เรื่องที่ 2 เสาหลักประชาคมอาเซียน

ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยความร่วมมือ 3 ด้าน หรือ 3 เสาหลัก ดังนี้

4.2.1 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC)

อาเซียนมีความมุ่งหมายส่งเสริมความร่วมมือให้เป็นประชาคมที่มีเสถียรภาพและสันติภาพปลอดจากภัยคุกคามทางการทหารและภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ เช่น ปัญหาการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการก่อการร้าย โดยการแระสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ด้วยกลวิธีที่ชาญฉลาด อันนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีการจัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การดำเนินของประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ

1.มีกติกาและมีการพัฒนาค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน โดยยึดมั่นหลักการของการไม่แทรกแซงกิจการภายในและการส่งเสริมค่านิยมของประชาคมควบคู่กันไป

2.มีความเป็นเอกภาพ ความสงบสุข ความแข็งแกร่ง และมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนพึ่งพาอาศัยกลไกของตนมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ

3.มีพลวัติและมีการปฏิสัมพันธ์กับนอกภูมิภาคอาเซียน ในการดำเนินงานให้บรรลุเป้สหมายดังกล่าว ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีการดำเนินการ ดังนี้

(1) จัดทำข้อมูลและปรับปรุงกลไกของอาเซียนที่มีอยู่ โดยการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาค รวมทั้งภัยจากการก่อการร้าย ปัญหาการผลิตและการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ เป็นต้น

(2) คิดค้นกระบวนการใหม่ๆ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการป้องกันการแก้ไขข้อพิพาทและการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ และความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

(3) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ซึ่งยังไม่เคยมีความร่วมมือทางทหารของประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค


4.2.2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดตั้งโดยมีเป้าหมายเพื่อรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานผลิตเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ภายหลังการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน มีแนวคิดสำคัญ คือ

เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน โดยประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ แรงงานฝีมือ การลงทุน เงินทุน ได้อย่างเสรี

มุ่งสร้างให้เกิดความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตลาดการค้า การผลิตสินค้า และบริการ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในด้านการแข่งขันให้สูงขึ้น

ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น โดยอาเซียนมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งเชื่อมระบบสารสนเทศและพลังงาน มีการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมภายใต้กรอบอนุภาคต่างๆ เช่น อนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน โครงข่ายเชื่อมโยงระบบการขนส่งรถรางจีน-อาเซียน เป็นต้น ความร่วมมือเหล่านี้ได้อำนวยประโยชน์ต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจการค้าการส่งออก และธุรกิจ เชื่อมโยงอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สินค้าของที่ระลึก เป็นต้น ล้วนเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้แก่ประชากรของอาเซียน

นอกจากนี้อาเซียนได้ตกลงที่จะเปิดเสรีด้านการค้า สินค้า และบริการให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิม ในสาขาสินค้าและบริการสำคัญ 12 สาขา เป็นสาขานำร่อง และได้กหนดให้ประเทศสมาชิกทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเป็นผู้ประสานงานหลักในแต่ละสาขา ดังนี้

1.ไทย รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวและการบิน

2.พม่า รับผิดชอบด้านสินค้าการเกษตรและการประมง

3.มาเลเซีย รับผิดผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ยาง

4.ฟิลิปปินส์ รับผิดชอบด้านอิเล็กทรอนิกส์

5.อินโดนีเซีย รับผิดชอบด้านผลิตภัณฑ์ไม้และยานยนต์

6.สิงคโปร์ รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการด้านสุขภาพ

7.เวียดนาม รับผิดชอบด้านโลจิสติกส์


4.2.3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC)

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจัดตั้งขึ้นมีเป้าหมายหลัก คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกให้อยู่ดีกินดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตสำนึกต่อประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ความเป็นอันหนึ่งอันดียวกัน อัตลักษณ์ของภูมิภาค มีความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ห่วงใยกัน มีความพร้อมในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีความเข้ามายอมรับและเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างนั้นด้วยดี ส่งเสริมให้เกิดความรักความสมานสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนดำเนินการให้ความสำคัญใน 6 ด้าน ได้แก่

1.การพัฒนามนุษย์

2.การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

3.สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม

4.ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

5.การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

6.การลดช่องว่างทางการพัฒนา

ดังนั้นการทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ร่วมกันแบบเอื้ออาทร ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงทางสังคม แลพการได้รับการพัฒนาในทุกด้าน ต้องอาศัยความร่วมมือในด้านต่างๆ และการผลักดันของประเทศสมาชิก เช่น ประเทศไทยได้ผลักดันให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) เป็นวาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Health Ministerial : AHMM) ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วภูมิภาคอาเซียน และลดผลกระทบในบริเวณชายแดนที่มีการข้ามพรมแดนมารับการรักษาในประเทศไทย สำหรับการดำเนินการภายในประเทศ กระทรวงศึกษาธิการได้วางยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.2546-2561 ใน 6 ด้าน ได้แก่

1.การพัฒนาทักษะโดยการอบรมภาษาอังกฤษและสร้างความรู้ภาษาอาเซียน

2.การสร้างความตระหนักและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของประเทศอาเซียน

3.การส่งเสริมการรู้หนังสือ

4พัฒนาและยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน การประเมินผล และการโอนหน่วยกิต

5.การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Community Learning Center : CLC)

6.การผลิตและการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะ