เรื่องที่ 1

ความเป็นมาของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ.2535 ประกอบด้วยสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ผู้นำอาเซียนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนมีมติจัดตั้งเขตการค้าเสรี (ASEAN Free Trade Area : AFTA) โดยความริเริ่มของนายกรัฐมนตรีของไทย (นายอานันท์ ปันยารชุน) จึงถือเป็นการประกาศการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สาเหตุสำคัญของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในรูปแบบเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA มาจากการที่ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกต่างทำการค้าขายและขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลง ทำให้หลายประเทศต่างหวาดวิตกกว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะหลั่งไหลไปยุโรปตะวันออก และสาธารณรัฐที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต ไม่มาลงทุนในประเทศของตน ทำให้เศรษฐกิจถดถอยในที่สุด จึงหาทางกระชับความสัมพันธ์ที่จะร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ กลุ่มแรก คือ ประชาคมยุโรปได้ตกลงที่จะรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวใน พ.ศ.2535 และใช้มาตรการทางการค้า เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของกลุ่ม เช่น การกำหนดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ การกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า การจำกัดโควตาสินค้านำเข้า เป็นต้น จากมาตรการเหล่านี้ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นว่าจะเป็นสาเหตุทำให้สินค้าของตนขายได้น้อยลง จึงร่วมมือกันจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้นในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับสหภาพยุโรป คือ เขตการค้าเสรีอาเซียน

เขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นข้อตกลงทางการค้า ที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมตกลงเปิดเสรีด้านการค้าขายสินค้าระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก โดยที่ผ่านมาในการใช้สิทธิประโยชน์จากการส่งออกภายใต้ AFTA จะดำเนินการตามข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันของประเทศสมาชิกอาเซียน ระบบ CEPT (Common Effective Preferential Tariff Scheme) มีประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ ประกอบด้วย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา โดยประเทศสมาชิกเดิม

6 ประเทศ จะลดภาษีน้ำเข้าในบัญชีรายการลดภาษีภายใต้ CEPT เหลืออัตราร้อยละ 0-5 ภายในปี พ.ศ.2546 และจะเป็น 0 ในปี พ.ศ. 2553 สมาชิกใหม่ 4 ประเทศ จะลดภาษีน้ำเข้าในบัญชีรายการลดภาษี ภายใต้ CEPT เหลืออัตราร้อยละ 0-5 โดยเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2549 ลาวและพม่า ในปี พ.ศ. 2551 กัมพูชาในปี พ.ศ. 2553 และจะเป็น 0 ในปี พ.ศ. 2558