ปัจจุบันเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และที่สำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2574) ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด(super-aged society) เหมือนญี่ปุ่น คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมด

การก้าวผ่านความท้าทายต้องเริ่มจากการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุและครอบครัวในการใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะสภาพทางร่างกายของผู้สูงอายุเข้าสู่วัยเสื่อมถอย โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวร่างกาย การเปลี่ยนอิริยาบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุกนั่ง การเดิน การลงนอน การยกของหรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ที่เริ่มมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ จึงทำให้มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ

จากสภาพแวดล้อมของชุมชนแต่เดิมที่ไม่เหมาะสม หรือขาดความใส่ใจในความปลอดภัย เช่น สภาพการจัดวางสิ่งของ ระบบแสงสว่าง ทางสัญจรที่มีพื้นผิวขรุขระไม่ราบเรียบ ความแคบของถนน บันไดไม่มีที่เกาะ มีความแคบและชัน เป็นต้น

หากชุมชนได้มีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีความสดวกและลดความเสี่ยง ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ (ซึ่ง พรบ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11(5) ได้กำหนดว่าผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและสนับสนุนในด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่น) นับเป็นอีกหนทางสำคัญในการช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ นอกจากนี้การเตรียมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุจึง เป็นสิ่งที่จำเป็น

ในเรื่องของการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านและการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ จะแบ่งเนื้อหาหลักออกเป็น 3 ตอน คือ

1. การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
2. การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
3. แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อม