ตำนานสะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์ ตำบลน้ำน้อย

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาตามหน้าประวัติศาสตร์ในจังหวัดสงขลาว่าราว วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (สงครามโลกครั้งที่ 2 ) ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่หาดเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา ในเวลา 2 นาฬิกา ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพมาเรื่อยๆจนถึงบริเวณบ้านน้ำน้อยซึ่งในขณะนั้นคงเป็น เวลาใกล้รุ่งเต็มแก่ ทั้งชาวบ้านน้ำน้อย และทหารได้ช่วยกันตั้งแนวป้องกันทหารญี่ปุ่นที่แถวสะพานรถไฟบ้านน้ำน้อย และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เหมืองหินทำการระเบิดรางรถไฟให้ขาด แล้วนำใบไม้ใบหญ้ารวมถึงเศษกิ่งไม้เล็กๆมาปิดบังอำพรางเอาไว้ว่ารางสะพานยังไม่ขาด เมื่อทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพมาถึงบ้านน้ำน้อยด้วยรถไฟ ในยามเช้า (จากคำบอกเล่า) รถไฟที่ลำเลียงทั้งทหารและเสบียงก็ตกรางลงสู่แอ่งน้ำใหญ่ที่ไหลมาจาก เหมืองแร่เก่าทหารญี่ปุ่นหลายคนถูกรถไฟทับตาย บางคนก็ถูกรถไฟชนจนตกน้ำ ในจำนวนนั้นมีอยู่หลายคนที่ตกแอ่งน้ำไปพร้อมๆกับขบวนรถไฟ ส่วนพวกที่พยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่งก็ถูกทหาร ตำรวจที่สนธิกำลังกันระดมยิงด้วยปืนปรากฏศพตายลอยเกลื่อนแอ่งน้ำเป็นจำนวนมาก บ้างก็ว่าทหารบางคนที่ว่ายน้ำขึ้นสู่ฝั่งได้ถูกชายฉกรรจ์ชาวน้ำน้อยใช้มีด ดาบ ขวาน ทั้งจามทั้งฟันอย่างไม่ยังมือ บางคนแขนขาด บางคนขาหัก บางคนคอขาดสะบั้นด้วยคมดาบเลือดท่วมแอ่งแห่งนั้นอย่างสยดสยอง ทหารญี่ปุ่นครั้งตั้งหลักได้ก็ระดมยิงตอบโต้กลับไปบ้าง จนระยะเวลาการสู้รบของทั้ง 2 ฝ่ายผ่านไปถึงเวลาเที่ยงตรง ทางฝ่ายไทยได้รับคำสั่งหยุดยิง สำรวจพบว่าทางฝ่ายไทยมีทหารเสียชีวิต 2 นาย พลเรือน 2 คน

และเชื่อกันว่าผลจากการรบที่สะพานมรณะบ้านน้ำน้อยในครั้งนั้นทำให้มีทหาร ญี่ปุ่นเสียชีวิตอยู่ในราว 400-500 ศพ และชาวบ้านเขาเชื่อกันว่าสถานที่ใดก็ตามที่มีคนตายใน แบบอปกติมากๆ (ตายโหง) สถานที่แห่งนั้นจะเฮี้ยนน่าดูชม คนเฒ่าคนแก่หลายคนเรียกสะพานรถไฟแห่งบ้านน้ำน้อยว่า.. สะพานสายมรณะ บ้างก็ว่าเป็นสะพานผีตายโหง

ขอบคุณข้อมูลบทความ : hatyaifocus