกล่าวยังมีคูเล็กๆซึ่งมีเต่าอาศัยอยู่ชุกชุมมาก (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านคูเต่า”

๑๑. บ้านเกาะหมี ตําบลคลองแห อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มาของเกาะหมีเล่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นหมู่บ้านแห่งนี้ยังเป็นป่ารกทึบและมีสัตว์ป่าอยู่อาศัยเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเกาะตั้งอยู่ริมทุ่งนา ปรากฏเป็นเรื่องเล่าแต่ครั้งอดีตว่ามีหมีใหญ่ ตัวหนึ่งได้ตะบบและกัดชาวบ้านจนถึงแก่ความตายที่เกาะแห่งนี้ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “บ้านเกาะหมี” เพื่อระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมีหมีใหญ่ที่ดุร้ายฆ่าคนตาย ณ เกาะแห่งนี้มาก่อน

๑๒. บ้านบางแฟบ ตําบลควนลัง อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมภายในบริเวณดังกล่าวเคยมีต้นแฟบขึ้นอยู่อย่างมากมาย (ต้นแฟบเป็นต้นไม้ยืนต้นเล็ก ๆ สูงราว ๆ ๒ เมตร ผลมีลักษณะแบน ๆ มีรสเปรี้ยว) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามต้นแฟบที่มีมากว่า “บ้านบางแฟบ”

๑๓. บ้านม่วงค่อม ตําบลควนลัง อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าแต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้มีวัดอยู่แห่งหนึ่ง ถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านที่นี่ และที่วัดแห่งนี้เองยังมีต้นมะม่วงใหญ่อยู่ต้นหนึ่งที่งอกและเติบใหญ่ไม่เป็นปกติเหมือนกับมะม่วงโดยทั่วไป กล่าวคือมะม่วงต้นดังกล่าวงอกและค่อย ๆ ค่อมลงสู่พื้นดิน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อของหมู่บ้านว่า “บ้านม่วงค่อม”

๑๔. บ้านพรุ ตําบลบ้านพรุ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้ยังมีลักษณะเป็นพรุขนาดใหญ่ แม้แต่ถนนหนทางก็ยังมีลักษณะที่ดินเป็นโคลนตม ซึ่งบางครั้งชาวบ้านก็เดินจมลงในพรุจนต้องเสียเวลาในการดึงเท้าออกจากโคลนตมเป็นเวลานาน โคลนในลักษณะนี้เองที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โพระ” ครั้งกาลต่อมามีชาวบ้านจากต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมากขึ้นจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านที่ตนอยู่อาศัยว่า “บ้านโพระ” ต่อมาจึงเพี้ยนมาเป็น “บ้านพรุ” เหมือนในปัจจุบัน

๑๕. บ้านหูแร่ ตําบลทุ่งตําเสา อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมบริเวณสถานที่ตั้งหมู่บ้านมีเหมืองแร่ตั้งอยู่โดยเฉพาะบริเวณมุมของเหมืองแร่จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหูแร่” ตราบปัจจุบัน

๑๖. บ้านทุ่งงาย ตําบลทุ่งใหญ่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า บ้านทุ่งงายแต่เดิมนั้นยังเป็นหมู่บ้านที่ยังตั้งอยู่ในทุ่งนาและมีต้นงายขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ป่างาย” ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านทุ่งงาย”

๑๗. บ้านท่าข้าม ตําบลท่าข้าม อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมภายในบริเวณหมู่บ้านดังกล่าวยังมีคลองขนาดใหญ่ ครั้งชาวบ้านต้องการเดินทางเข้าในเมืองหาดใหญ่เมื่อไรก็ตามจําต้องข้ามคลองดังกล่าวเสมอ ๆ จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บ้านท่าข้าม”

๑๘. บ้านคลองแห ตําบลคลองแห อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า มีตำนานเล่าขานว่าเมื่อครั้งโบราณตอนที่มีการสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชนั้น ชาวเมืองกลันตันอันห่างไกลที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้พากันออกเดินทางเพื่อมาร่วมในงานนี้ใช้เวลาเดินทางหลายวันค่ำไหนนอนนั่น เมื่อมาถึงเนินสูงมีต้นไม้ใหญ่ริมคลองน้ำใสสะอาดจึงหยุดพักค้างแรมหนึ่งคืน รุ่งเช้าเห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางมาจากทางเหนือมุ่งลงใต้ผ่านมา จึงสนทนากันได้ความว่าเดินทางกลับจากงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตามพรลิงค์และงานได้เสร็จสิ้นแล้ว ชาวเมืองกลันตันจึงเลิกล้มความตั้งใจและจะเดินทางกลับ แต่ทรัพย์สินที่เตรียมจะนำไปบูชาเจดีย์นั้นไม่ได้นำกลับไป รวบรวมนำมากองไว้แล้วอธิษฐานขุดหลุมฝังไว้ตรงที่คลองสองสายที่มาบรรจบกัน (คลองลานและคลองเตย) ต่อมาเกิดเป็นคลองสายใหญ่ขึ้นชาวบ้านเรียกพื้นที่นี้ว่า โคกนกคุ่ม ส่วนเครื่องประโคมแห่ต่าง ๆ ที่นำมา ได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ก็นำมากองไว้แล้วอธิษฐาน จากนั้นจึงจมลงในคลองสายใหญ่แห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกคลองนี้ว่า คลองฆ้องแห่ แต่ต่อมาคำว่าฆ้องหายไป เนื่องจากคนใต้นิยมพูดให้สั้น ๆ และคำว่า “แห่” ตามสำเนียงใต้ก็กลายเป็น “แห” และเรียกคลองแหมาจนทุกวันนี้

๑๙. บ้านนายด่าน ตําบลทุ่งใหญ่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมในสมัยสงครามหมู่บ้านดังกล่าวมีการตั้งด่าน เพื่อสกัดกั้นศัตรูซึ่งเป็น จุดเด่นจนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บ้านนายด่าน”

๒๐. บ้านควนลัง ตําบลควนลัง อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าแต่เดิมบริเวณดังกล่าวยังมีควน ซึ่งเกิดเป็นเนินดินเตี้ย ๆซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ภายใน ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นเรียกกันว่า “หลักตาลัง” และเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้านควนลัง”

๒๑. บ้านท่านางหอม ตําบลน้ำน้อย อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้มีลําคลองธรรมชาติอันใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมา รวมทั้งมีสถานที่เทียบเรือที่เรียกว่า “ทํา” และที่ท่าแห่งนี้เองมีสาวสวยผมยาวอยู่นางหนึ่ง ยามใดก็ ตามที่นางเดินผ่านจะได้กลิ่นหอมจากกายของนาง ซึ่งนางผู้นี้เองจะมาลงเรือที่ทําแห่งนี้เป็นประจํา ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “ท่านางหอม” และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านท่านางหอม”

๒๒. บ้านคลองเปล ตําบลคอหงส์ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าแต่เดิมที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีนางเลือดขาวที่สวยงามมาก ซึ่งนางจะเดินทางมาอาบน้ำที่ลําธารเป็นประจํานางเลือดขาวได้ผูกเปลเอาไว้กับสายน้ำที่ลําคลองแห่งนี้เป็นประจํา ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านคลองเปล” ดังปัจจุบันปรากฏ

๒๓. บ้านควนเนียง ตําบลพะตง อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมเวลามีการจัดงานขึ้นในวันสําคัญ ๆ ต่าง ๆ ของที่หมู่บ้านจะมีเนียง (โอ่ง) ปรากฎขึ้นมาทุก ๆ ครั้ง และทุกครั้งที่เนียง (โอ่ง) ปรากฏขึ้นมาเนียง (โอ่ง) ดังกล่าวจะกลิ้งไปตามท้องถนนแล้วไปตั้งอยู่บนควน ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “บ้านควนเนียง” ตราบเท่าปัจจุบันนี้

๒๔. บ้านท่าแซ ตําบลคลองอู่ตะเภา อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่าแต่เดิมหมู่บ้านแห่งนี้ มักมีการค้าขายสินค้าซื้อหากันอย่างมากมายจนมีเสียงเซ็งแซ่ไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านดังกล่าวว่า “บ้านท่าแซ่” ครั้งหลังจึงเรียกเพี้ยนว่า “บ้านท่าแซ”

๒๕. บ้านโปะหมอ ตําบลบ้านพรุ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า ในสมัยก่อนในพื้นที่บริเวณนี้มีหมอรักษาโรคซึ่งมีความเชี่ยวชาญและเก่งมากชาวบ้านเรียกท่านว่า “โปหมอ” โดยเวลาชาวบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยก็มักนิยมที่จะเดินทางไปให้ไปหมอรักษาให้ ต่อมาชาวบ้านเรียกเพี้ยนไปเป็น “โป๊ะหมอ” และเรียกชื่อหมู่บ้านดังกล่าวว่า “บ้านโปะหมอ”

๒๖. บ้านหินเกลี้ยง ตําบลท่าข้าม อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชาวบ้านเล่ากันว่าแต่เดิมมีหินใหญ่ก้อนหนึ่งกลิ้งมาติดอยู่ที่หน้าหมู่บ้าน ครั้งต่อมาหินก้อนนั้นเริ่มเกลี้ยงขึ้นทุกวันจนชาวบ้านนําไปตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านว่า “บ้านหินเกลี้ยง

๒๗. บ้านท่าจีน ตําบลน้ำน้อย อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า ในบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้มีท่าเทียบเรือขนาดเล็กอยู่หนึ่งแห่ง ชาวบ้านของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนจีนมีอาชีพเป็นช่างเหล็ก เมื่อเดินทางไปซื้อเหล็กได้ที่ไหนก็จะลากผ่านที่แห่งนี้ ชาวบ้านก็เรียกกันติดปากว่า “ท่าจีนลากเหล็ก” แต่รู้สึกว่าชื่อดังกล่าวจะยาวไปชาวบ้านเลยตัดเสียให้สั้นลงเพียงชื่อ “บ้านท่าจีน”

๒๘. บ้านคลองหวะ ตําบลคอหงส์ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แต่เดิมมีลําคลองอยู่สายหนึ่งไหลผ่าน ลําคลองสายนี้เองที่มีฝูงปลาอยู่อาศัย อย่างชุกชุม วันหนึ่งชาวบ้านช่วยกันดักจับปลาได้เป็นปริมาณมาก เมื่อนําไปแจกแล้วก็ยังไม่หมด จนชาวบ้านต้องตัดสินใจเอามีดหวะ (ผ่า) ปลาชนิดนั้น ๆ ที่นี้ จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บ้านคลองหวะ" จวบจนปัจจุบัน

๒๙. บ้านคลองเรียน ตําบลหาดใหญ่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านเล่ากันว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นหมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านมักที่จะเรียกกันติดปากเสมอ ๆ ว่า “บ้านคลองเวียน” สืบเนื่องมาจากวัดอันถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่นี้ในอดีตเคยมีคลอง เวียนรอบวัด ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดตามลักษณะของคลองว่า วัดคลองเวียน” และเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า “บ้านคลองเวียน” ครั้งหลังจึงเรียกเพี้ยนกันเป็น “บ้านคลองเรียน” จวบจนปัจจุบัน