บทที่ 5 บุคคลตัวอย่างที่ใช้หลักธรรมทางศาสนาในการดำเนินชีวิต

       สำหรับบุคคลที่ขอยกมาเป็นตัวอย่างในการใช้หลักธรรมทางศาสนาในการดำเนินชีวิต คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นบุคคลตัวอย่างที่ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทย
      พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั้งแผ่นดิน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทรงมีความละเอียดรอบคอบและทรงคิดค้นหาแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด พสกนิกรควรยึดเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท นำมาปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดผลต่อตนเองสังคม และประเทศชาติตลอดไป
       หลักการทรงงาน ของพระองค์ที่สามารถรวบรวมได้มีดังต่อไปนี้ คือ
      1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่พระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งจะทรงศึกษาข้อมูล รายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสารแผนที่สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง
      2. ระเบิดจากข้างใน พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาตน ทรงตรัสว่าต้องระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้เกิดสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก ไม่ใช่การนำความเจริญมาจากภายนอกเข้าไปหาชุมชน
      3. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก พระองค์ทรงมองเห็นปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มที่จุดเล็ก ๆ
      4. ทำตามลำดับขั้นตอน ในการทรงงานพระองค์จะเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ สาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ เช่น ถนน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภคที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง การใช้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด
        5. ภูมิสังคม การพัฒนาใด ๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน
      6. องค์รวม ทรงมีวิธีการคิดอย่างองค์รวม คือการมองอย่างครบวงจร ในการพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้นจะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่น กรณี"ทฤษฎีใหม่"ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ แนวทางหนึ่งที่พระองค์ทรงมองอย่างองค์รวม ตั้งแต่การถือครองที่ดินโดยเฉลี่ยของประชาชนไทยประมาณ 10 - 15 ไร่ การบริหารจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพ เมื่อมีน้ำในการทำเกษตรแล้วจะส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้น หากมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเกษตรกรจะต้องรู้จักวิธีการจัดการและการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มรวมพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจร
      7. ไม่ติดตำรา การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เป็นการพัฒนาที่รอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ ไม่ติดตำรา ไม่ผูกมัดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตที่แท้จริงของคนไทย
        8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด พระองค์ทรงประหยัด เช่นหลอดยาสีฟันพระทนต์นั้น พระองค์ทรงใช้อย่างคุ้มค่า ในปีหนึ่งพระองค์เบิกดินสอ 12 แท่งทรงใช้เดือนละแท่งใช้กระทั่งกุด ในการแก้ปัญหาให้แก้ปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัดราษฎรสามารถทำได้เอง ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า ให้ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ขึ้นเองจะได้ประหยัดงบประมาณ
      9. ทำให้ง่าย พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการคิดค้นดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริ ทรงใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทาง ตัวอย่างเช่น การปลูกหญ้าแฝกเป็นหญ้าคลุมดินเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เป็นต้น
      10. การมีส่วนร่วม พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปตย จึงทรงนำประชาพิจารณ์มาใช้ในการบริหาร ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "สำคัญที่สุดต้องหัดทำใจให้กว้างหนักแน่นรู้จักรับฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้นแท้จริงคือ การระดมสติปัญญาและประสบการณ์ อันหลากหลายมาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั้นเอง"
      11. ประโยชน์ส่วนรวม ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริ พระองค์ทรงรำลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักสำคัญ
        12. บริหารรวมที่จุดเดียว เป็นรูปแบบการบริหารแรงงานแบบเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาขอใช้บริการจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยจะมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการแก่ประชาชน ณ ที่แห่งเดียว
      13. ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมได้พระราชทานพระราชดำริการปลูกป้าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ
      14. ใช้อธรรมปราบอธรรม ทรงนำความเจริญ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดีการบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวาซึ่งมีตามธรรมชาติดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ ดังพระราชดำรัสว่า "ใช้อธรรมปราบอธรรม"
      15. ปลูกป่าในใจคน ปัญหาการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมาจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า "..เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อนแล้ว คนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง..."
      16. ขาดทุนคือกำไร หลักการคือ "...าดทุนคือกำไร Our loss is gain... การเสียคือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้นเป็นการนับที่เป็นมูลค่าประเมินไม่ได้..." หลักการคือการให้และการเสียสละส่งผลให้มีผลกำไรคือความอยู่ดีมีสุขของราษฎร
      17. การพึ่งตนเอง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า....การช่วยเหลือสนับสนุน ประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป..."
        18. พออยู่พอกิน การที่พระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมประชาชน ทรงเข้าพระทัยปัญหาอย่างลึกซึ้งถึงเหตุผลมากมายที่ทำให้ราษฎรอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จากนั้นจึงพระราชทานความช่วยเหลือให้ราษฎรเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในขั้นพออยู่พอกินก่อนแล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป
       19. เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระองค์มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต โดยยึดถือหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีพอสมควร
      20. ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ㆍ"...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริตไม่มีความบริสุทธิ์ใจ..."
      21. ทำงานอย่างมีสุข พระองค์ทรงตรัสว่า "...ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้นอกจากความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น..."
        22. ความเพียร : พระมหาชนก จากพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้มีความเพียรพยายาม แม้จะไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายน้ำต่อไป เช่นเดียวกับพระองค์ที่ทรงริเริ่มทำโครงการต่าง ๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
      23. รู้ รัก สามัคคี พระองค์ทรงมีพระราชดำรัส คำสามคำนี้ ให้นำไปใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
      รู้ คือ การลงมือทำสิ่งใด โดยรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา
      รัก คือ ความรัก เมื่อรู้แจ้ง จะต้องรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาอื่น ๆ
      สามัคคี คือ การคำนึงเสมอว่าเราทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจ เป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี