เรื่องที่ 5 กฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน ที่ทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างขององค์กร กำหนดขอบเขตหน้าที่ ความรับผิดชอบ ตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินการขององค์กร ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558 และจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดขึ้นที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ประกาศใช้ กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ส่งผลให้การดำเนินงานของอาเซียนเป็นไปภายใต้กฎหมายเดียวกัน และปูทางไปสู่การสร้างตลาดเดียวในภูมิภาคภายใน 7 ปี

การขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้โดยวัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น และกฎบัตรอาเซียนจะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organization)

กฏบัตรอาเชียนประกอบด้วยบทบัญญัติ 13 บท 55 ข้อ ดังมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียน

2. สภาพบุคคลตามกฏหมายของอาเชียน

3. สมาชิกภาพ (รัฐสมาชิก สิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิก และการรับสมาชิกใหม่)

4. โครงสร้างองค์กรของอาเซียน

5. องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน

6. การคุ้มกันและเอกสิทธิ์

7. กระบวนการตัดสินใจ

8. การระงับข้อพิพาท

9. งบประมาณและการเงิน

10. การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน

11. อัตลักษณ์และสัญลักษณ์

12. ความสัมพันธ์กับภายนอก

13. บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในกฎบัตรอาเซียนและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นมาได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาเซียน ดังนี้

1. การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน

2. การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก

3. การให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรอาเซียนอย่างร้ายแรง

4. การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนสอดส่องและรายงานการทำตามความตกลงของรัฐสมาชิก

5. การส่งเสริมให้มีการปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม

6. การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นๆ ในการตัดสินใจได้หากไม่มีฉันทามติ

7. การเปิดช่องให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น

8. การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียนเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

9. การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดตั้งองค์กรเพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละเสาหลัก และให้ทีคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมอาเซียน เป็นต้น

กฎบัตรอาเซียนจะช่วยให้อาเซียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเสริมสร้างกลไกลเพื่อติดตามการปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันอาเซียนให้เแ็นประชาคมเพื่อประชาชนได้อย่างแท้จริง เช่น กำหนดให้มีการเพิ่มการประชุมจากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้นำมีโอกาสหารือกันมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางการเมืองในการมีส่วนร่วม ในการผลักดันให้อาเซียนไปสู่การรวมตัวกันในประชาคมในอนาคต หรือการให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีและคำตัดสินขององค์กรระงับข้อพิพาท เป็นต้น