วัดคูเต่า

ศาลาโบราณสถานวัดคูเต่า ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

ก่อนอื่นต้องบอกให้เข้าใจก่อนว่าวัดคูเต่าไม่ได้ตั้งอยู่ที่ตำบลคูเต่าแตอย่างใด วัดคูเต่า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากเทศบาลนครหาดใหญ่ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๒ กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา

จากประวัติศาสตร์บอกเล่าว่าวัดคูเต่าตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๙ มีเนื้อที่ตั้งวัด ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา ตามเอกสาร น.ส. ๓ ก เลขที่ ๑๖๙๑ มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๓ งาน ๔๗ ตารางวา ตามเอกสาร น.ส.๓ เลขที่ ๑๕๙๖

เดิมอยู่ที่บ้านหนองหิน ตำบลแม่ทอม ซึ่งปัจจุบันยังมีป่าช้าหนองหินเหลือเป็นหลักฐานอยู่ เนื่องจากรอบๆ บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่ลุ่ม และเป็นที่อาศัยของเต่าเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “วัดสระเต่า”

ต่อมามีชาวจีนเข้ามาทำมาหากินบริเวณสองฟากของคลองอู่ตะเภามากขึ้น จนบริเวณริมน้ำเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น ประกอบกับที่ตั้งวัดเดิมทางสัญจรไม่สะดวกจึงได้ย้ายวัดมาตั้งในที่ปัจจุบัน

เหตุที่เรียกว่าวัดคูเต่านั้น เล่ากันว่าเนื่องจากมีชาวจีนเข้ามาตั้งบ้านทำมาหากินกันมาก ได้ถางป่า ขุดตอ ทำสวนส้มจุกกันมาก ป่าไม้ค่อยๆ หมดไปเรื่อยๆ จนไม่มีไม้จะใช้สอยโดยด้านทิศตะวันตกของวัดคือบริเวณหมู่บ้านหนองหินมี ป่าไม้เสม็ดมาก ชาวบ้านจึงร่วมกันขุดคูขึ้นทางทิศเหนือของวัดที่เชื่อมติดกับลำคลองและขุดยาวไปทางทิศตะวันตก พอให้เรือเล็กแล่นผ่านไปมาได้ในฤดูฝน ซึ่งบริเวณคูมักมีเต่ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียก “คูเต่า” และเรียกวัดสระเต่าเดิมเป็นว่า “วัดคูเต่า” แทนวัดคูเต่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๙ เมตรยาว ๓๒ เมตรผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๔

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดคูเต่า

พระอุโบสถ นับเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะอย่างยิ่งของวัดนี้ตามประวัติที่กล่าวมาแล้วว่าพระอธิการแก้ว เป็นผู้เริ่มสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐ เริ่มสร้างได้สูงเพียงประมาณ ๑ เมตร ต่อมาพระอธิการหนูได้สร้างต่อจนเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เจดีย์ทั้ง ๔ มุมกำแพง กว้างและยาว องค์ละ ๒ เมตร สูง ๗ เมตร มีซุ้มประตู ๓ ประตูซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนขาว ยอดเป็นจัตุรมุขแกะลายกนกและซุ้มสีมาลายกนกหน้าบัน เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และพระพรหมทรงหงส์ มีลายกนกและรูปสัตว์ประกอบนอกจากอุโบสถยังมีซุ้มนิมิต (ซุ้มครอบใบพัทธสีมา) มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง ๔ ด้านศิลปกรรมนับแต่บริเวณกำแพงแก้วเข้าไปจนถึงในอุโบสถ

มีคุณค่าทางศิลปะ พื้นบ้านของภาคใต้ในช่วงรัชกาลที่ ๕ – ๖ อย่างดียิ่งมีพร้อมทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังล้วนเป็นฝีมือช่างพื้นเมืองและมีวัฒนธรรมจีน ประสมประสานอยู่อย่างเห็นชัด สะท้อนถึงคตินิยมและเทคนิควิธีของช่างพื้นเมืองที่หาดูได้ยากจากแหล่งอื่นๆ