เรื่องที่ 1 ความหมายของศาสนา ความสำคัญของศาสนา

1.1   ความหมายของศาสนา

ความหมายของศาสนา

       "ศาสนา" คือ หลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดา ที่เป็นความเชื่อในหลักการกรรมวิธี การปฏิบัติตน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปฏิบัติเกิดความเจริญในชีวิตศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคน และศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ สอนให้ทุกคนทำความดี ละเว้นจากการทำความชั่ว ดังนั้นหากคนทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาที่ตนนับถือ ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสงบสุข และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

       สาเหตุการเกิดศาสนา มี 2 ประการ

       ประการแรก เกิดจากความกลัวของมนุษย์เนื่องจากมนุษย์ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ภัยพิบัติต่าง ๆ มนุษย์คิดว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากอำนาจของวิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เป็นไป มนุษย์จึงแสวงหาวิธีภักดี อ่อนน้อมให้อยู่ใต้อำนาจด้วยการแสดงออกต่าง ๆ นานา เช่น การเคารพบูชา การเช่นสังเวย การทำทุกรกิริยาเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เห็นใจ
       ประการต่อมา เกิดจากการค้นหาความจริงของธรรมชาติ โลกและชีวิต โดยไม่หวังพึ่งพิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เมื่อค้นหาความจริงพบแล้วจึงนำมาประกาศศาสนา เพื่อให้ชาวโลกรู้ตาม ได้แก่ พระพุทธเจ้า เป็นต้น

       องค์ประกอบของศาสนา มีอยู่ 5 ประการ คือ

       1. มีศาสดา คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา เช่น พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ พระเยซูเป็นศาสดาของศาสนาคริสต์ พระมูฮัมมัดเป็นศาสดาของศาสนาอิสลาม
      2. มีคัมภีร์ คือ หลักธรรมคำสั่งสอน เช่น ศาสนาพุทธมีพระไตรปิฎก ศาสนาคริสต์มีคัมภีร์ไบเบิล ศาสนาอิสลามมีคัมภีร์อัลกุรอาน
      3. มีสาวก คือ ผู้ปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนา เช่น ศาสนาพุทธมีพระภิกษุและพุทธบริษัท ศาสนาคริสต์มีบาทหลวง ศาสนาอิสลามมีมุสลิม (มุสลิมไม่ใช่นักบวช ผู้นำมุสลิม คือ จุฬาราชมนตรี)
      4. มีศาสนาสถาน คือ สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ศาสนาพุทธมีวัด ศาสนาคริสต์มีโบสถ์ ศาสนาอิสลามมีมัสยิด

       5. มีสัญลักษณ์ คือ เครื่องหมายแสดงทางศาสนา เช่น ศาสนาพุทธมีเสมาธรรมจักร ศาสนาคริสต์มีไม้กางเขน ศาสนาอิสลามมีดาว 5 แฉก และจันทร์เสี้ยว)

       ประเภทของศาสนา จำแนกเป็น 4 ประเภท คือ

       1. เอกเทวนิยม เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์
      2. พหุเทวนิยม เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาชินโต
      3. สัพพัตถเทวนิยม เชื่อว่าพระเจ้าสิงสถิตอยู่ในทุก ๆ แห่ง เช่น ศาสนาพราหมณ์บางลัทธิ เป็นต้น
      4. อเทวนิยม ไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเซน

1.2 ความสำคัญของศาสนา สรุปได้ 7 ประการ คือ

       1. เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ช่วยให้มนุษย์เกิดความมั่นใจในการดำรงชีวิตและช่วยให้รู้สึกปลอดภัย
      2. ช่วยสร้างความสามัคคีในหมู่มนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจน ร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อศาสนาและชีวิต
      3. เป็นเครื่องมือขัดเกลาสมาชิกในสังคมให้สมาชิกยึดมั่น เชื่อถือปฏิบัติตนเป็นคนดีตามคำสอน กลัวบาปที่เกิดจากความประพฤติไม่ดีต่าง ๆ
      4. ช่วยพัฒนาและยกระดับจิตใจการกระทำของมนุษย์ให้สูงขึ้น คือ ช่วยให้มนุษย์เสียสละและ อดทน อดกลั้นยิ่งขึ้น ทำความดีมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
      5. เป็นบ่อเกิดแห่งศาสตร์ ความรู้ด้านศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่าง ๆ มีกำเนิดจากศาสนา
      6. ช่วยให้มนุษย์มีอิสระ คำสอนของศาสนาเสนอแนวทางที่มนุษย์สามารถฝึกตนให้พ้นจากกิเลสมีอิสระจากกิเลสทั้งปวง
      7. เป็นสัญลักษณ์ แสดงถึงความดีงามและพลังแห่งความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบุคคลในแต่ละศาสนา