ภูมิปัญญาท้องถิ่น

รายชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

๑. นางสาวหนับเซาะ เส็นเจริญ การจักสานใบเตย

๒. นางเปียน จินดาวงศ์ การจักสานเชือกกล้วย

๓. นางคร่าว ทองมุณี การจักสานเส้นใยพืช

๔. นางมารียา บินล่าเต๊ การทำขนมคอเป็ดพื้นบ้าน

๕. นางบุญสุข สุขโณ การทำข้าวซ้อมมือและข้าวกล้อง

๖. นางละเมียด จิตตพงศ์ การทำขนมทองม้วน

๗. นายพร้อม ธรรมทินนะ หมอจับเส้น

๘. นายห้วน บัวแก้ว ครูสอนดนตรีไทย

๙. นายภู่ ชัยสวัสดิ์ การร้องเพลงพื้นบ้าน “เพลงกาหล่อ”

๑๐. นายสุชาติ จิตภาค ปราชญ์ด้านการเลี้ยงปลานิล

๑๑. นางคุ่น ธรรมชูโต การร้องเพลงเรือ

๑๒. นางคล่าว ทองมุณี การร้องเพลงเรือ

๑๓. นางประไพ จินดาวงศ์ การจักสานเชือกกล้วย

๑๔. นางรัตนา ยางทอง การจักสานเชือกกล้วย

"ครูภูมิปัญญาไทย" ถือกำเนิดมาจากโครงการสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เริ่มศึกษาวิจัยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และในปีต่อมาได้ดำเนิน “โครงการสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทย” โดยมีแนวคิดเริ่มต้นจาก ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (ในขณะนั้น) มีแนวคิดให้สร้างพื้นที่และสนับสนุนส่งเสริม “ครูภูมิปัญญาไทย” เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติ ทั้ง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒) โดยเน้นให้ครูภูมิปัญญาไทย มีบทบาทถ่ายทอดองค์ความรู้ ในส่วนของการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากการศึกษาในระบบโรงเรียนมี “ครูและคณาจารย์” เป็นกำลังหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีครูภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการสรรหาและยกย่องแล้วทั้งหมด ๙ รุ่น จำนวน ๕๐๓ คน ใน ๙ ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ

บทบาทของครูภูมิปัญญาไทย ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็น “ต้นแบบ” ของปราชญ์ชาวบ้าน/ปราชญ์ท้องถิ่นที่มีองค์ความรู้ซึ่งเป็นรากฐานของความเป็นไทย และเป็นความรู้ที่พัฒนาคน พัฒนาการศึกษา และพัฒนาชาติอย่างแท้จริง การสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานับว่าเป็น “ต้นแบบ” ของการให้ความสำคัญและยกย่องปราชญ์ชาวบ้าน/ปราชญ์ท้องถิ่น และนับว่าเป็นการกระตุ้นให้วงการศึกษาหันกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทยอันเป็นมรดกที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษไทย “ครูภูมิปัญญาไทย” ในประเทศไทยยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งทำงานอย่างเสียสละและพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ทั้งยังเป็นที่พึ่งของชุมชมและสังคม “ครูภูมิปัญญาไทย” จึงนับเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” อันเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานให้ด้วยความมุ่งหมายที่จะพัฒนาป้องกันหรือแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าพสกนิกรให้อยู่ดี กินดี ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งผลถึงมนุษยชาติทั้งปวงให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง สันติสุขและยั่งยืน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชาวบ้านหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เอง และนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ใช้แก้ปัญหา เป็นเทคนิควิธีเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้านที่คิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งได้สั่งสม สืบทอดและเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

การแบ่งประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมากมายหลายแขนง ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมและชุมชน หรือ แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุษา กลิ่นหอม (2546) จากที่วีถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง ได้ทำการจัดแบ่งกลุ่มภูมิปัญญาออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

(1) การเกษตรแบบพื้นบ้าน ประกอบด้วย วิธีการเพาะปลูกแบบพื้นบ้าน ได้แก่ กระบวนการผลิต การจัดการสายพันธุ์ การกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและเทคโนโลยีทางการเกษตรพื้นบ้าน การปศุสัตว์แบบพื้นบ้าน ได้แก่ กระบวนการผลิต การจัดการสายพันธุ์การสุขาภิบาลและการจัดการโรค

(2) การดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน แบ่งออกเป็น อาหาร การถนอมอาหารและข้อขะลำ (ข้อห้าม) การดูแลสุขภาพทั่วไป สมุนไพรกับการรักษาโรค การจัดสวนรอบบ้าน

(3) เทคโนโลยีและอุปกรณ์แบบพื้นบ้าน ประกอบด้วย กระบวนการผลิตแบบพื้นบ้าน การผลิตอุปกรณ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การจักสาน การก่อสร้าง

(4) การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบพื้นบ้าน ประกอบด้วย นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน ภูมิปัญญาในการจัดการดิน ภูมิปัญญาในการจัดการน้ำ ภูมิปัญญาในการจัดการอากาศ

(5) การจัดการสังคมแบบพื้นบ้าน ประกอบด้วย วัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นและความเชื่อ ในส่วนของศิลปะ ดนตรี กวี จิตกรรม เป็นต้น